ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ใช้จิตนาการเสกสรรตัวเลขขึ้นมาจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้ถมความเพ้อฝันโครงข่ายระบบคมนาคม อันเป็นการสร้างปมปัญหาที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงขึ้นมาอีกหลายปมแก่สังคมไทย ทั้งยังเป็นการจุดไฟแห่งวิกฤติการณ์เพิ่มขึ้นมาอีกกองหนึ่ง ราวกับว่าที่ผ่านมาสังคมไทยยังมีความรุ่มร้อนไม่เพียงพอ
ลองพินิจพิจารณาข้อเขียนที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แจกแจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เราจะเห็นความสับสนทางความคิดที่ติดอยู่ในพื้นที่ของสมอง และความมืดมนทางจิตใจที่ฝังในจิตใต้สำนึก ดูทีละประโยค ทีละวลี ที่ต้องดูก็เพราะว่า เหตุผล 6 ข้อ ความยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ A4 ที่เธอเขียนขึ้นมานั้นมีมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท หรือข้อละประมาณ 3.66 แสนล้านบาท หาก พ.ร.บ.เงินกู้นี้ผ่านไปได้ ก็นับว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักเขียนที่ได้รับค่าเขียนที่แพงที่สุดในโลก
เธอเริ่มจากการเขียนว่า “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และ ASEAN”
ประโยคนี้มีความผิดพลาดเชิงตรรกะ เป็นการเขียนซ้ำความ ดังวลี “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” กับ “เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” เช่นเดียวกับวลี “ประเทศเพื่อนบ้าน” กับ “ASEN” ก็เป็นการเขียนซ้ำความเหมือนกัน อันเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความ สับสนทางปัญญา
จึงเป็นเรื่องน่าห่วงประเทศยิ่งนัก หากยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้บริหารเงินกู้ก้อนนี้
เธอยังเขียนต่อไปอีกว่า แนวคิดรัฐบาลมี 6 ข้อ คือ
1.พัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งขาดการลงทุนโครงการใหญ่มานาน
วลีที่ว่า “สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ดูเหมือนจะมีความโน้มน้าวใจไม่น้อย แต่ทว่า ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เกี่ยวกับนโยบายและสมรรถภาพการบริหารประเทศของรัฐบาล แสดงหลักฐานให้เห็นด้วยตัวของมันเองว่า
ก. รัฐบาลนี้ทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ภายใต้การบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย หามีเรื่องราวใดและนโยบายใดที่พิสูจน์ให้สาธารณะเห็นว่ามีความสามารถในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเลย อีกทั้งรัฐบาลนี้ยังทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรื่องแล้วเรื่องเล่า เช่น นโยบายจำนำข้าวทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยจนตกต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน นโยบายขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทก็ทำลายความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและบริการลงไปอย่างมหาศาล ประเทศไทยขณะนี้กลายเป็นประเทศที่อ่อนแรงและอ่อนแอลงในเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศ เรื่องที่พอแข่งขันได้อยู่บ้างก็คือเรื่องที่ภาคเอกชนทำเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ข. รัฐบาลนี้ไม่มีสมรรถภาพในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้
เมื่อ พ.ศ. 2555 รัฐบาลนี้ได้เร่งรัดออกพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยอ้างว่านำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แต่ผ่านมาเป็นปีแล้วก็ไม่มีวี่แววว่า รัฐบาล สามารถบริหารเงินกู้ให้มีประสิทธิผลเกิดขึ้นได้แม้แต่น้อย
ค. ส่อแววเตรียมผลาญเงิน ปรนเปรอพวกพ้อง
การเขียนว่า “ประเทศขาดการลงทุนขนาดใหญ่เป็นเวลานาน” ไม่ทราบว่าเกิดจากฐานความเข้าใจแบบใด โครงการขนาดใหญ่ที่ว่าต้องมีมูลค่าเท่าไร หลายพันล้านบาท หลายหมื่นล้านบาท หรือหลายแสนล้านบาท เท่าไรกันแน่ อันที่จริงตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ประเทศไทยมีโครงการขนาดหลายพันล้านบาท และหมื่นล้านบาทหลายโครงการแล้ว หรือความใหญ่ของยิ่งลักษณ์ ต้องขนาดหลายแสนล้านบาทเท่านั้น
การทำโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมาของรัฐบาลหลายรัฐบาล ประชาชนคมไทยได้ข้อสรุปแล้วว่า “ยิ่งโครงการมีมูลค่ามากเท่าไร ก็ยิ่งมีการทุจริตและการเผาผลาญเงินของชาติมากเท่านั้น”
