xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีด7 แสนล.ส่อสะดุด “แม้วชอบกู้”โวยเรื่องตลกหนี้ 50 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9 เม.ย.56) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งถึง 50 เปอร์เซ็นต์ว่า ตัวเลขที่เราใช้ในการวิจารณ์ มาจากตัวเลขของรัฐบาล ดังนั้นพ.ต.ท.ทักษิณอย่าพยายามเบี่ยงเบนประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณเป็นห่วงเหลือเกิน ว่าจะไม่ได้กู้ จึงออกมาแสดงความเห็นถี่ขึ้น ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงต้องตั้งหน้าตั้งตากู้ ทั้งที่หน่วยราชการยอมรับว่า โครงการยังไม่พร้อม เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง วงเงิน 7 แสนกว่าล้านบาท
" มีแต่พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น ที่มีท่าทีจะต้องกู้ให้ได้ คงเป็นเพราะว่าพ.ต.ท.ทักษิณชอบกู้ และอาจมีประเด็นอื่นที่เราต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป"นายอภิสิทธิ์ระบุ
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตำหนิ ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกรัฐบาล ที่ออกมาระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์แกล้งทำเป็นไม่ยอมรับว่าจะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงไปถึงหนองคาย
“ไม่ทำการบ้าน เพราะในเอกสารที่อ้างถึงนั้น ก็ระบุว่า ระยะที่ 1 เป็นเส้นทาง กทม.-นครราชสีมา ส่วน กทม.-หนองคาย นั้นเป็นระยะที่ 2 ซึ่งจะไม่ได้สร้างจากเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังจะออกกฎหมายกู้เงิน นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม ที่เพิ่งส่งเรื่องรถไฟความเร็วสูงให้สภาพัฒนาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปศึกษาใหม่ทั้งหมด แสดงถึงความไม่พร้อมในการดำเนินโครงการ”
นอกจากนี้ อยากให้ ร.ท.สุนิสา ไปสอบถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า เหตุใดรัฐบาลจึงฉีกเอ็มโอยู ที่ไทยทำร่วมกับจีนในเรื่องรถไฟความเร็วสูงทิ้ง และกรณีนี้เกี่ยวข้องกับการที่นายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน โทรศัพท์สายตรงถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ และสิ่งที่รัฐบาล ทำอยู่ในขณะนี้ จะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนอย่างไร
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวตอบโต้ว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบกู้ นั้น เป็นการพูดพล่อยๆ เพราะนายอภิสิทธิ์น่าจะจำได้ว่า นายกฯ คนที่ใช้หนี้ IMFครบก่อนกำหนดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะฉะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ถนัดใช้หนี้ มากกว่าก่อหนี้ แม้นายอภิสิทธิ์ มีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับการกู้เงิน 2 ล้านล้าน
การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์เฟสบุ๊คเรื่องประโยชน์ของการปฏิรูประบบโลจิสติกส์โดยใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านนั้น ท่านย้ำว่าไม่ได้ทำลายวินัยทางการเงินการคลัง และการกู้หนี้มาลงทุนนั้นก็จะทำให้ทรัพย์สินของประเทศและรายได้ของประเทศสูงขึ้นไปด้วย แม้หนี้เพิ่มแต่ GDP ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งคนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจ เรากู้มาเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ได้กู้มาทำโครงการหัวแหลกหัวแตกเช่น การแจกเช็คประชาชนคนละ สองพันบาท โครงการชุมชนพอเพียง ที่มีการทุจริตอย่างแพร่หลาย จ
ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในสถานีโทรทัศน์ทีวีอัพเดต ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล คือ การลงทุนให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้น ทั้งทางตรง ทางอ้อม ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน ลดความสึกหรอของถนนที่มีอยู่เดิม และเกิดการค้าการขายมากขึ้น ที่ดินราคาดีขึ้นตามความเจริญที่เข้าถึง และเป็นเรื่องตลก หากจะมีการใช้หนี้ 50 ปี ดังนั้นพวกที่ค้านร่างกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีเจตนาร้ายต่อประเทศแน่นอน อีกทั้งการปฏิวัติ ยังทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าและขาดความน่าเชื่อถือจากต่างชาติอีกด้วย ส่วนโครงการรถคันแรก ยังช่วยทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์และช่วยให้นายทุนไม่ย้ายฐานการผลิตรถออกจากประเทศไทยด้วย
วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาทนัดแรกที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน มีการพิจารณากรอบกว้าง ในด้านความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ ชี้แจงถึงประเด็นของความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ ว่าการลงทุนระดับมหาภาคจะต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจของประเทศ ที่ขณะนี้มีการพึ่งพาจากต่างประเทศอย่างมาก เช่นกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าเกิดวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ด้านแนวคิดและผลกระทบต่าง ๆ หากประเทศไทยต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจและ พัฒนาคุณภาพสินค้าในตลาดโลก ก็มองว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตไปอย่างก้าวกระโดด แต่ในด้านแรงงานรองรับจะต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะคาดว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มหดตัวลงและมีคุณภาพแรงงานต่ำลง
ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการยังคงเป็นห่วงเรื่องของรายละเอียดที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่ายังไม่มีการศึกษาแบบรอบด้านเพียงพอ อีกทั้งความเป็นไปได้ของโครงการที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามการแปรญัตติของชั้นคณะกรรมาธิการได้วางกรอบระยะเวลาไว้ 30 วัน และจะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการนัดปรึกษาหารือกันอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 22 เม.ย.นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น