ในที่สุดคดีความของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่รวมตัวกันต่อสู้ทางการเมือง เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความถูกต้องในสังคม กระทั่งถูกกลุ่มนักการเมืองฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล ก็ได้รับการพิสูจน์ให้ได้รับความเป็นธรรมและเป็นเครื่องยืนยันความบริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องคดีปฏิญญาฟินแลนด์
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว พรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม. , นายชัยอนันต์ สมุทวณิช , นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ และคอลัมนิสต์ , บริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV , นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการ บ.ไทยเดย์ ฯ , บริษัท แมเนจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ ( ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวน ) และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซด์ แมเนเจอร์ เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
กรณีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 - 25 พ.ค.2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดเสวนาเรื่อง ปฎิญญาฟินแลนด์ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย โดยมีการถ่ายทอดให้ประชาชนรับชม ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และเว็บไซด์ผู้จัดการ ทำนอง ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณโดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์
ต่อมาคดีนี้ โจทก์ได้นำสืบว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2549 พวกจำเลยจัดเสวนาวิชาการ ณ หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ เรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์ยุทธศาสตร์การเมืองไทยรักไทย ” โดยนายเจิมศักดิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนนายสนธิ , นายชัยอนันต์ และ นายปราโมทย์ จำเลยที่ 1 , 3 และ 4 เป็นผู้ร่วมเสวนา ซึ่งกล่าวว่าโจทก์ทั้งสอง วางแผนยุทธศาสตร์ 5 ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ การเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลและมีผู้นำคนเดียว , การเปลี่ยนแปลงระบบราชการเป็นแบบซีอีโอ , การแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ ,การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน และ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ ซึ่งขณะที่มีการเสวนาจำเลยที่ 1 ก็เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวการขับไล่ทางการเมือง โดยการเสวนาของพวกจำเลยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เกิดการแบ่งฝ่ายในสังคม ที่กล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสอง คือกลุ่มที่คัดค้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งที่จริงแล้วในการประชุมพรรคของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีการกล่าวถึงข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์ และไม่เคยมีนโยบายตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การที่เป็นพรรคการเมืองเดียวจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นตามรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข้งในการบริหาราชการแผ่นดิน เนื่องจากที่ผ่านมามีการยุบสภาบ่อยครั้ง ส่วนการเปลี่ยนแปลงระบบราชการก็เพื่อทำให้ระบบราชการที่เคยมีขนาดใหญ่ มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ความสะดวกรวดเร็วการบริการประชาชน และการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศก็ได้ปฏิบัติมาแล้วเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีโดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยมีเจตนาในการคัดค้านสถาบันกษัตริย์
ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า คดีนี้โจทก์คือ พรรคไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองใหญ่เป็นรัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารประเทศ มีอำนาจในการออกนโยบายในการบริหารประเทศและถือเป็นบุคคลสาธารณะจึงเป็นปกติที่ประชาชนมีการติดตามการทำงาน ซึ่งในการเสวนาดังกล่าว นายสนธิ ,นายเจิมศักดิ์,นายชัยอนันต์ และ นายปราโมทย์ จำเลยที่ 1 ,2 , 3และ 4 ซึ่งเป็นนักคิดนักวิชาการและสื่อสารมวลชน ได้แสดงความคิดเห็นว่า การดำเนินนโยบายของโจทก์อาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติซึ่งเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แม้จะมีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตามสิทธิที่ประชาชนพึ่งมี การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์สู้คดี
และสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า การเสวนาของจำเลยที่1-4 นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยืนยันว่าข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์มีจริงหรือไม่ แต่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสองในฐานะนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบกับประชาชนและประเทศชาติ โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ที่สอง ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็น หรือ ติชมโดยสุจริตได้ เช่นเดียวกับ การร่วมงานทำบุญประเทศ ที่วัดพระแก้ว ประชาชนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่ไม่เหมาะสมได้ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้บริหารประเทศ ขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์นั้นไม่มีอยู่จริง ส่วนการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ก่อนหน้านั้น ก็เป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้การเสวนาน่าสนใจเท่านั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำลายล้างทางการเมืองหรือมุ่งโจมตีโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 - 4 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท การกระทำของจำเลยที่ 5-9 และ 11 ก็ไม่เป็นความผิดด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น
