xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้าจะนองเลือดต้องเกิดจากสาเหตุอื่นร่วมด้วย นั่นคือประเด็นทางการเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ปรากฏการณ์ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ภายใต้หัวข้อ “สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมติดต่อกันมานับสัปดาห์ หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะสร้างรากของความแตกแยกให้ลึกลงไปอีก แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นได้ ดังที่ “อภิชาติ จันทร์แดง” อาจารย์จากสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง
 

 
ASTVผู้จัดการภาคใต้” : คิดยังไงกับประเด็นที่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยเสรี
 
“อภิชาติ จันทร์แดง” ประเด็นที่ใช้พูดกันนี้ค่อนข้างอ่อนไหวพอสมควร ความอ่อนไหวที่พูดถึงใน 2 ประเด็นคือ การกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ และกล่าวถึงเรื่องทางการเมือง เนื่องจากในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันถูกนำมาผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย และมีการถกเถียงเป็นวงกว้าง การนำเรื่องดังกล่าวมาพูดในขณะที่เกิดความขัดแย้ง ถือเป็นความกล้าของสื่อที่กล้านำประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างคนสองกลุ่ม
 
ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ถือว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงในเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดจากเรื่องที่นำมาพูดถึงของสื่อ ทั้งสองฝ่ายตอนนี้ต่างก็มีบาดแผลของความขัดแย้งที่ได้ต่อสู้กันมาตลอด สิ่งที่สื่อกำลังนำมาพูดถึงคือ การพูดถึงสถาบันและการเมือง ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากประเด็นดังกล่าวที่มี ส.ศิวรักษ์ และสมศักดิ์ เป็นตัวแทนของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน
 

 
: การนำเสนอรายการแบบนี้จะมีผลต่อวิธีคิดของคนดูอย่างไรบ้าง
 
แน่นอนว่าในความเป็นตัวสื่อที่มีความกล้านำเสนอประเด็นที่สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ทำให้เกิดภาพที่ค่อนข้างแรง และทำให้ประชาชนไม่พอใจ อาจเนื่องมาจากความคิดที่เป็นแบบชั้นเดียว มองว่าเป็นการจาบจ้วง หมิ่นเบื้องสูงมากกว่า
 
: ผิดไหมที่สื่อออกมาในรูปแบบนี้
 
ก็ไม่ผิดนะ ถ้าเรามองในฐานะของความเป็นสื่อ คือ สื่อต้องนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ต้องถูกต้อง รัดกุม และอยู่ในกรอบของความสร้างสรรค์ มันอยู่ที่การนำเสนอของสื่อว่าจะนำมาพูดแบบไหน พูดอย่างไร และตั้งคำถามแบบไหน หรือจะเป็นการตั้งคำถามที่จะมุ่งเจาะไปสู่การใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือใช้ต่อสู้ทางการเมืองหรือเปล่า
 
ในเมื่อความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายมันเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องนำบริบทที่เกี่ยวข้อง โดยการนำสถาบันกษัตริย์ไปเชื่อมโยงกับการเมือง เพราะสถาบันถูกกลุ่มทางการเมืองนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้มาก่อนหน้านี้แล้ว และสามารถทำลายฝ่ายตรงข้ามให้เกิดแผลได้ก็ถือเป็นชัยชนะระดับหนึ่ง
 

 
: มองประเด็นหลักของรายการตอบโจทย์อย่างไร 
 
ประเด็นหลักของรายการที่พูดถึงคือ การให้สังคมไทยร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งการเมืองและตัวสถาบันว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
 
แต่ประเด็นแบบนี้ที่นำมาพูดถึงเป็นวงกว้างได้นั้น ส่วนหนึ่งผู้ฟังต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง เพราะถ้าคนรับสารขาดตรงนี้ไป จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดไป ไม่ใช่การวิจารณ์ แต่การหมิ่น และจาบจ้วงเบื้องสูง แต่ถ้ามองในแง่ของการวิจารณ์นั้น จะออกมาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งคือ กลายเป็นเรื่องของการปกป้องสถาบันกษัตริย์มากกว่า เพราะถ้ามองแบบชั้นเดียวจะเป็นการทำลายรึเปล่า แต่ถ้าเป็นการวิจารณ์ คือ การที่ต้องมองหลายชั้น และใช้ความรู้มาพูดกัน
 
