xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยรีบาวนด์สัปดาห์นี้ ลุ้น Q1 บจ.กระตุ้นไปต่อได้ ชี้ข่าวลือเป็นบทเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หุ้นดิ่งกว่า 100 จุด ปัจจัยลบใน และต่างประเทศกดดัน ทั้งไซปรัส บาทแข็ง เพิ่มมาร์จิ้น บังคับขาย และข่าวลือ!...ชี้เป็นบทเรียนนักลงทุนไทยหลังเข้าซื้อหุุ้นเล็ก-กลางแบบไม่ดูพื้นฐาน คาดสัปดาห์นี้เห็นรีบาวนด์แต่ไม่เท่าที่ลงมา เหตุพักฐานหลังขึ้นแรงมานาน ต้องรอดูผลประกอบการไตรมาส 1 ภาพรวมเม็ดเงินยังไหลเข้า P/E ปันผล กำไร บจ. ยังดีกว่าตลาดอื่น 119.16 จุด ...คือจำนวนสุทธิในการปรับตัวลดลงของดัชนีหลักทรัพย์ ในรอบ 5 วันทำการ (18-22 มี.ค.) จาก 1,598.13 จุด เมื่อปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 15 มี.ค. มาอยู่ที่ 1,478.97 จุด ในวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. พร้อมมูลค่าการซื้อขาย 101,361 ล้านบาท สร้างสถิติวอลุ่มการซื้อขายในรอบ 38 ปี

**จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)** แถลงข่าวชี้แจงด่วนในช่วงเย็นวันศุกร์ (22มี.ค.) ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นไทยมาจากการขายทำกำไรของนักลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมา ดัชนีปรับขึ้นร้อนแรงมากถึง 50% ในรอบ 14 เดือน และ 15% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มจากความร้อนแรงของดัชนีหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นปีที่ปรับตัวสูงขึ้นเกินเป้าหมายทั้งปีของโบรกเกอร์หลายแห่ง อีกทั้งปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน จนกรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาเตือนนักลงทุนอย่างต่อเนื่องถึงความไม่ชอบมาพากลของการปรับตัวเพิ่มขึ้นในราคาหุ้นบางตัว ซึ่งมี P/E สูงจัด ราคาปรับตัวขึ้นไม่สมเหตุผล ไร้ปัจจัยพื้นฐานรองรับ จนมีการออกมาตรการแคลช บาลานซ์ หรือใช้เพียงแค่เงินสดเข้าซื้อหุ้นเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ลามจนเกิดข่าวภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงฟองสบู่ในหุ้นขนาดกลาง-เล็กกลุ่มหนึ่ง และแล้ว...สิ่งที่พร่ำเตือนของเอ็มดีตลาดหุ้นก็กลายมาเป็นความจริง และได้กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญของนักลงทุน

ปัจจัยลบจากภายใน และนอกประเทศ นัดรวมพลมาสร้างความปั่นป่วนตลาดหุ้นไทย เริ่มตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจของไซปรัส ถัดมาคือ การแข็งค่าของเงินบาทจากเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น จนกลายเป็นที่มาของข่าวลือทั่วห้องค้าต่อการออกมาตรการป้องกันที่อาจเกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เว้นปัจจัยลบด้านการเมือง จาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ที่อาจล่ม! และข่าวความมั่นคงในเก้าอี้ **นายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร**

และสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อด้านจิตวิทยานักลงทุนมากสุด หนีไม่พ้นการเพิ่มอัตราการวางหลักประกันในบัญชีเงินสดเป็น 20% จากเดิม 15% ที่ทำให้เกิดการเทขายเพื่อปรับพอร์ตรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการบังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซล) ในบัญชีมาร์จิ้น ในช่วงที่ดัชนี และราคาหุ้นหลายบริษัทดิ่งลงอย่างหนัก

ตัวเลขสัญญาณความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน จากการรายงานสรุปข้อมูลการซื้อขาย **ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลท.** เผยถึงมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวม SET และ mai อยู่ที่ 62,047 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ ตลท.เริ่มซื้อขายเพิ่มขึ้น 79.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งที่อยู่ 31,000 ล้านบาท สิ่งที่น่าสนใจคือ ปริมาณการซื้อขายต่อวันของนักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 40,000 ล้านบาท/วัน จากช่วงเดียวกันปีก่อนยังอยู่ที่ระดับ 12,000-15,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับปริมาณบัญชีแอ็กทีฟปีก่อน 195,150 บัญชี แต่แค่ 2 เดือนแรกเพิ่มเป็น 269,004 บัญชี และยอดบัญชีใหม่แค่ 2เดือนแรกเพิ่มขึ้น 40,000 บัญชี ขณะที่เป้าหมายทั้งปี 100,000 บัญชี นับเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วจัด

