“พันธมิตรฯ-ปชป.” ไม่ร่วมวงถกนิรโทษฯ วันนี้ “ปานเทพ” ฉะไม่จริงใจหลัง 42 ส.ส.เพื่อไทยชง กม.ตัดหน้า แนะ “เจริญ” ไปคุยในพรรคให้จบก่อน ลั่นชุมนุมทันทีหากลักไก่เข้าสภา ด้าน หน.ปชป.ชี้เหตุผลยังไม่พอ จี้ “ยิ่งลักษณ์” แสดงจุดยืนให้ชัด ชี้ “ทักษิณ” สั่งลุยหวังเสียงมากลากไป ด้าน “บิ๊กโอ๋” สั่ง “บิ๊กตู่” จัดคนเข้าร่วมวง โวยคนใจแคบจ้องขวาง “สุริยะใส” เชื่อล้มเหลวซ้ำซาก เหตุ พท.คิดไม่ซื่อ โพลสภาฯ ค้านออก กม.นิรโทษฯ
วานนี้ (10 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยถึงกรณีที่ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนัดหารือทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกในการสร้างความปรองดองในวันนี้ (11 มี.ค.) ว่า ในส่วนของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจจะไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเงื่อนไขที่เคยให้ไว้ไม่เป็นไปตามที่ตกลง ทั้งการไม่มีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่จะนำไปสู่ความปรองดองเข้าร่วมประชุมทุกกลุ่ม และการที่พรรคเพื่อไทยได้ให้ ส.ส.จำนวน 42 คนเดินหน้ายื่นเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงและแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ ทั้งนี้หากนายเจริญมีความตั้งใจที่จะหาหนทางปรองดองจริง ควรไปพูดคุยกันกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ยุติการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมและการปรองดอง และให้ถอนกฎหมายทั้งหมดที่คาไว้ในสภาออกทั้งหมดด้วย เพราะเชื่อว่าหากทุกฝ่ายตั้งใจจะทำให้บ้านเมืองปรองดองสงบสุขจริงต้องไม่ใช้กระบวนการของสภาในการดำเนินการหาทางออก เพราะหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าเข้าสู่การปรองดองก็ไม่ได้มีตัวแทนอยู่ในสภา
“หากมีนำกฎหมายนิรโทษกรรมหรือปรองดองเข้าสู่การพิจารณาในสภา กลุ่มพันธมิตรฯก็จะชุมนุมต่อต้านจนถึงที่สุด และจะทำทุกทางเพื่อไม่ให้มีการพิจารณากฎหมายดังกล่าวได้ เพื่อจะได้สะท้อนว่าหนทางที่รัฐบาลและพรรครัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่จะเดินหน้าไปสู่ความปรองดองได้จริงหรือไม่” นายปานเทพ ระบุ
** ชี้อ้างปรองดองหวังล้างผิด “แม้ว”
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ที่จะไม่ร่วมหารือเรื่องนิรโทษกรรมตามคำเชิญของนายเจริญว่า มติของพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเข้าร่วม อีกทั้งสิ่งที่นายเจริญทำก็ไม่ส่งผลอะไร เพราะคนที่เคยเสนอกฎหมาย 4 ฉบับเดิมเข้าไปในสภา ก็ยังไม่ถอนร่างออกจากวาระการประชุมสภา อีกทั้ง ส.ส.พรรคพื่อไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็เสนอกฎหมายอีกฉบับเข้าสภา และหากนายเจริญ อยากให้การพูดคุยมีผลอย่างแท้จริง จะต้องคุยกับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก่อนว่าต้องหยุดความคิดของตนเอง จึงค่อยนำไปสู่การแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล เพราะเดิมนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำ ส.ส.เสื้อแดง ก็ยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ทั้งที่เป็นผู้ร่วมหารือกับนายเจริญมาแล้ว
“พรรคประชาธิปัตย์จึงมองว่ารัฐบาลยังมีความตั้งใจที่จะใช้คำว่าปรองดองมาอ้าง เพื่อผลักดันให้เกิดการล้างผิดให้กับแกนนำ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผมไม่ทราบว่ามียุทธศาสตร์แบบไหน เพราะอาจเป็นความตั้งใจดีของนายเจริญก็ได้ แต่หากทำให้เกิดผลก็ต้องพูดคุยไม่ให้การดำเนินการนี้ไปในช่องทางอื่นด้วย” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
