ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
สัมภาษณ์พิเศษ
แม้หลายคนจะรูดีว่าที่ผ่านมาบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโก่งปั่นราคา ฟันกำไรในธุรกิจค้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตร เคมี มาช้านาน แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วเหตุใดกลไกของรัฐจึงไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับการค้าที่เป็นเอารัดเอาเปรียบประชาชนของ ปตท.ได้
แต่จากการพูดคุยกับ 'อิฐบูรณ์ อ้นวงษา' หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งติดตามคุ้นแคะเบื้องหน้าเบื้องในการผูกขาดพลังงานไทยของ ปตท. ในทุกแง่มุม ทำให้ได้คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบราชการไทย มีการหมกเม็ดซ่อนเงื่อนอะไรในธุรกิจพลังงาน และประชาชนคนไทยในฐานะผู้ใช้ก๊าซและน้ำมันจะสามารถลุกขึ้นปฏิวัติขจัดความฉ้อฉลเหล่านี้ได้หรือไม่.. อย่างไร ?
- หลายคนสงสัยว่าปัจจุบัน ปตท. เป็นเอกชนหรือเป็นรัฐวิสาหกิจกันแน่ ทำไมเวลาค้ากำไรจึงอ้างความเป็นเอกชน แต่เวลาจะใช้สิทธิประโยชน์บางอย่างจึงอ้างความเป็นรัฐวิสาหกิจ?
ต้องเรียนว่า ปตท.เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างพิลึกพิลั่น ที่บอกว่า ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจนั้นจริงๆ แล้วเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีงบประมาณเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปตท.เป็นเอกชน ซึ่งคำว่า เป็นรัฐวิสาหกิจโดยวิธีงบประมาณ ก็คือเพียงแค่มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.เท่านั้น นอกนั้นการบริหารงานและการกำกับดูแลขององค์กรนี้คือบริษัทเอกชน ที่สำคัญคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550 ก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อ ปตท.แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว จึงไม่ใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป ” เมื่อมีบรรทัดฐานของศาลปกครองสูงสุดในประเด็นนี้ก็ถือเป็นที่สุดแล้ว เป็นการชี้ถึงสถานะในการดำเนินกิจการของ ปตท.หลังการแปรรูปในปี 2544เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นของรัฐ ปตท.ต้องส่งคืนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือที่ใหญ่กว่านั้นคือเรื่องของอำนาจและสิทธิที่เป็นของรัฐซึ่งรัฐเคยให้ไปเมื่อครั้งที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจนั้นรัฐต้องดึงกลับคืนมา
- แปลว่าหลังจากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ สิทธิและอำนาจต่างๆ ของ ปตท.ที่เคยมีก็ต้องหมดไปด้วย ?
ใช่ครับ ทั้งสิทธิ อำนาจ และทรัพย์สมบัติที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ปตท.จะถือครองไว้ไม่ได้ การคืนทรัพย์สินบางส่วน แต่ไม่คืนอำนาจ ก็แปลว่ายังคืนไม่ครบ นอกจากนั้นยังมีการปล่อยให้ ปตท.ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์อีก โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดธุรกิจ ประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากคืออำนาจผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวของ ปตท.ในการเป็นผู้จัดซื้อและจัดหาพลังงานมาป้อนให้บรรดาผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งรายใหญ่และรายเล็กซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) จากกาตาร์ วันละ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเท่ากับปีละ 1 ล้านตัน เพื่อขายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ เช่น กฟผ. แทนที่จะให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเป็นคนจัดหาเอง ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถต่อรองราคาได้เพราะถูกกำหนดให้ซื้อจาก ปตท.เพียงเจ้าเดียว และปัจจุบัน ปตท.ยังคงสิทธิและอำนาจในการจัดการตรงนี้ทั้งที่ตอนนี้ ปตท.แปรรูปเป็นเอกชนไปแล้ว
จริงๆ แล้วรัฐต้องมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เสรีมีความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค แม้กระทั่งตัวรัฐเองแม้จะสามารถประกอบกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็น รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าสามารถทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันที่เสรี แต่ไม่ใช่รัฐทำภายใต้กรอบการผูกขาด อย่างเช่น รัฐประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่าน กสท. (บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)) ก็ต้องแข่งกับเอไอเอส แข่งกับดีแทค เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการในราคาถูก แต่ไม่ใช่ไปครอบงำหรือปล่อยให้ธุรกิจหนึ่งมีการครอบงำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอย่างกรณีของบริษัท ปตท.
