สืบเนื่องจากโจทย์ร้อนของรายการตอบโจทย์ประเทศไทย? ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ตอบโจทย์ใครกันแน่? ประเทศไทย? สาธารณชน? หรือคนบางกลุ่ม?
จากการสวมหน้ากากในฐานะของทีวีสาธารณะ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเงินที่ไหลเวียนอยู่ในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาจากภาษีของประชาชนหรือสาธารณะ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงสูงสุดคงจะหนีไม่พ้นคือการทำหน้าที่ในฐานะสื่อเพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณชน หากแต่ว่าโจทย์ที่เลือกตอบในครั้งนี้กลับถูกตั้งคำถามอย่างหนัก
จากท่าทีสู่ความไม่เห็นด้วย จนถึงการประท้วง และท้ายที่สุด แม้เรื่องราวจบลงที่สื่อสาธารณะได้รับอิสรภาพ แต่สิ่งที่ต้องแลกมากับคำถามที่ถูกตั้งขึ้นครั้งนี้คืออะไร?
ทีวีสาธารณะคืออะไร
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดจากการเปลี่ยนไอทีวีซึ่งในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นทีวีเสรีเป็นทีวีซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของ และมีการกำหนดเนื้อหาในการนำเสนอเอาไว้ที่เรื่องข่าวและสารประโยชน์ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนบันเทิงมาเป็นทีวีสาธารณะเต็มรูปแบบ
โดยได้มีกฎหมายรองรับในโครงสร้างการบริหารชัดเจนให้เป็นอิสระจากอำนาจรัฐและกลุ่มทุน กลายเป็นทีวีสาธารณะ มีเงินงบประมาณจากภาษีเหล้าและบุหรี่มาคอยสนับสนุน ปีละประมาณ 2 พันล้าน
บอกได้ว่า ทีวีสาธารณะคือความฝันของสื่อในอุดมคติที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องยึดตัวเองอยู่กับรัฐหรือกลุ่มทุน ทว่าอิสระเหล่านั้นก็ต้องมีสิ่งที่แลกเปลี่ยนของตอบแทนสู่ประชาชน ว่าง่ายๆคือ โจทย์ที่สำคัญที่สุดของทีวีสาธารณะคือประชาชน
รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล อดีตคณบดี คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อความเป็นสื่อสาธารณะของไทบพีบีเอสว่า ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ จากปัจจัยหลายอย่างที่ยังคงเป็นเงื่อนไขอยู่
“ในยุคปัจจุบัน เรามีความเชื่อมั่นกันมากเรื่องสื่อเสรี ทีวีสาธารณะ เพราะฉะนั้น การกำกับควบคุมจึงควรทำเท่าที่ทำได้เท่านั้น คือต้องปล่อยให้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับผู้ผลิตรายการที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
“แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น ผมยังไม่เชื่อว่าเราจะทำได้อย่างนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะโครงสร้างระบบ การบริหารจัดการหลายๆ อย่างของเรา ยังตกอยู่ภายใต้เจ้าของ ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานทหาร ทำให้บางครั้ง บางองค์กรมีข้อจำกัด อาจเพราะใกล้ชิดกับนักการเมือง หรือเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่สุดท้ายแล้ว การจะทำให้เป็น “ทีวีสาธารณะ” ในอุดมคติให้ได้มากที่สุดก็คือ ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบ หลักของการข่าว ต้องมีความลึก รอบรู้ กว้างไกล และที่สำคัญ ต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
จากเอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่อง ความเป็นอิสระของทีวีสาธารณะ และการถ่ายทอดวาทกรรมและปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐ: กรณีศึกษาการชุมชุมทางการเมืองใน เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ที่เป็นการศึกษาถึงการทำงานในฐานะทีวีสาธารณะของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พบว่า มีความโน้มเอียงอยู่ในหลายช่วงเวลา
จากผลการศึกษานี้ ระบุว่า ในช่วงการชุมนุมทีวีไทยมีแนวโน้มที่ไม่เป็นอิสระหรือเข้าข้างรัฐบาลในช่วงการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เอียงข้างฝ่ายตรงข้ามกับรัฐในการชุมนุมทางการเมืองในช่วงก่อนปี 2552
ข้อสังเกตุของการโน้มเอียงที่เกิดขึ้นนี้ ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องยากที่สื่อปัจจุบันจะดำรงความเป็นกลาง ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งในรายการระบุว่า กรรมการนโยบายและผู้บริหารทีวีไทยหลายท่านได้แย้งว่าทีวีไทย “ถูกด่า/วิจารณ์จากทั้งแดงทั้งเหลือง” โดยยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงความเป็นกลาง แต่ปรากฏการณ์นี้อาจสะท้อนปัญหา ความเอนเอียงไปมาตามกระแสหรือเสียงวิจารณ์ในช่วงต่างๆ ก็เป็นได้ ซึ่งถ้าทีวีไทยสามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพที่ไม่เลือกข้างอย่างแท้จริง ก็น่าจะทำให้ข้อครหาเหล่านี้ให้น้อยลงหรือหมดไป
จุดน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ทีวีสาธารณะในบางประเทศจะมีภาพลักษณ์ที่มีจุดยืนทางการเมืองในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่ตรงกลาง แต่ทีวีเหล่านี้ก็มักจะมีนโยบายที่ชัดเจนในการเปิดพื้นที่ให้กับรายการที่ได้ชื่อว่า มีจุดยืนทางการเมืองต่างออกไป ทั้งนี้ในแง่มุมของการทำงานก็ได้รับการยอมรับในฐานะที่มีความเป็นมืออาชีพค่อนข้างสูง จึงทำให้ไม่มีข้อครหาต่อจุดยืนแต่อย่างใด
ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นเป้าหมายที่ทีวีไทยควรจะตั้งและพยายามดำเนินงานแบบมืออาชีพในการนำเสนอข่าวสารและรายการอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากการยัดเยียด บิดเบือน หรือโจมตีเพื่อช่วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งจะทำให้ทีวีไทยกลายเป็นทีวีสาธารณะที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและยังสามารถรักษาจุดยืนขององค์กรไปพร้อมกันด้วย
คำถามของสังคม
การมองเรื่องสถาบันเป็นจุดสำคัญหรือที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลใช้คำว่า “เป็นปัญหาใจกลาง” หรือ “ศูนย์กลาง” นั้นถือเป็นทัศนะของบุคคลกลุ่มหนึ่ง บอกได้ว่าเป็นเรื่องของสถาบันนั้นในปัจจุบันเป็นปัญหาสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง มากกว่าที่จะกระทบต่อสาธารณชน ในทางกลับกัน การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันด้วยท่าทีของการมองว่าเป็นปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหาเสียเอง
ต่อประเด็นของการตอบโจทย์ฯ รศ.ดร.สุรัตน์ ที่ได้รับชมรายการด้วยเห็นว่า สิ่งที่รายการนำเสนอออกมาเป็นการสะท้อนถึงเสรีภาพที่สามารถพูดได้จริง แต่มันก็ชวนให้เกิดคำถามว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ มันใช่เวลาที่จะหยิบประเด็นปัญหาเหล่านั้นมาพูดหรือ?
