xs
xsm
sm
md
lg

“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (17)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

   ไม่ต้องดูดวงเมืองก็รู้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดวงแตก
       เงินทุนไหลเข้าออกจะเป็นปัจจัยชี้ขาด

อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือ เยน กำลังแข็งค่า หรือ Appreciate มากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและอาจเข้าใกล้อัตราแลกเปลี่ยนก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ก็มีความเป็นไปได้ในไม่ช้า

การแข็งค่าที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการเกินดุลการค้าแต่เพียงลำพัง ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาแม้จะเกินดุลการค้า แต่ดุลบริการปรากฏว่าขาดดุลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมาทุกปีจนทำให้ในบางปีการเกินดุลการค้าไม่เพียงพอที่จะรองรับการขาดดุลบริการที่เกิดขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นการรวมเอาดุลการค้าและดุลบริการเข้ามาด้วยกันขาดดุลอันเป็นผลจากดุลการบริการที่ขาดดุล สรุปง่ายๆ ได้ว่าสถานการณ์การค้าต่างประเทศจึงอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน

ในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเสรี มีความเข้าใจผิดอยู่เสมอๆ ว่า ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีความสัมพันธ์ตามดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อทำให้ดุลการชำระเงินสมดุลหรือเท่ากับศูนย์ กล่าวคือเมื่อเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะต้องมีเงินทุนไหลเข้าเท่ากับยอดการขาดดุลดังกล่าวเพื่อทำให้ดุลการชำระเงินได้ดุลและเป็นไปในทางตรงกันข้ามเมื่อเกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วมักเป็นไปในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมักจะหาผู้ให้กู้ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีเงินทุนไหลเข้าเพื่อชดเชยการขาดดุลดังกล่าวจนต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะมีเงินทุนไหลเข้าทั้งๆ ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงมิได้เป็นเหตุอีกต่อไปที่ทำให้ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงตาม

ดุลการชำระเงินจึงอยู่ในภาวะที่ไม่ได้ดุลมากกว่าสมดุลอยู่อย่างสม่ำเสมออันเนื่องมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยต้นเหตุที่สำคัญ

เงินทุนเคลื่อนย้ายนี้แหละที่มีบทบาทสำคัญทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นอย่างมากในระยะหลังๆ เนื่องจากเป็นเงินตราต่างประเทศซึ่งต้องมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเสียก่อนจึงจะนำไปทำธุรกรรมอื่นๆ ต่อไปได้ ความต้องการเงินบาทจึงมีมากจากอะไรที่มีความต้องการมากก็ย่อมจะมี “ราคาแพงขึ้น” หรือ แข็งค่าขึ้นมานั่นเอง ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่ติดตามมาด้วยก็คือเงินเฟ้อเพราะมีเงินบาทเพิ่มเข้ามามากขึ้นจากเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมา จึงตอบสนองต่อการแข็งค่าเงินบาทด้วยการ “ทำหมันเงิน” หรือ Sterilization เงินทุนที่ไหลบ่าเข้ามาเพื่อมิให้เงินท่วมตลาดจนเกิดเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้

ตัวเลขเงินยืมสถาบันการเงินที่แสดงถึงสถานะ ธปท.ในการเป็นเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ในระบบที่รับเงินทุนไหลเข้ามาจากต่างประเทศในปี พ.ศ. 2545หรือเป็นลูกหนี้จากปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมาในตารางที่ 1 จึงแสดงถึงการดำเนินนโยบายการเงินในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาว่ามีการ “ทำหมันเงิน” เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยการควบคุมการเพิ่มขึ้นของฐานเงินให้แตกต่างไปจากการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างชัดเจน

กล่าวง่ายๆ ก็คือ ธปท.ยินยอมให้ฐานเงินหรือ Monetary Base เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าเศษจากปี พ.ศ. 2545-55 แม้ว่าจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3.5 เท่าในห้วงระยะเวลาเดียวกัน มิเช่นนั้นแล้วปริมาณเงินบาทในระบบจะต้องเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.5 เท่าจากที่เป็นอยู่

แม้ว่าจะยินยอม “กลืนเลือด” ด้วยการยอมเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินด้วยการขายหลักทรัพย์ให้เพื่อดูดซับเอาเงินออกมาจากระบบเพื่อมิให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ก็มีต้นทุนจากการเป็นหนี้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆ ประเด็นสำคัญก็คือ ธปท.จะดำเนินนโยบายเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด

