xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใครทำข้อสอบครูผู้ช่วยเต็ม อ่านตรงนี้ “ถ้าไม่อยากเป็นจำเลย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินภัทร ภูมิรัตน์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตามคดีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยของ สพฐ.กันอีกสัปดาห์

โดยเฉพาะตั้งแต่ 8.15 น. ของวันที่ 2 เม.ย.56 นายชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เดินทางเข้าพบ นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริต กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อให้ถ้อยคำในคดีนี้โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง

มีการตระเตรียมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ สพฐ. ประมาณ 600 กว่าหน้า ประกอบด้วย

1.การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบแทนเขตพื้นที่การศึกษา
2.การจัดจ้าง บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด เป็นผู้จัดพิมพ์ข้อสอบ
3.การให้บริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้จัดส่งข้อสอบไปยังเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดสอบ
4.กรณีที่มีการเผยแพร่เฉลยคำตอบของข้อสอบ

เบื้องต้น นายชินภัทรได้ให้ข้อมูลครอบคลุม การจัดสอบครั้งนี้ ว่ามีการตั้งคณะกรรมการชุดใดในการดำเนินการบ้าง

โดยในสัปดาห์หน้า ดีเอสไอ มีแผนที่จะเชิญผู้เกี่ยวข้องในส่วนอื่น ๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมคลังข้อสอบ เจ้าหน้าที่ที่นำข้อมูลออกมาทำข้อสอบ บริษัท จันวาณิชย์ ฯซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ข้อสอบ เข้าให้ปากคำ

พร้อมกับมีแนวคิดจะลงไปสำรวจสถานที่ในการจัดเก็บข้อสอบทุกขบวนการทั้งที่บริษัท จันวาณิชย์ฯ บริษัท ไปรษณีย์ไทย และในพื้นที่ว่ามีการจัดมีความรัดกุมในการจัดเก็บแค่ไหน โดยเฉพาะในพื้นที่ว่ามีการตั้งคณะกรรมการดูแลข้อสอบอย่างไร มีจุดใดที่อาจเป็นช่องโหว่ให้สามารถนำไปเฉลยคำตอบได้หรือไม่

ขณะที่ดีเอสไอ ตั้งประเด็นหลักคือ เพื่อจะหาว่า ตัวข้อสอบหรือเฉลยข้อสอบ มีการรั่วไหลหรือไม่

ล้วงลึกไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลใด หรือคณะกรรมการชุดใด ที่ สพฐ.แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ออกข้อสอบ และบุคคลใด หรือคณะกรรมการชุดใด เป็นผู้เฉลยข้อสอบ

โดยดีเอสไอ มุ่งเป้าที่จะเชิญบุคคลเหล่านนี้ มาให้ปากคำอีกครั้ง เกี่ยวกับการกระทำผิด ในส่วนของขั้นตอนข้อสอบรั่วออกไป หรือเฉลยข้อสอบรั่วมีใครเกี่ยวข้อง

ดีเอสไอ ยังพบว่า กระบวนการนี้ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องในการออกข้อสอบกลาง 15,000 กว่าข้อ จากนั้นจะมีบุคคลอีก 1 คณะ มาทำการคัดเลือกเพื่อใช้เป็นข้อสอบจริง

ล่าสุดมีการทำหนังสือเชิญ ผู้ที่มีความรู้ เรื่องการวิเคราะห์คะแนนข้อสอบ 2 ท่าน คือ ดร.ชอบ ลีซอ อดีตผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการและ ผศ.ดร.พิสณุ ฟองศรี อดีตรองคณบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

เข้าเพื่อให้มาช่วยวิเคราะห์คะแนนการทำข้อสอบของผู้เข้าสอบทั้งหมด 9 พันกว่าคน

ไม่ใช่ตรวจสอบผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดแค่ 486 คน ที่ได้คะแนนสูง ซึ่งส่วนใหญ่กระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและเหนือ ต่อมาวันที่ 3 เม.ย.56 นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เข้าพบนายธานินทร์ เพื่อให้ถ้อยคำคดีเดียกวัน ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการออกข้อสอบ

โดยเข้าให้ถ้อยคำ ต่อกระบวนการเก็บข้อสอบ กระบวนการสุ่มข้อสอบว่า มีใครเกี่ยวข้องกับการสุ่มข้อสอบบ้าง ทำให้ทราบเรื่องการเก็บรักษาข้อสอบพบว่ามีกรรมการ 3 คน ถือ กุญแจตู้เซฟเก็บข้อสอบ ที่จะมีการตรวจสอบต่อไป

