ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดัชนีหุ้นไทยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ปิดที่ 1,560.87 จุด เพิ่มขึ้น 16.84 จุด หรือ1.09% มูลค่าการซื้อขาย 67,501.53 ล้านบาท รวม 3 วันทำการในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ดัชนีหลักทรัพย์รีบาวด์ขึ้นมาแล้วกว่า 80 จุด จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ดิ่งลงไป119 จุด เกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่ร่วงลงไป และยังไม่อาจสรุปส่งท้ายได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนนะยะอันสั้นนี้ได้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือปริมาณการซื้อขายในระดับ 6 หมื่นล้านบาทซึ่งโดยรวมๆ แม้จะมีแรงซื้อจากลุ่มสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิแต่กว่าครึ่งยังเป็นฝีมือของรายย่อย
26 มี.ค.ที่ผ่านมาการประชุมระหว่างตลาดหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ก็ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน บริษัทสมาชิกเห็นด้วยกับการเพิ่มหลักประกันบัญชีการซื้อขายหุ้นด้วยเงินสด หรือแคชบาลานซ์ ขั้นต่ำจาก 15% เป็น 20% เพื่อบริหารความเสี่ยงในการชำระราคาหลักทรัพย์ในช่วงที่หุ้นปรับลดลงแรงโดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 พ.ค. นี้เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัว
“นี่ไม่ใช่มาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรง แต่เป็นมาตรการลดความเสี่ยงจากวอลุ่มเทรดที่สูงดัชนีปรับตัวขึ้นและลงเร็ว การวางหลักประกันเพียง 15%ในระยะเวลา 3 วันอาจไม่เพียงพอจึงต้องปรับเพิ่มขึ้นเพราะมีการศึกษามานานและก.ล.ต.ก็เห็นชอบผลศึกษาของสมาคมบล.ด้วยตลท.ติดตามดูหุ้นมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกับโบรกเกอร์อยู่ตลอดรับทราบข้อมูลมาร์จิ้นจากทุก บล.ทุกวัน”
อย่างไรก็ตาม ...ก็เกิดคำถามขึ้นกับใครหลายๆ คนว่าในช่วงที่ตลาดกำลังผันผวนหนักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ข่าวว่าจะมีการประเพิ่มวางหลักประกันเป็น 20%นั้น .... “มันใช่เวลาที่เหมาะสมกับการออกมานำเสนอหรือไม่?”
บางคนมองว่าเป็นการซ้ำเติมตลาดหุ้นในขณะนั้นที่ปรับตัวในแดนลบแต่เหตุจากผู้บริหารก็น่ารับฟัง เพราะวอลุ่มเทรดที่ร้อนแรง ขึ้นแรง ลงแรงอาจมีปัญหากับทั้งระบบได้เช่นกัน
กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมาระบุว่า รัฐบาลมีความพอใจ กับภาวะตลาดหุ้นไทย และเงินบาทในขณะนี้ ซึ่งกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากมีความผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา “สิ่งที่รัฐบาลต้องการจะเห็น คือความมีเสถียรภาพของทั้งหุ้นและเงินบาท ทั้งตอนที่มันตกและขึ้น รัฐบาลก็มีความเป็นห่วงเป็นใยเสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อสภาวะราคาไม่ผันผวนรุนแรง เราก็พอใจและดีใจการปรับลงของตลาดหุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผล จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งมีผลกระทบกับตลาดหุ้น ในหลายๆ ประเทศแต่ก็เชื่อว่า ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจได้ และมีเหตุมีผลในการพิจารณาลงทุนอยู่แล้ว”
ขณะที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์บางส่วนบางทำเลที่มีราคาปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ในอนาคต รวมถึงติดตามหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงกว่า 70% ของจีดีพีเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและเศรษฐกิจในประเทศ
“กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มไหลเข้าภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายและนักลงทุนยังวิ่งหาผลตอบแทนในภูมิภาคเอเชียที่ถือว่าได้รับผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่ง ธปท.ได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ”
