xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บทเรียนTPBS สำนึกทีวีสาธารณะ อย่าหลวมตัวเป็นเครื่องมือแก๊งล้มเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเลยทีเดียวและถือเป็นประเด็นร้อนทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่มีประชาชนสนใจมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง กรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” นำเสนอรายการในหัวข้อ “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะในตอนที่มีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแขกรับเชิญ อาฟเตอร์ช็อกลูกแรกก็คือ มีประชาชนจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในนาม กลุ่มคนไทยผู้รักชาติ ประมาณ 30 คน นำโดยนางซินเทีย เอี่ยมสะอาด ได้เดินทางมายังที่ทำการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อถามหาเจตนารมณ์ของรายการตอบโจทย์ วันที่ 12-14 มีนาคม 2556

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ทางสถานีไทยพีบีเอสได้ออกแถลงการณ์ สรุปว่า การประชุมพิจารณาเทปรายการ พบว่ามีเนื้อหาที่สมดุลในการแสดงความคิดเห็น แต่ในการประเมินสถานการณ์ เวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 15 มีนาคม 2556 พบว่าอาจมีการขยายความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น คณะผู้บริหารพิจารณาภายใต้หลักการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม องค์การฯ จะต้องไม่สร้างปัจจัยความขัดแย้งเพิ่มเติมหรือเป็นคู่ขัดแย้งเอง นำมาสู่การตัดสินใจพิจารณาทบทวนการนำเสนอประเด็นอ่อนไหวอย่างรอบคอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี อาจเป็นเพราะด้วย เทปในชื่อตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" เมื่อวันที่ 12-14 และ 18 มีนาคม โดยเฉพาะตอนที่ 4 โดยช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์มากที่สุด เป็นเนื้อหารายการในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2556 ที่มีการดีเบตระหว่างนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถึงแม้ทางฝ่ายหลังจะประกาศตัวเป็นคนรักเจ้า ที่ต้องการปกปักรักษาให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศไทยอย่างเปิดเผย แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามจากผู้ชมบางส่วนถึงการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งผู้ชมหลายฝ่ายอาจจะกังขาต่อท่าทีและวิธีการนำเสนอ ที่เชื่อมโยงไปถึงประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและถูกถามถึงวัตถุประสงค์ของการนำเสนอรายการ และรวมไปถึงการตั้งคำถามจากนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ขณะเดียวกัน ดูเหมือนจะมีอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอย่างต่อเนื่องจากกรณีดังกล่าวความอึมครึมของเหตุผลในการตัดสินใจไม่ออกอากาศ สร้างความสับสนให้กับคนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ยิ่งหนักหน่วง

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ขณะที่ในที่สุดแล้ว ไทยพีบีเอส ก็พลิกเกมฝ่ากระแสนำรายการตอบโจทย์ประเทศไทยชุด “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตอนที่ 5” ซึ่งถูกชะลอออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคมมาออกอากาศ อีกครั้งเมื่อเวลา 21.45 น. วันที่ 18 มีนาคม โดยอ้างว่าการสั่งชะลอขัดหลักความเป็นอิสระขององค์การสื่อสารมวลชน

ก่อนหน้านั้น นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า หากจะทำประเด็นร้อน ก็จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างภาพให้สมดุล เป็นเวทีกลางให้มีความเห็นหลากหลาย ถ้าจับตาดูหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีประเด็นการเมืองที่ถกเถียงกันหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีการพูดคุยทั้งที่สว่างและที่มืด รวมทั้งในต่างประเทศ ดังนั้นจึงคิดว่า ถ้าต้องการธำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ควรจะมีพื้นที่ให้คุยกันในที่สว่าง เพราะความเป็นสื่อสาธารณะต้องหาวิธีให้สังคมออกจากความขัดแย้ง

“หลักการพิจารณาเนื้อหาของไทยพีบีเอส จะดูความหลากหลาย ตรงไปตรงมา ให้คนมีความเห็นแตกต่างกันได้มาพูด แต่อาจจะต้องระมัดระวังการใช้ภาษา ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสเป็นช่องแรกที่ตัดสินใจทำ เพราะในระยะยาวเชื่อว่าจะหาทางออกให้กับสังคมได้” นายสมชัยกล่าว

เหตุผลฟังขึ้นหรือไม่คงต้องนำมาพิจารณาเช่นกันว่า คำถามแรกที่ควรตั้งคำถามก็คือหากหยิบยกกรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือการแก้รัฐธรรมนูญก็จะพอเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าอยู่ในกระแสที่ประชาชนทั่วไปสนในใคร่รู้ แต่ในที่นี้ก็คือเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง ซึ่งวุฒิภาวะของผู้บริหารไทยพีบีเอส ย่อมทราบดีว่าเรื่องแบบนี้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ และหากจะเค้นหาผู้ได้ประโยชน์และกระเหี้ยนกระหือรือ ก็คงจะเป็นเพียงคนแค่กลุ่มหยิบมือที่เดือดเนื้อร้อนใจเหลือกำลังต่อการที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และคงจะต้องบอกว่าปัญหานี้มิได้เป็นปัญหาอันดับแรกๆ ของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ที่จะต้องมีการถกเถียงและเร่งแก้ไขอันใดเลย

สำหรับ สถานีที่เรียกตัวว่าว่าสื่อสาธารณะซึ่งรัฐจัดสรรรายได้ปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท จากภาษีสรรพสามิตสุรา-ยาสูบ มาให้บริหารจัดการตามอำเภอใจต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต่างหาก เพราะเมื่อพิจารณาปัญหาหลากหลายประเด็นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น เรื่องประเด็นการวิพากษ์ต่อสถาบันมิได้เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ มิหนำซ้ำยังสร้างความแตกแยก ให้กับประชาชนอีกด้วยซ้ำ

แน่นอน ผู้บริหารไทยพีบีเอสจะมองไม่ออกก่อนหรืออย่างไรว่า เมื่อหยิบยกประเด็นสถาบันขึ้นมาเล่นจะต้องเจอเผือกร้อนอย่างที่เป็นอยู่ไม่ช้าก็เร็ว

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจ หากไทยพีบีเอสจะต้องเจออาฟเตอร์ช็อกอีกระลอกหนึ่ง ก็คือ มีกลุ่ม "ประชาชนทนไม่ไหว" กว่า 150 คน เดินทางมาประท้วง ที่หน้าสถานีไทยพีบีเอส กรณีที่สถานีนำเทปรายการตอบโจทย์มาเผยแพร่ วันที่ 11-14 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นเหม่และพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งให้ผู้บริหารออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก

ต่อมาวันเดียวกัน กลุ่มเสื้อหลากสีในนามกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ พร้อมประชาชนกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินกว่า 200 คน เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือประท้วงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเช่นกัน โดยทางสถานีได้ส่งนายมงคล ลีลาธรรม รอง ผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ออกมารับหนังสือ แต่ได้มีผู้ชุมนุมบางคนขว้างสิ่งของใส่นายมงคล จนต้องให้ นพ.ตุลย์ เข้าไปมอบหนังสือภายในรั้วสถานีแทน เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลาย

และที่เจ็บแสบก็คือในกลุ่มประชาชนดังกล่าวยังได้ถือป้ายประท้วง เพื่อที่จะส่งสัญญาณ คำถามไปยังรายการตอบโจทย์เป็นเชิงล้อเลียน อาทิเช่น ตอบโจทย์ทุจริตจำนำข้าว ตอบโจทย์อัปยศรถคันแรก ตอบโจทย์จะเสียเขาพระวิหาร ตอบโจทย์กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน ตอบโจทย์ 1 ประเทศ นายก 3 คน ตระกูลเดียว ฯลฯ

