xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตัดหาง“กิตติรัตน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐล่าสุด ปรากฏว่า ธนาคารกลางยังย้ำถึงเป้าหมายอัตราการว่างงาน และระดับเงินเฟ้อ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสนใจ

โดยธนาคารกลางสหรัฐยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐยังจะชะลอตัวชั่วคราว นั่นทำให้ธนาคารกลางจะต้องซื้อคืนพันธบัตรสหรัฐเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อไป

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของสหรัฐในไตรมาสยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้

ทั้งนี้ จีดีพีที่แท้จริงประจำไตรมาส 4/2555 หดตัวลง 0.1% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว และเป็นครั้งแรกที่จีดีพีหดตัวลงนับตั้งแต่ผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงปี 2550-2552

นอกจากนี้ จีดีพีไตรมาส 4 ยังสวนทางกับการขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐร่วงลงอย่างหนักถึง 15% ขณะที่ภาคเอกชนก็ปรับลดสต็อกสินค้าคงคลัง

ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของสหรัฐ ทำให้การลงทุนในสหรัฐสร้างผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก จนเกิดกระแสไหลเข้าเงินทุนจำนวนมาก ไปสู่ตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย

ส่งให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น ซึ่งประเมินกันว่า หากสถานการณ์ไหลเข้าของเงินทุนยังอยู่อย่างจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 28 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

สร้างความวิตกกังวลให้กับ “ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการรายเล็ก” จำนวนมาก

สร้างแรงกดดันให้ที่ประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สั่งตั้งทีมนักเศรษฐศาสตร์การเงิน เพื่อให้ปรึกษาหารือกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการรับมือค่าเงินบาทที่แข็งค่าและผันผวน จากเงินทุนไหลเข้าในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมทีมเศรษฐกิจยังยืนยันว่า อำนาจการตัดสินใจดำเนินนโยบายยังเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทีมนักเศรษฐศาสตร์การเงินดังกล่าว ประกอบด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง เป็นตัวแทนของรัฐบาล และนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญในรัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกฯ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธปท. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เป็นต้น

กิตติรัตน์ (รมว.คลัง ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนตัว) บอกนักข่าวว่า “ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และผันผวนขณะนี้ เป็นเพราะการไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศในช่วงสั้นๆ ในตลาดทุน และตลาดพันธบัตร แต่ยืนยันจะไม่นำมาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนมาใช้แน่นอน”

แต่กระนั้นมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก็ยังไม่มีรูปธรรมใดๆ จากรัฐบาลชุดนี้ นอกจากตั้งคณะกรรมการ และพูดผ่านสื่อ

โดยล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมี “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เอสเอ็มอี

ส่งผลให้สัญญานการปรับคณะรัฐมนตรีชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำคลอด “ปู 4”

โดยหลังจาก “ชุมพล ศิลปอาชา” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ถึงแก่อสัญกรรม และในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคุณสมบัติของ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ จากการถูกศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก แต่ให้รอลงอาญา

สื่อรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 1-2 ก.พ.นี้ ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางมาเยือนเขตบริหารพิเศษมาเก๊า เพื่อหารือกับบรรดาแกนนำพรรคในประเด็นการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ 4 ซึ่งรายชื่อที่คาดว่าจะปรับออกนั้น มีชื่อของกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ร่วมอยู่ด้วย เนื่องจาก ทักษิณเห็นว่านายกิตติรัตน์ ไม่สามารถผลักดันโครงการร่วมทุนไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ท่าเรือน้ำลึกทวายได้ตามเป้า โดยเฉพาะการไม่สามารถดึงกลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่น เข้ามาร่วมทุนได้ ทำให้โครงการล่าช้า

โครงการดังกล่าว จะมีการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-บ้านโป่ง -กาญจนบุรี เข้าถึงบ้านน้ำพุร้อน ชายแดนไทย-พม่า เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรองรับการขนส่งสินค้า และการลงทุน

ที่สำคัญยังมีบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เตรียมพัฒนาที่ดินตามเส้นทางดังกล่าวไว้รองรับนับหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ ได้เคยต่อรองกับทักษิณ เพื่อไม่ให้ปรับออกจากครม. ตั้งแต่การปรับครม.ครั้งที่แล้ว เพราะ กิตติรัตน์ เป็นเพื่อนสนิทกับ เศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารบริษัทแสนสิริ

แต่การทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของกิตติรัตน์ กลับอยู่ในสภาพ “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ” นอกจากแสดงบทบาทบางอย่างที่บ่งบอกถึงวุฒิภาวะต่ำ เช่น การโกหกสีขาว และการเป็นผู้จัดการทีมชาติฟุตบอล

แม้กระทั่งการแสดงบทบาทที่จะให้นักธุรกิจยอมรับในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น กิตติรัตน์ ก็ทำได้เพียงแค่ประกาศผ่านสื่อเท่านั้น

เสมือนหนึ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่องคาถามาพูดว่า จะไม่มีการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกจากไทย

โดยไม่รู้สาเหตุว่า ทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับอธิบายในเชิงวิชาการ และภาคปฏิบัติได้อย่างน่าเชื่อมากกว่า

เขาบอกว่า “การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้ เริ่มกลับมามีผันผวนน้อยลง แต่ก็ยังจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป”