สำหรับค่าเงินบาท ธปท.ประเมินว่ายังเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดและเป็นไปตามพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งแต่ ธปท.ยืนยันพร้อมใช้เครื่องมือดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหากพบว่ามีการเคลื่อนไหวผิดปกติและพบการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การปรับเพิ่มหลักประกันในบัญชีเงินสด(แคช บาลานซ์) ขึ้นอีก 5% ไม่น่าจะกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีหุ้นที่อยู่ในพอร์ตเป็นหลักประกันในปริมาณที่สูงครอบคลุมปริมาณขั้นต่ำ หรือ 20% อยู่แล้ว อีกทั้งนักลงทุนได้มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ในช่วง ก่อนหน้ามาระยะหนึ่งแล้วและเมื่อเรื่องดังกล่าวมีข้อสรุป ก็ถือช่วยสร้างคามชักเจนออกมา
ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซีเอสเอเอ(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้ว่า บริษัทยังมองเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,650 จุด นักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี แต่พบความร้อนแรงในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก และเท่าที่ได้คุยกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศไม่มีรายไหนมองตลาดหุ้นไทยแง่ลบ
“การแข็งค่าของเงินบาทเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อยังมีการพิมพ์แบงก์ดอลลาร์ และยูโรออกมาเป็นจำนวนมาก แต่โดยรวมตลาดหุ้นไทยยังดี บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มผลดำเนินงาน เพิ่มขึ้น ปันผลดี หุ้นใหญ่ P/E เทียบกับตลาดอื่นไม่สูง ช่วงนี้มองว่าเป็นแค่การลดความเสี่ยงปรับพอร์ตทำกำไรหลังจากหุ้นขึ้นมานานมากกว่า”
ทั้งนี้ มองว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความรู้ความเข้าใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้นแก่นักลงทุนมากขึ้น จากที่ผ่านมาก็ได้ออกมาเตือนเรื่องหุ้นขนาดกลาง-เล็กซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี ที่เตือนให้ทราบ เพราะเมื่อราคาขึ้นไปไร้เหตุผลย่อมปรับตัวลงแรงเวลาลง
“ผลประกอบการ บล.หลายค่ายในช่วงไตรมาส 1 น่าจะเพิ่มขึ้นจากวอลุ่มการซื้อขายที่สูง อีกทั้งยอดการเปิดบัญชีใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่การลงทุนจริงๆ ของนักลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ลงทุนตามกระแสข่าว เขาจะดูว่าบริษัทนั้นมีกำไรต่อเนื่อง 1-2 ปีหรือไม่มีเงินสดหมุนเวียนมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารเป็นเช่นไร มีแผนลงทุนอะไรก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน ไม่ใช่แค่เล่นตามกระแสข่าวว่าจะลงทุนเพิ่มจะเทิร์นอะราวด์”
นักลงทุนต้องเลือกลงทุนให้ดี ดูที่ปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วยไม่ใช่ซื้อแค่เก็งกำไร ช่วงสั้นอย่างเดียว อาทิตย์นี้เชื่อว่าจะเห็นการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นไทยหลังจากลงมาเยอะแต่คงจะปรับลงจากแรงเทขายทำกำไรเมื่อหุ้นรีบาวนด์อีกเม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ และยุโรปยังน่าจะไหลเข้ามาต่อตอนนี้เชื่อว่าหลายคนกำลังรอดีผลประกอบการไตรมาส 1ซึ่งอีกไม่กี่สัปดาห์กลุ่มแบงก์จะเริ่มประกาศถ้าดีก็เชื่อว่าหุ้นจะไปต่อ
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ น่าจะช่วยเตือนใจนักลงทุนทั่วไปได้เป็นอย่างดีเพราะการดิ่งลงของดัชนีและราคาหุ้นในรอบนี้ หากเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับเชื่อว่าหลายคนยังเจ็บตัวน้อยกว่าพวกที่เข้าไปลงทุนในหุ้นที่ไร้เหตุผลรองรับ ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง