xs
xsm
sm
md
lg

บ่องตงฝรั่งยังงงเป็นไก่ตาแตก

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

​ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ใช้ศัพท์แสงที่ไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรม แรงบันดาลใจของการใช้ได้แก่การมองว่ามันถึงเวลาที่เราต้องทำอะไรให้ทะลุปล้องของแนวคิดเดิมๆ แล้ว การมองเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งพอสรุปได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจฝรั่งทั้งหลายยังไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรนโยบายที่ประเทศก้าวหน้าดำเนินมาในช่วงนี้จึงไม่มีผลตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บ่งบอก

​เหตุการณ์ด้านเศรษฐกิจหลักในตอนนี้ที่ทำให้เกิดความงุนงงได้แก่การถดถอยครั้งใหญ่ในประเทศก้าวหน้าหลังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกเมื่อปี 2551 การถดถอยดังกล่าวนับว่าร้ายแรงที่สุดรองลงมาจากวิกฤตที่เกิดหลังจากตลาดหลักทรัพย์อเมริกันล่มเมื่อปี 2472 การแก้วิกฤตครั้งนั้นได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งมั่นใจว่าพวกเขาค้นพบยาสำหรับแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและถดถอยแล้ว ยานั้นมาจากแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษชื่อ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ซึ่งเสนอทฤษฎีที่ว่าในภาวะเช่นนั้น รัฐบาลต้องเข้าไปกระตุ้นการใช้จ่าย หรือไม่ก็ต้องใช้จ่ายเองเพิ่มขึ้น หรือทำทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน แต่หลังเวลาผ่านไปกว่า 4 ปี ยานั้นยังไม่มีผลตามคาด

​เหตุการณ์ที่รองลงมาได้แก่ปัญหาของประเทศในกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโรซึ่งล้มละลายตามกันไปหลายประเทศแล้ว เช่น ไอร์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ และไซปรัส บางประเทศยังไม่ล้มละลาย แต่ตกอยู่ในสภาพหยอดข้าวต้ม เช่น สเปน และอิตาลี

​อันที่จริงเหตุการณ์แรกนั้นหากมองให้ลึกลงไปไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมากว่า 20 ปีแล้วและยังแก้ไขไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน ในตอนแรกๆ พวกนักเศรษฐศาสตร์เรียกมันว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” (The Lost Decade) พอมันยืดเยื้อมาถึง 20 ปีก็เปลี่ยนไปเรียกมันว่า “สองทศวรรษที่สูญหาย” The Lost Two Decades) ความสูญหายได้แก่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซบเซามาตั้งแต่ครั้งหลังฟองสบู่แตกเมื่อปี 2534 ฟองสบู่นั้นเกิดจากการกู้หนี้ยืมสินมาเก็งกำไรในหลักทรัพย์หลายอย่าง โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในแนวเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในปี 2540 ที่ต่างกับเมืองไทยได้แก่หนี้ของญี่ปุ่นเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของไทยเป็นหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศ

​หลังจากปี 2534 ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายตามแนวทฤษฎีที่เคนส์เสนอ แต่ ณ วันนี้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะซบเซา ระดับการผลิตยังทำได้ไม่เท่ากับในตอนก่อนฟองสบู่แตก ธนาคารต่างๆ ยังมีปัญหา บริษัทขนาดใหญ่ที่เคยโด่งดังเช่นโซนี่ไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันกับบริษัทที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในต่างประเทศได้ และรัฐบาลมีหนี้สินสูงมาก

​อาจจำกันได้ว่า หลังจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศแตกเมื่อตอนกลางปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในประเทศก้าวหน้า ธนาคารกลางต่างๆ ได้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบจำนวนมหาศาลและรัฐบาลพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายพร้อมกับเข้าไปช่วยเหลือธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ที่จะล้มละลายโดยตรง ณ วันนี้ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นยังตกอยู่ในสภาพลูกผีลูกคนในขณะที่รัฐบาลมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก

​ภาวะหนี้สินที่หนักอึ้งนั่นเองนำไปสู่ความล้มละลายและอยู่ในสภาพหยอดข้าวต้มของหลายประเทศในกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโร

​นอกจากหนี้สินแล้ว ความล้มละลายของไซปรัสยังชี้ให้เห็นปัญหาที่มาจากการเปิดเสรีต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
ไซปรัสเปิดเสรีทางการเงินอย่างกว้างขวางโดยหวังจะทำรายได้จากการให้บริการแก่เศรษฐีและบริษัทห้างร้านที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษีและอุปสรรคทางการเงินในประเทศของตน ผลปรากฏว่าไซปรัสประสบความสำเร็จสูงมากเนื่องจากธนาคารในไซปรัสรับเงินฝากจากภายนอกจำนวนมหาศาล เนื่องจากไซปรัสมีขนาดเล็กมาก ธนาคารที่รับฝากเงินจำเป็นต้องนำเงินนั้นไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่นำไปซื้อสินทรัพย์ในกรีซ เมื่อกรีซล้มละลาย ธนาคารไซปรัสมีปัญหาสาหัสจนนำประเทศไปสู่ความล้มละลายด้วย

​เหตุการณ์ในไซปรัสไม่ต่างกับเหตุการณ์ในเมืองไทยซึ่งนำไปสู่ความล้มละลายในปี 2540 ที่ต่างกันบ้างได้แก่เงินที่ไหลเข้ามาในเมืองไทยถูกนำไปใช้ซื้อหลักทรัพย์ในเมืองไทย ส่วนเงินที่ไหลเข้าไซปรัสถูกนำไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่ไม่ว่าจะนำไปซื้ออะไรที่ไหน มันทำให้เกิดความล้มละลายได้เช่นกัน

​อาจจำกันได้ว่า การเปิดเสรีต่างๆ มีที่มาจากแนวคิดที่เรียกกันว่า “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน” (Washington Consensus) ฉันทามตินั้นมาจากผลักดันของรัฐบาลอเมริกันในสมัยโรนัลด์ เรแกน (พ. ศ. 2523 – 2531) ร่วมกับรัฐบาลอังกฤษในสมัยมาร์กาเรต แทตเชอร์ (พ. ศ. 2522 – 2534) ทั้งสองเชื่อว่าถ้ารัฐบาลปล่อยให้ภาคเอกชนทำอะไรต่อมิอะไรได้อย่างเต็มที่ เศรษฐกิจจะดีเอง แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าความเชื่อนั้นผิดโดยสิ้นเชิง การเปิดเสรีโดยไม่มีการควบคุมนำไปสู่ความฉ้อฉลในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่การเกิดฟองสบู่และความล้มละลายยังผลให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ชาวอังกฤษบางส่วนแสดงความดีใจอย่างออกหน้าออกตาเมื่อมาร์กาเรต แทตเชอร์ ตายในตอนต้นเดือนนี้

​ประวัติของวิวัฒนาการในด้านแนวคิดทางเศรษฐกิจบ่งว่า แนวคิดแบบเรแกน-แทตเชอร์อยู่คนละขั้วกับแนวคิดแบบเคนส์ เหตุการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดแรกเป็นตัวสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหาและแนวคิดหลังแก้ปัญหาของโลกปัจจุบันไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแล้ว แต่ฝรั่งยังไม่เข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะใช้ทฤษฎีที่ฝรั่งคิดขึ้นมาพัฒนาประเทศไม่น่าจะเหมาะสมอีกต่อไปแล้ว แต่นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำแบบไม่ลืมหูลืมตา

​หากถามว่าแนวคิดไหนจะใช้แก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้ดีในภาวะที่โลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ขอบ่องตงอย่างดังๆ เพื่อจะได้ฟังกันชัดๆ อีกครั้งว่า จงไปทำความเข้าใจและใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง! แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง!! แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น