xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นตีความ พรบ.กู้2ล้านล. ส่อขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- รัฐบาลดันพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน เข้าครม. 19 มี.ค.นี้ อ้างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน ด้าน ปชป. เตรียมยื่นตีความ ขัดรธน. ลัดขั้นตอน หนีการตรวจสอบ ด้าน"เพื่อไทย" ยันไม่ขัดเจตนารมณ์รธน.

วานนี้ (12 มี.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีการหารือ การจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ร่วมกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รมว.คมนาคม และส่วนราชการ มีการคุยรายละเอียดในเนื้อหาของพ.ร.บ. ว่าจะเขียนอย่างไร ในการบรรจุโครงการลงทุนเข้าไปในกฎหมาย ซึ่งต้องมีการกำหนดหลักการ วัตถุประสงค์ การบริหารจัดการเงินกู้ คณะกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับโครงการลงทุน และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ซึ่งในส่วนของการกู้เงิน ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ได้กำหนดว่า ให้มีการกู้เงินให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 แต่มีบางส่วนอาจแล้วเสร็จหลังปี 2563 ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเริ่มลงทุนโครงการ

ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสนข. ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน มีประมาณ 20 มาตรา มีการกำหนดรายละเอียดยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการและกรอบเงินลงทุนแต่ละโครงการใส่ไว้ในเอกสารแนบท้าย พ.ร.บ. แต่ร่างกฎหมายนี้ จะไม่มีการกำหนดโครงการบัญชี 1 และบัญชี 2 เหมือนแนวคิดที่ผ่านมา

"เราจะปรับร่าง พ.ร.บ. โดยใส่รายชื่อโครงการสำคัญ และวงเงินลงทุน ซึ่งจะเป็นโครงการที่รัฐบาลจะลงทุนแน่ๆ ในช่วง 7 ปี เช่น รถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ รถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การทำถนน 4 เลน เพราะรู้ว่า วิ่งผ่านจังหวัดใดบ้าง แต่ที่ยุ่งๆ จะเขียนไว้กว้างๆก็คือ การลงทุนถนนที่มีนับร้อยโครงการ" นายจุฬา กล่าว

** หวังดันส่งออกสู่ตลาดอินโดจีน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค. ) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ประเทศชาติ และประชาชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้อะไร" ว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงทุนดังกล่าว จะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน โดยหากมีการเชื่อมโยงการขนส่งไปยังตลาดอินโดจีน จะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากตลาดอินโดจีนมีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 10 และมีส่วนแบ่งในการส่งออกถึงร้อยละ 6-7 ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดยุโรป (EU) โดยคาดว่า จะสามารถทดแทนตลาด EU และสหรัฐฯ ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจในขณะนี้ได้

**ครม.ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม. เมื่อวานนี้ ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง เสนอครม.ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. เรื่องการปรับปรุงแผนหารบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2556 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะจากเดิม 1,920,133.15 ล้านบาท เป็น 1,948,211.82 ล้านบาท โดยรับทราบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ต้องขออนุมัติครม. ภายใต้กรอบแผนฯ ปีงบประมาณ 2556 ที่มีวงเงินปรับลดลง 6,181.71 ล้านบาท จากเดิม 127,885.21 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้อนุมัติเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อก่อหนี้ใหม่ และการปรับโครงหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2556 ปรับปรุงครั้งที่ 1 อีกทั้งอนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2556 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสหกิจนั้นๆ

** ปชป.จ่อยื่นตีความกู้2ล้านล้านขัดรธน.

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การทำโครงการทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน การใช้ พ.ร.ก. กู้เงิน จะมี 2 ปัญหาใหญ่ คือ 1. ความโปร่งใส ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก 2. เป็นการซ่อนสถานะหนี้ของประเทศ ที่แท้จริง ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ต่อไปจะมีการหลีกเลี่ยงกระบวนการงบประมาณในการใช้จ่าย เวลาจะใช้เงินก็ออกกฎหมายกู้ แต่รัฐบาลมีสิทธิที่จะกู้เงิน ตราบใดที่ไม่ขัดกฎหมาย

ทั้งนี้ หากเสนอเข้าตาม พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีปกติ ก็จะมีการระบุโครงการชัดเจน ทำให้ที่ประชุมสภาสามารถซักถาม ตรวจสอบได้ แต่ถ้าเสนอเป็นกฎหมายกู้เงิน จะไม่มีรายละเอียดโครงการ จึงยากต่อการตรวจสอบ

"ผมอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดี ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ กำลังดูข้อกฎหมาย เพราะเป็นห่วง ถ้าทำอย่างนี้ได้ต่อไป ตัวงบประมาณอาจไม่มีความหมายเลย รัฐบาลอยากทำอะไร ก็ไปออกกฎหมายกู้เงินแทน สภาก็ไม่มีกระบวนการงบประมาณที่จะตรวจสอบ สถานะทางการคลังก็ดูยาก เพราะถ้าดูผิวเผินจะเหมือนกับว่าขาดดุลน้อยลง หรือสมดุล แต่มีการไปกู้ข้างนอกอยู่มาก ซึ่งมันจะย้อนกลับเข้ามา จึงกำลังให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคดูว่า ในรายละเอียดจะมีการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนจะยื่นให้มีการตีความ เมื่อไหร่ ยังตอบไม่ได้ โดยต้องปรับใน 2 เรื่อง คือ ลดโครงการที่ใช้เงินเกินความจำเป็นเช่น โครงการรับจำนำข้าว และโครงการทุจริตคอร์รัปชั่น " นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**"กรณ์"ซัดรัฐบาลมักง่าย กู้ 2 ล้านล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.คลัง โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij แสดงความเห็นด้วยกับการลงทุนในระบบขนส่ง เพราะถือเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นโครงการต่อเนื่องจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่การกู้เงินนอกระบบงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดต่อหลักวินัยทางการคลัง และจะนำไปสู่การทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พร้อมยืนยันว่า จะคัดค้านให้ถึงที่สุด

ข้อความในเฟซบุ๊คโดยสรุปคือ “ … ก่อนอื่นการ"ยืมเงินคนอื่น" หรือ "กู้เงิน" นั้น ใครๆก็ทำได้ ไม่ต้องมีฝีมืออะไร ประเด็นสำคัญมีอยู่สองประเด็น

1. ลงทุนโครงการเหล่านี้โดยไม่ต้องกู้ได้หรือไม่ ?
2. ถ้าต้องกู้ ทำไมไม่กู้ผ่านพ.ร.บ.งบประมาณ ที่มีการตรวจสอบได้ ?

ทางรัฐบาลไม่ได้มีการวางแผนอย่างจริงจัง ว่าจะดันให้เอกชนและต่างชาติที่มารับงานต้องใช้เงินตัวเองในรูปของเงินลงทุนอย่างใด จึงเท่ากับเป็นการผลักภาระทั้งหมดให้ประชาชนด้วยการใช้เงินกู้เงินล้วนๆ และทำให้ง่ายขึ้นที่จะมีการทุจริตร่วมกับเอกชน ที่มารับงาน

ผมเคยไปงานนิทรรศการแบบนี้ของรัฐบาลมาแล้ว เมื่อครั้งที่รัฐจัดเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการเงินกู้ 350,000 ล้าน ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งมาถึงวันนี้ เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เงินที่บอกว่าด่วนนักหนา ใช้ไปเพียงประมาณ 5 พันล้านเท่านั้น และมีแต่การวิพากษ์วิจารณ์โครงการต่างๆ ว่าไม่มีความชัดเจน และเต็มไปด้วยการทุจริต การเรียกใต้โต๊ะ

ทั้งหมดที่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่เคยมีการตรวจสอบโดยสภาฯ และมีการยกเว้นระเบียบการจัดซื้อเพื่อทำให้ความโปร่งใส และการแข่งขันลดลง

การกู้เงินนอกระบบงบประมาณ จึงเป็นวิธีที่ส่อว่าขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดต่อหลักวินัยทางการคลัง และจะนำไปสู่การทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผมเห็นด้วยว่าต้องมีการลงทุน แต่ผมจะค้านถึงที่สุดในการกู้เงินนอกระบบงบประมาณโดยรัฐบาล “

**พท.อ้างออกพ.ร.บ.กู้ ไม่ขัดรธน.

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และเตรียมให้ฝ่ายกฎหมาย ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ ว่า ตอนที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมีโอกาสทำงาน 2 ปีครึ่ง มีนโยบายในการกู้เงินเหมือนกันในโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมแล้วว่า ประเทศไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับชื่อโครงการ

การที่รัฐบาลออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในครั้งนี้ เป็นการใช้กระบวนการรัฐสภาเสนอให้ออกเป็นพ.ร.บ. ไม่ใช่พ.ร.ก.

นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นแค่เกมการเมืองเพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลนั้น ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น