“คงต้องหารือกับตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (สอท.) แต่จะคาดหวังให้ธปท.มาอุ้มค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง คงไม่ได้ เพราะการผันผวนของค่าเงินบาทมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศที่หลายประเทศไม่ปฏิบัติตามกฎ ซึ่งเราก็เห็นใจภาคเอกชน แต่เอกชนก็ต้องระมัดระวังในส่วนของเขาด้วย ส่วนเราทางการก็จะระวังในส่วนต่างๆ และพยามสร้างสมดุลทำให้เงินทุนไหลเข้าและไหลออกสมดุลเป็นธรรมชาติ เพื่อให้สามารถบริการจัดการคาเงินได้ สรุปทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน”

เขายังกล่าวถึงข้อเสนอของ สอท.7 ข้อ อีกว่า “จากการรับฟังข้อเสนอของสอท. ในเบื้องต้นตามแนวคิดที่คุณเจน นำชัยศิริ รองประธาน สอท. ชี้แจงผ่านสื่อก่อนหน้านี้ 7 ข้อ จริงๆในขณะนี้ ธปท.ก็ทำครบทุกข้อแล้ว ยกเว้นข้อที่อยากให้มีการแยกเงินที่ไหลเข้ามาว่าเป็นเงินลงทุนโดยตรง หรือเงินที่เข้ามาเก็งกำไรนั้นคงทำได้ยาก เพราะในทางปฏิบัติคงลำบาก”

ข้อเสนอที่ให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยต้องลงทะเบียน และแจ้งวัตถุประสงค์การใช้นั้น ผู้ว่าฯธปท. ตอบแบบนิ่มๆว่า “ในการปฏิบัติคงทำได้ยาก และอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ รวมถึงอาจจะยุ่งยากในการปฎิบัติของธนาคารพาณิชย์ ”

ต่างกับการไม่มีคำอธิบายของ กิตติรัตน์ ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องค่าเงินพอ

ทั้งนี้ นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน สอท.ได้เรียกร้องให้ธปท. ช่วยดูแลผลกระทบคาเงินบาทแข็ง 7 ข้อ ได้แก่

1.ให้ธปท.ดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างผันผวน โดยต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
2. อย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งหากแข็งค่าขึ้นมากกว่า 3% ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนา เพราะในมุมมองผู้ประกอบการถือว่าค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแล้ว
3.ให้ปลดล็อกการถือครองเงินตราต่างประเทศ
4. ต้องการให้กลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี เข้าถึงกลไกและมาตรการต่างๆมากขึ้น เช่น ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ลดวงเงินค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการป้องกันความเสี่ยงให้มีขนาดเล็กลง กำหนดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมให้เหมาะสม

5. แยกเงินที่ไหลเข้ามาเป็นเงินต่างประเทศที่แปลงเป็นเงินบาท เพื่อมาหาประโยชน์ แล้วสร้างภูมิคุ้มกันให้ชัดเจน
6. สนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนในต่างประเทศ
7. สนับสนุนการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่ล้าหลังเท่ากับข้อเสนอให้ควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงินทุน (Capital Control) เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท

นั่นแสดงว่า ผู้เสนอไม่รู้จัก “ทฤษฎีสามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity) ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ของ ศ.มันเดล เฟรมมิ่ง นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ทฤษฎีนี้อธิบายเป้าหมายการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศต่างๆ ว่า จะประกอบไปด้วยสามเป้าหมายหลัก คือ

1) การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ (Exchange Rate Stability)
2) การดำเนินนโยบายการเงินโดยอิสระ (Monetary Independence)
3) การเปิดเสรีเงินทุนระหว่างประเทศ (Capital Liberalization)

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการพร้อมกันได้ เนื่องจากเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าวมีการขัดแย้งระหว่างกันอยู่

ดังนั้น ผู้บริหารนโยบายจำเป็นจะต้องเลือกเพียงสองเป้าหมายในการดำเนินนโยบายเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกันของเป้าหมายเชิงนโยบาย

แนวคิดดังกล่าวนี้เรียกว่า “สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity)

ประเด็นสำคัญคือ หากเลือกการเปิดเสรีเงินทุนระหว่างประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ ซึ่งในปัจจุบันไทยเลือกเป้าหมายทั้งสองนี้ ธนาคารกลางก็จะต้องดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

นั่นหมายความว่า ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการของไทยในปัจจุบัน จะไม่สามารถควบคุมเงินทุนได้อย่างเด็ดขาด

มิเช่นนั้น จะทำให้เกิดมหันภัยตามอีกมากมายในภายหลัง

แต่ถ้าหาก ไทยเลือกที่จะกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ หรือ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีอิสระ

ประเทศไทยก็สามารถควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออกได้ เพราะจะไม่มีการเปิดเสรีเงินทุนระหว่างประเทศ

ทฤษฎีนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลก

ถ้าหาก “กิตติรัตน์” อยากลองพิสูจน์ ก็ลองควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออก โดยยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว และดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ

แต่ไม่รับประกันความฉิบหาย เพราะแม้แต่ผู้ส่งออกก็คงไม่เดินให้เห็นหน้าอยู่เช่นกัน !!


เศรษฐา ทวีสิน
 ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น