แน่นอน ถ้าจะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมแล้ว ประเด็นเหล่านี้ มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วทั้งประเทศแบบปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ที่อยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อน และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและจะสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เอาประเด็นเหล่านี้ไปเทียบเคียงกับกรณีการเอาเรื่องสถาบันเบื้องสูงมาเป็นที่ถกเถียง ณ เวลานี้ เพราะการคงอยู่ของ มาตรา 112 ไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน และที่สำคัญเมื่อเทียบกับป้ายที่ตั้งใจล้อเลียนรายการตอบโจทย์ก็เรียกว่า จะอยู่ในกระแสมากกว่าด้วยซ้ำไป จะมีประโยชน์เพียงถ่ายเดียวก็คงเป็นประเด็นให้กลุ่มคนไม่เอาเจ้า โหม กระแสเปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างถนัดถนี่ขึ้นเท่านั้นเอง

ขณะที่ยังไม่ทันขาดคำทันที น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปใจความสำคัญว่า “ดิฉันก็เพิ่งได้รับคำยืนยันจากคนTPBS ว่าเหตุที่ไม่เคยเชิญดิฉัน เพราะฝ่ายปตท. ไม่ยอมมา เลยตัดสิทธิพวกเราในการเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน แต่เหตุใดรายการตอบโจทย์วิพากษ์สถาบันฯ 5 ตอน จึงไม่มีฝ่ายที่เห็นค้านมาดวลกันบนเวทีเดียวกัน แต่กลับสามารถจัดได้ ดิฉันขอเสนอให้TPBS จัดวิพากษ์ธุรกิจผูกขาดพลังงานแบบจัดคอนเสิร์ต ขอ โซโล่ 1ครั้ง ดูโอ้ 2 ครั้ง และแบตเทิ่ลอีก 2 ครั้ง โดยให้ฝ่ายแบตเทิ่ลมีตัวแทนจาก ก.พลังงาน 1 ครั้ง ปตท.1 ครั้ง แฟร์ดีไหมคะ ถ้าฝ่ายถูกท้าแบตเทิ่ลไม่มา ดิฉันและทีมงานยินดีรับแทน เพราะถือว่าฝ่ายถูกท้าสละสิทธิเอง และการสละสิทธิของฝ่ายถูกท้า ไม่ควรเป็นเหตุผลให้ยกเลิกการจัด วิพากษ์ธุรกิจพลังงานผูกขาดได้ มิเช่นนั้นต้องถือว่าเหตุผลเช่นนี้เป็นเล่ห์กลที่จะไม่จัดวิพากษ์ค่ะ”

หรือกล้าแต่วิจารณ์สถาบันฯ เพราะรู้ว่าจะไม่มีนักการเมืองมาตัดงบประมาณสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอยู่แล้ว และกลุ่มธุรกิจพลังงานก็ไม่เดือดร้อนกับประเด็นนี้จนมาบีบคั้นในทางใดทางหนึ่งเหมือนการวิพากษ์ธุรกิจผูกขาดของตนเอง

ขณะเดียวกันงานเข้าล็อตใหญ่อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังออกแอ็กชั่นต่อกรณีดังกล่าว โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ตั้งทีมตรวจรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยให้ถอดเทปอย่างละเอียดให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาและติดตามสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่ามีการแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ และฝ่ายสันติบาลจะตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก โดยจะมีการจัดตั้งทีมรวบรวมเรื่องนี้โดยเฉพาะเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยมีผู้บังคับการกองคดีอาญาเป็นเลขานุการ และจัดตั้งศูนย์รวบรวมที่ สตช. และได้สั่งการทุกโรงพักเปิดรับแจ้งความหากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ดังนั้น ถึงเวลาที่สื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ทีวีสาธารณะ” ต้องหาทางแก้ไขไม่ให้เรื่องบานปลาย หันมาพิจารณาหน้าที่ของตัวเองและต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกหรือทำให้สังคมไม่สงบสุข อย่าให้ใครมากระแนะกระแหนได้ว่า สถานีไทยพีบีเอสรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงกับต้องตกเป็นเครื่องมือของคนบางคนกลุ่มบางกลุ่มที่กระเหี้ยนกระหือรืออยากจะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้อย่างสนุกปาก

นี่คือบทเรียนของไทยพีบีเอสที่จะต้องจดจำไปอีกนานแสนนาน

สมชาย สุวรรณบรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น