xs
xsm
sm
md
lg

ค้านชนฝา! “กู้ 2 ล้านล้าน” คำถามที่รัฐบาลไม่กล้าตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากนโยบายอภิมหาโปรเจกต์(อีกครั้ง) ด้วยความคิดพัฒนาประเทศแบบพลิกโฉมเกิดเป็น “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน” ที่จะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ซึ่งจะนำไปพัฒนาการขนส่งระบบรางและลอจิสติกส์หรือชูจุดเด่นขึ้นมาเป็น รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ

เกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคม ทั้งรายละเอียดของโครงการ ความรีบเร่งของการเสนอร่าง ทั้งยังมีการใช้เงินกู้ที่จะกลายเป็นการก่อหนี้อีกครั้งใหญ่ของประเทศซึ่งเดิมทีก็มีหนี้ท่วมท้นจนหลายคนออกมาบอกเลยว่า การก่อหนี้ครั้งนี้พร้อมดอกเบี้ยจะเป็นการก่อหนี้ที่ต้องชดใช้กันไปถึงชาติหน้า!!

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการโดยไม่ฟังเสียงทัดทานใดๆ หรือนี่จะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน แม้แต่คำถามถึงรายละเอียดก็ไม่มีคำตอบ

หนี้ระยะยาวที่ประชาชนตั้งคำถามแต่ไม่ได้รับคำตอบ

การกู้เงินจำนวนมากถึง 2 ล้านล้านนั้น แม้ในทางหนึ่งจะถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทว่าอีกด้านมันก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนต่างกังวลว่าสิ่งนี้จะนำมาซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจอีกครั้งในประเทศไทยหรือไม่

ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิเคราะห์ถึงผลที่จะเกิดจากพรบ.สร้างหนี้ครั้งสำคัญของประเทศว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้นเป็นโครงการซึ่งควรจะทำมานานแล้วในประเทศนี้ เป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่ง หากทว่ากลับถูกบิดจนพบว่า มีแต่คำถามที่ไม่เคยได้รับคำตอบ

“ผมพบหลายจุดในโครงการ รัฐบาลยังมีคำตอบไม่ชัดเจน หรือตอบแบบขอไปที หลายคำถามรัฐบาลก็เหมือนจะรู้คำตอบแต่ก็ไม่จอบเหมือนมีรับลมคมใน ทั้งที่มันควรจะต้องตอบได้”

ในความคิดของเขานั้น มองว่า ข้อมูลรายละเอียดในโครงการครั้งนี้ของรัฐบาลถือว่ามีน้อยเกินไป แม้ในสภาจะมีการยื่นรายละเอียด 200 กว่าหน้า แต่เอกสารเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏสู่สายตาประชาชน ให้ประชาชนรับรู้รายละเอียดของโครงการ ทั้งนี้ การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวก็ยังคงไม่ลงลึกถึงรายละเอียดของความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจที่จะออกมา ยังคงเป็นเพียงโฆษณาของโครงการว่าจะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น

“โครงการบอกว่า มีขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมสู่อาเซียน แต่รถไฟไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมยังไม่ทำ แล้วทำรถไฟความเร็วสูงทำกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ แล้วมันจะเชื่อมโยงกับอาเซียนยังไง รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้ แล้วความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมันจะเกิดขึ้นยังไง กับรถไฟแบบนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะก่อให้เกิดความคุ้มค่ายังไง รถไฟความเร็วสูงแล้วจะจอดกี่สถานี สถานีน้อยแล้วคุ้มค่ามั้ย? จอดมากแล้วมันจะเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือเปล่า? แล้วกู้ทำไมไม่กู้ในไทยร่วมกับต่างประเทศ ทำไมไม่ให้ต่างประเทศร่วมลงทุน? กลัวการตรวจสอบหรือเปล่า?

ประเด็นรถไฟขนผักที่หลายฝ่ายนำมาล้อเลียน เขาก็มองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องขนผักด้วยรถไฟความเร็วสูงจริงๆหรือเปล่า? ประเทศไหนใช้รถไฟในการขนผัก ขนเพราะอะไร ภูมิประเทศเขาปลูกผักไม่ได้หรือเปล่า? เราจำเป็นมากขนาดนั้นเลยเหรอที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงในการขนผัก?

“ยกตัวอย่างง่ายๆ เชียงใหม่ อีสาน เขาก็มีอาหารทานนะ ปลูกเองได้ เชียงใหม่ก็มีอาหารทะเลทาน ผมจึงอยากรู้ว่ามันจำเป็นมากเลยเหรอ?”

เขาบอกว่า หากรัฐบาลจะทำก็ทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือมันคุ้มหรือเปล่า? คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับภาระหนี้ที่ประชาชนต้องแบกรับหรือเปล่า? ซึ่งในด้านเศรษฐกิจรัฐบาลบอกว่า มีการศึกษาแล้ว แต่รายละเอียดของข้อมูลก็ยังเบาบาง สิ่งที่พูดกันในสภาเขาเห็นว่า เหมือนกับเป็นคาถาที่พูดเพื่อให้ผ่านไปได้เท่านั้น ยังไม่ตอบข้อสงสัยของประชาชนเท่าที่ควร

“สิ่งที่พูดกันในสภา ผมก็ไม่เห็นว่า สังคมได้คำตอบอะไร รายงานความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร บอกว่าจะกระตุ้นเอสเอ็มอี ผมก็ยังนึกภาพตามไม่ออก ในฐานะที่อยู่ตรงจุดนั้น ข้อมูลต้องแม่นต้องเป๊ะ มัน 2 ล้านล้านบาทนะ แต่ข้อมูลที่ปรากฏสู่สายตาประชาชนมันบางมาก ในสภา 200 กว่าหน้า แต่ประชาชนไม่ได้รับรู้ ผมคิดว่า ข้อเท็จจริงตรงนี้ต้องเผยแพร่ไปสู่ประชาชนทั้งหมด อย่างน้อยต้องให้สถาบันศึกษาได้ข้อมูลไปทำการศึกษา”

สำหรับผลที่จะตามมานั้น ในทางเศรษฐกิจเขาบอกได้เลยว่าจะดีขึ้น คนจะมีงานทำงานมากขึ้นจากการลงทุน ไม่ผิดจากสิ่งที่รัฐบาลพูดไว้ หากแต่ต่อจากนั้น เมื่อโครงการมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ภาพที่เกิดเขาบอกเพียงสั้นว่า คือโศกนาฏกรรม

“ใน 2 - 4 ปีแรก ผลประโยชน์มันไหลเข้า เศรษฐกิจดีแน่นอน มันกระตุ้นเศรษฐกิจ คนจะรู้สึกประเทศเศรษฐกิจดีขึ้น มีเงินใช้เยอะขึ้น แต่พอเริ่มใช้ไปแล้ว 6-7 ปีผลตอนแทนมันไม่คุ้มค่า ตอนนี้มันก็จะเริ่มเห็นผลของหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ตรงนี้แหละจะเกิดโศกนาฏกรรม”

โดยเขาเผยว่า ประเทศไหนที่มีหนี้ 60 -70 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่ได้เกิดจากการผลิตที่แท้จริง ซึ่งหลายประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาจากการเติบโตที่เร็วเกินไป ไม่ได้โตจากสภาพการผลิตที่แท้จริงคือการผลิตสินค้าที่จับต้องได้

“อย่าลืมว่าสิ่งที่เราลงทุนคือโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก็คือภาคบริการ เราไม่ได้ลงทุนการผลิต ลงทุนสร้างการผลิตน้ำให้ภาคการเกษตร ลงทุนเทคโนโลยี การศึกษาซึ่งจะพัฒนาการผลิต มันคือการสร้างงานที่เกิดขึ้นเพียง 5-6 ปีที่เกิดงานก่อสร้าง มันดีเกื้อหนุนภาคบริการ แต่ถ้ามันไม่ดีจริง ไม่มีประสิทธิภาพ มันก็ไม่เกิดการผลิต มันก็ไม่มีสินค้า แล้วคุณสร้างรถไฟขึ้นมาจะเอาไปขนอะไร”

เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่มาจากวินัยทางการคลังที่ผิดพลาดของประเทศ ภาระหนี้เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ย ภาพร้ายแรงที่สุด เขาเล่าให้เห็นภาพว่าอาจจะเหมือนวิกฤตในไซปรัส

“ประเทศไทยอาจจะไม่ถึงขั้นนั้น มันขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐบาลจะเอามาใช้รับมือ คือต้องทำให้ต่างประเทศเชื่อว่ายังมีเงินในประเทศ ซึ่งประเทศไซปรัสใช้วิธีการอายัดเงินในบัญชีเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือ ขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ”

ภาพเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในไซปรัสและอาจเกิดในประเทศไทยหากหนี้ของประเทศมีมากขึ้นจนเกินกว่าจะรับไหว ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้กลับคืนคือ การที่คนธรรมดาๆในประเทศ มีเก็บอยู่แต่ถูกอาบัดโดยรัฐบาลทั้งหมด ทำให้สามารถเบิกออกมาใช้จ่ายได้เพียงวันละ 3,000 บาทหรือจำนวนตามที่รัฐบาลกำหนด

“นั่นก็เป็นภาพที่เลวร้ายที่สุดแล้ว เพราะคนธรรมดาๆ ทำงานปกติ แต่เงินของตัวเองต้องมาถูกอายัติ ผมก็พูดเพื่อให้เห็นภาพ”

เสียงคัดค้านที่รอวันปะทุ

ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งที่โครงการของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย และถูกทักท้วงจากประชาชนมากมาย หลายครั้งรัฐบาลก็ตัดสินใจเดินหน้าโครงการเหล่านั้นต่อไปโดยไม่สนใจต่อความเห็นที่แตกต่าง

จากการเสนอร่างพ.ร.บ.ในวาระที่ 1 สู่การพิจารณารายละเอียดในวาระที่ 2 ส่งต่อไปที่การตัดสินชี้ขาดในวาระที่ 3 รัฐสภาที่รัฐบาลถือเสียงข้างมาก ยกมือผ่านร่างวาระต่อวาระ นโยบายต่อนโยบาย โครงการแล้วโครงการเล่า แม้จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งในหลากหลายแง่มุม

คำถามคือแล้วปลายทางของเสียงคัดค้านเหล่านั้นคืออะไร? ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเพียงเสียงที่รัฐบาลมองข้ามหรือเปล่า?

โดยการคัดค้านโครงการของรัฐบาลที่เป็นไปตามกลไกนั้นมีการดำเนินการกันอยู่ ทวี สุดสิทธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เผยว่า การคัดค้านร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านนั้นมีตั้งแต่ในมุมนิติธรรมที่คัดค้านในแง่มุมว่า การกู้เงินครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือในด้านรัฐศาสตร์ก็มีการคัดค้านในรายละเอียดของโครงการที่มีการจัดการโครงสร้างอำนาจที่มีความไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่

“ตอนนี้เราก็คัดค้านตามกลไกที่มี ในมุมรัฐศาสตร์ โครงสร้างอำนาจในโครงการนี้ มีข้อไม่ชอบมาพากลอยู่คือการที่รัฐไม่รับโครงการมาจัดการเอง แต่ให้กระทรวงการคลังจัดการ แม้จะทำให้เกิดความคล่องตัว แต่ก็ส่งผลให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก การจัดการแบบนี้ ลดอำนาจฝ่ายการเมือง ให้อำนาจฝ่ายปฏิบัติงานซึ่งก็คือกระทรวงการคลัง ทำให้รัฐสภาไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเท่าที่ควร”

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะในมุมรัฐศาสตร์คือให้มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบเพิ่มเติมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติเพราะโครงการดังกล่าวจะถูกดำเนินการในส่วนท้องถิ่น แต่จะมีความสำคัญในระดับอาเซียนนั่นเอง

“ตอนนี้เรื่องยังอยู่ในวาระที่ 2 ซึ่งก็คือการคุยกันถึงรายละเอียดของโครงการ เราก็ทำในส่วนนี้คือเสนอความเห็นในส่วนของรายละเอียด ซึ่งต้องมีกลไกการตรวจสอบที่มากกว่านี้ อย่างต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาสร้างเขื่อนฮูเวอร์ยังให้นานาชาติเข้ามาร่วมตรวจสอบ ของไทยเรา นอกจากให้องค์กรระดับท้องถิ่นเข้ามาร่วมตรวจสอบเพิ่มแล้ว ควรให้ประเทศในกลุ่มเออีซีมาร่วมตรวจสอบด้วย”

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในหลายส่วนของสังคมต่อกรณีไม่เห็นด้วยต่อโครงการครั้งนี้ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่า หากมีกา
รเคลื่อนไหวที่จริงจังมากขึ้น มันอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในภาพรวมของการที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อประชาธิปไตยในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ทวีเผยว่า ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์แล้ว ระดับการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือที่เรียกว่า level of political participation นั้นมีอยู่ 4 ระดับด้วยกัน

“1.คือการแสดงท่าที ความคิดเห็น 2. เคลื่อนไหวเรียกร้อง รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เห็นร่วมกัน 3 การแสดงพลังร่วมกัน 4 คือการต่อสู้หรือเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ หากเป็นไปโดยตั้งใจก็จะเป็นการปะทะกัน แต่ถ้าไม่ตั้งใจก็คืออุบัติเหตุทางการเมือง”

โดยสิ่งที่เกิดจากพ.ร.บ. กู้ 2 ล้านล้านครั้งนี้ หากรัฐบาลยังคงดื้อดึงไม่ฟังเสียงคัดค้าน หรือตอบข้อสงสัยของประชาชนในหลายประเด็น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ค้านไม่ได้ผลไม่เป็นไร มันจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้สังคมรับรู้ว่า ถ้ามันดีจริง ทำไมคนถึงค้านเยอะ

“มันจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงไม่เกิดในวันนี้วันพรุ่ง แต่เกิดจากการสั่งสม จากกรณีหนึ่งสู่อีกกรณี ความไม่เห็นด้วยมากมายที่มีต่อการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สนใจเสียงของประชาชนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

เขาเผยว่า ในประวัติศาสตร์ หลายครั้งสิ่งนี้มันก่อตัวขึ้นจากการสั่งสม ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อนหน้านั้น 2-3 ปีก็มีสัญญาณของประชาชนที่เริ่มก่อตัวคัดค้าน เรื่องสินค้าญี่ปุ่น เรื่องล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไล่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงออกจากวิทยาลัย รวมถึง 4 - 5 เรื่อง ในที่สุดก็เกิด 14 ตุลา

“ตอนนี้อาจจะเป็นได้ คัดค้าน 2 ล้านล้าน คัดค้านรัฐธรรมนูญ คัดค้านอะไรอีก 4 - 5 เรื่อง เราไม่ได้หวังผลวันนี้ แต่หวังว่าประชาชนเขาจะรู้ว่าเขาเจ็บใจที่รัฐบาลใช้อำนาจบาตรใหญ่ทำอะไรไม่ฟังเสียงประชาชน ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ถูกประชาชนกระทืบล้มไปเหมือนกัน”

เขาทิ้งท้ายถึงสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ว่า

“เราไม่ได้ห่วงเรื่องพรบ.โดยตรง แต่ห่วงเรื่องการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ไม่ค่อยจะแคล์หรือฟังเสียงประชาชนเท่าที่ควร เขาเรียกว่า พวกมากลากไป เพราะฉะนั้นอยากให้ข้อคิดคือประชาชนอย่าไปหวังพึ่งอะไรรัฐบาล เราต้องพึ่งตัวพวกเรา ความถูกต้องไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล อยู่ที่ตัวพวกเรานี่แหละ”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น