xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ภิญโญ” รอยัลลิสต์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

หลายคนอาจรู้จักชื่อนี้ในฐานะเจ้าของนิตยสาร OPEN

หลายคนอาจรู้จักชื่อนี้ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์ OPENBOOKS

หลายคนอาจรู้จักชื่อนี้ในฐานะ “พิธีกร” ชื่อดังแห่งรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และยิ่งรู้จักมากขึ้นเมื่อภิญโญจัดรายการในตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะในตอนที่มี 2 วิทยากรคือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นใคร?

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมามีวาระแอบแฝงหรือไม่?

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาเป็น “รอยัลลิสต์” จริงอย่างที่เขากล่าวอ้างเอาไว้ในงานเขียนชื่อ“จิตตนาถ ลิ้มทองกุลที่ผมรู้จัก” ว่า “ในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีใครนับถือผมเป็นพวกเดียวกับเขาหรอกครับ เขาคิดว่าผมเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมผสมรอยัลลิสต์ด้วยซ้ำ ไป” หรือไม่

นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไปคือคำตอบที่จะสามารถตอบโจทย์ทุกข้อสงสัยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

....ว่ากันตามจริงแล้ว ต้องบอกว่า การเคลื่อนไหวของเหล่ากอแห่งขบวนการล้มเจ้าในการผลักดันให้มีการล้มและหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บัญญัติเอาไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ตกขอบกระดานแห่งความสนใจของสังคมไทยไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพราะไม่ว่าจะมีแคมเปญหรืออีเวนท์อะไรออกมาก็มิได้บังเกิดผล

ทั้งจาก แคมเปญฝ่ามือกง ที่โด่งดังสุดๆ จากการลงทุน “เปลือยอก” ของ “คำผกา” หรือนางสาวลักขณา ปันวิชัย

ทั้งจากการเปิดหน้าชกอย่างซึ่งๆ หน้าของคณะนิติราษฎรที่นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งจากการที่คณะนักคิดนักเขียนนามอุโฆษนำโดย “ปราบดา หยุ่น” ร่วมลงชื่อยาวเป็นหางว่าวให้มีการแก้ไขมาตรา 112

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของราชอาณาจักรไทยยังคงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมาย

แต่ภายหลังจากที่ภิญโญหยิบยกประเด็นดังกล่าวมานำเสนออีกครั้งผ่านรายการตอบโจทย์ โดยเฉพาะการนำนักวิชาการแดงตัวพ่ออย่าง “หัวโต-สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” มาออกอากาศพร้อมกับ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” หรือ “ส.ศิวรักษ์” ความร้อนแรงของการแก้ไขมาตรา 112 จึงหวนกลับมาอยู่ในความสนใจอย่างอึกทึกครึกโครมอีกครั้ง ก่อนที่จะถูกไทยพีบีเอสสั่งระงับการออกอากาศและไฟเขียวให้ฉายในเวลาต่อมา

แถมถัดมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน กลุ่มขบวนการที่ผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 112 อันได้แก่ นักเขียนคณะแสงสำนึกนำโดยวาด รวี คณะนิติราษฎร์ และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 ยังได้จัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ “ศาลกับความยุติธรรมในคดีมาตรา 112” ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกต่างหาก

ด้วยเหตุดังกล่าว จงอย่าแปลกใจที่สังคมจะตั้งคำถามถึงจิตเจตนาของภิญโญว่า เป็นหนึ่งในขบวนการนี้หรือไม่ เพราะนี่ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากสอดคล้องราวกับผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอนเอาไว้ล่วงหน้า

แน่นอน ภิญโญอาจอ้างเหตุผลสารพัดประการในการจัดตอบโจทย์ในประเด็นดังกล่าว แต่ภิญโญก็ย่อมต้องรู้อยู่แก่ใจว่า เรื่องนี้กระทบกระเทือนต่อหัวใจของพสกนิกรส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงใด และไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาโต้เวทีวาทีกันในรายการโทรทัศน์เพื่อความสะใจ

โดยเฉพาะการเชิญวิทยากรชื่อ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” มาออกรายการ ซึ่งภิญโญรู้ทั้งรู้ถึงความสุดโต่งของนักวิชาการเสื้อแดงคนนี้ว่า มิใช่แค่แก้ไขมาตรา 112 หากแต่ถึงขั้นปรารถนาไม่ให้มีมาตรา 112 กันเลยทีเดียว