ภาพรวมเริ่มชี้ชัดว่าปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากกลุ่มสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติ แต่มาจากนักลงทุนรายย่อยซึ่งทำให้ไทยเป็น 1 ใน 2 ตลาดหุ้นในภูมิภาคที่มีปริมาณการเทรดของรายย่อยสูงมาก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวัน และที่น่าตกใจคือรอบการเข้าลงทุนซื้อ และขายของรายย่อยในหนึ่งวันพบว่ามีการซื้อขายเฉลี่ย 7-8 รอบ/วัน บางรายมีสูงถึง 10-20 รอบ/วัน

“รอบการเข้าลงทุนต่อวันที่สูงขึ้นก็มีผลให้วอลุ่มซื้อขายสูงขึ้นไปด้วย เห็นดัชนีฯ ปรับตัวลดลง 3-4% อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ ต้องดูที่วอลุ่มซื้อขายด้วย ตอนนี้เทรดกันที่ 6-8 หมื่นล้าน/วัน ปี 55 ยังแค่ 3 หมื่นล้าน ปิดวันศุกร์อยู่แสนล้าน สิ่งนี้ทำให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นหรือลงก็จะแรงไปหมด ส่วนมาตรการควบคุมบาทแข็ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาบ้างก็เชื่อว่าจะไม่มีผลอะไรมากนัก เพียงแต่อย่ารุนแรงเหมือนครั้งก่อนที่หักถึง 30%” นักวิเคราะห์รายหนึ่งให้ความเห็น

**ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซีเอสเอเอ (ประเทศไทย) จำกัด** กล่าวว่า บริษัทยังมองเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,650 จุด นักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี แต่พบความร้อนแรงในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก และจากการลดลงของดัชนีพบว่า ช่วง 3 วันแรกเป็นการขายของต่างประเทศ ขณะที่ 2 วันสุดท้ายมาจากนักลงทุนทั่วไปมากกว่า

“เท่าที่ได้คุยกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศไม่มีรายไหนมองตลาดหุ้นไทยแง่ลบ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อยังมีการพิมพ์แบงก์ดอลลาร์ และยูโรออกมาเป็นจำนวนมาก แต่โดยรวมตลาดหุ้นไทยยังดี บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มผลดำเนินงานเพิ่มขึ้น ปันผลดี หุ้นใหญ่ P/E เทียบกับตลาดอื่นไม่สูง ช่วงนี้มองว่าเป็นแค่การลดความเสี่ยง ปรับพอร์ตทำกำไรหลังจากหุ้นขึ้นมานานมากกว่า”

ทั้งนี้ มองว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ความเข้าใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้นแก่นักลงทุนมากขึ้น จากที่ผ่านมาก็ได้ออกมาเตือนเรื่องหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่เตือนให้ทราบ เพราะเมื่อราคาขึ้นไปไร้เหตุผลย่อมปรับตัวลงแรงเวลาลง

“ผลประกอบการ บล.หลายค่ายในช่วงไตรมาส 1 น่าจะเพิ่มขึ้นจากวอลุ่มการซื้อขายที่สูง อีกทั้งยอดการเปิดบัญชีใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่การลงทุนจริงๆ ของนักลงทุนต่างประเทศไม่ใช่แค่ลงทุนตามกระแสข่าว เขาจะดูว่าบริษัทนั้นมีกำไรต่อเนื่อง 1-2 ปีหรือไม่ มีเงินสดหมุนเวียนมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารเป็นเช่นไร มีแผนลงทุนอะไร ก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน ไม่ใช่แค่เล่นตามกระแสข่าวว่าจะลงทุนเพิ่ม จะเทิร์นอะราวนด์ นักลงทุนต้องเลือกลงทุนให้ดี ดูที่ปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย ไม่ใช่ซื้อแค่เก็งกำไรช่วงสั้นอย่างเดียว อาทิตย์นี้เชื่อว่าจะเห็นการรีบาวนด์ขึ้นของหุ้นไทยหลังจากลงมาเยอะ แต่คงจะปรับลงจากแรงเทขายทำกำไรเมื่อหุ้นรีบาวนด์อีก เม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ และยุโรปยังน่าจะไหลเข้ามาต่อ ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนกำลังรอดีผลประกอบการไตรมาส 1 ซึ่งอีกไม่กี่สัปดาห์กลุ่มแบงก์จะเริ่มประกาศ ถ้าดีก็เชื่อว่าหุ้นจะไปต่อ”

**โดยสรุป บทเรียนครั้งนี้น่าจะช่วยเตือนใจนักลงทุนทั่วไปได้เป็นอย่างดี เพราะการดิ่งลงของดัชนี และราคาหุ้นในรอบนี้หากเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เชื่อว่าหลายคนยังเจ็บตัวน้อยกว่า พวกที่เข้าไปลงทุนในหุ้นที่ไร้เหตุผลรองรับ ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง คำเตือนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง..เป็นเรื่องที่ไม่ควรชะล่าใจ ไม่มีใครไม่อยากให้นักลงทุนได้กำไรจากการลงทุน และก็ไม่มีใครอยากให้นักลงทุนเจ็บตัว และก็ไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีก...มองเหตุผลประกอบการการพิจารณาลงทุนเป็นดี **
กำลังโหลดความคิดเห็น