xs
xsm
sm
md
lg

“LTV”กฎเหล็กสกัดฟองสบู่หรือ”ยา”คุมกำเนิดอสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -ลือหึ่งแบงก์ชาติเตรียมเพิ่มเกณฑ์ LTV จาก 5-10% เป็น 20% หวังสกัดความร้อนแรงอสังหาฯ หลังพบหลายทำเลส่อโอเวอร์ซัพพลาย ด้านผู้ประกอบการร้องจ๊าก หวั่นตลาดช็อก กำลังซื้อหายเหตุต้องเพิ่มเงินดาวน์ ระบุคนจนยากมีบ้านรับกรรม อดซื้อบ้าน แนะคุมสินเชื่อโครงการแทน

กระแสข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการควบคุมความร้อนแรงของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ ด้วยการเพิ่ม LTV = Loan to Value คืออัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หลังจากที่บังคับใช้กับคอนโดมิเนียมเมื่อปีที่แล้ว โดยกำหนด LTV 90% นั้นหมายถึงธนาคารจะต้องให้สินเชื่อไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งหลายความว่าผู้กู้เงินซื้อบ้านจะต้องวางเงินดาวน์ 10% ส่วนบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์พึ่งเริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 56 ที่ผ่านมาโดยกำหนดที่ 95% ส่วนเกณฑ์ใหม่ที่คาดแบงก์ชาติจะนำมาบังคับใช้นั้นคาดว่าจะประมาณ 15-20%

ซึ่งก่อนหน้านี้นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เรียกร้องให้แบงก์ชาติ เพิ่มความเข้มข้นมาตรการ LTV เพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์จากปัจจุบันบ้าน 5% คอนโดฯ 10% เพิ่มเป็น 20% เท่ากัน เท่ากับที่ใช้ในสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนจีนบังคับเงินดาวน์สูงถึง 30% วิธีนี้จะช่วยสกัดความร้อนแรงของวงการอสังหาฯได้ และทำให้ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วจนเกินไป

เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณฟองสบู่ นั้นคือ ราคาอสังหาฯที่ปรับตัวต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2545-2555 โดยข้อมูลระบุว่า มีการปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-5% นั่นคือในช่วง 10 ปีมีการปรับตัวถึง 40-50% ซึ่งถือว่าสูงมาก ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีนี้น่าจะดี จึงเป็นกังวลว่าจะทำให้ราคาอสังหาฯมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยผลักดันให้คนหันมาลงทุนเก็งกำไรในอสังหาฯได้

นายอิสระ บุญยัง อุปนายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า การควบคุมตลาดอสังหาฯ ไม่ให้มีการเติบโตมากและเร็วเกินไปถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะมีมาตรการอะไรออกมานั้นจะต้องคิดให้รอบครอบ ชัดเจนในเนื้อหาสาระ และระบุให้ชัดเจนว่าจะควบคุมอะไร ใคร อย่างไร และควรคุยกันเป็นการภายในเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากมีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาก็จะทำให้เกิดความสับสน ตลาดปั่นป่วน
“ต้องดูสภาพความเป็นจริงของตลาดบ้านเราว่า พฤติกรรมผู้บริโภค กลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างไร ผู้มีรายได้น้อยเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีรายได้หรือเงินออมมากพอที่จะวางเงินดาวน์ได้สูงขนาดนั้น อีกทั้งเศรษฐกิจของไทยเองก็ไม่ได้เติบโตร้อนแรงเช่นประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป” นายอิสระ กล่าว

นอกจากนี้ยังตลาดอสังหาฯไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่คิด เพราะการลงทุนของผู้ประกอบการในปัจจุบันเกิดจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการลงทุนยังเป็นการกระจายทำเลไปในหัวเมืองหลักทั่วประเทศ ภาพการเปิดโครงการต่างจึงดูเหมือนมีจำนวนมาก โดยเฉพาะคอนโด

 ยันบ้านแนวราบโตติดลบ
ส่วนตลาดบ้านแนวราบ อัตราการเปิดตัวถือว่าติดลบนับจากต้นปีเป็นต้นมามีสินค้าเข้าสู่ตลาดเพียง 20-25% ที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูง ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธ์บ้านแนวราบ 58% คอนโด 42% เมื่อบ้านใหม่เปิดตัวน้อยขณะที่ยอดโอนมาก แสดงว่าสินค้าเก่าที่ค้างอยู่ในตลาดถูกดูดซับไปจำนวนมากแล้ว

สาเหตุที่บ้านแนวราบเปิดตัวน้อยเนื่องจากผลกระทบตั้งแต่น้ำท่วมให้เมื่อปลายปี 54 บ่อดินส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วม ต้อรอหลายเดือนจนกว่าบ่อดินจะแห้งและเริ่มถมดินได้ แต่เมื่อเริ่มถมดินได้ ก็เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนหนักทำให้งานก่อสร้างล้าช้า ผู้ประกอบการต้องใช้เวลานานนับปีจึงจะเริ่มสร้างบ้านตัวอย่างและเปิดขายโครงการ ดังนั้นสำหรับบ้านแนวราบไม่มีการเติบโตจนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้
“หากแบงก์ชาติต้องการจะควบคุมตลาดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ควรมีการระบุให้ชัดเจนว่าจะควบคุมอะไร อย่างไร เช่น หากต้องการควบคุมบ้านหลังที่สอง ที่สาม ควรให้คำนิยามให้ชัดเจน ว่าคนที่เข้าข่ายมีบ้านหลังที่สองต้องมีคุณสมบัติอย่างไร การกู้ร่วมถือว่ามีบ้านแล้วหรือไม่ จะได้ไม่เกิดปัญหาเช่นการตีความบ้านหลังแรก”

