ตลท. เร่งตรวจสอบสาเหตุหุ้นไทยสัปดาห์ก่อนร่วงหนักถึง 120 จุด เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ พร้อมเพิ่มหลักประกันซื้อขายหุ้นจาก 15% เป็น 20% เริ่มใช้ 2 พ.ค.นี้ ระบุเป็นอัตราที่เหมาะสม และมีผลกระทบต่อนักลงทุนน้อยมาก ด้านนายก ส.โบรกฯ การันตีการเพิ่มหลักประกันที่ 20% เหมาะสมในการบริหารความเสี่ยง ย้ำตลาดหุ้นไทยทุกอย่างต้องอยู่ที่พื้นฐาน
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาชิกของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (โบรกเกอร์) วันนี้ มีมติเห็นด้วยกับการเพิ่มการวางหลักประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด (Cash Account) จากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 20 ซึ่งนักลงทุนสามารถวางหลักประกันเป็นเงินสด หรือหุ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 นี้ โดยสาเหตุหลักเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการชำระราคาของการซื้อขายหุ้นในช่วง 3 วันที่อยู่ระหว่างการชำระราคา หรือ T+3
กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ยืนยันว่า การเพิ่มการวางหลักประกันสอดคล้องกับการศึกษาของสมาคมโบรกเกอร์ที่พบว่า อัตราการวางหลักประกันที่เหมาะสมควรอยู่ที่ร้อยละ 20 และมีผลกระทบต่อนักลงทุนน้อยมาก เพราะปกตินักลงทุนมีหุ้นอยู่ในพอร์ตเป็นหลักประกันอยู่แล้ว
นายจรัมพร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 120 จุด โดยเฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ตกแรงถึง 60 จุด ตลท.จะขอข้อมูลจากโบรกเกอร์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติหากดัชนีราคาหุ้นปรับตัวลดลงเกินกว่าร้อยละ 1 ตลท. จะเข้าไปตรวจสอบ แต่หากพบข้อมูลก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อไป
ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพิ่มหลักประกันร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 20 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 2 พ.ค. หรืออีกกว่า 1 เดือน ก็เพื่อให้มีเวลาปรับตัว และเตรียมตัวที่พอเพียง มีการทำการศึกษาปัจจุบันในวันที่เราซื้อเรายังไม่ได้ชำระเงินจะมี 3 วันทำการ ซึ่งจะมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ ถ้าหุ้นขึ้นหรือตกลงไป เพราะฉะนั้น มีการเรียกหลักประกัน จากการที่เราได้ให้อาจารย์มาศึกษาความเสี่ยงในช่วงนี้ ก็คือ หลักประกันที่เหมาะสมอยู่ที่ร้อยละ 20 ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้อยละ 20 ในทันทีแบบในอดีต เพราะไม่อยากให้เป็นภาระมากเกินไป ค่อยๆ ปรับขึ้นมาถึงในช่วงนี้ภาวะตลาดหุ้นเริ่มร้อนแรงอยู่บ้าง ก็มีการขึ้นมาพอสมควรอย่างรวดเร็ว อาจต้องมาดูความเสี่ยงระบบต้องมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ว่าบางคนอาจจะสับสนไปผูกเรื่องนี้กับเรื่องสกัดกั้นการเก็งกำไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน อันนี้เป็นมาตรการบริหารความเสี่ยงของระบบมากกว่าที่จะเป็นเรื่องการสกัดกั้นการเก็งกำไร