ปัจจุบัน ปตท.ซึ่งเป็นเอกชนกลับใช้กลไกรัฐในการผูกขาดตลาดแบบเบ็ดเสร็จ เดิมมีคนพูดว่าการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นหมือนสมัยก่อนที่มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องก็ถือว่าโหดเหี้ยมพออยู่แล้ว แต่การผูกขาดโดยที่ใช้อำนาจรัฐภายใต้กำมือของเอกชนมันโหดร้ายยิ่งกว่า ที่ผ่านมาประชาชนมอบอำนาจมหาชนให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแล ปตท. แต่กลับกลายเป็นว่าหน่วยงานรัฐทั้งทำงานเกินกว่าหน้าที่และเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.
- รัฐทำงานเกินหน้าที่อย่างไร ?
ไปช่วยเขาเขียนแผนรองรับเรื่อง PDP (แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า) ที่มากเกินความจำเป็น ไปช่วยเขาเขียนแผนรองรับการจัดสรรพลังงานโดยไม่เป็นธรรม เช่น เอา LPG ไปให้ปิโตรเคมีใช้ก่อน โดยไม่สนใจประชาชนที่ต้องใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง หรือช่วยเขียนกฎหมายรองรับการกระทำที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายๆกรณี ผมว่าคนของรัฐตอนนี้แกล้งโง่ แล้วก็หลอกลวงประชาชน ออกมาบอกว่า ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ
- ปัญหาตอนนี้คือมีการใช้กลไกของรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้ ปตท. เป็นผลให้ให้ประชาชนเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐและการดำเนินงานของ ปตท. ?
คือแต่ก่อนอาจจะได้ยินคำว่าทุจริตเชิงนโยบาย แต่กรณีของกิจการพลังงานเราไม่อาจใช้คำนี้ได้ เพราะว่ามันเป็น “การทุจริตด้วยนโยบาย” ไม่ใช่แค่เชิงแค่นโยบาย เพราะรัฐออกนโยบายเพื่อให้ ปตท.เข้ามาตักตวงทรัพยากรที่เป็นของคนไทยทั้งประเทศอย่างเต็มที่ พอรัฐบอกว่าเป็นนโยบาย ประชาชนไปฟ้องศาลปกครองเราก็แพ้ เมื่อ ปตท.เป็นเอกชน ปรัชญาของเขาก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้ได้กำไรสูงสุดภายใต้กรอบกฎหมาย เพราะฉะนั้นอะไรที่ขัดกฎหมายเขาก็มาคุยกับคนของรัฐให้ทำผิดเป็นถูกเสีย เมื่อคนของรัฐไปช่วยเขาแก้กฎหมาย ทุกอย่างก็กลายเป็นถูกกฎหมายหมด
- ที่ทำอย่างนั้นได้เพราะมีข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงพลังงาน สำนักงานนโยบายพลังงานและแผน(สนพ.) เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในเครือ ปตท. เต็มไปหมด ?
ใช่ครับ เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองวินิจฉัยคือ เมื่อ ปตท.พ้นจากการเป็นองคาพยพของรัฐแล้วจะต้องดึงส่วนต่างๆ ที่เป็นของรัฐออกจาก ปตท. ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน อำนาจ และกระทั่งตัวบุคคล เพราะตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปทำงานอยู่ใน ปตท. เป็นคนเดียวกับผู้ที่วางนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับพลังงาน ทำให้มีปัญหาในการกำกับดูแล ยกตัวอย่างเหมือนกับเวทีมวย ฝั่งหนึ่งเป็นบริษัทเอกชนซึ่งประกอบธุรกิจ อีกฝั่งหนึ่งเป็นผู้บริโภค ส่วนผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ก็เป็นเหมือนกรรมการ แต่กรรมการไม่ได้กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการอยู่ในกรอบกติกา เวลาให้น้ำก็ให้แต่ฝั่งผู้ประกอบการ ประชาชนถูกอัดจนน่วม เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรให้ข้าราชการไปนั่งเป็นบอร์ดใน ปตท.หรือธุรกิจในเครือ ปตท.
อย่างเช่น เมื่อเร็วๆนี้ ปตท.มีการลงทุนในโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ซึ่งอยู่ที่ จ.ระยอง ปตท.ก็อยากได้ทุนคืนเร็วๆก็เลยขอปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG กระทรวงพลังงานก็อนุมัติ ทั้งๆที่รัฐนั้นมีหน้าที่ทางรัฐศาสตร์และหน้าที่ทางสังคมซึ่งต้องมองถึงภาวะความเป็นอยู่ ภาวะค่าครองชีพของประชาชนด้วย และที่สำคัญที่สุดคือการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยคือทรัพยากรของประชาชนและสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อรัฐโอนเอียงไป ให้ปิโตรเคมีของ ปตท.เอาไปใช้ก่อน ก๊าซที่เหลือประชาชนไม่พอใช้ก็นำเข้าจากต่างประเทศ ประชาชนก็ใช้ของแพง ทำไมเราไม่ให้ประชาชนใช้ก่อน ที่เหลือถึงให้ปิโตรเคมีได้ไหม
- แล้วในส่วนของ สตง.ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของ ปตท. มีอำนาจที่จะคัดค้านหรือระงับการกระทำที่มิชอบธรรมของ ปตท.ไหม ?
