xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประชุมระหว่างผู้บริหารทางการเมือง กับผู้บริหารทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับค่าเงินบาท

นั่นแสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนทางด้านธุรกิจของนักการเมืองบางคน เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ค่าเงินบาทในวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ปรับตัวแข็งค่าหลุด 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาแตะที่ระดับ 28.91-28.95 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 (รอบ 16 ปี)
ภายหลังการประชุม ปรากฎว่า นายประสาร ได้แถลงว่า นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท 2 ประเด็นได้แก่

1.การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วผิดปกติหรือไม่ และจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อดูแลค่าเงินเป็นพิเศษหรือไม่

2.ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว จะกระทบใครบ้าง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือไม่

โดยผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ได้รายงานนายกรัฐมนตรีว่า ค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่ง ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อเร็วๆ นี้ได้ส่งหนังสือถึงสถาบันการเงินที่ดูแลเรื่องหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนต่างประเทศ (คัสโตเดียน) เพื่อขอทราบรายชื่อ และข้อมูลของผู้ลงทุนว่าเป็นใครบ้าง จะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการลงทุน และสามารถติดตามได้ ว่าต้องมีมาตรการที่เหมาะสมหรือไม่

ส่วนผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่านั้น มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ ธปท. ดำเนินการช่วงที่ผ่านมาคือ ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้อำนวยความสะดวกแก่ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อบริหารความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้คำแนะนำในการประกันความเสี่ยง การให้วงเงิน การเพิ่มความสะดวกการรับฝากรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

นายอารีพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง และธปท. จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามสถานการณ์เงินทุนไหลเข้า และมาตรการทางการคลังที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้ โดยได้ชี้แจงกับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการที่รับผิดชอบต้องไม่กู้เงินต่างประเทศ ส่วนหน่วยงานใดที่มีเงินกู้ต่างประเทศก็ให้ลดจำนวนลง

“เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในไทย ส่วนใหญ่จะไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว จึงไม่น่ามีความกังวล และต่อไปการออกพันธบัตรรัฐบาลจะวางเงื่อนไขให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อได้ เหมือนนักลงทุนรายใหญ่” ปลัดกระทรวงการคลังบอกไว้

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงการคลัง เห็นว่า การใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ถือเป็นการส่งสัญญานที่ไม่ปกติ ซึ่งไม่มีความจำเป็นในเวลานี้

ต่างกับ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เจ้าเก่า

“ ผมได้ติดตามค่าเงินบาทด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง และแสดงความเป็นห่วงมาตั้งแต่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งพยายามให้ความเห็นผ่านทุกช่องทางตลอด 1 ปีเต็ม ที่ผ่านมา ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามดูแลตามอำนาจหน้าที่เท่าที่กฎหมายอนุญาตอย่างเต็มที่”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ เสนอหน้าไปดูแลค่าเงินบาท แทนธปท.ทุกช่องทาง

กิตติรัตน์ อธิบายด้วยกรอบคิดไร้เดียงสาแบบเดิมว่า “การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา ได้ขอร้องและวิงวอนให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งในระยะสั้น จะหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายทางการเงินการคลังให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดทุนไทย อยากให้หน่วยงานที่ดูแลมีอิสระในการดำเนินนโยบาย”

นั่นหมายความว่า กิตติรัตน์ อยากให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนเดิม เพื่อให้เงินทุนไหลเข้าลดลง

เขาประกาศมาหลายครั้งหลายคราว่า เขาต้องการเห็นเงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่อ่อนค่าลง หลังจากที่มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการช่วยเหลือภาคส่งออก ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย

“เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องรักษาศักยภาพของการแข่งขันในภาคการส่งออกของประเทศไว้ให้ได้ โดยปัจจัยสำคัญในการรักษาศักยภาพดังกล่าวก็คือ อัตราแลกเปลี่ยน ที่ไม่ควรแข็งค่ามากจนเกินไป”

เขาวิจารณ์การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. อย่างเป็นปกติว่า “ขณะนี้มองว่านโยบายการเงินของประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าผิดปกติ และอัตราดอกเบี้ยก็อยู่สูงในระดับที่ผิดปกติเช่นกัน เพราะหากมองในภาพรวม แม้ว่าไทยจะมีกลไกเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนอกเหนือจากการส่งออก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการส่งออกก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ และสัมพันธ์โดยตรงกับการจ้างงานอีกด้วย”

ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของ มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน)

“การแข็งค่าของค่าเงินควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรเข้าไปบิดเบือนกลไกตลาด มาตรการรับมือของ ธปท.ในปัจจุบันนั้น ถือว่าทำได้ดี "

ความแข็งแกร่งในการดำเนินนโยบายการเงิน ของธปท. ทำให้นักลงทุน และนักธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น แม้ว่าจะถูกกดดันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาแล้วหลายครั้งก็ตาม แต่คณะกรรมการนโยบายการเงินยังพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจ มากกว่าความต้องการรัฐมนตรี

นั่นทำให้ ธปท.ประเมินว่า “ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายการดูแลค่าเงินบาทใหม่ เพียงแต่ต้องคอยติดตาม นโยบายเดิมก็ยังใช้ได้อยู่ อีกอย่างนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันก็มีความยืดหยุ่นได้พอประมาณอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายดอกเบี้ย เงินทุนเคลื่อนย้าย ”

อย่างไรก็ตาม หากยอมรับข้อเท็จจริงของ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity) ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ของ ศ.มันเดล เฟรมมิ่ง นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แล้ว
เป็นไปไม่ได้เลยที่ไทยจะควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ

เนื่องจากทฤษฎีนี้อธิบายเป้าหมายการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศต่างๆนั้น จะประกอบไปด้วยสามเป้าหมายหลัก คือ

1) การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ (Exchange Rate Stability)

2) การดำเนินนโยบายการเงินโดยอิสระ (Monetary Independence)

3) การเปิดเสรีเงินทุนระหว่างประเทศ (Capital Liberalization)

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งสามประการพร้อมกันได้ เนื่องจากเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าวมีการขัดแย้งระหว่างกันอยู่ ฉะนั้นผู้มีอำนาจในการออกนโยบายจำเป็นจะต้องเลือกเพียงสองเป้าหมายในการดำเนินนโยบายเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการขัดกันของเป้าหมายเชิงนโยบาย แนวคิดข้างต้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่า สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้

ประเด็นสำคัญคือ หากเลือกการเปิดเสรีเงินทุนระหว่างประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ ธนาคารก็จะต้องดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

นั่นหมายความว่า ภายใต้ระบบอัตาแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการของไทยในปัจจุบัน จะไม่สามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเด็ดขาด

การแข็งค่าของเงินบาท จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติเสมอ !!


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น