: เราสามารถพูดได้แค่ไหนว่ารายการตอบโจทย์ที่นำเสนอ มีวาระซ่อนเร้นมาปลุกระดมคนที่มีความคิดระดับเดียว ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
 
ตอนนี้ถ้าเรามองสังคมไทย สถาบันกษัตริย์มีความยึดโยงอยู่กับสังคมไทยอย่างแน่นหนา ไม่ว่าใครก็ตามที่ไปดึงสถาบันมาพูดคุยโดยมีความเกี่ยวโยงกับการเมือง ก็จะถูกสรุปว่าเป็นการทำลาย เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงตัวสถาบัน ตัวสื่อเองก็ต้องรอบคอบและรัดกุม และต้องควบคุมผู้มาร่วมรายการให้อยู่ในการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ให้ได้ แต่ต้องไม่ใช่ประเด็นว่าใครถูกใครผิด
 
เพราะถ้าเรามองรายการทั้งหมด โดยดูจากโจทย์ และผู้มาร่วมรายการ เรามองว่าเป็นการปกป้องสถาบัน ความหวังดีว่าสถาบันต้องคงอยู่ แต่อยู่อย่างไรให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันนั้น นั่นคือคำตอบของปัญหา
 

 
: ปรากฏการณ์ตอบโจทย์จะนำไปสู่การนองเลือดได้ไหม
 
ปรากฏการณ์อย่างนี้คงจะไม่นำไปสู่การนองเลือดได้ ถ้ามันจะเกิดการนองเลือดจริงๆ คงจะเกิดจากสาเหตุอื่นมาร่วมด้วย นั่นคือ ประเด็นทางการเมือง จากประวัติศาสตร์การเมืองของไทยตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็มีการนำสถาบันมาเกี่ยวข้อง นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบัน แน่นอนจากเหตุการณ์ดังกล่าวตัวสถาบันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สุดท้ายเป็นการแบ่งขั้วว่า ฝ่ายหนึ่งจ้องที่จะทำลาย ส่วนอีกฝ่ายปกป้อง ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างนำสถาบันมาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตนเอง
 
: ส่วนตัวอาจารย์คิดอย่างไรที่จะให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยเสรี
 
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า การวิจารณ์ ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็พูด กรอบของการวิจารณ์เรื่องที่มีความอ่อนไหวอย่างนี้จะต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์และเคารพ ซึ่งในประเด็นนี้ท่าน ส.ศิวรักษ์ จะพูดชัดเจนมาก ทั้งหมดนี้ต้องการวิจารณ์เพื่อปกป้องสถาบันเป็นสำคัญ เสรีในที่นี้ขอบเขตของคำว่าเสรีมันอยู่ระดับไหนด้วย
 
: ถ้าคำว่าเสรีในกรอบเดิม เราก็สามารถพูดในมิติอื่นได้รึเปล่า
 
ผมว่าความต้องการที่แท้จริงของรายการตอบโจทย์ที่ตั้งประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการเปิดพื้นที่เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยให้ทั้งสองฝ่ายได้มานั่งคุยกันว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่ต้องมีกรอบ กรอบในที่นี้คือ การคุยในเชิงวิชาการ เพราะการคุยประเภทนี้จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง จะมีก็แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างและไม่สอดคล้องกันเท่านั้น
 

 
: ทางออกของปรากฏการณ์ตอบโจทย์ในครั้งนี้น่าจะเป็นอย่างไร 
 
ทางออกของปัญหาหลายๆ ฝ่ายคงจะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง และน่าจะนำไปสู่การคลี่คลายได้ในที่สุด
 
นอกจากนี้ สังคมไทยยังไม่พร้อมสำหรับวัฒนธรรมการวิจารณ์ กล่าวคือ ความพร้อมในที่นี้คือ พร้อมที่จะรับฟังความคิดของบุคคล ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยถึงการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันไปพร้อมๆ กัน คนฟังต้องมีความพร้อมที่จะฟัง แม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ และต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลว่า ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร ต้องการให้คนฟังมองการวิจารณ์ที่เป็นสีเทา ไม่ใช่เพียงสีดำ หรือสีขาวเท่านั้น.
 
สัมภาษณ์โดย...น.ส.สายธาร ทิมทับ และ น.ส.นาซีบะห์ จะปะกิยา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น