xs
xsm
sm
md
lg

กู้หนี้ข้ามศตวรรษใครรวย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

คนไทยกำลังตื่นตะลึงกับเงินจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลกำลังออกกฎหมายผ่านสภาเพื่อจะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้ถ้าให้นายกฯ ปูเขียนเป็นตัวเลขออกมา ผมมั่นใจว่า นายกฯ ปูเขียนไม่ถูกแน่นอนครับ นี่ไม่ใช่เป็นการดูถูกสติปัญญาของนายกฯ อย่างไม่มีสมมติฐานรองรับ

เพราะในการแถลงงบประมาณปี พ.ศ.2555 ที่ ยิ่งลักษณ์ ได้เเถลงต่อสภา เธอได้อ่านรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวนทั้งสิ้น 53,918 ล้านบาท (ห้าหมื่นสามพันเก้าร้อยสิบเเปดล้านบาท) เป็น “ห้าหมื่นสามแสนเก้าร้อยสิบแปดล้านบาท” มาแล้ว

คำถามว่าทำไมเราต้องกู้ด้วยวงเงินมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ถ้าเราย้อนอดีตไปไม่ถึง 2 ปีจะเห็นว่าทั้งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ และคนเสื้อแดง ต่างพากันโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า “ดีแต่กู้” เพราะตอนนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วสมัยที่อภิสิทธิ์กู้นั้นเทียบไม่ได้เลยกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะกู้เงิน 2,000,000,000,000 บาท ระยะจ่ายคืน 50 ปี ดอกเบี้ยรวม3,160,000,000,000 บาท รวมเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 5,160,000,000,000 บาท

และก่อนหน้านั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูประเทศจากมหาอุทกภัย แต่ล่าสุดกลับพบว่างบดังกล่าวกลับเบิกจ่ายไปเพียง 1,550 ล้านบาทเท่านั้น

โฟกัสกันที่กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่ต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย 5.16 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 50 ปีถ้าเริ่มกู้ปี 2556 จะจ่ายเงินกู้หมดในปี พ.ศ. 2606 มีกี่คนในรัฐบาลนี้ที่จะอยู่ถึงพ.ศ.นั้นบ้าง

ถ้ากฎหมายผ่านรัฐบาลจะกู้เงินใน 7 รอบงบประมาณคือเริ่มกู้ประมาณปีละ 300,000 ล้านบาทไปเป็นระยะเวลา 7 ปี ถ้าทำสำเร็จรัฐบาลเพื่อไทยจะกุมเม็ดเงินมหาศาลในการจับจ่ายเงินนอกงบประมาณจากยอดเงินกู้ปีละ 3 แสนล้านบาทเป็นระยะเวลา 7 ปีงบประมาณ ยังไม่รวมเงินลงทุนจากปีงบประมาณปกติ

ถ้าเทียบจากงบประมาณปี 2557 จำนวน 25,250,000 ล้านบาท เมื่อหักรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าน้ำค่าไฟ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินกู้ รัฐบาลจะมีเงินเหลือเป็นงบลงทุนในรอบปีงบประมาณ 457,000 ล้านบาท

เมื่อรวมกับยอดเงินงบประมาณประจำปีที่มียอดเงินลงทุนประมาณ 4-5 แสนล้านบาทกับเงินกู้ปีละ 3 แสนล้านบาท เท่ากับว่ารัฐบาลจะมีเงินลงทุนในมือถึง 7-8 แสนล้านบาทไปเป็นระยะเวลา 7 ปี

รัฐบาลจะผ่านการเลือกตั้งอีกสองครั้ง ด้วยวงเงินในมือที่ยึดกุมไว้ใช้มากถึงปีละ 7-8 แสนล้านบาทนี้ในระยะเวลา 7 ปี เชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลของทักษิณผูกขาดปกครองประเทศได้อีกยาวนาน เพราะเงินกู้นอกงบประมาณสามารถปิดบังซ่อนเร้นได้เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายงบประมาณปกติที่มีกฎหมายควบคุมเข้มข้น

ถามว่ากู้เงินข้ามศตวรรษ 2 ล้านล้านที่กำลังเข้าสภา เงินต้นบวกดอกเบี้ยอีก 3.16 ล้านล้านเป็นเงินที่ต้องจ่ายคืนถึง 5.16 ล้านล้าน ที่รัฐบาลชุดนี้อ้างว่าเพื่อนำมาสร้างระบบโครงข่ายขนส่งทั้งเรื่องของถนน รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่จำเป็นทั้งหมดจริงๆ หรือ

ยิ่งลักษณ์อธิบายว่า การลงทุนโครงสร้าง 2 ล้านล้านนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและ ASEAN ให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่ออาเซียน และเกิดฐานการเชื่อมประชากร 600 ล้านคนนั้นคือโอกาสในการสร้างรายได้ของคนไทย และการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนสู่อาเซียน