นางภัทธีรา กล่าวเสริมว่า ตัวเลขที่ศึกษามาอยู่ที่ร้อยละ 20-25 แต่คิดว่าที่อัตราร้อยละ 20 เหมาะสมในภาวะปัจจุบันไม่อยากให้เป็นภาระมากเกินไปของลูกค้า ลูกค้าส่วนใหญ่ จะไม่ได้ถูกผลกระทบเลย เนื่องจากว่าเรานับทั้งเงิน และหุ้นซึ่งลูกค้าที่มีหุ้นที่ซื้อขายอยู่ เป็นประจำก็จะมีหลักประกันตรงนี้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องเอาเงินมาวางเพิ่ม กลุ่มที่จะมีผลกระทบก็คือ เป็นกลุ่มที่ซื้อขายอย่างรวดเร็ว อย่างพวกเบเทรด ซึ่งบางทีอาจไม่เก็บหุ้นไว้ ก็ต้องมีหลักประกันขั้นต้นก่อนถึงจะเริ่มซื้อขายได้ หรือนักลงทุนคนใหม่ที่เพิ่งเปิดบัญชี ในการนี้เราอยากเน้นชัวร์ว่ากันเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ จะได้ลดความเสี่ยงลงด้วย เป็นการสร้างวินัยที่ดีในการลงทุน
นางภัทธีรา กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความผันผวนของตลาดหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการคุยกันบ้าง อยู่ในภาวะที่ตกใจเล็กน้อย โดยหาเหตุผลประกอบการขายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวลือบ้าง หรือเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้ตื่นตกใจกันไปบ้าง ยกตัวอย่างฟอสเซลล์ในระบบมีฟอสเซลล์น้อยมาก แต่ก็เอามาเป็นประเด็นในการที่จะขาย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย แต่ข้อดีก็คือว่า ตอนนี้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นพื้นฐานกันมากเป็นพัฒนาการที่ดี
“ตลาดหุ้นไทยทุกอย่างต้องอยู่ที่พื้นฐาน คือ ราคาหุ้นอาจจะเกินเลยได้บ้างบางช่วง แต่ถ้าเราไปดูพื้นฐานมันจะทำให้เราไม่ได้จ่ายราคาที่เหมาะสม ควรต้องศึกษาหาความรู้ในหุ้นที่ตัวที่เราลงทุนให้มาก และก็มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ไม่ใช่กระจุกอยู่ตัวใดตัวหนึ่ง อันที่สอง ตลาดหุ้นไทยเราต้องมีสัดส่วนของนักลงทุนที่เป็นสถาบันมากขึ้น อันนี้มีส่วนด้วย เช่น นักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่ชำนาญอาจจะไปซื้อขายผ่านกองทุนรวม ซึ่งอันนี้ก็จะเหมือนมีผู้จัดการมาช่วย ในขณะที่เราให้เขาลงทุนให้เราก็ศึกษาไปด้วย เมื่อมีความพร้อมแล้วค่อยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ก็จะช่วยให้มีความแข็งแรง”
นางภัทธีรา กล่าวด้วยว่า ช่วง 2-3 วันนี้ ตลาดหุ้นมีการรีบาวนด์มาถึง 5-60 จุด จริงๆ แล้วพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังรองรับหุ้นที่ไปได้สูงกว่านี้ เป้าหมายในหลายบริษัทก็ยังไปได้เพียงแต่ขึ้นมาเร็ว และแรงเกินไป นักลงทุนควรลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานจริงๆ จะสบายใจขึ้นมาก
“ตอนนี้มี 2 เรื่อง เรื่องบทวิเคราะห์ เนื่องจากปีนี้หุ้นสวิสจากกลุ่มหุ้นใหญ่ในอดีตมาเป็นหุ้นกลาง และเล็ก โบรกเกอร์ก็กำลังสวิสการทำบทวิเคราะห์จากหุ้นใหญ่มาเป็นหุ้นเล็กลง อันนี้ต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะสร้างโมเดล กว่าจะไปสวิรู้จักกับบริษัทจะมีเวลาอยู่บ้างต้องให้เวลานิดหนึ่ง เร็วๆ นี้ ก็จะมีบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุมหุ้นที่มีขนาดเล็กลงมากขึ้น”
ส่วนบทบาทที่สอง คงเป็นเรื่องการสัมมนา อบรม ซึ่งตอนนี้โบรกเกอร์ต้องเร่งให้ความรู้มากขึ้น ทั้งในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงออกไปสู่นักลงทุนต่างจังหวัด ซึ่งสมาคมมีนโยบายจะให้ผลักดันให้โบรกเกอร์ไปช่วยนักลงทุนต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้มีความรู้ในการลงทุนที่ดีในอนาคต