ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับระบบ Back Office ปรับปรุงความเสี่ยงอ้างอิง พร้อมรื้อระบบเคลียริ่งเก่า แถมเพิ่มบริการ SBL ส่วน Trading link ยังเดินไม่เต็มที่เหตุติดขัดข้อกฎหมายบางประเทศ คาดสมบูรณ์ภายในสิ้นปี ล่าสุด เปิดรับธนาคารเข้ามา settlement bank เพิ่มเพื่อเพิ่มทางเลือก และประสิทธิภาพแก่บริษัทสมาชิก
นางชนิสา ชุติภัทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานปฏิบัติการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายหลักๆ ของแผนแม่บทดำเนินงานในปีนี้จะเน้นไปที่ 2 ส่วนหลักคือ นายทะเบียนหลักทรัพย์ และทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะวิเคราะห์การทำงาน Back Office ทั้งหมดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนไทย และต่างประเทศ
ส่วนที่หนึ่งคือ การปรับปรุงความเสี่ยงของสำนักหักบัญชี ซึ่งก่อนหน้านี้จะอ้างอิงสำนักหักบัญชีเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ต่อไปจะเพิ่มในส่วนของสำนักหักบัญชีจะให้มี 2 รายเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ส่วนที่สองคือ การปรับปรุงระบบเคลียริ่ง โดยรื้อระบบเก่าที่มีความล่าช้า และผิดพลาด เปลี่ยนเป็นนิว เคลียริ่ง ซิสเต็ม คือ ให้อยู่บนแพลทฟอร์มระบบปฏิบัติการเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสามารถเชื่องโยงการทำงานดูแลความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น จะต่อยอดสมาชิกใหม่เพื่อให้บุคคลทั่วไป โบรกเกอร์ และนักลงทุนเข้ามาดูได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของบริการใหม่ๆ จะมีการให้บริการยืม และให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) ที่ให้ยืมหุ้นสำหรับสมาชิก และโบรกเกอร์ สามารถยืมเพื่อใช้ในธุรกรรมการลงทุน หรือโบรกเกอร์จะเอาไปให้ยืมต่อ โดยวัตถุประสงค์จะไม่แข่งขันกับทางโบรกเกอร์ แต่จะเป็นการดึงโบรกเกอร์มาเป็นพันธมิตร ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการระยะเริ่มแรกใน SET50 แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับในด้านวอลุ่มของ SBL นั้นยังไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ ต้องรอข้อสรุปอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนกว่านี้ก่อน
ในส่วนของ e-Dividend ที่มีผู้ใช้บริการผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 70% ของผู้ถือหุ้น ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมปรับปรุงเพื่อให้ได้รับบริการที่รวดเร็ว และมากขึ้น ขณะที่การดำเนินงานที่เป็น Trading link สำหรับอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ เพราะยังติดข้อกฎหมายของบางประเทศอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2556 นี้
สำหรับงานในด้าน settlement bank นั้น บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ได้เปิดรับธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นตัวกลางในการชำระราคาระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกกับสำนักหักบัญชี ทั้งการชำระราคาของหลักทรัพย์ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยจะเปิดรับอีกด้านละ 1 ราย จากเดิมที่มีอยู่ 4 ราย สำหรับการชำระราคาหลักทรัพย์ และ 2 ราย สำหรับการชำระราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กร และระบบงานชำระราคาของตลาดทุนไทย อีกทั้งยังเป็นทางเลือกให้สมาชิกได้เลือกใช้ Settlement Bank ที่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้บริการงานชำระราคาที่มีความหลากหลายได้อย่างครบวงจร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่สนใจสมัครได้ที่ฝ่ายพัฒนาบริการหลังการซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันนี้-31 พ.ค.2556 โดยสำนักหักบัญชีจะพิจารณาคุณสมบัติ และความพร้อมต่อไป
สุดท้าย การบริการที่จะเน้นหนักคือ Investor portal ที่จะให้ผู้ถือหุ้นตรวจสอบการถือครองหุ้นของตัวเองว่ามีอะไร เท่าไหร่บ้าง สามารถดูย้อนหลังไปได้ถึง 3 ปี ซึ่งในปัจจุบันนี้มีคนใช้อยู่ 16,000 คน จากบัญชีทั้งสิ้น 1 ล้าน 6 แสนบัญชี และยังพิมพ์ใบหักภาษีรวมหุ้นแบบใบเดียวได้อีกด้วย ซึ่งใบหักภาษีแบบใหม่นี้จะเริ่มใช้ได้ในปีภาษี 56-57 คาดว่าในอนาคตจะมีนักลงทุนมาใช้บริการนี้เพิ่มขึ้น และจะมีการพัฒนาให้รองรับกับสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตในหลายๆ โอเอสออกมารองรับ จากปัจจุบันที่ยังรองรับแต่ในระบบพีซีเท่านั้น