เด็กจบครูล้น “พงศ์เทพ” ฝากราชภัฏผลิตคนดูความต้องการของประเทศ ระบุอธิการ มรภ.เสนอให้ประกาศจำนวนที่ต้องการแต่ละปีให้ชัดเพื่อวางแผนผลิตให้สอดคล้อง พร้อมแนะ มรภ.จ้างคนให้ดูความจำเป็นและใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า เหตุรัฐแบกรับภาระสูง
วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) มี รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานให้การต้อนรับว่า ได้ฝากให้อธิการ มรภ.ทั้ง 40 แห่งไปดูแลเรื่องการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตและการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสาขาด้านวิทยาศาสตร์ประเทศไทยขาดแคลนมาก แต่ในขณะที่บางสาขาผลิตบัณฑิตออกมาล้นกว่าตำแหน่งงานที่จะรองรับได้ ทำให้เด็กจบมาไม่มีงานทำ โดยเฉพาะผู้ที่จบสาขาศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ เวลานี้มีจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อธิการ มรภ.ได้เสนอว่าอยากให้มีการประกาศจำนวนตัวเลขความต้องการบัณฑิตที่จบสาขาดังกล่าวที่ชัดเจนว่าในแต่ละปีต้องการเท่าไร โดยเฉพาะที่จะเข้าสู่โรงเรียนการศึกษาพื้นฐานเพื่อที่จะได้ผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องต่อความต้องการ
นอกจากนี้ ได้ฝากให้ มรภ.ไปพิจารณาเรื่องการจ้างบุคลากรเพิ่มเติม เพราะเวลานี้รัฐบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงมาก จึงต้องการให้การรับหรือบรรจุจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นและมีเหตุผลจริง ขณะเดียวกันหากทรัพยากรใดที่มีอยู่แล้วก็ควรจะนำมาใช้ร่วมกันให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ ได้ฝากเรื่องการเก็บค่าบำรุงการศึกษาในหลักสูตรพิเศษด้วยว่าควรอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลไม่แพงจนมากเกินไป รวมทั้งขอให้ไปดูเรื่องงานวิจัย เพราะในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องการงบประมาณวิจัยเพิ่มขึ้นแต่กลับไม่มีผลงานวิจัยที่จะสามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคเศรษฐกิจที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ แต่หากสามารถสร้างงานวิจัยขึ้นมาใหม่หรือย้อนไปนำงานวิจัยที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์ได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีกว่า
“ในเรื่องบุคลากรนั้นยังได้รับทราบปัญหาว่าใน มรภ.บางแห่งโดยเฉพาะ มรภ.ขนาดเล็กกำลังประสบปัญหาไม่สามารถดึงตัวบุคลากรของตนเองไว้ในระบบไม่ได้ เพราะบางรายพอได้รับการพัฒนาก็มักจะถูกสถาบันอื่นหยิบชิ้นปลามันไป หรือบางคนก็ตัดสินใจลาออกเพื่อไปราชการ เป็นต้น” นายพงศ์เทพกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งต้องการขอออกนอกระบบ ซึ่งบางแห่งเรื่องอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วตนก็ยินดีจะช่วยผลักดันให้