xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทุจริตครู” เรื่องฉาว! ของวงการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สะเทือนทั้งวงการครู! เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตัดสินใจหอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว 12 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ดำเนินการในวันที่ 13 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาส่งต่อให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไปตรวจสอบเชิงลึก ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทุจริตครูผู้ช่วย ชุดที่ นายพิษณุ ตุล ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธานยืนยันแน่ชัดแล้วว่า พบการทุจริตในการสอบดังกล่าว 3 ลักษณะ

พฤติกรรมที่ส่อทุจริตใน 3 ลักษณะที่ว่า มีทั้งก่อนวันสอบมีการนำข้อสอบและคำเฉลยออกมาจำหน่าย มีการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในขณะสอบ และมีการให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนในสถานที่สอบ 2-3 แห่ง

ทั้งนี้ เหตุที่ นายเสริมศักดิ์ลงมาเล่นเรื่องนี้ด้วยตนเองอย่างจริงจัง เพราะมีเสียงกระฉ่อนไปเข้าหูอ้างว่าลูกชายเจ้าตัวเอี่ยวด้วยกับเรื่องนี้เพราะพบเบาะแสการทุจริตโผล่มาจากถิ่นอีสานเมืองขอนแก่น ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมากขึ้นถึงกับเอ่ยปากว่า “การทุจริตสอบครูผู้ช่วยคราวนี้นั้น ทำในลักษณะเป็นขบวนการและโกงน้อง ๆ กับกรณีการทุจริตสอบบรรจุข้าราชการตำรวจ ที่เคยเป็นข่าวฉาวมาก่อนหน้าด้วย ขณะเดียวกัน คาดว่าน่าจะมีข้าราชการระดับสูงเข้าไปมีส่วนเอี่ยวด้วย จึงต้องการให้ดีเอสไอ ที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวนช่วยขยายผล นั่นนำไปสู่การที่จะเสนอให้มีการยกเลิกการจัดสอบครูผู้ช่วย”

อย่างไรก็ตาม การจัดสอบครูผู้ช่วยกรณีจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสอบในสมัยที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ มีเป้าหมายจะเปิดโอกาสให้ “พนักงานราชการ” ที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 3 ปีได้มีโอกาสเติบโตและมีความมั่นคงทางอาชีพด้วยการสอบบรรจุเป็น “ข้าราชการ” ในตำแหน่งครูผู้ช่วย เพื่อทดแทนอัตราที่ว่างอยู่ 2,400 อัตรา ขณะเดียวกันได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดสอบด้วย จากเดิมที่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบก็เปลี่ยนมาให้ส่วนกลาง คือ สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และให้มีการสอบเพียง ภาค ก. และภาค ข. ยกเลิกการสอบภาค ค.ที่เป็นการสอบสัมภาษณ์เพราะไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องการใช้ดุลยพินิจ โดยการสอบครูผู้ช่วยฯ นี้มีผู้สนใจมาสมัครจำนวน 18,791 ราย แต่เมื่อถึงเวลาสอบจริงกลับมีผู้เข้าสอบกว่า 9,242 รายเท่านั้น และสร้างความสงสัยว่าผู้สมัครหายไปไหนกว่าครึ่ง!?

จนกระทั่ง มีคนมาปูดข่าวพบพิรุธในการจัดสอบ พบ “พนักงานราชการ” รายหนึ่งมี “ชื่อและนามสกุล” ซ้ำกันและมีชื่อเข้าสอบใน 2 เขตพื้นที่ฯซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่จะสอบพร้อมกันได้ 2 แห่งเพราะ สพฐ.กำหนดจัดสอบในวันและเวลาเดียวกันทั่วประเทศ ต่อมาได้ปรากฎเป็นข่าวครึกโครม เป็นที่สนใจแก่สังคมว่าเมื่อปรากฎว่ามีพนักงานฯ คนดังกล่าวสอบติดลำดับที่ 1 เอกภาษาไทย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ศรีสะเกษ เขต 3 และผ่านการคัดเลือกอันดับที่ 15 กลุ่มวิชาเอกทั่วไป สพป.ขอนแก่น เขต 3 เมื่อตรวจสอบแน่ชัดแล้วยืนยันได้ว่ารายชื่อที่ติดทั้ง 2 เขตนั้น คือ บุคคลคนเดียวกัน!! และเจ้าตัวเข้าสอบด้วยตนเองที่ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 และให้ตัวแทนสอบสพป.ขอนแก่น เขต 3

....หางค่อย ๆ โผล่มาให้เห็น เมื่อต่อมามีการตรวจสอบก็พบเหตุการณ์แบบเดียวกันกับผู้สอบอีกราย แต่ที่ทำให้สะดุด! เพราะดันมีชื่อสอบซ้ำที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 เป็นการส่งตัวแทนเข้าสอบแต่สอบไม่ติด ขณะที่ตัวจริงเข้าสอบที่ สพป.นครปฐม เขต 1 และสอบได้อันดับที่ 1 กลุ่มเอกประถมศึกษา โดยเฉพาะในส่วน สพป.นครปฐม เขต 1 นั้นได้มีคำสั่งชะลอการบรรจุ แต่สำหรับ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3

เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้น ...ที่ทำให้เชื่อได้ว่าขบวนการดังกล่าวนี้ไม่ได้กันกลุ่มเล็ก ๆ แต่น่าจะมี “ระดับบิ๊ก” คาดว่าจะทั้งข้าราชการระดับสูง สพฐ.รวมไปถึงนักการเมืองที่มีพาวเวอร์ชักใยอยู่เบื้องหลังของการทุจริตคราวนี้ โดยเฉพาะน่าจะเชื่อมโยงไปสู่กรณี “มีข้อสอบรั่ว” จากส่วนกลาง แถมใครที่ต้องการสอบบรรจุให้ได้ต้องควักเงินจ่ายสูงตั้งแต่ 4-7 แสนบาทขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะบรรจุ เว้นแต่ว่าเขตพื้นที่ฯ อยู่ไกลจ่ายเพียง 4 แสนบาทเท่านั้น

ดังที่ระบุในตอนต้นว่าการจัดสอบครูผู้ช่วยคราวนี้นั้น เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการมาให้ส่วนกลางดำเนินการ ซึ่งการออกข้อสอบดำเนินการโดยบุคคลากร สพฐ.และส่งเพื่อเก็บในคลังข้อสอบ จากในอดีตการออกข้อสอบจะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ เช่นเดียวกันการจัดส่งข้อสอบก็ได้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติโดยกะทันหัน ใช้วิธีการจัดส่งทางไปรษณีย์ ไปไว้ยังเขตพื้นที่การศึกษาฯ ก่อนวันสอบ 1-2 วัน ส่งผลให้ข้อสอบค้างในเขตพื้นที่นานและแม้จะยืนยันว่าใช้ระบบป้องกันมาตรฐานเดียวกับการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง แต่เมื่อข้อสอบถึงเขตพื้นที่ฯ กลับไม่มีกรรมการเขตพื้นที่ฯ มากำกับดูแล คาดว่าก
ลายเป็นช่องโหว่ ทำให้เกิดปัญหาข้อสอบรั่ว

ขณะที่การสืบสวนคดีของดีเอสไอ ภายหลังที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีฯ รับเรื่องไปก็ได้แต่งตั้งนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนการสอบทุจริตครูผู้ช่วยซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำทีมบุกถึง สพฐ. เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องและสอบปากคำเพิ่มเติม และตั้งประเด็นตรวจสอบ 2 ประเด็น คือ 1.ต้องชี้ได้ว่ากรณีดังกล่าวมีการทุจริตจริงหรือไม่เพื่อให้ ศธ.พิจารณาว่าควรยกเลิกผลสอบบางจุดหรือยกเลิกทั้งหมด โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 18 มีนาคมนี้ 2.ผู้กระทำผิดมีกระบวนการและใครบ้าง โดยดีเอสไอจะข้อมูลการวิเคราะห์คะแนนที่ สพฐ.มอบให้ไปสุ่มตรวจสอบผู้เข้าสอบที่ทำคะแนนสูงผิดปกติ คือระหว่าง 90-100 คะแนนที่พบว่ามีถึง 486 คนใน 60 จังหวัดขณะที่คะแนนเฉลี่ยของผู้สอบคราวนี้อยู่ที่ 80 คะแนนมีคนอยู่ในกลุ่มนี้อีกประมาณ 100 คนทำให้ดีเอสไอต้องตรวจสอบเพื่อคัดกรองว่าในจำนวนเหล่านี้ส่อทุจริตหรือไม่โดยอาศัยข้อมูลจากพยานหลักฐาน

ล่าสุด ดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบทุจริตพบความผิดปกติจำนวนมากในหลายพื้นที่ เช่น จ.อุดรธานี ยโสธร ชัยภูมิ และขอนแก่น โดยเฉพาะที่อุดรธานี พบโพยเฉลยคำตอบถูกถึง 48 ข้อจาก 50 ข้อด้วย และจากการสอบสวนผู้เข้าสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย 105 คนในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าผู้เข้าสอบรายหนึ่ง ที่เข้าสอบวิชาสุขศึกษา มีพิรุธใช้มือซ้ายล้วงกระเป๋าในเสื้อแจ็คเก็ตตลอดเวลา จึงตรวจสอบพบเป็นโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโนเกีย ตรวจสอบที่กระดาษข้อสอบพบกระดาษมีลักษณะเป็นตัวเลข จึงยึดทั้งหมดเป็นหลักฐาน แล้วรายงานเรื่องทั้งหมดให้ สพฐ.และเตรียมจะเสนอ ศธ.ยกเลิกการจัดสอบครูผู้ช่วยใน 4 จังหวัดดังกล่าว ขณะเดียวกันจะเสนอบอร์ดดีเอสไอ รับคดีคทุจริตสอบครูผู้ช่วยเป็นคดีพิเศษด้วย

