xs
xsm
sm
md
lg

ประณาม “ตอบโจทย์?” วาระซ่อนเร้น ภิญโญล้มเจ้า !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่รายการตอบโจทย์ ตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ออกอากาศ ประชาชนก็ต่างเดือดดาล ขุ่นเคือง จึงต้องลุกฮือประณามต่อต้านการนำเสนอของรายการที่มีการนำเอาสถาบันกษัตริย์มาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่เหมาะสม ฉวยโอกาสสร้างรอยร้าว หยิบยกประเด็นเปราะบางเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 มาสร้างกระแสให้ยิ่งโหมกระพือมากขึ้น ก่อนจะชิ่งหนีปิดรายการรวมถึงปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กไปแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรกับผลกระทบต่อสังคมที่กำลังถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในขณะนี้

ให้ใคร “ตอบโจทย์”

คงเป็นที่จดจำกันไปอีกนานกับรายการ“ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ส่งท้ายรายการได้แสบทรวงสุดๆ กับ 5 เทปในชื่อตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 12-14 และ 18 มีนาคม โดยเฉพาะตอนที่ 4 ทำเอาคนไทยรับไม่ได้ เมื่อพูดจาจาบจ้วง แสดงเจตจำนงว่าไม่เอาสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน จนต้องทำให้ถูกระงับการออกอากาศในตอนที่ 5 แต่จนแล้วจนรอดก็นำมาออกอากาศไปเมื่อคืนวันที่18 มีนาคม

เหตุการณ์ครั้งนี้ จึงทำให้ชื่อของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรรายการ ถูกเรียกกระแสขึ้นมาอีกครั้ง หลังสร้างความฮือฮาหลายครั้งในจุดยืนของตัวเอง จนมาครั้งนี้ที่ยกเอามาตรา 112 มาเป็นประเด็นในรายการ ถึงแม้จะเป็นฮีโร่ให้พวกหัวสมัยใหม่แต่สำหรับ รศ. ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กลับไม่คิดเช่นนั้น

“ผมไม่เรียกว่าคุณภิญโญมีมูลค่าทางสังคมใดๆ คืออย่าไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์นะ คือถ้าคุณคิดจะสร้างมูลค่าให้ตัวเองโดยหยิบยกประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคมขึ้นมาพูด คุณก็เป็นคนที่แย่มาก เพราะว่าคุณเกิดแล้วคุณก็ดับ แล้วคุณภิญโญเคยทำอะไรมาก่อนคนก็รู้ ว่าเคยไปสัมภาษณ์คุณทักษิณ แล้วทำไมคุณไม่ทำสกู๊ปเรื่องการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย การซื้อพรรคกิจสังคมมารวม ซื้อพรรคความหวังใหม่ ทำไมไม่ทำตรงนั้น คุณภิญโญจะทำอะไรต้องทำอะไรให้รอบด้าน แต่ทำไมเจาะจงแต่สถาบันกษัตริย์”

แน่นอนว่าการนำเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นหัวข้อในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสาธารณะในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเด็นที่ถกเกียงกันมานานนี้ ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทยมาก เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ยึดโยงกับคนไทยมาช้านาน

“อาจารย์ไม่เห็นด้วยนะ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการตั้งคำถามและการนำเสนอ โดยเฉพาะตอนที่คุณสมศักดิ์ออกมากับคุณ ส.ศิวรักษ์ ถ้าอยากให้เป็นเวทีที่ดี รายการตอบโจทย์ตรงนี้ คนที่พูดโต้กันเนี่ย ต้องไม่ใช่คุณสมศักดิ์กับอาจารย์ส. เท่านั้น คือคุณกล้าให้คุณสนธิ พูดมั้ย หรือเอาเป็นอ.ปานเทพ ก็ได้ เพราะน้ำหนักของอาจารย์ส. กับคุณสมศักดิ์ มันให้น้ำหนักไปในโทนเดียวกัน ต้องเอาคนอื่นๆ ที่มองคนละมุม มางัดง้าง ไม่ใช่ว่า เอาอีกฝ่ายมาพูดในอีกอาทิตย์หนึ่ง มันไม่ใช่การถ่วงน้ำหนัก การถ่วงน้ำหนักที่ดีต้องอยู่ในวันเดียวกัน