สตง.ก็คงตรวจสอบบัญชีตามรายงานประจำปีของ ปตท. แต่ ปตท.เขาก็คงไม่ทำบัญชีหลุดๆ ออกมาให้ สตง.ตรวจสอบหรอก แต่ที่เป็นปัญหาคือการไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของ สตง. อย่างครั้งหนึ่ง สตง.เคยชี้ว่า ปตท. และรัฐบาลยังดำเนินการคืนทรัพย์สินในส่วนของท่อก๊าซไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550) เมื่อ สตง.ทักท้วงไปก็ปรากฏว่า ปตท. กับรัฐบาล ไม่เห็นสนใจคำทักท้วงของ สตง.เลย ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นรัฐวิสหกิจก็ต้องปฏิบัติตาม สตง. แต่เวลาที่ตัวเองจะได้ประโยชน์เขาจะอ้างว่าตัวเองเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ที่น่าสังเกตคือคนเขียนนโยบายพลังงานต่างๆก็เป็นคนที่ ปตท.เลี้ยงดูไว้ อย่างอิ่มหมีพีมัน ภายใต้ระบบโครงสร้างของความเป็นกรรมการ ได้ค่าเบี้ยประชุม เงินโบนัส และเงินตอบแทนต่างๆ ถามว่าแล้วอย่างนี้นโยบายที่ออกมาจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือของ ปตท.
- ในส่วนของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค คิดว่าควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ?
ก็มีการคุยกันในหลายทฤษฎี บางคนก็บอกว่าต้องทวงคืน ปตท. ซึ่งในส่วนของมูลนิคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเราก็ติดตามทวงถามในเรื่องของทรัพย์สมบัติที่เป็นของรัฐ กรณีที่ดำเนินการไปก็คือการทวงคืนท่อส่งก๊าซ ซึ่งเรายื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลมีคำวินิจฉัยว่าเมื่อแปรรูปกิจการไปแล้ว ปตท.ต้องส่งคืนให้รัฐ แต่ ปตท.กลับคืนเฉพาะท่อก๊าซที่อยู่บนบก แต่ท่อก๊าซที่อยู่ในทะเลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ปตท.ไม่ยอมคืน แล้วก็อ้างโน่นอ้างนี่ ทั้งที่ส่วนนี้มันจะอยู่ในความยึดครองของเอกชนไม่ได้ มันจะต้องอยู่ในความดูแลของรัฐเหมือนระบบสายส่งไฟฟ้า เหมือนระบบถนน ยกตัวอย่าง ถ้าถนนจากกรุงเทพฯไปโคราชเป็นของเอกชนเมื่อไรประชาชนก็เดือดร้อนเมื่อนั้น แต่ท่อก๊าซซึ่งสร้างมาจากภาษีประชาชน รัฐกลับปล่อยให้ ปตท.ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้ถือครองและเรียกเก็บผลประโยชน์ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
จริงๆ แล้วหลังคำพิพากษาก็มีมติ ครม.ว่า จะทำอย่างไรถ้ามีข้อขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาล โดย ครม.มีมติว่า ให้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาวินิจฉัย แต่ไม่มีใครส่ง คือคนที่มีหน้าที่ส่งเรื่องไปยังกฤษฎีกาก็คือรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ยอมส่ง ขณะที่ทาง ปตท.เนี่ยรวบรวมเอกสารและส่งเรื่องไปยังศาลปกครองสูงสุดว่าคืนครบถ้วนแล้ว ศาลก็แจ้งไปไปยังรัฐคือกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นใน ปตท. ทางนี้ก็ไม่คัดค้านอะไร อย่างนี้ถือว่าละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ คือ ปตท.เนี่ยจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ได้เลย ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็นเป็นใจ หรือทำเป็นปล่อยปละละเลย ซึ่งกรณีที่เราพบมากที่สุดคือปล่อยเกียร์ว่าง
- ปัจจุบันภาคประชาชนก็มีความตื่นตัวมาก กระทั่งมีกระแสต่อต้านการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมของ ปตท.ออกไปในวงกว้าง ?
ใช่ครับ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ปตท.กันมาก เลยทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนจำนวนหนึ่งและค่อยๆขยายเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือมีการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นมา เขาสืบค้นข้อมูลกันอย่างลึกซึ้งถึงโครงสร้างในธุรกิจน้ำมันเลย แล้วเขาก็มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ
- แล้วทางด้านมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?