ผู้ร้ายตัวสำคัญคือ เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมิใช่ใครอื่นใด หาใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่เพียงลำพังก็หาไม่ อย่าสับสนกับสิ่งที่กิตติรัตน์หรือวีรพงษ์เรียกร้องในปัจจุบัน คิดว่าลดอัตราดอกเบี้ยแล้วเงินทุนจะไม่ไหลเข้ามาในประเทศเช่นนั้นหรือ? ดูข้อมูลเสียก่อนกิตติรัตน์ หากจะเถียง เงินทุนไหลเข้ามันสนองตอบต่ออัตราดอกเบี้ยมากน้อยเพียงใด

ธปท.มีทางเลือกแต่ก็ไม่มากนักในการจัดการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่ก่อให้เกิดต้นทุนกับประเทศไทยอย่างมหาศาล การฝืนดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่อไปจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างน้อย 3 ประการคือ

1. ภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และคอนโดฯ เป็นผลโดยตรงจากการคาดคะเนในราคาหลักทรัพย์ว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือคาดคะเนเงินเฟ้อในอนาคตที่จะเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทำให้คนมองว่า “การซื้อวันนี้จึงดีกว่าซื้อพรุ่งนี้ (เพราะถูกกว่า)” ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนก็คือการสนับสนุนของรัฐบาลให้ประชาชนใช้จ่ายและสภาพคล่องที่มีท่วมตลาด แม้ว่า ธปท.จะดูออกไปแล้วบ้างก็ตามแต่ก็ยังมีมากเกินความต้องการอยู่ดี ผลลัพธ์เมื่อฟองสบู่แตกเมื่อพ้นน้ำจะเป็นอย่างไรไม่ต้องกล่าวเพราะวิบัติเมื่อปี พ.ศ. 2540 เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงทศวรรษเดียวแผลยังเพิ่งปิดไปหมาดๆ

2. การแข็งค่าของเงินบาท ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากมักถูกนำมาเป็นภาพลวงตาหรือส่งสัญญาณที่ผิดว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะที่ดีอยู่เสมอมาไม่เว้นแม้แต่ปัจจุบัน ข้อเท็จจริงที่มักประสบพบในภายหลังเมื่อวิบัติแล้วก็คือ จำนวนเงินทุนสำรองฯ ที่มีอยู่นั้นเป็นของเราเองน้อยกว่าที่เห็น หากอนุมานจากตัวเลขในตารางข้างต้นว่าเงินทุนไหลเข้ามีมากกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับเงินที่ ธปท.สูบออกมา ดังนั้น เงินทุนสำรองฯ จำนวน 5.56 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา จะมีที่เป็นของไทยเพียง 1.72 ล้านล้านบาทเท่านั้น (5.56 - 3.84) เงินบาทที่แข็งค่าหรือราคาหุ้นที่เพิ่มสูงในวันนี้ก็อาจอ่อนค่าและลดลงอย่างรวดเร็วได้โดยง่ายในอนาคตเมื่อเงินทุนไหลออกไป

ทุกคนคิดลึกๆ ในใจว่าข้าแน่หนีได้ทันทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่จะหนีทันหรือ หุ้นตก 10% ก็ปลอบใจว่าพรุ่งนี้ก็อาจขึ้นกลับมาใหม่ หุ้นตกต่อเป็น 20% ก็บอกว่าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน หุ้นเหลือมูลค่าเพียงครึ่งเดียวก็เก็บไว้ให้ลูกหรือเอาใบหุ้นแปะฝาบ้านก็ได้ ประสบการณ์ของคนที่ถูกหลอกให้ซื้อทองเก็บเอาไว้เก็งกำไรจากกูรูต่างๆ เป็นข้อเตือนใจที่ดี จาก 24,000-26,000 บาทต่อ 15.2 กรัมเหลือเพียงประมาณ 18,000 บาทเท่านั้นในปัจจุบัน

3. ที่สำคัญมากกว่าก็คือรัฐบาลนี้กำลังพาประเทศเดินไปในทิศทางที่สุ่มเสี่ยงเป็น Risk Lover อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มิได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์ หรือ Risk Averter แต่อย่างใด การก่อและซุกหนี้สาธารณะ การสนับสนุนประชาชนในบริโภคใช้จ่ายเงินเกินตัวด้วยนโยบายประชานิยม ทั้งหมดล้วนเพิ่มความเสี่ยงและสร้างเงื่อนไขพันธนาการประเทศในทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้สร้างขึ้นมาเองมากขึ้นทุกขณะ นั่นก็หมายความว่าประเทศไทยจะมีช่องว่างเหลือเอาไว้รองรับความผันผวนหรือปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาได้น้อยลงทุกขณะ

นับต่อจากนี้ไปความผันผวนในเงินทุนไหลเข้าออกจึงเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจประเทศไทยโดยแท้ ไม่ต้องดูดวงเมืองก็รู้ ธปท.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ชัดว่า การตัดสินใจว่าจะไม่ตัดสินใจก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่น่าเลือกเป็นอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น