แล้วประเด็นการตั้งคำถาม คุณภิญโญตั้งคำถามตรงมากไป ไม่มีคำถามไหนที่ถามในเชิงให้คุณต่อพระมหากษัตริย์ หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ประเด็นนี้ ผมว่าผู้จัดมีวาระซ่อนเร้น นอกเหนือจากการเปิดเผยต่อสาธารณะ คิดว่าเป็นการฉวยโอกาส ทำให้ประเด็นนี้มันขยายไป คือจากแต่ก่อนเป็นเรื่องลับๆ อยู่ในวงแคบๆ คำถามคือมันเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา หลังจากที่พูดไปแล้วเกิดประโยชน์อะไรในการพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น เรื่องบางเรื่องการเปิดเผยต่อสาธารณะก็เป็นการทำลายล้างมากกว่าการสร้างสรรค์

วิพากษ์ได้ แต่อย่าหมิ่น

ถึงแม้ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะวิเคราะห์ให้ฟังว่าสำหรับการนำเสนอประเด็นนี้บนเวทีสาธารณะขนาดย่อมนี้ทำได้ แต่เรื่องของการขาดความเข้าใจในเรื่องของหลักการและรูปแบบรายการ จึงทำให้พลาดเข้าเต็มเปา โดยเฉพาะเรื่องของพิธีกรตรงกลางที่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นใดๆ

“ตรงนี้มันเป็นเรื่องของหลักการกับวิธีการนะครับ หลักการคือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เนี่ยสามารถทำได้ ในวงการวิชาการก็ทำอยู่เสมอๆ มาตรา 112 ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานตรงนี้ แต่ต้องเป็นงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั้งไทยและสากล ถ้ามีหลักฐานอ้างอิง มีการประเมินเป็นที่ยอมรับ มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ตรงนี้ถึงจะไม่เกิดปัญหา แต่ในเมืองไทยยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย

หลายคนจะเข้าใจผิดว่าการวิพากษ์ วิจารณ์สถาบันทำไม่ได้ คือเราต้องแยกว่าวิจารณ์โดยนักวิชาการ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว เหมือนวิศวกร ที่ไม่ได้ใบประกอบ หมอที่ไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งหลายเวทีที่เกิดปัญหาก็จะไม่ใช่นักวิชาการที่แท้จริงในด้านสถาบันกษัตริย์ แต่มักจะเป็นนักเคลื่อนไหวที่พูดเชิงหมิ่นเหม่ อาฆาตมาดร้าย พูดโดยขาดข้อเท็จจริง ตรงนี้มันก็จะเข้าข่าย มาตรา 112”

อีกข้อผิดพลาดของรายการตอบโจทย์ที่ผ่านมา 5 ตอนนั้น นอกเหนือไปจากการแตะต้องประเด็นที่อ่อนไหวทางสังคม รวมถึงการนำเอาบุคคลผู้ซึ่งไม่ได้เป็นที่ยอมรับในแวดวงการศึกษาสถาบันกษัตริย์มาร่วมพูดในรายการ เละเทะแบบตอกไข่ใส่สีจนคนดูคิดไปไกล ในด้านวิธีการก็ไม่ยุติธรรม เมื่อทั้งอ.สมศักดิ์และอ.สุลักษณ์ ต่างไหลตามน้ำอย่างสนุกปากโดยไม่มีคนค้านหรือโต้แย้ง