** จี้ “น้องปู” แสดงจุดยืนให้ชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การจะนิรโทษกรรมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้ หากรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในสังคมก็ต้องมีท่าทีชัดเจนระงับเรื่องนี้เสียก่อน ปัญหาจึงจะจบ แต่ถ้ารัฐบาลลอยตัวปล่อยให้มีการเดินหน้าต่อไป ปัญหาก็จะยืดเยื้อ ทั้งที่รัฐบาลไปสร้างความเชื่อมั่นต่างประเทศ โดยอาศัยเงื่อนไขว่าการเมืองค่อนข้างสงบ ซึ่งเป็นเพราะฝ่ายค้านยุคนี้ไม่ก่อความวุ่นวาย แต่ถ้ารัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ ความขัดแย้งจะย้อนกลับมา สิ่งที่ต่างประเทศมองไทยในแง่ดีว่าเหตุการณ์กำลังคลี่คลายก็จะย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม
เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ได้ปราศรัยบนเวทีผ่าความจริงที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการนิรโทษกรรม จะมีรูปแบบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลทราบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่พร้อมให้รัฐบาลทำงานต่อเพื่อแก้ปัญหาประเทศ แต่ไม่พร้อมที่จะให้รัฐบาลเอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้มาล้างผิดให้คนที่จงใจทำผิดคดีอาญา เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่เคารพสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตระหนัก เพราะตนไม่อยากให้สภากลับเข้าสู่จุดเดือดอีกครั้ง
“หากนายกฯ ประธานสภาฯ และนายเจริญ มีความตั้งใจ ไม่อยากให้มีความวุ่นวาย จะต้องระงับทุกอย่างวางแนวทางพูดคุยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่หากมีการเสนอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีการเสนอเข้าไปใหม่พรรคจะคัดค้านอย่างแน่นอน เพราะได้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะดำเนินการหลายช่องทาง ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
** เหน็บ “แม้ว” สั่งลุยหวังเสียงมากลากไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมีความเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมอย่างจริงจัง เพราะปลายทางยังเป็นประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ ส่วนจะใช้จังหวะเวลาไหน ช่องทางใด คงดูตามสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด เพราะคิดว่ามีเสียงข้างมาก และพยายามสร้างความชอบธรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่นก่อนหน้านี้พูดถึงการประชาเสวนา และมีการให้ลงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งสังคมค่อนข้างชัดว่ามีความกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งมากกว่าปรองดอง จึงอยากให้มีการรายงานผลสำรวจทางเฟซบุ๊กที่ประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วยให้ประธานสภาทราบ จะได้ใช้ประโยน์ประกอบการตัดสินใจ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะนำสังคมเข้าสู่ความขัดแย้งอีก
** “องอาจ” ฟันธงมีวาระซ่อนเร้น
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า การเคลื่อนไหวของนายเจริญเป็นการดำเนินการที่มีจุดมุ่งหมายแฝงเร้น จึงไม่ประสงค์ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และไม่สามารถร่วมสังฆกรรมกับการดำเนินการที่ไม่มีความชัดเจนได้ ผู้ดำเนินการต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจให้ชัดเจนออกมา
“การที่มี ส.ส.แกนนำเสื้อแดงของเพื่อไทยออกมาเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และนายเจริญเป็นส.ส.เพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี น่าจะเป็นกลยุทธ์แยกกันเดินรวมกันตีมากกว่า เนื่องจากขณะที่นายเจริญกำลังจะพูดคุย ส.ส.เพื่อไทยก็ออกมาเสนอร่างกฎหมาย ทั้งที่เป็นส.ส.พรรคเดียวกัน ควรคุยกันก่อนให้ได้ข้อสรุป ไม่ใช่เอานิรโทษกรรมบังหน้าล้างผิดให้บางคน” นายองอาจ กล่าว
** เตือนเร่งเกมอาจเจอไฟฟ้าลัดวงจร
นายองอาจ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวของทั้งนายเจริญและ42 ส.ส.เสื้อแดงนั้น ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันว่า สิ่งทีดำเนินการเป็นการทำเพื่อนิรโทษกรรมอย่างแท้จริง เพราะมีกฎหมายปรองดองอีก 4 ฉบับในสภา เมื่อมีการพิจารณาเรื่องนี้เข้าสู่สภา โอกาสที่จะนำกลับมาพิจารณาร่วมกัน เพราะอ้างว่าเป็นหลักการเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นได้ และการที่รัฐบาลพยายามบอกว่าไม่รู้เรื่อง เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะได้ปฏิเสธความรับผิดชอบหากการดำเนินการของ ส.ส.หรือกลุ่มรองประธานสภาก่อให้เกิดผลกระทบใดๆต่อบ้านเมือง ถือเป็นพฤติกรรมตีสองหน้าที่ไม่เหมาะสม จึงอยากเรียนไปยังรัฐบาลว่าขอให้ทำตามครรลองที่ถูกต้องเหมาะสม