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียนแนวคิดรัฐบาล ในข้อ 2. ว่า “เชื่อมโยงแนวคิดภายใต้กรอบ Connectivity เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์อาเซียน และเกิดฐานการเชื่อมประชากร 600 ล้านคน ในการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับคนไทย และการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนสู่อาเซียน”
แนวคิดในข้อ 2 นี้ คงเป็นเรื่องของการสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง แต่การเพ้อฝันว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์หรือการลงทุนสู่อาเซียนดูจะเป็นความคิดแบบเสี่ยงเสี้ยวไปหน่อย เพราะโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเป็นศูนย์กลางการลงทุน ปัจจัยอื่นๆที่มีความสำคัญยิ่งกว่าปัจจัยด้านคมนาคม อันได้แก่ ความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพของรัฐบาล และคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในสังคม ถามว่ารัฐบาลนี้มียุทธศาสตร์ใด ใช้เศษเงินเท่าใดในการสร้างปัจจัยทั้งสองให้เกิดขึ้น
แต่คิดในอีกแง่หนึ่ง การที่รัฐบาลไม่สนใจทำเรื่อง การสร้างความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพกับการพัฒนาคุณภาพของคนไทย น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีและมีประโยชน์มากกว่าการที่รัฐบาลจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว เหตุผลง่ายๆก็คือ คงเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มคนที่ไร้ความโปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ และไร้คุณภาพ มาสร้างสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตนเอง
ในข้อ 3. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียนว่า “ประเทศไทยขาดการเชื่อมเส้นทาง บก น้ำ อย่างการเชื่อมต่อให้ต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ผ่านไปยังแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลางน้ำ ไปยังปลายน้ำ ก็คือการส่งออก เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงร่นระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนในการสูญเสีย”
หากประเทศไทยขาดการเชื่อมเส้นทางดังที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียนจริง ผมคิดว่าปัจจุบันประเทศไทยก็ยังคงเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนยิ่งกว่าประเทศเขมร แน่ๆ แต่ประเทศไทยยามนี้มีทั้งถนนสี่เลน มีทางรถไฟ มีแม่น้ำสายหลักที่ใช้ขนส่งสินค้ามาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ มีท่าเรือน้ำลึกหลายท่า ที่สร้างเสร็จแล้วทิ้งร้างไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็หลายแห่ง
เส้นทางทั้งหลายที่ประเทศไทยเรามี หากมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นระบบ ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการพัฒนา ไม่บ้าคลั่งแบบมุ่งแสวงหาประโยชน์ ผมคิดว่าเราสามารถพัฒนาปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนจากของเดิมที่มีอยู่ และเพิ่มของใหม่บางส่วน จะสามารถประหยัดเงินได้นับหลายแสนล้านบาท และไม่ต้องกู้เงินให้ลูกหลานในอนาคตก่นด่าสาปแช่ง
ในข้อ 4 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียนว่า “เชื่อมสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้จากเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น เชียงราย-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน , กำแพงเพชร-สุโขทัย-ตาก-อุตรดิตถ์”
เห็นชัดว่า ข้อนี้มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงของตนเองในภาคเหนือ ขณะเดียวกันก็ทอดทิ้งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือยิ่งลักษณ์และเพื่อไทยคิดว่า ไม่ต้องพัฒนาประชาชนในภาคอิสาน เพราะหากพวกเขาได้รับการพัฒนาแล้วจะมีรายได้สูงขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนมีคุณลักษณะเช่นนี้ย่อมจะเป็นอันตรายต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย คำกล่าวที่ว่า “ประชาชนที่มีปัญญามากขึ้น ย่อมรู้เท่าทันเล่ห์กลอันหลวงหลอกของนักการเมือง”ยังคงเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้อยู่เสมอ