“ในฐานะสื่อมวลชนที่ดี เราจะต้องหยิบเรื่องที่กำลังเป็นที่ถกเถียง เป็นที่สนใจ เป็นปัญหาของสังคมอยู่ ณ ขณะนั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์และหาคำตอบไปในทางคลี่คลาย แต่ครั้งนี้ ถามว่ามูลเหตุของการหยิบประเด็นนี้มาพูดคืออะไรและพูดแล้วจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง? เราสามารถแสดงออกความคิดเห็นได้อย่างเสรีก็จริง แต่ถ้าเสรีภาพนั้นมันไปสั่นคลอนหรือก่อให้เกิดความเสียหาย มันก็ดูจะไม่เหมาะสมที่จะมานั่งหยิบประเด็นตรงนั้นมาขยาย”
ท้ายที่สุด จากที่ได้ชมรายการที่เป็นปัญหา เขาบอกว่า ไม่ได้มีการให้คำตอบอะไร ทั้งยังเป็นทัศนะส่วนตัวที่เขาไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์อะไรกับสังคม ทว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพของสื่อนั้นดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายหยิบยกมาถกเถียง เขาเห็นว่า เป็นเรื่องของดุลยพินิจสื่อควรจะพูดเรื่องใด และพูดอย่างไร
“ถ้าจะบอกว่า ต้องการหยิบมาพูดเพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งเสรีภาพ ตัวรายการต้องตั้งประเด็นให้ชัด มีที่มาที่ไปที่อธิบายได้ว่าเหตุใดจึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่จะตอบได้ว่าเนื้อหารายการนั้นมีประโยชน์หรือไม่ ควรค่าแก่การออกอากาศหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความรับผิดชอบของสถานีนั่นเอง ซึ่งตอนหลัง เขาก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอยุติรายการ ซึ่งผมคิดว่าทำถูกแล้ว ในเมื่อสังคมไม่เห็นด้วยและมีผลสะท้อนในทางลบตอบกลับมา ก็ถึงเวลาที่สื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ทีวีสาธารณะ” ต้องหาทางแก้ไขไม่ให้เรื่องบานปลายและหันมาพิจารณาหน้าที่ของตัวเอง ผมไม่ตั้งคำถามกับการเลือกคน แต่ผมตั้งคำถามกับการเลือกประเด็นมาพูดมากกว่า เพราะไม่ว่าเรื่องนี้จะถูกนำเสนอผ่านสื่อแบบไหน จะเป็นทีวีสาธารณะ ทีวีธุรกิจ หรือทีวีอะไร สื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบครับ ต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกหรือทำให้สังคมไม่สงบสุข”
ในงานเสวนาสาธารณะ “ตอบโจทย์ เรื่อง ตอบโจทย์: ทีวีสาธารณะกับบทบาทพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย
นักวิชาการด้านสื่อหลายคนมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พูดได้หรือไม่ หากแต่พูดอย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้ง เพราะเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งยังมีความเสี่ยงที่ส่งให้ผลให้สังคมเกิดความแตกแยก
ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าว สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยังยืนยันว่า ต้องมีเวทีกลางให้ได้พูด
“คนไทยพีบีเอส อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เราเป็นสื่อไม่จำเป็นต้องเข้าข้างใคร ผมไม่รู้สื่ออื่นเป็นอย่างไร ถึงผมก็ไม่เห็นด้วยในคำพูดของนายสมศักดิ์ หลายเรื่อง แต่เราเป็นพื้นที่กลางต้องมีเวทีนี้”
อย่างไรก็ตาม เสียงหนึ่งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนต่อทีวีสาธารณะได้ดีคือเสียงของผู้ชม พัฒนจรินทร์ สวนแก้วมณี ผู้ชมที่ติดตามรายการตอบโจทย์ ตั้งคำถามท่ามกลางวงเสวนาขึ้นว่า การนำประเด็นเรื่องสถาบันออกมาพูดนั้นตนไม่ได้ต่อต้านและพร้อมรับฟัง แต่ดูบริบทโดยรวมแล้วเห็นว่า มีเรื่องที่น่าสนใจมากมายในขณะนี้เช่นเรื่องความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าว เรื่องเงินกู้2.2 ล้านบาทที่ควรจะตอบโจทย์ประชาชนและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้รับรู้ โดยนำผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงมากกว่า เพราะการที่นำประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์ที่มีการออกอากาศถึง 5 ตอนนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่ากับปัญหาปากท้องและนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้มากกว่า
ทั้งนี้ ตนมีความคาดหวังสูงกับทีวีสาธารณะที่รับเงินจากภาษีประชาชน แม้ตนจะไม่ใช่ผู้ที่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ก็ตามแต่ก็ถือว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ภาษีจากประชาชนเช่นกัน ดังนี้ควรทำเรื่องที่เป็นสาธารณะและตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง
บทบาทในฐานะสื่อสาธารณะ มีเจตจำนงในดำรงอยู่เพื่อสาธารณชน ทว่าเมื่อสื่อสาธารณะถูกตั้งคำถาม จากประเด็นที่สุ่มเสียงในช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะสม หน้ากากของความเป็นกลางที่ถูกวางไว้เพื่อประชาชน ท้ายที่สุดแล้วหรือจะเป็นเพียงอีกโฉมหน้าหนึ่งของวาระซ้อนเร้นทางการเมืองเท่านั้น?
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ live