xs
xsm
sm
md
lg

การดูแลความปลอดภัยในเด็กปฐมวัย : บทเรียนจากกรณี น้องเอย

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

​ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ลูก คือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งอยู่ในวัยกำลังน่ารักและกำลังซุกซน ย่อมเป็นดั่งชีวิตและจิตใจของผู้ให้กำเนิดที่คอยดูแลเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่

​กรณีของน้องเอย หรือเด็กหญิงมนัสนันท์ ทองภู่ วัย 3 ขวบ ที่เสียชีวิตลงอย่างสงบจากเหตุการณ์ถูกลืมไว้ในรถตู้เป็นเวลานานกว่าครึ่งค่อนวัน ตามที่เป็นกระแสข่าวแห่งความโศกเศร้ากันทั่วประเทศนั้น คงจะใช้เป็นบทเรียนในเรื่องมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี สำหรับโรงเรียนทุกสังกัดในประเทศไทย ซึ่งต้นสายปลายเหตุในความประมาทเลินเล่อของผู้ดูแลรับผิดชอบคงต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกอนุโมนทนาจิต ในคุณแม่ของน้องเอย ที่กล้าพูดอย่างกล้าหาญและเข้าถึงธรรมว่า “คุณแม่ให้อภัยและอโหสิกรรมแก่ทุกคนหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอเพียงแค่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องนั้นได้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งแม้จะไม่น่าเกิดขึ้นกับครอบครัวของเรา”

​ข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงมโนธรรมแห่งคุณภาพจิตใจและคุณภาพสติปัญญาของคุณแม่ของน้องเอย ซึ่งเป็นบุคคลที่เสียสละได้กระทั่งความโกรธหรือความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อตนและครอบครัว นับได้ว่า เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง อันควรแก่การยกย่องและถือเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งคุณภาพความคิดที่งดงามเช่นนี้ กลับรู้เห็นได้ยากจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางกลุ่มหรือบางคน

​ประเด็นที่ควรคิดป้องกันก่อนการแก้ไขหรือแก้ปัญหาปลายเหตุ ผู้เขียนคิดเห็นว่าผู้ดูแลรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปฐมวัยหรือการจัดการศึกษาในเด็กเล็ก จะต้องกำหนดมาตรฐาน การดูแลความปลอดภัยหรือมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กเล็กอย่างละเอียดอ่อนและเอาใจใส่ยิ่ง อย่างน้อยควรกลับไปทบทวนในสถานศึกษา ว่ามีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงหรือแผนงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็กเล็ก ว่ามีหรือเป็นอยู่อย่างไร รวมถึงต้นสังกัดทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วย เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าโศกเศร้าซ้ำขึ้นอีกในอนาคต

​ด้วยความรู้สึกห่วงใยถึงคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็กเล็ก ผู้ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติในอนาคต หากวันนี้ยังไม่มีสิ่งใด ผู้ใดหรือกระบวนการใดกล้าประทับรับรองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเด็กเล็กที่ออกจากบ้านไปสู่สถานศึกษาในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ว่าเด็กจะมีความปลอดภัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ จนหมดสิ้นวันแล้วกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ผู้เขียนคิดเห็นว่าคงจะต้องทบทวนแนวทางและการบริหารการศึกษาทั้งระบบว่าเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบองค์รวมและสอดคล้องในสิทธิพื้นฐานแห่งรัฐสวัสดิการ อันมีคุณภาพหรือได้คุณภาพแล้วหรือยัง

​กรณีน้องเอยหรือเด็กหญิงมนัสนันท์ ทองภู่ วัย 3 ขวบ ที่จากไปแล้ว คงเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ภาครัฐและผู้ถือนโยบายการศึกษามิควรนิ่งนอนใจ แต่ควรหันมาเอาใส่ใจคุณภาพและการจัดการศึกษาทุกระบบอย่างเต็มประสิทธิภาพเสียที ก่อนจะเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์อื่น ซึ่งจะสร้างความบอบช้ำในดวงใจของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามที่กฎหมายบังคับไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น