ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 56 เพื่อพิจารณากำหนดวันแปรญัตติ ร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติม 3 มาตรา ที่ผ่านวาระแรกไปแล้ว ได้เกิดความวุ่นวายถึงขั้นวอล์กเอาต์อีกครั้ง
ประเด็นนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากการประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรธน. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. หลังผ่านวาระรับหลักการไปแล้ว ซึ่งโดยปกติจะมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อแปรญัตติ ใน 15 วัน แต่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้แปรญัตติใน 60 วันเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่บังเอิญขณะนั้นองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้โหวตไม่ได้ ประธานรัฐสภา จึงได้วินิจฉัยตามข้อบังคับว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็เท่ากับต้องกลับไปยึดตามข้อบังคับเดิมโดยอัตโนมัติ คือ ต้องแปรญัตติใน 15 วัน
ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าการวินิจฉัยของประธานรัฐสภา เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงขู่ว่าจะยื่นถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ทำให้ต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภากันใหม่ เพื่อโหวต ว่าจะใช้เวลา 15 วัน หรือ 60 วัน ในวันที่ 18 เม.ย.
เมื่อเปิดประชุมเพื่อทำการโหวต นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า นายสมศักดิ์ ทำขัดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม เนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ในช่วงขอมติจากที่ประชุมเพื่อกำหนดวันแปรญัตติ แล้วองค์ประชุมล่ม ถือว่าวาระดังกล่าวจบไปแล้ว การเรียกประชุมในวันนี้อีกไม่สามารถทำได้
นายสมศักดิ์ จึงโต้แย้งว่า การเปิดประชุมครั้งนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้อง แต่พอเปิดประชุมก็มาหาว่าทำผิดรัฐธรรมนูญอีก จึงขอวินิจฉัยตามข้อบังคับ คือ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็เท่ากับต้องกลับไปยึดตามข้อบังคับเดิมโดยอัตโนมัติ คือแปรญัตติใน 15 วัน
ทำให้บรรดาส.ส.ประชาธิปัตย์ แสดงความไม่พอใจพากันลุกฮือขึ้นประท้วง ว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการ แต่นายสมศักดิ์ ก็ตัดบทไม่สนใจการประท้วง และจะให้สมาชิกลงมติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา จึงลุกขึ้นแย้งว่า ในการประชุมวันนั้น เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ โดยปกติแล้ว ประธานฯ ต้องนัดประชุมใหม่ โดยเร็ว แต่กลับรีบวินิจฉัยว่า ให้ยึดตามข้อบังคับ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ จึงไม่สามารถทำได้ นอกจากนายสมศักดิ์ จะยอมรับก่อนว่า องค์ประชุมไม่ครบ แต่หากยังยืนยันตามเดิม ก็ไม่รู้จะลงมติอย่างไร
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. อภิปรายว่า ประเด็นคือยังมีความเห็นเป็นอื่น ดังนั้นข้อยุติยังไม่เกิดขึ้น ถ้าบอกว่าการประชุมวันนี้ไม่มีปัญหา เมื่อชี้ขาดว่าจบแล้ว การลงมติใหม่ในวันนี้ต้องพูดคุยกันว่า จะเริ่มนับวันแปรญัตติจากวันไหน ต้องยอมรับจุดนี้ว่า ไม่ชอบต้องเริ่มต้นใหม่ หากประธานยังยืนยันคำเดิม ก็ลงมติใหม่ไม่ได้
แต่นายสมศักดิ์ ยังคงไม่สนใจ และยืนยันตามเดิม พร้อมทั้งขอมติทันที ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนเดินออกจากห้องประชุม บางคนก็ชูป้าย ที่เขียนคำว่า "เผด็จการ" เป็นการประท้วง
ในที่สุด ที่ประชุมก็มีมติกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ด้วยคะแนน 356 ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 33 ไม่ลงคะแนน 5
นายสมศักดิ์ จึงประกาศว่า ให้เริ่มนับวันแปรญัตติตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ดังนั้นจะสิ้นสุดการส่งคำแปรญัตติ ในวันที่ 19 เม.ย.
เท่ากับเหลือเวลาให้ฝ่ายค้านส่งคำแปรญัตติได้เพียงวันเดียว ก่อนจะสั่งปิดประชุมทันที