xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นสัมมาสัมพุทธ : ภาวะของผู้ค้นพบสัจธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“โย ธมมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (ตถาคต)” นี่คือพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดคือพระวักกลิ ผู้ที่คอยติดตามเฝ้ามองพระพุทธเจ้าไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยศรัทธาในรูปหรือที่เรียกว่า รูปัปปมาณิกา ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของรูปแบบศรัทธา โดยมีสองประการที่เหลือคือ โฆสัปปมาณิกา ศรัทธาในเสียง และธัมมัปปมาณิกา คือศรัทธาในธรรม

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น คำว่า เห็นธรรมหมายถึง ผู้ได้บรรลุธรรมขั้นต่ำคือ พระโสดาบันหรือที่เรียกว่า มีดวงตาเห็นธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า โดยเห็นกายคือธรรม หรือธรรมกายของพระองค์ มิได้หมายถึงรูปกาย

อนึ่ง เกี่ยวกับการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าในโลก พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า มีการเกิดสองครั้งคือ

1. ครั้งแรกเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โดยมีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระราชบิดา และพระนางสิริมหามายา เป็นพระราชมารดา ณ ลุมพินีสถาน ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ซึ่งเรียกว่าเกิดด้วยรูปกาย หรือกายเนื้อ

2. การเกิดครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะในเพศภาวะแห่งนักบวชผู้แสวงหาโมกขธรรม ได้ค้นพบสัจธรรมและทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงด้วยพระองค์เอง ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อวันเพ็ญเดือนหกก่อนพุทธศักราช 45 ปี ซึ่งเรียกว่าเกิดด้วยธรรมกาย

จากนัยแห่งอรรถกถาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 80 ปี แห่งพระชนมายุของพระพุทธเจ้าตามที่ชาวพุทธเข้าใจ และจดจำได้จากพุทธประวัตินั้น แท้จริงแล้วที่เป็นพระชนมายุของพระพุทธองค์เพียง 45 ปี โดยเริ่มจากพระชนมายุ 35-80 ปี

ส่วนก่อนหน้านี้จาก 1-29 เป็นพระชนมายุของเจ้าชายสิทธัตถะในภาวะแห่งฆราวาสวิสัย และอีก 6 ปีจาก 20-35 ปี เป็นพระชนมายุของเจ้าชายสิทธัตถะในเพศภาวะแห่งนักบวชผู้แสวงหาโมกขธรรม ตามคตินิยมของฤษีหรือผู้แสวงหาในยุคนั้น

จากการแบ่งช่วงแห่งพระชนมายุดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้เริ่มเมื่อผ่านพ้นวัยเด็กมาแล้ว แต่เหตุใดได้มีคนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยได้จัดกิจกรรมบูชาพระพุทธเจ้าน้อยกันอย่างเอิกเกริก ทำให้หลายคนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอาจเข้าใจผิดไปว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ตั้งแต่วัยเด็ก และถ้ามีผู้เข้าใจเช่นนี้ ก็จะทำให้ความเชื่อดังกล่าวขัดต่อตรรกะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นพระพุทธเจ้าดังต่อไปนี้

1. ถ้าความเป็นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในช่วงปฐมวัยของเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ไยพระองค์ต้องหนีบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นเล่า

2. พระพุทธเจ้าเป็นอริยบุคคลผู้เป็นอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ถ้าพระองค์เป็นพุทธะตั้งแต่วัยเด็กไยพระองค์ จึงต้องครองเรือนเยี่ยงฆราวาสวิสัยผู้ยินดีในกาม อันเป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ และการบรรลุธรรมขั้นโลกุตระ

3. ถ้าดูจากธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ อันเป็นการยืนยันการตรัส เป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรก แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าก่อนหน้านี้พระองค์ไม่เคยตรัสที่ใดมาก่อนเลยว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ นั่นก็เท่ากับว่าความเป็นพระพุทธเจ้าไม่เคยมีมาก่อนในชีวิตก่อนพระชนมายุ 35 ปีของพระองค์

จากเหตุผลในเชิงตรรกะ 3 ประการนี้ พอจะยืนยันได้ว่า การที่คนกลุ่มหนึ่งได้เรียกขานพระรูป เจ้าชายสิทธัตถะว่าพระพุทธเจ้าน้อยนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งในแง่ของพุทธประวัติ และในแง่ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมสงฆ์และบูชาพระพุทธเจ้าน้อย ก็ได้เกิดขึ้นและได้ผ่านไปแล้ว และเชื่อว่าทำให้ชาวพุทธบางคนบางกลุ่มหลงเข้าใจผิด และร่วมกันทำบุญไปแล้ว

ดังนั้น การนำเรื่องนี้มาเขียนก็เพียงเพื่อจะทำความเข้าใจกับท่านผู้ที่อยากรู้ และต้องการความกระจ่างในเรื่องนี้เท่านั้น มิได้หวังให้มีการแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วแต่อย่างใด แต่ต้องการให้เกิดการระมัดระวังในการนำเรื่องพุทธศาสนามาทำกิจกรรมในทำนองนี้ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการนำศาสนาพุทธมาใช้เพื่อกิจกรรมใดๆ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและเป็นจริง ตามครรลองแห่งศาสนาที่เคยมีมา เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ศาสนาเสื่อมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนบางคน หรือที่ยิ่งกว่านี้ ถ้าผู้กระทำมุ่งใช้ศาสนาไปในทางที่มีเจตนาไม่ดีแอบแฝงเช่นในเชิงพุทธพาณิชย์ เป็นต้น

ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ทำไปด้วยศรัทธาจะเป็นบาปหรือไม่ และถ้าเป็นบาปจะได้บุญหรือไม่

เกี่ยวกับการทำบุญได้มีองค์ประกอบชัดเจนว่าประกอบด้วยองค์ 3 คือ

1. ปฏิคาหกคือผู้รับมีศีลสมบูรณ์

2. ผู้ให้มีศรัทธาทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้

3. วัตถุทานคือสิ่งที่นำมาให้บริสุทธิ์ คือ ไม่ได้มาด้วยการทุจริต

จากนัยแห่งคำสอนข้อนี้ ถ้าการทำในครั้งนี้ประกอบด้วยองค์ 3 ถึงแม้จะไม่รู้ ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนทำก็ได้บุญ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยองค์ 3 ก็ได้บุญน้อย แต่การให้ทานแก่ผู้อื่นจะไม่เป็นบาปแก่ผู้ให้แน่นอน เพราะอย่างน้อย การเสียสละของๆ ตนให้แก่ผู้อื่น ก็จะเท่ากับทำให้ผู้ให้มีความเห็นแก่ตัวลดลง เพียงแต่ว่าถ้าทำบุญถูกวิธีจะได้บุญมากกว่าเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น