 วอนยกเว้นคุมบ้านผู้มีรายได้น้อย

ด้านนายประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบ๊ทเฮ้าส์หัวหิน จำกัด อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารศรีนคร กล่าวแสดงความเห็นว่า กรณีที่แบงก์ชาติแสดงความกังวลกรณีการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ย 0% เพราะอาจทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายตามมาได้ นั้นเหมาะสมแล้ว และหากเป็นการลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเภทบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 เพื่อสกัดการเกร็งกำไรเพื่อไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม หากแบงก์ชาติต้องการควบคุมที่ผู้ซื้อควรจะบังคับใช้ในบางตลาดที่เห็นว่าร้อนแรงและเสี่ยงต่อการเกร็งกำไร หากเป็นในกรณีตลาดสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือบ้านหลังแรก ไม่ควรจะมีข้อบังคับ แต่ควรสนับสนุนให้ประชาชนเหล่านั้นสามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ย 0% หรือดอกเบี้ยต่ำจะช่วยให้คนเหล่านี้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และมีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากจะมาตรการออกมาสกัดฟองสบู่ ควรยกเว้นกรณีบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือบ้านหลังแรก

 แนะคุมสินเชื่อโครงการแทนคุมผู้ซื้อ

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกระแสข่าวการออกมาตรการควบคุมความรอนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ว่า เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ออกมาตรการอะไรออกมาขณะนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มเกณฑ์ LTV เพราะไม่เพียงควบคุมคนมีเงินไม่ให้ซื้อบ้านเพื่อเกร็งกำไร แต่จะเป็นการควบคุมผู้มีรายได้น้อยไม่ให้ซื้อบ้านหรือซื้อบ้านได้ยากยิ่งขึ้นไปด้วย เพราะคนกลุ่มหลังนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่คนรวยมีกำลังซื้อมากพอที่จะวางเงินดาวน์ในอัตราที่สูงได้ตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด เช่น หากลด LTV จาก 90% ในปัจจุบัน เหลือ 80% ผู้ซื้อบ้านจะต้องมีเงินดาวน์ 20% นั้นหมายความว่าซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท จะต้องวางเงินดาวน์ 2 แสนบาท หากเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาท ต้องใช้เวลานานถึง 40 เดือนกว่าจะเก็บเงินดาวน์ได้ ถึงเวลานั้นก็ไม่มีบ้านราคา 1 ล้านบาทขายแล้ว

ทั้งนี้จากผลสำรวจของพฤกษา ยังพบว่า สาเหตุที่ตลาดคอนโดฯได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้ มาจาก 1.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหันมานิยมอยู่อาศัยในคอนโดฯมากขึ้น จากหลายปัจจัยทั้งจากราคา ได้แก่ ราคาบ้านเดียว ทาวน์เฮาส์สูงเกินกว่าที่กลุ่มคนที่มีราคาน้อยถึงปานกลางจะหาซื้อได้ การจราจรที่ติดขัดทำให้คนต้องการซื้อบ้านใกล้แหล่งงาน สิ่งอำนวยความสะดวก 2.กลุ่มดีมานด์ใหม่ คนรุ่นใหม่ ครอบครัวใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ทำให้ตลาดคอนโดฯโตขึ้น 20-30% นอกจากนี้ยังไปกินส่วนแบ่งตลาดทาวน์เฮาส์ที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดนี้ไม่มีการเติบโตเลย

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะกู้ร่วมระหว่างสามี-ภรรยา หรือญาติ พี่น้อง เฉลี่ย 2-2.5 คน/ยูนิต ซึ่งการกู้ร่วมในลักษณะนี้ไม่ใช้การซื้อเพื่อเกร็งกำไรอย่างแน่นอน ส่วนความร้อนแรงของการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้น ยอมรับว่ามีการเปิดตัวมาก แต่รูปแบบของการเปิดตัวจะกระจายทำเลทั้งในกรุงเทพ-ปริมณฑลและต่างจังหวัด ต่างจากอดีตที่จะมีการลงทุนแบบกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่ที่มีจำนวนสินค้าคงเหลือในตลาดมากๆ จะไม่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่เข้าสู่ลาด แต่ผู้ประกอบการจะไปหาทำเลใหม่ๆ ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย

“จะให้ดีแบงก์ชาติไม่ควรควบคุมที่ผู้ซื้อแต่ควรไปควบคุม สินเชื่อต้นน้ำ นั้นคือ สินเชื่อที่ปล่อยให้ผู้ประกอบการ เพื่อจะได้ควบคุมการพัฒนาของผู้ประกอบการไม่ให้มีมากจนเกินไป โดยกำหนดปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะในรายที่มีหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่าเป็นต้น ส่วนกรณีของผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ใช้วิธีระดมเงินในตลาดทุน ก็ให้ FA ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารกำหนดคุณสมบัติของบริษัทว่าต้องมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ ไม่เกิน 1.5 เท่าจึงจะจัดจำหน่ายให้” นายประเสริฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น