กบข.ลงนามว่าจ้างธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินต่ออีก 3 ปี หลังผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานสากล ขณะที่ “ไทยพาณิชย์” ชูบริการรับส่งข้อมูลข่าวสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยผ่าน Smart Phone และ Tablet
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินที่ลงทุนในประเทศของ กบข. มูลค่า 470,000 ล้านบาท หรือ 80% ของทรัพย์สินที่ กบข.บริหารเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลที่กองทุนรวมต้องว่าจ้างผู้เก็บรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นคนกลางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุน รวมทั้งทำหน้าที่ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ติดตามผลประโยชน์จากการลงทุน และประเมินมูลค่าเงินลงทุน สร้างความโปร่งใสในกระบวนการการลงทุน
แม้ข้อกฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้ กบข.ต้องจ้างผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารเงินกองทุนที่ดีควรมีการแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างผู้จัดการกองทุนในการตัดสินใจลงทุนออกจากกระบวนการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน เพื่อการควบคุมภายในที่ดีสร้างถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ในกระบวนการบริหารกองทุน
ทั้งนี้ ทุกๆ 3 ปี กบข.จะคัดเลือกผู้เก็บรักษาทรัพย์สินรายใหม่ โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของ กบข.จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรับฝากทรัพย์สินจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 4 รายที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ในการพิจารณาคัดเลือก กบข.จะใช้หลัก 4P ได้แก่ ประวัติและการบริหารกิจการ (Profile) ผลการดำเนินงาน (Performance) ความพร้อมของบุคลากร (People) ความพร้อมของระบบงานและกระบวนการทำงาน (Process) โดยธนาคารไทยพาณิชย์มีระบบงานที่ทันสมัย สามารถรองรับการปฏิบัติงานและเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ดี จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของ กบข.
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลทรัพย์สินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท โดยธนาคารได้รับเลือกเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินต่อเนื่องมากว่า 16 ปี ทั้งนี้ ธนาคารมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ มีระบบปฏิบัติงานซึ่งสามารถควบคุมมาตรฐานการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีการพัฒนาระบบงานและบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรองรับนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถให้บริการรับฝากทรัพย์สินได้อย่างสมบูรณ์แบบ และรองรับการลงทุนของ กบข.ได้ในทุกรูปแบบทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริการเสริมสำหรับการรับส่งข้อมูลข่าวสาร และดูยอดทรัพย์สินที่ กบข.ลงทุนได้ตลอดเวลาทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Smart Phone และ Tablet ซึ่งเป็นช่องทางในการรับส่งข้อมูลระหว่างธนาคารกับลูกค้าที่ใช้บริการรับฝากทรัพย์สินโดยเฉพาะ
“สมาชิก กบข.สามารถมั่นใจด้านความโปร่งใสในการเก็บรักษาทรัพย์สินได้ เพราะธนาคารจะทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและจัดทำบัญชีทรัพย์สินรายงานให้ กบข.ทราบทุกวันทำการ เพื่อให้ กบข.ตรวจสอบว่าการทำรายการซื้อขายของผู้จัดการกองทุน การประเมินราคาทรัพย์สิน ณ สิ้นวันตรงกันกับระบบลงทุนของ กบข. หรือไม่ นอกจากนี้ ธนาคารยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. และมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอีกด้วย” นางกรรณิกากล่าว