เรามีเฟซบุ๊กที่ให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผูกขาดพลังงานไทย ซึ่งชื่อว่า Gooสู้โกง ( http://www.facebook.com/Goosoogong) แล้วมีการจัดเสนาให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นรากฐานที่เขาจะไปสร้างความเข้าใจและขยายเครือข่ายแนวร่วมในแต่ละพื้นที่ น่าดีใจที่บางกลุ่มเนี่ยเขามีการจัดกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาก ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่ครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน นอกจากนั้นทางมูลนิธิฯยังจัดโครงการ 'รวมพลปั่นต้าน(ความ)โลภ' คัดค้านการขึ้นราคา LPG เพื่อปลุกกระแสคนเมืองให้ลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งเราจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว และก็ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก ล่าสุดเรากำลังรวบรวมจดหมายที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรี โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ http://www.facebook.com/Goosoogong
คือสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ในการที่ร่วมกันขจัดการผูกขาดพลังงานไทยก็คือการส่งต่อข้อมูลและขยายเครือข่ายแนวร่วม และร่วมกันส่งเสียงถึงผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องในทุกรูปแบบ เพราะตรงนี้จะเป็นพลังงานสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด
ล้อมกรอบ
เปิดรายชื่อ...เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีตำแหน่งในเครือ ปตท.และบริษัทพลังงานของเอกชน
1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการปิโตรเลียม
มีหน้าที่
-ให้ความเห็นชอบในการให้สัมปทาน ต่อระยะเวลาสำรวจ ต่อระยะเวลา ผลิตปิโตรเลียม
-ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรกับผู้รับสัมปทาน
-กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
-เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อ ครม.
-กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน
-กรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
-กำหนดราคาเชื้อเพลิงและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
-เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน และกำกับการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้า Ft
ตำแหน่งบริษัทพลังงานของเอกชน
1) ประธานกรรมการ บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) รับเบี้ยประชุม+เงินเดือน 529,000 บาท โบนัส 2,223,287 บาท รวมรับทั้งปี 2,753,207 บาท
2) ประธานกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ปี 2554 รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน 850,000 บาท โบนัส 2,432,517 บาท รวมรับทั้งปี 3,282,517 บาท
3) กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ลาออกเมื่อ 29 มี.ค. 2554) รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน 540,000 บาท โบนัส 1,937,888 บาท รวมรับทั้งปี 2,477,888 บาท
4)กรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) (เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ พ.ย.2554) รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน 80,000 บาท
2.นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน
ตำแหน่งในบริษัทพลังงานของเอกชน (พ.ศ.2555)
1) กรรมการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจน้ำมัน มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น 170,000 บาร์เรลต่อวัน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย …. ได้รับค่าตอบแทนกรรมการเดือนละ 133,334 บาท รวมตลอดปี 2554 ได้รับทั้งสิ้น 1,600,008 บาท
2) ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) (RATCH) ซึ่งดำเนินกิจการรับซื้อเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. เพื่อผลิตไฟฟ้า ….ได้รับโบนัสของปี 2553 รวม 265,205 บาท
3. นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม อดีตรองปลัดกระทรวงพลังงาน
ตำแหน่งในบริษัทพลังงานของเอกชน (พ.ศ.2555)
กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น 215,000 บาร์เรลต่อวัน ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยเข้าเป็นกรรมการเมื่อ 15 ธ.ค.2554 …. ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนถึงสิ้นปี 2554 เป็นเงิน 24,677 บาท
4.นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ตำแหน่งในบริษัทพลังงานของเอกชน (พ.ศ.2555)
กรรมการบริษัท ปตท เคมิคอล จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ครบวงจร
5.นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ตำแหน่งในบริษัทพลังงานของเอกชน (พ.ศ.2555)
กรรมการบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศไทย 280,000 บาร์เรลต่อวัน.... ปี 2554 ได้รับเบี้ยประชุมและเงินเดือนรวมทั้งสิ้น 160,964 บาท
6.นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
ตำแหน่งในบริษัทพลังงานของเอกชน
กรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. เป็นผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยและต่างประเทศ จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ คอนเดนเสทให้แก่ ปตท.ปี …..2554ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน 1,143,750 บาท โบนัส 2.622,951 บาท รวมรับทั้งสิ้น 3,766,701 บาท
7.นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ตำแหน่งในบริษัทพลังงานของเอกชน
1) กรรมการบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ….ปี 2554 ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน 777,500 บาท โบนัส 2,000,000 บาท รวมรับทั้งสิ้น 2,777,500 บาท
2) ประธานกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทซึ่ง ปตท.เข้าไปถือหุ้นถึง 27.22% มีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของประเทศไทย มีกำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน....ปี 2554 ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน 675,000 บาท โบนัส 1,447,574 บาท รวมรับทั้งสิ้น 2,122,574 บาท
8.นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ปัจจุบันนั่งเป็นบกรรมการบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) …..รับจาก ปตท.2.23 ล้านบาท รับจาก ปตท.สผ.( ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)) 1.16 ล้านบาท