เธอบอกว่า เชื่อมต่อเพื่อให้ต้นน้ำซึ่งจากแหล่งวัตถุดิบผ่านแหล่งอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกลางน้ำไปยังปลายน้ำ ก็คือการส่งออก เพื่อร่นระยะเวลาการเดินทางและเชื่อมสถานที่ท่องเที่ยวจากเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้คนมีทางเลือก เดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ปลอดภัยจากการใช้รถบนท้องถนน และกระจายความเจริญจากหัวเมืองไปยังชานเมือง ลดความแออัดให้คนกรุง

คำถามเมืองไทยต้องการรถไฟความเร็วสูงจริงๆ หรือ หรือจริงๆ แล้วเราต้องการเพียงรถไฟรางคู่ที่วิ่งได้ประมาณ 150-160 กม.ต่อชั่วโมงซึ่งเคยอยู่ในแผนพัฒนารถไฟไทยก็พอแล้ว ถ้าเราต้องการแค่นี้เราค่อยๆ สร้างโดยกำหนดในวงเงินงบประมาณประจำปีเพื่อไม่สร้างหนี้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ไหม แล้วแผนงานรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลที่จะสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหินนั้นเชื่อมโยงกับอาเซียนอย่างไร

ลักษณะภูมิประเทศและขนาดของประเทศจำเป็นไหมสำหรับรถไฟความเร็วสูง ถ้าอ้างว่าเพื่อความรวดเร็วในการส่งออกอุตสาหกรรมไหนที่จะเคลื่อนย้ายด้วยรถไฟความเร็วสูง และจะทำให้ประชาชนมีภาระค่าขนส่งที่ลดลงจริงหรือ โครงสร้างเครือข่ายคมนาคมในบ้านเรายังขาดประสิทธิภาพจนต้องพึ่งพารถไฟความเร็วสูงจริงหรือ

ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ราคาเท่าไหร่ถูกกว่าสายการบินโลว์คอสต์ไหม กลุ่มลูกค้าของรถไฟความเร็วสูงเป็นใคร ประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีตามสถิติของสำนักสถิติแห่งชาติที่ปีละ 150,118 บาท หรือ 12,510 บาทต่อเดือนจะสามารถเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงได้ไหม

แล้วการจะย้ายประชาชนไปอยู่นอกเมืองเพื่อลดความแออัดแล้วให้ประชาชนใช้รถไฟความเร็วสูงเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ นั้นเกิดขึ้นได้จริงหรือ เมื่อความเร็วนั้นถูกเปรียบเทียบกับค่าบริการกับรายได้ของประชาชน

ผมไม่ได้ปฏิเสธรถไฟความเร็วสูงเสียเลยทีเดียวนะครับ แม้จะเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่คิดว่า เราจำเป็นไหมที่ต้องกู้เงินขนาดนี้แบบเป็นหนี้ข้ามศตวรรษ เมื่อเทียบกับเราพัฒนาไปสู่เป้าหมายนั้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือถ้าจำเป็นจริงๆ เรามีทางเลือกอื่นเช่น หาผู้ลงทุน หรือทำไมไม่ให้จีนซึ่งสนใจเข้ามาร่วมลงทุนดำเนินการ

หรือถ้ารัฐบาลมุ่งพัฒนาแค่รถไฟรางคู่แล้วพัฒนาให้รถไฟวิ่งได้ที่ประมาณ 150-160 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากจังหวัดรอบนอก เช่น เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม นครนายกฯ ฉะเชิงเทรา อยุธยา ฯลฯ เข้ามากรุงเทพฯในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงอย่างไหนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากันและใช้เงินลงทุนน้อยกว่ากัน

แต่เอาเถอะครับเราคงขัดขวางรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาไม่ได้ และการกู้เงินครั้งนี้เป็นคำสั่งของเจ้าของพรรคตัวจริงด้วยแล้วก็คงจะมีใครขัดขวางได้ยาก โดยเฉพาะการอ้างว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วรัฐบาลกลับฟังเสียงของคนคนเดียวที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองและไม่มีอำนาจที่ชอบธรรม

ก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเป็นประชาธิปไตยตรงไหน

ถามว่าคนไทยทั้งประเทศต้องแบกหนี้ก้อนนี้ไปอีก 50 ปี และต้องจ่ายคืนสูงถึง 5.16 ล้านล้านบาท ได้ใช้เม็ดเงินที่ตกแก่ประเทศชาติและประชาชนจริงเท่าไหร่

คำตอบเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วครับว่า งบประมาณ 100 บาท ตกหล่นกลางทางถึง 30-40 บาทหรือ 30-40% แล้วงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท จะตกหล่นไปเท่าไหร่

คิดตัวเลขกลมๆ 600,000-800,000 ล้านบาทครับ

เงินจำนวนมหาศาลนี้เข้ากระเป๋าใคร ถ้าไม่ใช่นักการเมืองและบริวาร

คนไทยพร้อมจะช่วยกันแบกหนี้เพื่อให้นักการเมืองร่ำรวยมหาศาลหรือยังครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น