ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
วาทกรรมและเรื่องเล่าเชิงนิยายที่บรรดาเหล่านักการเมืองทุนสามานย์สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นมายาคติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ การโจมตีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงจากอำนาจรัฐประหาร จึงขาดความเป็นประชาธิปไตย แต่ความเป็นจริงคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เกิดจากอำนาจประชาชน โดยการลงประชามติทั่วประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของประเทศไทยที่มีฐานจากอำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้ของนักการเมืองเผด็จการทุนสามานย์ ทั้งยังเป็นขวากหนามคอยขวางกั้นมิให้เหล่านักการเมืองกระทำการตามอำเภอใจและลุแก่อำนาจได้โดยง่าย เหล่านักการเมืองทุนสามานย์จึงใช้เล่ห์เพทุบายครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อแก้ไขและประหารรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อยึดอำนาจกลับคืนมาให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า ประชาชนมีสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้และสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการกระทำการของบุคคลและพรรคการเมืองใดที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แต่ทว่านักการเมืองสามานย์ทั้งหลายกลับเห็นว่าสิทธิเรื่องนี้ของประชาชนเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงในการครองอำนาจของตนเอง พวกเขาจึงรวมหัวกันยกเลิกการใช้สิทธิพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน ทำลายการเชื่อมโยงระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับประชาชนอันเป็นการล้มล้างข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยืนยันสิทธิของประชาชนไปแล้วในปี 2555
นักการเมืองสามานย์ได้มอบอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์ประชาธิปไตยของประชาชนแก่อัยการสูงสุด อันเป็นองค์กรที่มีบุคลากรระดับสูงจำนวนมากมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับทางการเมือง และอยู่ภายใต้การสั่งการของนักการเมือง เห็นได้จากการที่นักการเมืองแต่งตั้งอัยการไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และอัยการที่ได้รับการแต่งตั้งก็ยอมรับอำนาจโดยไปดำรงตำแหน่งกรรมการตามคำสั่ง สิ่งนี้จึงเป็นหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง เพราะหากอัยการเป็นอิสระจริง ก็ต้องปฏิเสธคำสั่งของนักการเมืองโดยไม่ไปดำรงตำแหน่งกรรมการของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแต่งตั้ง
นอกจากลิดรอนสิทธิการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว นักการเมืองสามานย์ยังกีดกันประชาชนออกจากกระบวนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสำคัญที่รัฐบาลไปทำกับต่างชาติในเรื่องที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของดินแดน และที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อปิดหูปิดตาประชาชนให้มืดบอด
นักการเมืองสามานย์ก็ย่อมมีวิธีคิดที่ชั่วช้า โดยเห็นว่าหากให้ประชาชนรู้มากไม่ว่าจะผ่านทางการถกเถียงในรัฐสภาหรือประชาพิจารณ์ก็ดี โอกาสที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกเปิดโปงเกี่ยวกับการกระทำที่ซ่อนเร้นแอบแฝงก็มีมาก ยิ่งมีการตรวจสอบมากเท่าไร พวกนักการเมืองสามานย์ก็จะได้รับผลประโยชน์จากการทุจริต การขายชาติ ขายแผ่นดิน และการขายทรัพยากรน้อยลงเท่านั้น
สิ่งที่นักการเมืองสามานย์อ้างเพื่อแก้ไขมาตรา 190 ก็คือ มาตรานี้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ ทำให้การบริหารล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง แต่เหตุผลแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังก็คือ มาตรา 190 เป็นอุปสรรคที่ทำให้การทุจริตและการเตรียมการขายชาติขายทรัพยากรของนักการเมืองสามานย์มีประสิทธิภาพลดลง
ดังนั้นเป้าประสงค์ของการแก้ไขมาตรา 190 ก็คือ การสร้างสมรรถนะและประสิทธิภาพในการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองสามานย์นั่นเอง
ส่วนการแก้ไขประเด็นการยกเลิกการยุบพรรคการเมือง ยกเลิกโทษแก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่กระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง สะท้อนอย่างชัดเจนว่านักการเมืองสามานย์มุ่งตอบโจทย์ในอันที่จะสร้างประโยชน์แก่ตนเอง เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยการใช้วิธีการทุจริตเลือกตั้งทั้งสิ้น จึงต้องหาทางยกเลิกบทลงโทษแก่ตัวเองลงไปให้หมด
นัยของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ของนักการเมืองสามานย์ คือ การทำลายประชาธิปไตยลงไปอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเงื่อนไขของประชาธิปไตยนั้นคือ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม แต่เมื่อนักการเมืองสามานย์ทำลายมาตรการในการสร้างความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง และปล่อยให้ผู้กระทำผิดทุจริตเลือกตั้งลอยนวลไปโดยไม่ต้องรับโทษ ก็ย่อมแสดงว่า การกระทำของเขาอาจเข้าข่ายเป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นักการเมืองสามานย์ร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาสามานย์บางกลุ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะต่างตอบแทน โดยให้สมาชิกวุฒิสภายื่นแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองสามานย์ และให้นักการเมืองสามานย์ยื่นร่างแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของวุฒิสมาชิกในเรื่องวาระในการดำรงตำแหน่ง
แต่เดิมนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ แต่ด้วยความกระหายอำนาจ หกปีจึงยังไม่อิ่ม สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การครองอำนาจไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต
ทั้งยังมีการยกเลิก สมาชิกวุฒิสภา.ที่มาจากการสรรหา โดยอ้างว่าการสรรหาไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงคือ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจำนวนมาก กลับทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียยิ่งกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
ในความเป็นจริงที่น่าอัปยศก็คือ สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้ง แทนที่จะทำหน้าที่รับใช้ประชาชนและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ กลับทำหน้าที่ในการรับใช้นักการเมืองทุนสามานย์เยี่ยงเดียวกับบรรดาสมุนของนักการเมืองทุนสามานย์ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ด้านหนึ่งเป็นการปฏิบัติการเพื่อขจัดสิทธิ อำนาจของประชาชนในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยและปิดกั้นประชาชนจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสนธิสัญญากับต่างชาติ และอีกด้านหนึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงในทางการเมืองแก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองและตัวพรรคการเมืองเอง ทั้งหมดนี้เป็นปฏิบัติการส่วนหน้าของนักการเมืองสามานย์ อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการล้มล้างและประหารรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป
หากนักการเมืองสามานย์สามารถประหารรัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยตรง อันได้แก่การแก้ไขมาตรา 291 ได้สำเร็จและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามความต้องการของกลุ่มตนเองและเหล่าสาวกเสื้อแดง ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ว่า แผนการขั้นต่อไปของนักการเมืองสามานย์และเหล่าสมุน ก็คือการเตรียมการไปสู่ “การประหารระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในอนาคตเป็นลำดับต่อไป
หากประชาชนไทยไม่สามารถสกัดกั้นหรือหยุดยั้งปฏิบัติการประหารรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของนักการเมืองสามานย์ได้ อนาคตของสังคมไทยก็มีแนวโน้มจมดิ่งไปสู่ทะเลแห่งความมืดมิดไปอีกยาวนาน