จากข้อมูลการตรวจสอบที่พบทั้งทางดีเอสไอ และจากคณะกรรมการฯ ชุดนายพิษณุ คาดว่ารูปแบบการทุจริตที่พบสอดคล้องกัน คือ มีโพยข้อสอบ นั่นหมายถึงน่าจะมีข้อสอบรั่วจากส่วนกลางจริง มีการใช้อุปกรณ์สื่อสารหรือมือถือส่งสัญญาณ ส่งเฉลย และส่งมือปืนรับจ้างเข้าสอบแทน ฯลฯ

มาทางฟาก สพฐ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ขึ้นมา 1 ชุดเพื่อตรวจสอบ สพป.ขอนแก่น เขต 3 โดยผลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อมูลชัดเจนว่า ใน สพป.ขอนแก่น เขต 3 มีผู้เข้าสอบแทนผู้สมัคร โดยพบว่าลายมือชื่อของผู้เข้าสอบไม่เหมือนลายมือชื่อในใบสมัครสอบมีพิรุธการจัดที่นั่งสอบที่ปกติ การจัดผังห้องสอบเรียงหน้ากระดานจากซ้ายไปขวาผิดจากที่ สพฐ.กำหนด บัตรประจำตัวผู้สมัครสอบมีตราประทับของ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ซ้อนกัน เป็นต้น ดังนั้น นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.จึงได้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 7 รายแล้ว ได้แก่ ผู้อำนวยการ(ผอ.) และรองผอ.สพป. ขอนแก่น เขต 3 ผอ.กลุ่มบุคคล และผู้คุมสอบอีก 4 คน โดยระหว่างนี้จะออกคำสั่งให้ย้าย ผอ.สพป.มาช่วยราชการที่ สพฐ. และรอง ผอ.สพป. และผอ.กลุ่มบุคคล ไปช่วยราชการที่ สพป.ขอนแก่น เขต 1 มีผลตั้งแต่ 11 มี.ค.

...ถัดมาในวันรุ่งขึ้น 12 มี.ค. นายชินภัทร ก็ได้มีคำสั่งสลับตัวชั่วคราวระหว่าง นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ(สพร.)กับนายพิธาน พื้นทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สตผ.) เพื่อเปิดทางให้การขอข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดสอบครูผู้ช่วยทำได้อย่างโปร่งใสและจะสลับไปเรื่อย ๆ จนกว่าเรื่องดังกล่าวจะสิ้นสุด ทั้งนี้ นายชินภัทร ยืนยันว่าการย้ายนายไกร คราวนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าเจ้าตัวมีส่วนเอี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นการย้ายรายวัน ส่วนจะสรุปว่าผู้ที่ถูกสอบวินัยมีความผิดหรือไม่เป็นเรื่องต้องจัยตามองต่อไป

อย่างไรก็ดี ยิ่งสืบ ยิ่งสาว ยิ่งพบว่าการทุจริตครูผู้ช่วยครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่สำคัญ เมื่อคนที่จะมาเป็นครู สร้างเด็กมาทำทุจริตเสียเองเช่นนี้ ทำให้สังคมรู้สึกไม่มั่นใจและเสื่อมศรัทธาต่อวงการครูไปด้วย เวลานี้นอกจากจะต้องล้างบางขบวนการทุจริตเหล่านี้ให้สิ้นซาก ศธ.ก็ต้องล้างอาย สร้างภาพลักษณ์สร้างความศรัทธากลับมาสู่สายตาสังคมอีกครั้งด้วย

ที่แน่ ๆ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ และนายเสริมศักดิ์ ดูจะไม่ได้วางเฉย และยืนยันว่างานนี้ไม่มีมวยล้มแน่นอน ต้องรอข้อสรุปจากดีเอสไอ ที่จะส่งมาให้ในวันที่ 18 มีนาคม 2556 ซึ่งเชื่อว่าจะได้อะไรที่ลับ ลวง พราง จะต้องถูกเปิดออกมาให้เห็นชัดขึ้น และศธ.จะนำข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงมาพิจารณาก่อนว่าจะยกเลิกการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ทั้งหมด หรือยกเลิกเป็นรายเขต หรือยกเลิกเป็นรายบุคคล โดยจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วันที่ 22 มีนาคม 2556 ที่สำคัญยังมีกลุ่มผู้ที่รอสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ประเภททั่วไปที่จะจัดสอบในเดือน เม.ย.นี้ ที่รอลุ้นกับการชี้ชะตาของ ศธ.ในเรื่องนี้ว่าจะมีผลให้พวกเขาได้สอบตามกำหนดหรือเจอโรคเลื่อนเพราะพิษทุจริตครูผู้ช่วยหรือไม่


เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
พงศ์เทพ เทพกาญจนา
กำลังโหลดความคิดเห็น