“ส่วนเรื่องวิธีการ ซึ่งมีปัญหาในหลายรายการไม่ใช่แค่รายการตอบโจทย์ คือรายการที่มีการนำคนมาถกเถียง รูปแบบรายการจะไม่ค่อยเหมาะสม ให้พื้นที่คนคนเดียวเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ในการพูดคุยกันก็จะตอกย้ำประเด็นเดิมๆ อยู่เป็นชั่วโมง อีกอย่างคือไม่ได้เอาผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่เป็นตัวแทนของมุมมองที่หลากหลายมาร่วมพูดคุยกัน ณ เวลานั้นพร้อมๆ กัน เค้านัดฝ่ายต่อต้านมาออกกี่วัน ฝ่ายไม่เห็นด้วยมาออกกี่วัน ฝ่ายนี้ออก 3 วัน อีกฝ่ายออก 3 วัน แต่ห่างกันออกไป 3 อาทิตย์ ทำให้คนที่ดูในช่วงเวลานั้นๆ เกิดความรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมขึ้นมา

โดย รศ. ตระกูล มีชัย ก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่ว่า จำเป็นต้องมีคนโต้แย้งภายในเวทีเดียวกัน

“คุณภิญโญจะกล้ามั้ย เอานายกฯ หรือผู้เกี่ยวข้อง เอามาดีเบตมาเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ว่าใครทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่า ที่พูดว่า กษัตริย์ควรลงมาใกล้ชิดประชาชน ไม่ใช่เอาแต่แจกของ อันนี้คุณไม่มองบทบาทอื่นที่ท่านลงพื้นที่ไปหาชาวเขาเลย คือถ้าจะโต้ประเด็นเหล่านั้นมันต้องชัด ผมดูแล้วผมรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อพระองค์ท่าน คือไม่มีคนมาดีเบตแทนพระองค์ท่าน คุณเองเรียกร้องความเป็นธรรม แต่คุณก็ทำโดยไม่เป็นธรรม อย่างนี้ไม่ถูกต้องครับ”

รุมสับเละ เนรคุณแผ่นดิน

“รู้ก็รู้ว่ารายการนี้จะทำร้ายความรู้สึกของประชาชนในมุมกว้าง แต่ก็ไม่สนใจ..ปัญหาที่ต้องตอบโจทย์ที่มันมีความสำคัญเป็นปากเสียงให้กับประชาชนทำไมไม่เอามาตั้งเป็นประเด็น”

“ฟังแล้วน้ำตาแทบไหล.. เหมือนฟังเด็กที่โตขึ้นมาในบ้าน กำลังเนรคุณพ่อแม่ที่ดูแลมาด้วยคำว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย สะท้อนภาวะธรรมชาติที่แสดงความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ”

“สถาบันการเมืองเลวไม่แก้ สถาบันตำรวจเลวไม่แก้ อยากเท่ต้องแก้สถาบันกษัตริย์ แก้สถาบันกษัตริย์เสร็จ ก็มาเผชิญปัญหาน้ำมันแพง ค่าครองชีพแพง ค่าแรงไม่พอยาไส้ต่อไป”

หลายๆ ความคิดเห็นบนโลกโซเชียล ที่ต่างแสดงความไม่พอใจ อยากแก้แต่ประเด็นเอื้อประโยชน์ตนเอง แต่ไม่คิดจะเร่งมือแก้ไขปัญหาประชาชนที่วิกฤตเข้าไปทุกทีในขณะนี้ ซึ่งแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังเอ่ยปากกว่า “เราเป็นคนไทยด้วยกัน ทำไมต้องมาทะเลาะกันเอง เพื่อประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์หรือ แล้วเรื่องปากท้องอยู่ตรงไหน ทะเลาะกันทุกวันนี้ ทำให้รายได้ ปากท้องดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มี เลิกเถอะแล้วกลับมาอยู่ด้วยกันดีกว่า กลับมารวมกันทำหน้าที่ของตัวเอง” พร้อมทั้งได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นร้อนดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน

“การเสนอรายการเป็นสิทธิของสื่อและผู้จัดรายการที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ผมอยากแสดงความคิดเห็นว่า เหมาะสมหรือไม่ ใช่เวลาหรือไม่ที่นำเสนอในเวลานี้ ในเมื่อความขัดแย้งยังรุนแรงอยู่มาก

โดยเฉพาะคนที่มาพูดเป็นถึงครู อาจารย์ ของคนทั้งประเทศ ประเทศชาติจะไปข้างหน้าได้ต้องมีครู อาจารย์ที่ดี และการสอนให้คนเป็นคนดี คิดว่า สำคัญกว่าจะสอนให้มาแก้กฎหมายโน่นกฎหมายนี้ ซึ่งยังไม่ใช่เวลา วันนี้จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กตีกัน ไม่ติดยาเสพติด ให้เขาเคารพกฎหมาย รู้จักคุณธรรม จริยธรรม และเรียนรู้ประวัติศาสตร์”

เผ่นแน่บ!! ยุบรายการ ปิดเฟซบุ๊ก

หลังเปิดประเด็นสร้างความร้อนระอุให้กับคนไทยในเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปถึง 4 ตอนด้วยกัน จนกระทั่งวันที่ 15 มีนาคม กำหนดที่จะเป็นการอภิปรายระหว่างอ.สมศักดิ์ และ ส.ศิวรักษ์ เป็นตอนสุดท้าย ก็ได้มีแถลงการณ์ระงับการออกอากาศตอนดังกล่าว หลังมีผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน เข้ามาชุมนุมต่อต้านภายในสำนักงานของไทยพีบีเอส

จากนั้นเมื่อดูท่าจะซ้ำรอยเก่ากับกรณีละคร “เหนือเมฆ” ที่ถูกแบนกลางอากาส ทีมงานเลยต้องเผ่นแน่บกันไปคนละทิศละทาง อย่าง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในนามทีมงานทุกคนก็ขอประกาศยุติรายการ ด้วยการโพสต์ทิ้งท้ายเอาไว้ในหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ตอบโจทย์ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา

“ผมและทีมงานทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอยุติการทำรายการตอบโจทย์ประเทศไทย นับจากบัดนี้เป็นต้นไป เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ว่าเรายังจะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร
เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ เรายินดีที่จะถูกประณาม คุกคาม เพื่อจะจุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขลาดกลัวต่อการสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้สว่างไสว เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืดออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผลและหักล้างกันด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์”

ในวันเดียวกัน อีกหนึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ลากกระเป๋าตามไปติดๆ อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ บรรณาธิการรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ก็ได้ร่อนจดหมายขอลาออกจากตำแหน่งอุปนายกด้านสิทธิเสรีภาพของสมาคมนักข่าววิทยุฯ ด้วยเหตุผลว่า “หากดิฉันไม่มีความสามารถที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับรายการของตนเอง ดิฉันคงไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคลากรในวิชาชีพนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดหลังจากนี้”

ถึงแม้ตอบโจทย์ตอนที่ 5 ตอนสุดท้าย จะได้ออกอากาศตามความมุ่งมาดปรารถนาของบางกลุ่มคนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีตัวแทนทีมงานรายการออกมาพูดถึงอะไรอีก โดยรูดม่านปิดฉากสุดท้ายรายการในแฟนเพจเฟซบุ๊กด้วยภาพห้องพระของวังวรดิศ ที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระกษัตริยาธิราชไทยในราชวงศ์จักรี และเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระสยามเทวาธิราช พร้อมข้อความสวยหรูว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี” ก่อนจะปิดตัวเพจนี้ลงในช่วงบ่ายของวันที่ 19 มีนาคม อย่างงดงาม


รายการตอบโจทย์ ตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
ตอนที่ 1 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ตอนที่ 2 อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
ตอนที่ 3 พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ
ตอนที่ 4 อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ตอนที่ 5 อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live





กลอนจากพี่คนดี

กำลังโหลดความคิดเห็น