ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันที่ 19 มี.ค.56 ครม. ครม.เห็นชอบร่างข้อกำหนดคุณสมบัติการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) การประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 9 โครงการ มูลค่า 301,000 ล้านบาท
โดยมีการโยกงบไปเป็นค่าไปจ้างที่ปรึกษา 8,730 ล้านบาทตามแผน 5 ปี และค่าอื่นๆ ที่เบิกจ่ายก่อนหน้ารวมกว่า 48,000 ล้านบาท
ทำให้ แผนเมกะโปรเจกน้ำ ที่รัฐบาลไปกู้มา 3.5 แสนล้านบาท จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
หลังจากนี้ 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือก จะนำเสนอรายละเอียด ภายในวันที่ 3 พ.ค.นี้ เวลา 14.00 น. เพื่อเลือกเหลือ 1 กลุ่มบริษัทต่อ 1 แผนงาน มีรายละเอียดทีโออาร์ ดังนี้
A1: การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทสามารถกักเก็บน้ำได้ 1,300 ล้าน ลบ.ม. โดยมีพื้นที่ดำเนินการอ่างเก็บน้ำ ดังนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ยม ประกอบด้วย แม่น้ำยม ต.เตาปูน จ.แพร่ , แม่น้ำยมตอนบน ต.สะเอียบ จ.แพร่ , แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง , แม่อ้อนต.บ้านอ้อน จ.ลำปาง , ห้วยโป่งผาก ต.เงียงมอก จ.ลำปาง , แม่แลง ต.เงียบตัง จ.ลำปาง , น้ำงิบ ต.งิบ จ.พะเยา และอ่างเก็บน้ำอื่นๆที่มีความเหมาะสม
พื้นที่แม่วงศ์ ต.แม่เลย์ จ.นครสวรรค์ , แม่แจ่ม ต.แม่นาจาร จ.เชียงใหม่ , คลองวังชมพู ต.ชมพู จ.พิษณุโลก , แม่ทน ต.น้ำบ่อหนอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ , คลองสวนหมาก ต.โปร่งน้ำรอน จ.กำแพงเพชร ,ห้วยตั้ง ต.ป่าพลู จ.ลำพูน ,คลองขลุงล่าง ต.คลองลานพัฒนา จ.กำแพงเพชร , ห้วยฉลอม อ.บ้านตาก จ.ตาก , ห้วยพังงา อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ , ห้วยท่าพลต อ.เมือง จ.เพรชบูรณ์ , สมุน อ.เมือง จ.น่าน , ห้วยน้ำเฮี้ย อ.หล่มเก่า จ.เพรชบูรณ์ , คลองวังเจ้า อ.โกสัมพ จ.กำแพงเพชร และอ่างเก็บน้ำอื่นได้แก่ ปิง ยม น่า สะแกกรัง และป่าสัก ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ต้องมีการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และผลกระทบทางสุขภาพ(เอชไอเอ) โดยผู้รับจ้างต้องร่วมดำเนินการจัดหาที่ดินหรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตใช้พื้นที่และต้องให้ความสำคัญในการอพยพ จ่ายค่าที่ดิน ค่ารื้อย้าย ที่ดินและทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ และในการออกแบบเขื่อน ผู้รับจ้างต้องร่วมกับหน่วยราชการปลูกป่าทดแทนอย่างน้อย 3 เท่าของพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกน้ำท่วม พร้อมกับจัดค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและบำรุงรักษาต่อเนื่อง 3 ปี ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 6,800 บาทต่อไร่ให้กับกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้
A2 : การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์และวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยระยะเวลาการดำเนินการภายใน 3 ปี และศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสักและเจ้าพระยา ซึ่งกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 2.6 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ การจัดทำผังการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่โครงการ และหมวดการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจหลัก
ทั้งนี้ พื้นที่ดำเนินการให้มีการศึกษาในพื้นที่ 30 จังหวัด ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสักและเจ้าพระยา โดยกำหนดให้สำรวจ จัดทำและปรับปรุงแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งจะต้องจัดทำภาพถ่ายทางอากาศอัตราส่วน 1:4000 ใน 8 ลุ่มน้ำ โดยการบินใหม่หรือใช้แผนที่ที่มีอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2555 มาประกอบกันจนครบทุกลุ่มน้ำ ต้องจัดทำข้อมูลค่าระดับความสูงเชิงเลข แผนที่แสดงระดับความสูงและเส้นชัน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นปัจจุบัน แฯที่แหล่งน้ำและเส้นทางน้ำ อัตราส่วน 1:4000 แผนที่เชิงเลขเพื่อแสดงสภาพภูมิประเทศที่ทันสมัยและเป็นไปตามมาตราฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง
