สภาคณบดีฯ ยันเดินหน้าต่อ “ครูมืออาชีพ” คงเงื่อนไขประกันงาน แลปรับเกณฑ์คัดสถาบันผลิตที่เหมาะสมคาดไม่เกิน 2 สัปดาห์เสนอ “พงศ์เทพ” เห็นชอบได้ พร้อมมอบมหา’ลัย ทำแผนรับ นศ. 5 ปีข้างหน้าแก้ปัญหาครูล้น
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาคณบดีฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมี ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เข้าร่วม ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการผลิตครู โดยแบ่งเป็นการแก้ปัญหากรณีรับนักศึกษา ปีการศึกษา 2556 จำนวนมากในบางสาขา ซึ่งได้มอบหมายให้คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เสนออธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยพิจารณาลดจำนวนนักศึกษา โดยเฉพาะสาขาที่มียอดรับนักศึกษาจำนวนมาก 7 อันดับแรก ได้แก่ พลศึกษา สุขศึกษา และมวยไทยศึกษา, การศึกษาปฐมวัย, ภาษาอังกฤษ, สังคมศึกษา, คณิตศาสตร์, ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ ให้โอนย้ายไปสาขาอื่นที่ยังมีจำนวนนักศึกษาน้อย อาทิ ฟิสิกส์ เคมี และสาขาภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความถนัดความสนใจและศักยภาพของนักศึกษา รวมถึงศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของสาขาอื่นๆ ที่รับโอนนักศึกษาไปด้วย
ผศ.ดร.สุรวาท กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ยังมอบให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งจัดทำแผนการเปิดรับนักศึกษาใน 5 ปีข้างหน้าโดยสำรวจจากความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตเป็นเกณฑ์ ขณะเดียวกันประธานบอร์ดคุรุสภายังเห็นด้วยกับที่ประชุมกรณีเสนอให้คุรุสภา วางข้อกำหนดรับรองการเปิดรับนักศึกษาของแต่ละสถาบันก่อนจะเปิดรับจริง เพื่อจำกัดจำนวนรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตนได้ยืนยันข้อเสนอสภาคณบดีฯ ต่อ ศ.ดร.ภาวิช กรณีที่ขอให้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนสถาบันฝ่ายผลิต โดยมติที่ประชุมเห็นว่างบฯ รายหัวของนักศึกษาครูควรได้มากกว่างบรายหัวของนักศึกษาสายสังคมทั่วไป ซึ่งอยู่ที่ 700 บาทต่อคน รวมถึงยื่นข้อเสนอให้ ศธ.จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการผลิตครูเพื่อให้เกิด รูปธรรมเหมือนการตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิรูปหลักสูตร
ส่วนกรณีโครงการครูมืออาชีพ ที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขอให้มาหารือควรจะเดินหน้าต่อหรือยุตินั้น ที่ประชุมได้ข้อสรุปเห็นควรให้ดำเนินการต่อ โดยกำหนดการรับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 2 รูปแบบ ได้แก่ นัก ศึกษาปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปี แบ่งเป็น รับนักศึกษาชั้น ม.6 เข้าศึกษาต่อคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เข้าร่วมโครงการจนสำเร็จการศึกษา และรูปแบบที่ 2 หลักสูตรปริญญาโท โดยกำหนดรับนักศึกษาปริญญาตรีสาขาอื่น โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขาด้านการศึกษาเพื่อให้ได้คนเก่งในสาขาต่างๆ มาเป็นครู โดยเบื้องต้นกำหนดใช้รายละเอียดเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาแต่ละกลุ่มโดยอ้าง อิงเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษาโครงการครูพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ได้ขอให้คงข้อกำหนดการรับประกันงานทำเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สภาคณบดีฯ อยู่ระหว่างการร่างเกณฑ์คัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตที่มีความเหมาะสมกว่า เกณฑ์ที่ผ่านมา โดยเตรียมจะเสนอข้อสรุปและร่างเกณฑ์คัดเลือกดังกล่าวต่อ รมว.ศธ.ภายใน 2 สัปดาห์