สำหรับภาคใต้ เช่นโครงข่ายรถไฟที่เชื่อมต่อภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง หรือ การเชื่อมต่อโครงข่ายชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า รัฐบาลนี้ไม่สนใจใยดีอยู่แล้ว เพราะภาคใต้ไม่ใช่ฐานเสียงของพวกเขา การพัฒนาอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นน้อยมาก แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการทำโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้นั้นก็คือ การพัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศเท่านั้น
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้แสดงแนวคิดของรัฐบาลต่อไปในข้อ5. ว่า “เพิ่มทางเลือกเชื่อมเส้นทางโดยสาร โดยรถไฟความเร็วสูง จากหัวเมืองไปยังชานเมือง ลดความแออัดให้คนกรุง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เมืองชนบทเจริญขึ้น”
เธอจะทำรถไฟความเร็วสูงจากหัวเมืองไปชานเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เมืองชนบทเจริญขึ้น แต่ที่จริงแล้วการมีรถไฟความเร็วสูงมีความเกี่ยวข้องน้อยมากกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการทำให้เมืองชนบทเจริญขึ้น
โดยทั่วไปรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นการคมนาคมที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้เดินทางโดยเครื่องบิน และมีอัตราค่าโดยสารที่แพงหรือใกล้เคียงกับเครื่องบินประเภทราคาต่ำทั้งหลาย ผู้โดยสารที่พอจะมีความสามารถในการเดินทางโดยใช้รถไฟความเร็วสูงได้ก็คือชนชั้นกลาง แต่ชาวบ้านทั่วไปที่มีฐานะไม่ดีก็ยากที่จะสู้ราคาได้ ยกเว้นแต่ว่ารัฐบาลของเธอจะตั้งราคาไว้ต่ำมาก แต่นั่นก็จะทำให้มีการดำเนินงานขาดทุนตลอดไป
ผมว่าหากมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นจริง นอกจากคนไทยจะต้องแบกหนี้ค่าก่อสร้างแล้ว ในอนาคตก็อาจต้องแบกหนี้กับการดำเนินงานที่ขาดทุนอีกด้วย เรียกได้ว่า ลูกหลานของเราในอนาคตแบกหนี้กันจนหลังหักไปข้างหนึ่ง
สุดท้าย ในข้อ 6. เธอเขียนว่า “ตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นผลลัพธ์ ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ได้จากค่าขนส่งที่ลดลง 2 % ในช่วงของการลงทุนมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปี และการจ้างงานประมาณ 500,000 อัตรา ซึ่งจะส่งผลทั้งความแข็งแรง การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต”
สิ่งที่เขียนในข้อ 6 นี้ เป็นการเขียนเชิงคาดการณ์ในอนาคต เป็นการจินตนาการล้วนๆ ไม่มีที่มาที่ไปของตัวเลขอันสร้างความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด เป็นการอ้างขึ้นมาลอยๆทั้งสิ้น ทั้งตัวเลขที่บอกว่าจะทำให้ค่าขนส่งลดลง 2 % หรือ GDP เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 % ต่อปี ส่วนการจ้างงานนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะมีคนไทยเท่าไรกันที่จะได้มีโอกาสทำงานเหล่านี้ เพราะด้านแรงงานก็มีชาวพม่า เขมร คอยแย่งงาน ส่วนงานที่ต้องใช้ทักษะและความรู้ก็จะเป็นของพวกฝรั่งหรือญี่ปุ่นหรือจีน ตัวเลขจ้างงาน 5 แสนอัตราจึงเป็นตัวเลขที่อาศัยจินตนาการและความเพ้อฝันล้วนๆ
กล่าวโดยสรุปผมคิดว่า การพยายามออก พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 แสนล้าน สะท้อนเรื่องราวต่อไปนี้
ประการแรก เป็นอาการของกลุ่มคนที่มีภาวะจิตเภท ซึ่งพวกเขาแยกแยะไม่ได้ระหว่างโลกความเป็นจริง และโลกของความเพ้อฝันแบบหลงตัวเอง เกี่ยวความสามารถและประสิทธิภาพของตนเองในการบริหารจัดการเงินให้มีคุ้มค่าและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ
ประการที่สอง เป็นอาการของกลุ่มคนที่เปี่ยมไปด้วยความโลภ มุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง และเสพสุขไปหลายชั่วโคตร
ประการที่สาม เป็นอาการของกลุ่มคนที่เลือดเย็น อำมหิต ไร้ความเมตตา เพราะเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน และลูกหลานของคนไทยในอนาคต ที่จะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและต้องแบกรับภาระหนี้สิน และยังเป็นทำลายโอกาสการตัดสินใจสร้างทางเลือกการพัฒนาประเทศของคนรุ่นต่อไปอีกด้วย
ประการที่สี่ เป็นอาการของของกลุ่มคนที่บ้าบิ่น สุ่มเสี่ยง ต่อการนำประเทศไปสู่ปากเหวแห่งความหายนะ
ทั้งหมดที่ผมหยิบยกมา ล้วนแล้วแต่สะท้อนภาวะของความป่วยทางจิตทั้งสิ้น จึงขอบอกทุกท่านว่า ประเทศเราขณะนี้กำลังถูกบริหารด้วยคนบ้าครับ