ขณะที่ยังทราบรายละเอียด ในส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อละขั้นตอน ที่เชื่อว่าเรื่องการทำข้อสอบหรือการเฉลยข้อสอบ มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องหลายคน

ขั้นตอนต่อไปดีเอสไอ พยายามบีบให้เจ้าหน้าที่แคบลงแต่ละขั้นตอน ตัดตัวละครที่ไม่เกี่ยวข้องออก

เพราะเชื่อว่าข้อสอบน่าจะออกมาก่อนวันสอบในวันที่ 13 ม.ค.56

ล่าสุดดีเอสไอยังเชิญ นายไกร เกษทัน ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ.ที่ดูแลการสอบครูผู้ช่วย เข้าให้การซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าว เพราะเกี่ยวข้องในด้านปฏิบัติ โดยเฉพาะในส่วนขั้นตอนการคุมสอบ

พร้อมกับจะ เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก 7 คน เข้าให้การ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า แนวทางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกรณีนี้ขั้นตอนต่อไปจะเรียกผู้ที่สอบได้คะแนนสูงทั้ง 486 คน มาให้ปากคำรายละเอียดขั้นตอนการทุจริตในการสอบ

“ซึ่งหากไม่ให้ความร่วมมือก็จะตกเป็นจำเลย แต่หากให้ความร่วมมือก็จะกันไว้เป็นพยาน พร้อมทั้งนำข้อมูลสืบสวน สอบสวนหาตัวผู้เกี่ยวข้องการกระทำความผิดทั้งหมด”

ทั้งนี้ จากการสอบสวนที่ผ่านมาทราบว่าจะมีคณะกรรมการหนึ่งชุดที่มีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบและเซ็นชื่อเมื่อจะนำกุญแจไปเปิดตู้เซฟเฉลยข้อสอบ แต่จากการสอบถามข้อมูลจาก รองเลขาธิการสพฐ. พบความผิดปกติ เนื่องจากมีกุญแจทั้งหมด 3 ดอก ซึ่งเป็นกุญแจสำรอง 2 ดอกเก็บไว้ที่เซฟของธนาคารกรุงไทย ปรากฏว่ามีผู้เซ็นต์ชื่อนามของนายอนันต์

โดยที่นายอนันต์ ปฏิเสธยืนยันว่าไม่เคยไปเบิกกุญแจดังกล่าวออกมาจากเซฟธนาคาร

ดังนั้น ทางดีเอสไอจะต้องสืบสวนค้นหาความจริงเรื่องนี้ต่อไป

กลับมาดูคำให้การของนายชินภัทร เข้าระบุว่า จุดหลักๆ ที่ได้ให้ข้อมูลไปคือ กระบวนการจัดทำข้อสอบ การทำเฉลย ที่ได้อธิบายขั้นตอนต่างๆ เช่น การทำคลังข้อสอบ การทำโปรแกรม การนำข้อสอบที่ได้รับการสุ่มไปทำต้นฉบับข้อสอบ การบรรจุข้อสอบลงในซองและกล่อง และการจัดส่งไปทางไปรษณีย์ เป็นต้น

ได้อธิบายให้ดีเอสไอได้เห็นภาพรวมของกระบวนการดำเนินการของ สพฐ.ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการทำงานว่ามีอะไร และใครที่รับผิดชอบบ้าง กระบวนการและวิธีการจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยของ สพฐ. ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรัดกุม มีมาตรฐานและการจัดจ้างในแบบเดียวกับที่ส่วนราชการอื่นดำเนินการ สำหรับการเปลี่ยนแปลงจากเขตพื้นที่ฯ มาให้ส่วนกลางออกข้อสอบนั้น มาจากนโยบาย และมติของที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน มั่นใจว่าขั้นตอนการดูแลข้อสอบและเฉลยข้อสอบใน

เข้าย้ำว่า ส่วนที่ สพฐ. ดำเนินการไม่มีการรั่วไหล เพราะมีการจัดทำคลังข้อสอบ สุ่มรหัสข้อสอบ และการดึงข้อสอบเป็นระบบปิดที่มีรหัสเฉพาะในการดึงข้อสอบไปจัดพิมพ์ ซึ่งมีความมั่นคงสูงสุด ส่วนการดึงเฉลยข้อสอบจะดำเนินการหลังสอบเสร็จสิ้น 2 วัน จากเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่บรรจุข้อมูลเฉลยที่มีเพียงเครื่องเดียว ยืนยันว่ามีความรัดกุมมาก

