xs
xsm
sm
md
lg

“นักสันติศึกษา ม.อ.” วิพากษ์ปรากฏการณ์ “ตอบโจทย์” ชี้ไทยยังไม่พร้อมวิจารณ์โจ่งแจ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิชาติ จันทร์แดง นักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “นักสันติศึกษา ม.อ.” ยอมรับการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ทำได้ ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่สร้างสรรค์และเป็นวิชาการ ระบุสังคมไทยยังไม่พร้อมรับวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างโจ่งแจ้ง ด้าน “นศ.รัฐศาสตร์” สถาบันเดียวกันชี้หากให้ถกเถียงกันด้วยอารมณ์ความรู้สึก นั่นคือการเติมเชื้อไฟขัดแย้ง
 
นายอภิชาติ จันทร์แดง อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ถึงปรากฏการณ์ตอบโจทย์ประเทศไทย ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทยขณะนี้ ซึ่งมีที่มาจากชื่อรายการหนึ่งของทีวีไทย (TPBS) ที่มีการหยิบยกเอาประเด็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นหัวข้อแสดงความคิดเห็นว่า โดยส่วนตัวนั้นเห็นด้วยที่มีการเปิดเวทีสาธารณะในเรื่องนี้
 
“แต่ต้องเป็นไปในกรอบของการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และต้องเป็นการถกเถียงทางเป็นวิชาการ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้มีความแตกแยกในสังคมเพิ่มมากขึ้น หรือเพื่อเป็นไปตามความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการสร้างกระแสปลุกระดมให้เกิดการต่อต้าน และล้มล้างสถาบันกษัตริย์” นายอภิชาติ กล่าวและว่า
 
หากมองว่ารายการตอบโจทย์เป็นเหตุก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมในเวลานี้ให้เพิ่มมากขึ้น ตามความเห็นของตนเชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความขัดแย้งในสังคมที่มีการแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ฝ่ายเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว หรือถ้าหากจะมองว่าเป็นการเติมเชื้อไฟให้ยิ่งโหมกระหน่ำมากขึ้น เรื่องนี้ก็ยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทางทฤษฎีของการต่อสู้ทางการเมือง เรื่องอะไรก็ตามที่สามารถทำลายฝั่งตรงข้ามให้พ่ายแพ้ได้ เรื่องราวเหล่านั้นก็จะถูกนำมาเป็นประเด็น
 
“เช่นเดียวกับเรื่องที่จะให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยเสรี กำลังเป็นหัวข้อที่พูดถึงกันในวงกว้าง ขณะนี้หลายๆ ฝ่ายเป็นห่วงว่าจะสร้างรากของความแตกแยกให้ลึกลงไปอีกหรือไม่ ประเด็นนี้คงจะถูกใจคนกลุ่มไม่เอาระบอบกษัตริย์แบบไม่ต้องอธิบาย เพราะถือเป็นการปลุกระดมบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบกษัตริย์ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านมากยิ่งขึ้น”
 
นักวิชาการด้านสันติศึกษาจากรั้ว ม.อ.หาดใหญ่ กล่าวด้วยว่า การแสดงความคิดเห็นไปจนถึงการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก ยิ่งถ้าผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นคนของกลุ่มที่ไม่ต้องการระบอบกษัตริย์ด้วยแล้ว ก็อาจสร้างความร้าวฉานในสังคมได้ แต่ถ้าออกมาแสดงความคิดเห็นแบบติเพื่อก่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญคือ ผู้ฟังจะต้องมีความพร้อม ซึ่งความพร้อมในที่นี้คือ พร้อมที่จะรับฟังความคิดของบุคคล ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยถึงการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันไปพร้อมๆ กัน
 
“ในขณะเดียวกัน คนฟังก็ต้องมีความพร้อมที่จะชอบหรือไม่ชอบ ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลว่า ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร ต้องการให้คนฟังมองการวิจารณ์ให้เห็นว่ามีสีเทาอยู่ด้วย ไม่ใช่เพียงสีดำ หรือสีขาวเท่านั้น ในขณะเดียวกัน บุคคลที่แสดงความคิดเห็นก็ต้องรอบคอบ และรัดกุม เพราะขณะที่แสดงความเห็นก็เท่ากับการเล่นกับความเชื่อ รวมถึงความศรัทธาของบุคคลที่มีต่อสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนานด้วย”
 
นายอภิชาต กล่าวเสริมว่า สุดท้ายคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมประเทศไทยยังไม่เหมาะกับวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างโจ่งแจ้ง เพราะสิ่งนั้นจะเพิ่มคลื่นใต้น้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลให้เกิดความรุนแรงในกลุ่มประชานชนด้วยกันเอง สถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของแนวคิด และการปฏิบัติ สถาบันกษัตริย์ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกันด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็ควรเป็นไปตามความเหมาะสมทางสังคมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงต้องเป็นไปพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ มีการยอมรับเสียงส่วนมาก และเคารพเสียงส่วนน้อย
นายภาคภูมิ ฮะยีบีลัง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
 
ด้านนายภาคภูมิ ฮะยีบีลัง  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวในเรื่องนี้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างปมความขัดแย้งมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มช่องทางให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการโหมกระแสดังกล่าวให้ลุกฮืออีกด้วย ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนระอุ เมื่อบวกกับการวิพากษ์วิจารณ์แบบเสรี อาจสร้างความไม่พึงพอใจให้แก่ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเชื่อ ความศรัทธา อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น
 
“แต่ในขณะเดียวกัน หากการนำเสนอเป็นไปในทิศทางที่เบาบางลง ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และให้ความเคารพในความคิดของแต่ละฝ่าย การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวก็คงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างอ่อนโยนให้มากที่สุด” นายภาคภูมิกล่าวตบท้าย
 

กำลังโหลดความคิดเห็น