“นายภิญโญคงจะดูลิเกมากไป การทำงานอย่างไม่เป็นมืออาชีพของทางรายการ ทำให้ถูกสังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถาม จึงขอความชัดเจนว่าทำไมต้องให้พื้นที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ต่อเนื่องสามวันติดกัน มีราคาค่างวดระดับไหน ประเด็นอะไรที่แตกต่างถึงต้องให้ถึงสามวัน ซึ่งมากเกินพอดี ออกมาตีกินอย่างนี้ไม่ไหว”

นั่นคือข้อความจาก เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Sermsuk Kasitipradit” ต่อกรณีที่ภิญโญให้นายสมศักดิ์มาออกอากาศถึง 3 วัน รวมถึงตอบโต้เหตุผลที่ภิญโญขอยุติการทำรายการตอบโจทย์ โดยอ้างว่าถูกการแทรกแซงการทำงานจากภายใน อย่างไม่เป็นมืออาชีพ

หากยังไม่ลืม เชื่อว่า หลายคนคงจำกันได้กับบทความในคอลัมน์“ไทยไทย” ของภิญโญชื่อ “คำพยากรณ์จากกษัตริย์ถึงกษัตริย์” ที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1633 ปี 2555 ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดของเขาที่มีต่อมาตรา 112 อย่างชนิดไม่ต้องหาคำอธิบายเพิ่มเติม

นี่ไม่นับรวมว่า บทความชิ้นดังกล่าวตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ที่โลกทั้งโลกรับรู้ว่ามีจุดยืนทางการเมืองสีแดงเข้มอย่างไม่ต้องยกตัวอย่างใดๆ มาอธิบาย

แน่นอน ข้อเขียนของภิญโญมีบทสรุปชัดเจนว่า “เห็นด้วย” กับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยหยิบยกตัวอย่างกษัตริย์ของประเทศต่างๆ มาโน้มน้าวให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ถึงเวลาแล้วที่สถาบันกษัตริย์จะต้องเปลี่ยนแปลง

“สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีญี่ปุ่นเมื่อเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบภัยพิบัติหลังเหตุการณ์สึนามิ ทั้งสองพระองค์น้อมพระวรกายลงไปรับฟังปัญหาของประชาชนของพระองค์อย่างใกล้ชิดจนระดับของพระเศียรต่ำกว่าประชาชนที่นั่งอยู่เสียด้วยซ้ำ การวางตัวอย่างเสงี่ยมภายใต้รัฐธรรมนูญที่จำกัดบทบาทมิให้ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นกลับมาสง่างามได้อีกครั้งหลังจากนำประเทศพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ 2”

นอกจากนี้ ภิญโญยังระบุด้วยว่า “ประวัติศาสตร์โลกจากอดีตจนถึงปัจจุบันจึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนของอำนาจจากกษัตริย์สู่สามัญชน เป็นประวัติศาสตร์แห่งการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ไปตามยุคสมัยและค่านิยมของสังคมนั้นๆสถาบันกษัตริย์ที่สามารถปรับตัวได้ดีก็จะธำรงความเข้มแข็งเอาไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ประชาชนมาปกป้องส่วนสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะถดถอยไปตามกาลเวลาโดยประชาชนไม่ต้องปลุกระดมมาล้มล้างแต่ประการใด นี่เป็นสัจธรรมที่ทั้งฝ่ายปกป้องและฝ่ายจ้องจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์พึงเข้าใจได้ด้วยการอ่านประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางแทนที่จะอ่านความคิดเห็นบนหน้าเฟซบุ๊กแต่เพียงลำพัง”

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์ของไทยมีพระราชจริยาวัตรแตกต่างจากกษัตริย์ญี่ปุ่นที่ตรงไหน ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโครงการพระราชดำริที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยเหลือคณานับ

โดยเฉพาะ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นธงชัยในการดำรงชีวิตของประชาชนคนไทยในยุคที่ทุนนิยมสามานย์ถาโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่งได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ภิญโญยังได้ยกตัวอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษเอาไว้อย่างมีนัยอีกด้วยว่า “สถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้น สื่อมวลชนกระทั่งประชาชนธรรมดาสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง ถ้าเป็นไปโดยสุจริต กระนั้นก็มิได้ทำให้สถาบันเสื่อมถอยลงแต่ประการใด”

แน่นอน ในครั้งนั้นสังคมได้ย้อนถามกลับไปว่า ภิญโญต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่ เพราะชัดเจนว่า ภิญโญเห็นพ้องเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ทุกเรื่อง

แต่สิ่งที่ตอบโจทย์ก็คือ ภิญโญต้องไม่ลืมว่า เหล่ากออันชั่วร้ายของขบวนการล้มเจ้าในประเทศไทยนั้นมิได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจในทางสร้างสรรค์ หากแต่อิงแอบแนบแน่นอยู่กับเกมการเมืองเพื่อหวังผลในการทำลายล้างและทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ พร้อมกับสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ขึ้นมาเสียใหม่