จากการตรวจสอบล่าสุดของ สพฐ.พบว่า “การทุจริตที่เกิดขึ้น คะแนนสอบไม่ได้สูงทุกวิชา มีเฉพาะวิชาที่ยาก 5-8 วิชาเอกที่คะแนนสูง จากข้อสอบทั้งหมด 30 วิชาเอก และขณะนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ความผิดปกติ ซึ่งอาจชี้ได้ว่าข้อสอบรั่วเป็นบางวิชา แต่สำหรับขั้นตอนหลังจากจัดส่งข้อสอบจาก สพฐ.ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว โดยจะมีการส่งข้อสอบไปถึงเขตพื้นที่ฯ ล่วงหน้า 2 วันก่อนสอบ อาจเป็นช่องให้กับขบวนการทุจริตในเขตพื้นที่ฯ ทั้งนี้ ยอมรับว่าหนักใจกับปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้น เพราะมีมานานและทำเป็นขบวนการ มีการวางแผนล่วงหน้า แต่เมื่อตนอยู่ในราชการ อะไรเป็นภารกิจได้รับมอบหมายให้ทำ ก็ต้องทำ แต่ระบบนี้ไม่ใช่ระบบเหมาจ่าย ไม่ใช่ว่า สพฐ. ส่วนกลางจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด”

สำหรับความคืบหน้า ต่อกระบวนการสอบสวนที่กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) หลายเขตพื้นที่การศึกษา ส่งเรื่องการพิจารณายกเลิกการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีพบมีการทุจริต กลับมาให้ ก.ค.ศ.พิจารณาสั่งการเอง

ล่าสุด นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และประธาน ก.ค.ศ. ระบุว่า หาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้ไปตรวจสอบข้อมูลแล้วคิดว่ายังไม่กล้าตัดสินใจเอง ทาง ก.ค.ศ.ก็อาจตัดสินใจให้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯดูแต่ข้อมูลคะแนนสอบของผู้เข้าสอบ แล้วส่งเรื่องกลับมายัง ก.ค.ศ. โดยไม่ได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาพิจารณาเลย เพราะเหตุผลที่ ก.ค.ศ.มีมติส่งเรื่องให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเขตพื้นที่ฯจะสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ดีกว่า ก.ค.ศ. เช่นกรณีของผู้เข้าสอบ 486 คนที่สอบได้คะแนนสูงผิดปกติ คงเป็นเรื่องยากที่จะให้ ก.ค.ศ.เรียกแต่ละคนมาสอบ ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะดำเนินการเสร็จ

"ตอนนี้ ก.ค.ศ.ได้ส่งข้อมูลเป้าหมายไปให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯแล้วว่า ใครได้คะแนนสอบสูงผิดปกติบ้าง และสามารถเรียกคนเหล่านี้มาตรวจสอบได้ สามารถดูข้อมูลว่าที่ผ่านมาเคยสอบครูผู้ช่วยกี่ครั้งแล้ว หรืออาจจะเรียกคนที่สอบได้คะแนนสูงมาลองทำข้อสอบก็ได้ จะได้รู้ว่าเก่งจริงหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสิน" รมว.ศธ.ระบุ

"ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องช่วยกันสกัดคนที่ไม่ได้สอบได้ด้วยความรู้ ความสามารถตัวเอง แต่อาจจะไปได้ข้อสอบมา หรือรู้เฉลยมา ซึ่งน่าจะมีวิธีการตรวจสอบกันได้ ผมอยากให้ทาง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯถือว่าเป็นการช่วยเหลือกันทำงานและตรวจสอบเรื่องนี้" นายพงศ์เทพกล่าวในที่สุด

ต่อไปนี้ก็ต้องจับตาดูว่า ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงทั้ง 486 คน มีใครบ้างจะกล้ามาให้ปากคำรายละเอียดขั้นตอนการทุจริตในการสอบ
 
เพราะดีเอสไอขู่! แล้วว่า “หากไม่ให้ความร่วมมือก็จะตกเป็นจำเลย”


กำลังโหลดความคิดเห็น