A3: การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือจังหวัดนครสวรรค์และเหนือจังหวัดอยุธยาเพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว โดยใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และสามารถจุน้ำได้ 3,000 ล้าน ลบ.ม. โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการ 2 ส่วน คือ พื้นที่เกษตรชลประทานเหนือจ.นครสวรรค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงจัดหาท่าพัง (จ.นครสวรรค์) ดงเศรษฐี (จ.พิจิตร) พลายชุมพล (จ.พิษณุโลก) และพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ เพื่อใช้กักเก็บน้ำชั่วคราว เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ พื้นที่พิจิตร - ตะพานหิน , พื้นที่ชุมแสง-เก้าเลี้ยว , พื้นที่เหนือจ.นครสวรรค์ เช่น สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร โดยต้องควบคุมน้ำเป็นพิเศษในลุ่มน้ำยมด้วยการปรับปรุง ขุดคลองหนองบึง ที่ตื้นเขิน เชื่อมโยงกักเก็บพร้อมเสนอวิธีการบริหารจัดการ มาตรการชดเชย และมาตรการช่วยเหลือที่จำเป็น
A4: การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ วัตถุประสงค์ให้มีการออกแบบ สำรวจ ศึกษา ปรับปรุงลำน้ำสายหลัก ยม น่าน เจ้าพระยา โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการ คือ ปรับปรุงขยายแม่น้ำพิจิตร ด้วยการขุดขยายให้เต็มแนวเขต แม่น้ำเดิมตลอดสาย ,ขุดขยายคลองหกบาท คลองผันน้ำยม-น่าน จ.สุโขทัย ให้มีอัตราไหล 100 ลม.ต่อวินาที , ขุดคลองสายใหม่ ช่วงคอขวด จ.พระนครศรีอยุธยา จาก อ.บางบาล-อ.บางไทร ระยะทาง 23 กิโลเมตร อัตราไหล 1,200 ลบ.ต่อวินาที และสร้างแนวป้องกันตลิ่ง
A5: การจัดทำทางน้ำหลาก(Floodway) และ/หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม/วินาที รวมทั้งจัดทำทางหลวง(ระดับประเทศ)ไปพร้อมๆ กัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีการศึกษา ออกแบบและก่อสร้างทางผันน้ำด้านตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยให้ผันลงอ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งสร้างถนนริมคลองที่ขุดใหม่เพื่อรองรับการคมนาคม โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.53 แสนล้านบาท
สำหรับพื้นที่ดำเนินการได้แก่ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการปรับปรุงแม่น้ำช่วงชัยนาท-ป่าสักพร้อมส่วนต่อขยายจากแม่น้ำป่าสักลงสู่อ่าวไทยให้มีอัตราการไหล 300-400 ลบ.ม./วินาที และขุดขยายคลองระพีพัฒน์ คลองสิบสาม คลองรังสิตใต้ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและคลองอื่นที่จำเป็น โดยให้ขุดขยายเต็มเขตแนวคลอง ขยายทำคันและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้มีบานระบายน้ำกว้างเท่าความกว้างของคลอง เพื่อระบายน้ำชัยนาท-ป่าสักลงสู่อ่าวไทย ซึ่งกำหนดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจากเหนือนครสวรรค์(แม่น้ำปิง) ลงอ่าวไทย ต้องขุดทางผันน้ำให้ไหลไม่น้อยกว่า 1,200 ลบ.ม./วินาที โดยดำเนินการภายใน 5 ปี ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่หนึ่งเริ่มจากเหนือนครสวรรค์ไปลงเหนือเขื่อนแม่กลอง
ส่วนอีกช่วงคือเลือกขุดคลองผันน้ำฝั่งขวาขนานกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ลงอ่าวไทย ที่ต.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยทำจุดเชื่อมเพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนหรือขุดทางผันน้ำโดยการระบายน้ำผ่านแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนลงอ่าวไทยโดยธรรมชาติและขยายปรับปรุงลำน้ำที่ใช้ระบายน้ำจากเหนือนครสวรรค์สู่อ่าวไทย
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ขุดลอกปรับปรุงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำลงอ่าวไทย กรณีที่มีความเหมาะสม พร้อมขุดคลองลัด 3 แห่ง คือ คลองลัดงิ้วรายออกวัดไทยาวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ความยาว 2.5 ก.ม. คลองลัดอีแท่น วัดหอมเกร็ดออกท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม ความยาว 1.8 ก.ม. และคลองลัดท่าข้าม ปากคลองข้างวัดท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม ความยาว 2.2 ก.ม.
ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านการรุกตัวของน้ำเค็ม การกัดเซาะ หรือผลกระทบด้านอื่นๆ และต้องเสนอแนะแนวทางแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสมด้วย โดยมีกำหนดในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี รวมทั้งจะต้องมีการสร้างถนน 2-4 ช่องทางจราจรแต่ละฝั่งตลอดแนวด้วย
A6: การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการสำรวจ ออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ทั้ง Software และ Hardware เพื่อตั้ง Single Command Center และจัดทำคลังข้อมูลในการพยากรณ์และเตือนภัย
รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการภายใน 3 ปี พร้อมบำรุงรักษาและปรับปรุงให้ทันสมัยอีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปีโดยกำหนดให้ตั้ง Single Command Center และพัฒนาระบบ Single command ในการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติทางธรรมชาติของรัฐบาล โดยจัดสร้างอาคารศูนย์บัญชาการในพื้นที่ที่ทางราชการจัดให้ พร้อมระบบจัดการอาคารและระบบแสดงผลขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 8,200 ตารางเมตร พร้อมระบบสาธารณูปโภคและระบบการสื่อสารที่มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูง
B1: การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ กำหนดให้ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และศึกษาการสร้างอ่างเก็บน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้ 450 ล้าน ลบ.ม.โดยใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พื้นที่ดำเนินการ ประกอบด้วย พัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน , คลองมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครนายก , โปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหง จ.ชัยภูมิ , ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร , ลำพระยาธาร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี , ลำสะพุง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ และลุ่มน้ำอื่นๆที่เหมาะสม
B2: การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณดำเนินการ 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 หมวด คือ การจัดผังการใช้ที่ดิน และการพัฒนาที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก
B3: การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ในโครงการเพื่อสำรวจ ศึกษาปรับปรุงคลอง ร.1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้สามารถผันน้ำลงอ่าวไทยได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ใช้งบประมาณดำเนินการ 5 พันล้านบาท
โดยรัฐบาลจะให้คะแนนสูงสุดกับแนวคิดทีโออาร์ "ซองข้อเสนอเทคนิค" ที่ดีที่สุดเท่านั้น ไม่ใช่ให้คะแนนต่อทีโออาร์ "ซองข้อเสนอด้านราคา" ที่ราคาถูกที่สุด เพราะเป็นเงินกู้ที่ประชาชนทุกคนร่วมเป็นหนี้ และหากมีหลักฐานว่ากลุ่มบริษัทใดถอนตัว หรือฮั้วกันจะตัดสิทธิ์ให้ออกทันที
ขณะที่มีการจัดเวที ตอบข้อซักถามให้กลุ่มบริษัทเอกชน 6 กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบการออกแบบและนำเสนอแนวคิดในการจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำในระยะยั่งยืนของประเทศไทย
ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท หลังจากที่มีการแจกเอกสารรายละเอียดข้อกำหนดสำหรับการจัดซื้อ/จัดจ้าง ( TOR ) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน จำนวน 9แผนงาน (โมดูล)
ได้แก่ 1. บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2. กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3. ITD-POWERCHINA JV 4. กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 5. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ และ 6. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที
ทั้งนี้โดยภาพรวมของคำถามที่บริษัทส่วนใหญ่ได้สอบถามเกี่ยวกับการเสนอราคาโครงการต่างๆ เช่น ราคาที่ผู้ว่าจ้าง (รัฐบาลไทย) ได้รวมค่าใช้จ่ายในเรื่องของการทำการประเมินผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) และค่าใช้จ่ายในการศึกษาและทบทวนความเหมาะสมของโครงการหรือไม่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ดิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายและเวนคืนหรือไม่ นอกจากนั้น ยังสอบถามถึงการปรับลดวงเงินในบางโครงการ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการขยายเวลาโครงการ รวมทั้งมีคำถามว่ารัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินเพิ่มในกรณีที่โครงการสร้างความเสียหายแก่กลุ่มบริษัทหรือไม่
ต่อไปก็ต้องจับตาดูวันที่ 3 พ.ค.56 เวลา 14.00 น.วันที่จะกำหนดให้ 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกนำเสนอรายละเอียด เพื่อเลือกเหลือ 1 กลุ่มบริษัทต่อ 1 แผนงาน เพื่อใช้เงินที่รัฐบาล ไปกู้มา 3.5 แสนล้านบาท