ดังนั้น จึงถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 220 ที่บัญญัติไว้ว่ามิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีการจัดเสวนาเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์แล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ศาลจังหวัดมีนบุรียังได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ .3596/2551 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีกล่าวหาว่า รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนอมินีและเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจำเลย ที่ 1-4 ได้ออกประกาศปฏิญญาร่วมกัน ว่า เนื่องจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เตรียมจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 237 เพื่อหนีคดียุบพรรคพลังประชาชน เพราะคณะกรรมการบริหารพรรคบางคน ถูกกล่าวหาว่าทุจริตการเลือกตั้ง และแก้ไขกฎหมาย มาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตรวจสอบและชี้มูลความผิดของโจทก์และพวกพ้องไว้
และจำเลยได้นำสืบว่า การกล่าวคำปฏิญญาดังกล่าว เพื่อต้องการตักเตือนรัฐบาลนายสมัครไม่ให้เป็นหุ่นเชิดของโจทก์ เนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี โจทก์ได้ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง โดยหลอกลวงประชาชนว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน 6 ปี แต่ปัจจุบันความยากจนก็ไม่ได้หมดไป แต่โจทก์กับพวกกลับร่ำรวยมากขึ้น ซึ่งการร่ำรวยของโจทก์และพวกพ้อง ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ของโจทก์และพวกตกเป็นของแผ่นดินฐานร่ำรวยผิดปกติ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานกระทำต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การใช้นโยบายปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแข็งกร้าว จากรายงานของวุฒิสภาปรากฏว่ามีผู้ถึงแก่ความตายจากนโยบายดังกล่าวประมาณ 2,600 คน มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนและพวกพ้องของโจทก์ โดยประชาชนไม่สามารถเข้าซื้อหุ้นได้ เช่น การแปรรูป ปตท. 800 ล้านหุ้น ราคาเริ่มต้นที่หุ้นละ 35 บาท โดยใช้เวลาขายเพียง 1 นาที หลังจากแปรรูปราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 200 บาท ถึง 300 บาท ภายหลังที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ คตส.ได้ตรวจสอบพบการทุจริตของโจทก์และพวกพ้องหลายโครงการ และแม้โจทก์จะไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่โจทก์ได้สร้างเครือข่ายโดยนำพรรคพวกขึ้นมาบริหารประเทศซึ่งเรียกว่านอมินี หรือตัวแทน และยังคงบริหารประเทศด้วยการนำนโยบายประชานิยมมาใช้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สมัยที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศไม่โปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชัน ออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ทำให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินของโจทก์กับพวกฐานร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติกรรมบริหารประเทศส่อไปในทางไม่สุจริตจริง สำหรับข้อความที่กล่าวหาโจทก์ว่ากดขี่ ข่มเหง และเข่นฆ่าประชาชนนั้น ก็สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของโจทก์ที่แข็งกร้าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายดังกล่าวถึง 2,600 คน
ส่วนข้อความที่กล่าวหาว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ก็ปรากฏว่า ภายหลังจากโจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศหลายแขนงต่อเนื่องว่า “ตนเองเป็นภัยคุกคามชนชั้นสูง” และยังให้สัมภาษณ์ว่า “บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย เชื่อถือในทุกสิ่ง ยกเว้นประชาธิปไตย” พฤติกรรมของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังแสดงออกอย่างต่อเนื่องว่าเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการสนับสนุนคนที่มีความใกล้ชิดกับตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี การตั้งรัฐมนตรี ข้าราชการในระดับสูงด้วย พฤติกรรมของโจทก์ย่อมทำให้ประชาชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าโจทก์อยู่เบื้องหลังการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง และไม่เห็นด้วยกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์
ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1-4 นำเอาจุดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์มาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นบุคคลสาธารณะ อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ในฐานะประชาชนชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 - 4 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และเมื่อศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1- 4 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 5 -6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำ ย่อมไม่มีความผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
และนี่คือการกระบวนการยุติธรรมไทยที่เดินมาจนสุดทางในการพิพากษาคดีความทางการเมือง ที่ "สนธิ ลิ้มทองกุล" แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคพวกต่อสู้ฟันฟ่าอุปสรรคเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยในฐานะสื่อมวลชนและนักคิดนักวิจารณ์เกี่ยวกับการบรริหารราชการแผ่นดินไทย ของ "ทักษิณ" มาร่วมกันจนต้องเสี่ยงติดคุกติดตะรางหลายคดี ถือเป็นการติเพื่อก่อเกิดความชอบธรรมให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไป มิฉะนั้น! บ้านเมืองจะอยู่กันได้อย่างไร หากนักการเมืองและพรรคการเมืองมีฐานเสียงที่เข้มแข็งและไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ความสุ่มเสี่ยงของประเทศชาติบ้านเมือง เช่น กรณีปฏิญญาฟินแลนด์ !!!