ภิญโญจะทำอย่างไรกับขบวนการล้มเจ้าอันแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับการเมืองที่นำสถาบันกษัตริย์มาใช้ในการปลุกระดมล้างสมองประชาชนคนไทยซึ่งกำเริบเสิบสานอยู่ในขณะนี้

ประชาชนผู้จงรักภักดีจะเชื่อได้อย่างไรว่า เมื่อแก้มาตรา 112 ให้มีโทษที่ลดลงแล้ว ขบวนการล้มเจ้าจะค่อยๆ เลือนหายไป เพราะขนาดมีบทลงโทษที่หนักขนาดนี้ พวกเขายังมิยำเกรงเลยแม้แต่น้อย

ยิ่งเมื่ออ่านย่อหน้าขึ้นต้นของบทความ “คำพยากรณ์ของกษัตริย์ถึงกษัตริย์” ที่เขียนเอาไว้ว่า “ หนึ่งในประโยคที่ชอบอ้างถึงกันบ่อยๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็คือ คำพยากรณ์ของกษัตริย์ฟารุกแห่งอียิปต์ที่ว่า เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 จะเหลือกษัตริย์หรือคิงโพดำ คิงข้าวหลามตัด คิงดอกจิกและคิงแห่งอังกฤษ” ก็ยิ่งทำให้ภิญโญต้องตอบโจทย์เหล่านี้มากขึ้น

ถึงตรงนี้ ภิญโญตอบโจทย์ให้ตัวเองได้หรือยังว่า เป็นรอยัลลิสต์หรือปัญญาชนหัวก้าวหน้ากันแน่

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้สองเส้นก็คือบทความชิ้นดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเขียนชิ้นล่าสุดของภิญโญชื่อ “จิตตนาถ ลิ้มทองกุลที่ผมรู้จัก” โดยสิ้นเชิง

ในบทความเรื่อง “คำพยากรณ์ของกษัตริย์ถึงกษัตริย์” สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ภิญโญมีจุดยืนในมาตรา 112 เยี่ยงไร

ขณะที่ภิญโญอ้างเอาไว้ในงานเขียนชื่อ“จิตตนาถ ลิ้มทองกุลที่ผมรู้จัก” ว่า “ในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีใครนับถือผมเป็นพวกเดียวกับเขาหรอกครับ เขาคิดว่าผมเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมผสมรอยัลลิสต์ด้วยซ้ำ ไป”

ในห้วงเวลาที่ห่างจากกันเท่าใดนักน่าจะไม่ทำให้ความคิดของใครคนใดคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือได้

...ภิญโญก็เช่นเดียวกัน

แถมก่อนหน้านั้นในวันที่ 16 มีนาคม 2556 ภิญโญได้ประกาศยุติรายการ ในเฟซบุ๊ก โดยชี้แจงเหตุผลเอาไว้ว่า “เรายินดีเลือกที่จะสละรายการเพื่อรักษาหลักการ เรายินดีที่จะถูกประณาม คุกคาม เพื่อจะจุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขลาดกลัวต่อการสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สว่างไสว เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืดออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผลและหักล้างกันด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์”

คำกล่าวอ้างของภิญโญไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อกรณีการแก้ไขมาตรา 112 เอาไว้ว่า “ดูรายการตอบโจทย์ ในไทยพีบีเอส เมื่อค่ำวันจันทร์ (18 มี.ค.2556) วิทยากรเน้นว่า สถาบันกษัตริย์ไทยไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะกฎหมายบังคับห้ามไม่ให้ผู้ใดแสดงความคิดเห็นวิจารณ์พระมหากษัตริย์ จนถึงกับเสนอให้ยกเลิกมาตรา 8 ในฐานะที่พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหาหรือฟ้องร้องมิได้ ตามรัฐธรรมนูญเสียด้วยนั้น ข้อนี้น่าสงสัยว่า เราเข้าใจผิด ฟังเขาผิด หรือจะเกิดจากความเข้าใจสับสนของวิทยากร

“1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้ห้ามวิจารณ์พระมหากษัตริย์ แต่ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นในทางไม่เห็นชอบ หรือคัดค้านพระราชดำรัส พระราชนิยม พระราชจริยาวัตร พระบรมราชโองการ ฯลฯ โดยสุภาพ ด้วยความเคารพ หรือแม้จะใช้ถ้อยคำรุนแรง หากไม่ได้เป็นการกระทำโดยมีเจตนาดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย

“2. แม้ในสมัยที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ อย่างน้อยตั้งแต่ผสมัยอยุธยาเป็นต้นมา กฎมณเฑียรบาลก็ห้ามมิให้ตามพระราชหฤทัยพระมหากษัตริย์ในทางที่ผิด และให้คัดค้านพระมหากษัตริย์ได้ด้วย เห็นได้จากกฎมณเฑียรบาล ที่ว่า

“ก) กฎมณเฑียรบาล (พ.ศ. 2001) บทที่ 113 “อนึ่ง ธรงพระโกรธแก่ผู้ใด แลตรัสเรียกพระแสงอย่าให้เจ้าพนักงานยื่น ถ้ายื่นโทษถึงตาย”

“และโดยที่กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ไม่ลบล้างกฎหมายที่ใช้เฉพาะกระทรวงวัง และต่อมาเมื่อยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญาโดยประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ก็ไม่พบว่ามีการกล่าวถึงกฏมณเฑียรบาลไว้ เหตุโดยชอบที่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับสนองฯ จะงดไม่สนองพระประสงค์ในทางที่ไม่ชอบ จึงยังคงมีผลใช้ได้ตามกฎหมาย

“ข) กฎมณเฑียรบาล บทที่ 106 “อนึ่งพระเจ้าอยู่หัว ดำรัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความประการใดๆ ต้องกฎหมายประเวนีเปนยุติธรรมแล้วให้กระทำตาม ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทานครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไป ให้ทูลในที่ระโหถาน ถ้าหมีฟังจึงให้กระทำตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระอายการดั่งนี้ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาชญา”

“เห็นได้ชัดว่า การทัดทานหรือคัดค้านพระบรมราชโองการที่ไม่ต้องด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความยุติธรรม ย่อมมีได้โดยชอบด้วยกฎมณเฑียรบาล และเมื่อยังไม่ปรากฏว่ากฎมณเฑียรบาลนี้ถูกยกเลิกไป ก็น่าจะยังคงมีผลบังคับได้ อย่างน้อยในฐานะโบราณราชประเพณี

“3. แม้จะมีคำพิพากษาของศาลที่วินิจฉัยคดีเกินกว่าข้อที่กฎหมายห้าม ก็ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษานั้นได้ และอาจารย์ผู้สอนกฎหมายก็ควรจะสอนเสียใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ใช่เหตุที่จะอ้างว่าพระมหากษัตริย์นั้นผู้ใดจะวิจารณ์ไม่ได้ นักปราชญ์และผู้มีปัญญาควรรู้อยู่เองว่า พระมหากษัตริย์นั้น ที่ว่าละเมิดมิได้ หมายถึงหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือประทุษร้ายมิได้เท่านั้น

“4. พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลปัจจุบัน เสด็จขึ้นทรงราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลโดยความเห็นชอบของรัฐสภา จึงมีที่มาอันชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย การกล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็น ประชาธิปไตย จึงไม่พึงอ้างลอย ๆ”

นี่คือหลักฐานที่ยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มิใช่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงแค่ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การเปิดเวทีเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่เป็นนิจ ดังที่คณะนิติราษฎรจัด ซึ่งก็มิได้มีการดำเนินคดีทางกฎหมายแต่ประการใด

ความจริงต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่บทความชิ้นนั้นเพียงชิ้นเดียว หากแต่มีอีกหลายบทความที่สะท้อนทัศนคติของภิญโญไปในท่วงทำนองเดียวกัน เพียงแค่มิได้กล่าวตรงๆ ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น บทความชื่อ “ราชวงศ์อังกฤษ อุปสรรคและอนาคต” ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1666 ปี 2555 ที่ภิญโญเขียนเอาไว้ว่า “คำถามใหญ่ก็คือ พระราชวงศ์อันเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในสถาบันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติทางการเมืองและสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ตลอดระยะเวลา 60ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ สมเด็จสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ได้แสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษมิได้หยุดยิ่ง ยึดติดกับอดีตอันยิ่งใหญ่ หากแต่มีการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าการยอมลดธงครึ่งเสาในวันที่เจ้าหญิงไดอาน่าจากไปคือสัญลักษณ์โอนอ่อนผ่อนตามอารมณ์สังคม ถ้าการเปิดกว้างให้กับการวิพากษ์วิจารณ์คือการตอบรับต่อคุณค่าแห่งประชาธิปไตย ถ้าความโปร่ง ตรวจสอบได้คือสัญลักษณ์แห่งธรรมาภิบาลของพระราชวงศ์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็คงมีคำตอบอยู่ในพระราชหฤทัยแล้วว่า อนาคตของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะมั่นคงสถาพรสืบไปได้อย่างไรในสหราชอาณาจักร”

บทความชิ้นนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันตัวตนของภิญโญได้เป็นอย่างดี เพราะชัดเจนว่า อดีตพิธีกรรายการตอบโจทย์ผู้นี้เห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

หรืออีกบทความชื่อ “หยุด” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1660 ปี 2555

บางช่วงบางตอนของบทความ ภิญโญเขียนเอาไว้ว่า... “หนึ่งเดือนที่ผ่าน
มาอุณหภูมิการเมืองค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเหมือนน้ำในกา หลายคนบ่นว่าเราหยุดอยู่ บางสนามบินนานเกินไป การเมืองไทยจึงไม่สามารถเคลื่อนต่อไปข้างหน้า บางคนก็บ่นว่าเพราะกัปตันที่ถูกจี้เครื่องบินไม่ยอมหยุด แถมปลุกระดมผู้โดยสารให้ต่อต้านเจ้าของสายการบิน ผู้โดยสารชั้นประหยัดจึงออกมาซัดกับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ส่วนผู้โดยสารชั้นธุรกิจได้แต่นั่งทำตาปริบๆ คิดหาทางออกให้ชีวิตในวันที่เครื่องบินตกหลุมอากาศและกัปตันประกาศให้รัดเข็มขัดอยู่กับที่

“ชั้นหนึ่งนั้นจ่ายแพง ได้ขึ้นเครื่องก่อน นอนก็นอนเหยียดสบาย จะกินอาหารเมื่อใดก็เรียกได้ ไม่ได้ถูกแสงไฟปลุกให้ขึ้นมากินเหมือนผู้โดยสารชั้นประหยัด ส่วนชั้นประหยัดนั่งยัดกันมานานๆ ก็ต้องแสดงสิทธิบ้าง ไม่ใช่จะอ้างว่าจ่ายแพงกว่าอยู่ท่าเดียว จะขึ้นจะลงจะจอดจะเลี้ยวก็ควรจะแจ้งผู้โดยสาร มิใช่หักหาญเปลี่ยนเส้นทางโดยไม่บอกใคร ตกหลุมอากาศกันมาแทบเป็นแทบตาย แต่จู่ๆ กัปตันคนเก่าที่ถูกจี้ก็บอกผู้โดยสารให้ทำตัวดีๆ เดี๋ยวกัปตันคนนี้จะบินต่อเอง ไม่ต้องเกรงใจเพราะดูเหมือนจะคุยกันได้กับเจ้าของสายการบินแล้ว ฟังเพลินๆ ก็ดูดี แต่ให้บังเอิญเครื่องบินลำนี้มีคนตาย ตามกฎหมายบังคับให้ต้องจัดการกับผู้ตายก่อน ไม่ว่าชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจหรือชั้นประหยัด จำเป็นต้องนั่งรัดเข็มขัดเพื่อเตรียมลงจอด

“ถ้าไม่จัดการเรื่องนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา เครื่องบินลำนี้เห็นทีจะบินต่อไปได้ยาก เพราะนอกจากผู้โดยสารชั้นประหยัดจะต้องนั่งมองหน้ากันไปมาอย่างอึดอัด เวลาก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ แม้จะไม่ใช่ชั้นประหยัด แต่กลิ่นแห่งมรณะย่อมปกคลุมไปถึงกระทั่งชั้นหนึ่งหรืออาจถึงห้องกัปตัน ที่สำคัญสายการบินนี้ได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนมาร่วม 80 ปี และมีสหภาพที่เติบกล้า จะบินต่อไปข้างหน้าโดยไม่บอกกล่าวผู้ถือหุ้น ก็ดูจะวุ่นตอนเปลี่ยนเครื่อง นี่คือความยากของสังคมไทยที่เยิรเงาสลัวในวันที่ควรจะโปร่งใส”

ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ บทความชิ้นนี้ของภิญโญเป็นบทความที่เขากล่าวอ้างว่าเรียบเรียงจากปาฐกถานในงานครบรอบ 1 ปี TCIJ (ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง) และแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 7 ปีเว็บไซต์ประชาไท

ชัดเจนว่า ภิญโญมีจุดยืนทางการเมืองเช่นไร

วันนี้...ภิญโญคงตอบโจทย์ของตัวเองได้แล้วว่าเขาเป็นรอยัลลิสต์หรือปัญญาชนหัวก้าวหน้าระดับใด และระดับเดียวกับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลหรือไม่



ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา


กำลังโหลดความคิดเห็น