xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อลินา มิรอง” อาวุธลับน็อกเขมร ขวัญใจคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มิสอลินา มิรอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากไม่นับ “วีรชัย พลาศรัย” หัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยในการสู้ศึกปราสาทพระวิหารที่ศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่นจนได้รับคำชมจากคนไทยทั้งชาติแล้ว คงต้องบอกว่า อีกหนึ่งบุคคลที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือ “มิสอลินา มิรอง” (Alina Miron) ทนายความสาวชาวโรมาเนีย ซึ่งเป็นผู้ช่วยของ ศ. อแลง แปลเล่ต์

โดดเด่นชนิดที่กลายเป็นขวัญใจของคนไทยในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่มีการโพสต์ข้อความชื่นชมกันเป็นจำนวนมาก กระทั่งเกิดกระแสมิสอลินา มิรอง ฟีเวอร์ขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย ทันที

กล่าวสำหรับอลินา มิรองแล้ว เธอถือเป็น “อาวุธลับ” หรือ “หมัดเด็ด” ที่เรียกว่า มีผลต่อการแพ้ชนะเลยก็ว่าได้ เพราะเธอสามารถงัดข้อมูลทางกฎหมายเพื่อต่อสู้กับข้อมูลฝ่ายกัมพูชาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะข้อมูลในเรื่องความมั่วนิ่มของแผนที่ ซึ่งสามารถเล่นงาน The annex 1 map หรือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่ฝ่ายกัมพูชาหมายมั่นปั้นมือว่าเป็นหมัดเด็ดน็อกฝ่ายไทยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาในสายตาของชาวโลกในทันที

อลินา มิรอง สามารถชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกัมพูชาในเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมาและแผนที่ดังกล่าวขัดต่อหลักภูมิศาสตร์ไม่สามารถถ่ายทอดลงแผนที่ในโลกปัจจุบันได้ และแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้างถึงนั้นไม่ได้มีแค่ฉบับเดียวแต่ทีมฝ่ายไทยพบถึง 6 ฉบับ ทำให้แผนที่นี้ขาดความน่าเชื่อถือ และยังขาดความแม่นยำทางเทคนิคด้วย"

“แม้ว่าจะมีความชัดเจนเรื่องปราสาท แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถปฏิเสธว่ากัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่อื่นๆ จึงคิดว่าแผนที่นี้มีคุณค่าในการพิสูจน์ แต่จะใช้กำหนดเขตแดนหรือไม่เพราะไม่ชัดเจนเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐต่างๆ และแผนที่อีกฉบับที่ไทยได้ส่งเมื่อปี 1947 ซึ่งเสนอต่อคณะกรรมการประนีประนอมที่ให้ความสนใจในที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร และมีความคล้ายกันทั้งหมดที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขตแดน จึงสามารถสรุปได้ว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถใช้เป็นตราสารที่แยกจากสนธิสัญญา 1904 เนื่องจากไม่มีความแม่นยำทางเทคนิค จึงไม่สามารถนำแผนที่เก่าๆ มาใช้ในการปักปันเขตแดน จึงควรใช้แผนที่ภาคผนวก 1 หลายๆ ฉบับมากกว่า การที่นายร็อดแมน บันดี ทนายชาวอเมริกันของฝ่ายกัมพูชา บอกว่าการมีหลายฉบับไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือแผนที่ที่กัมพูชาแนบมากับคำร้องเมื่อปี 1959 ซึ่งถือเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่า แผนที่ที่ศาลใช้นั้นมีฉบับเดียว แต่ที่จริงศาลได้มีการเผยแพร่แผนที่ภาคผนวก 1 แล้วทำไมเอกสารที่ศาลนำเผยแพร่จึงมีความสำคัญน้อยกว่า”มิสอลินา มิรองอธิบายให้คนทั้งโลกเห็นว่ากัมพูชาไม่ได้มีสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร

ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อการทำหน้าที่ของมิสอลินา มิรองว่า “ไม้เด็ดของการแถลงฝ่ายไทยครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่คือ อลินา มิรอง ทนายความหญิงฝ่ายไทยมายืนยันความล้มเหลวของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ของกัมพูชา โดยอ้างแผนที่ที่มีความแม่นยำกว่าจากการศึกษาของไอบีอาร์ยู ที่มีหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์อันน่าเชื่อถือได้ ที่สำคัญการยกข้อมูลแผนที่อีกฉบับมาหักล้างกัมพูชาถือเป็นการเน้นย้ำว่า หากศาลตีความซ้ำในคำพิพากษาเดิมที่ยึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ก็ไม่สามารถยุติความขัดแย้งของ 2 ชาติได้ตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง แต่จะยิ่งเพิ่มทวีความขัดแย้งขึ้นมา เพราะแผนที่ที่กัมพูชาเรียกร้องนั้นไม่มีประสิทธิภาพ”

เช่นเดียวกับ คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ซึ่งอยู่ที่ศาลโลก กรุงเเฮก เนเธอร์แลนด์ ถึงกับชื่นชมว่า “เธอเป็นอาวุธลับที่ขึ้นมาพูดเรื่อง 'map'(แผนที่) โดยเฉพาะ”

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในโซเชียลเน็ตเวิร์กพบว่า ชื่อของมิสอลินา มิรองดังกระฉ่อนในชั่วข้ามคืน ยกตัวอย่างเช่น หน้าเพจของ "สายตรงภาคสนาม" ที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเธอ ปรากฏว่า มีคนกดไลค์มากว่า 5 พันไลค์และกด แชร์มากถึง 2,310 แชร์ เพียงแค่โพสต์ข้อความนี้ลงไปแค่ 22 ชั่วโมง

หรือแม้แต่ในเว็บไซต์พันทิพย์ ก็มีการหยิบยก เรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยเช่นกัน เช่น BaaD ตั้งกระทู้ ชื่อว่า "ชาวเน็ตแห่ชม อลินา มิรอง ทีมกฎหมายไทยแจงคดีเขาพระวิหาร หลังนำแผนที่ The big map โต้ the Annex I map ของกัมพูชาขาดกระจุย" เป็นต้น

สำหรับประวัติส่วนตัวนั้น มิสอนินา มิรอง ปัจจุบันอายุ 34 ปี ถือสัญชาติโรมาเนียและฝรั่งเศส มีความสามารถถึง 5 ภาษาด้วยกันคือ โรมาเนียที่เป็นภาษาแม่ ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่จัดอยู่ในระดับเชี่ยวชาญ ภาษาอิตาลีที่เข้าขั้นดี ภาษาสเปนและโปรตุเกสที่จัดอยู่ในระดับพอใช้

ส่วนประวัติการศึกษา เธอจบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นิติศาสตรบัณฑิต (2543-2546)ปริญญาโท เกียรตินิยมอันดับสอง กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง (2546-2547)มหาวิยาลัย เด ซิอองส์ โซซิอัล ที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โดยขณะนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก

ขณะที่ประสบการณ์การทำงาน มิสอลินา มิรองทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ศ.อแลง แปลเล่ต์ว่าความในหลายคดีด้วยกัน อาทิ ว่าความให้ประเทศญี่ปุ่น คดีล่าวาฬในมหาสมุทรแอนตาร์กติก (ออสเตรเลีย ฟ้อง ญี่ปุ่น) ว่าความให้ประเทศนิการากัว คดีความเคลื่อนไหวละเมิดอธิปไตยบริเวณชายแดน (คอสตาริก้า ฟ้อง นิการากัว) ว่าความให้ประเทศกรีซ คดีความชอบธรรมเอกสารข้อมติรัฐบาลชั่วคราว ปี 1995 (มาเซโดเนีย ฟ้อง กรีซ) ว่าความให้ประเทศรัสเซีย คดีความชอบธรรมพิธีสารว่าด้วยการยุติการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ (จอร์เจีย ฟ้อง รัสเซีย) เป็นต้น

นี่คือความไม่ธรรมดาของทนายสาวชาวโรมาเนียที่วันนี้ได้กลายเป็นขวัญใจคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น