“หากดำเนินการโดยลัดขั้นตอนเหมือนที่บางคนดำเนินการในขณะนี้ นอกจากไม่ประสบความสำเร็จแล้ว เกรงว่าจะเหมือนไฟฟ้าลัดวงจรที่อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุดได้ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯในฐานะเป็นผู้นำสูงสุดของบ้านเมือง ให้มีส่วนช่วยไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เพราะไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง อย่าให้เกิดปัญหาบานปลายในประเทศอีก” นายองอาจ ระบุ
** “บิ๊กโอ๋” สั่ง “บิ๊กตู่” จัดคนเข้าร่วมวง
อีกด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ตนได้รับหนังสือจากรองประธานสภาฯที่ขอให้กระทรวงกลาโหมจัดตัวแทนทหารเข้าร่วมในการหารือ 2 คน ตนจึงมอบหมายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ส่งคนเข้าร่วมพูดคุย ทั้งนี้ตนไม่ได้ให้แนวทางหรือกรอบการพูดคุย เพราะเป็นการไปพูดคุยเฉยๆ อย่างไรก็ตามมองว่า เรื่องการสร้างความปรองดอง ควรจะต้องมีเพื่อลดความขัดแย้งและให้ประเทศชาติสามารถขับเคลื่อนไปได้ การที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าจะขัดขวาง ทั้งในและนอกสภานั้น คือความใจแคบของคน อย่าไปสนใจ เสียงส่วนมากที่เห็นด้วยก็คุยกันไป
“คนที่ไม่เห็นด้วย ก็ใจแคบนิดหนึ่ง เรื่องเล็กๆน้อยๆและก็ผ่านไปแล้ว อะไรที่ควรอภัยได้ก็อภัยกัน เรื่องแค่คนๆเดียว อย่ามาตั้งแง่กันเลย ถือเสียว่าทำเพื่อประเทศชาติ” พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว
ขณะที่ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ระบุว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว รวมถึงยังไม่ได้รับหนังสือเชิญให้ไปร่วมพูดคุย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ผบ.เหล่าทัพ ยังไม่ได้มีการหารือกันถึงเรื่องนี่ เช่นเดียวกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพอากาศ เราไม่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุย จึงไม่ได้ส่งตัวแทนไปร่วม อีกทั้งยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ทบ. และในวันที่ 11-12 มีนาคม ตนก็มีกำหนดการเดินทางไปปฎิบัติภารกิจในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามไม่ขอแสดงความเห็นถึงการพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรม
ส่วน พล.ท.ธารไชยันต์ ศรีสุวรรณ เจ้ากรมกิจการพลเรือน กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบและไม่เห็นหนังสือเชิญ และทาง พล.อ.ธนศักดิ์ ปฎิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด ก็ไม่ได้ส่งตัวแทนไปร่วม
ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพบกนั้นจากคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาถือว่าได้ตอบรับกรณีดังกล่าวด้วยวาจาแล้ว แต่ทั้งนี้การตอบรับดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่กองทัพบกเท่านั้น แต่จะต้องมีการเชิญทหารทุกส่วน ทั้งกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ และกองทัพอากาศด้วย เพราะการปฎิบัติงานของศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ที่ผ่านมานั้น เราปฎิบัติงานกันในรูปแบบของกองทัพในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะกองทัพบกอย่างเดียว
“ผบ.ทบ.ได้แจ้งความประสงค์แล้วว่าถ้ามีการเชิญมาก็พร้อมตอบรับ หนังสือเชิญจะส่งตามมาทีหลังก็ได้ ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าทางกองทัพบกจะมอบหมายให้ใครไปเป็นตัวแทน เพราะยังไม่ได้มีการพิจารณาตัวบุคคล อย่างไรก็ตาม ผบ.ทบ.คิดว่าการพูดคุยร่วมกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร แต่เพื่อรับรู้ความคิดของแต่ละฝ่าย วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่วันนี้ต้องหารือพูดคุยร่วมกัน” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
** “ยะใส” เชื่อวงถกเหลว เหตุ พท.คิดไม่ซื่อ
ทางด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า ตนเห็นว่ากรณีนายเจริญ นัดหลายฝ่ายหารือแนวทางนิรโทษกรรมคงล้มเหลวเหมือนที่ผ่านๆมา เพราะสังคมไม่ไว้วางใจให้ผู้มีส่วนได้เสียมาเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าจะคุยกันในวงแคบๆ ซึ่งความล้มเหลวของการนิรโทษกรรมในสังคมการเมืองไทยที่ผ่านมา เพราะเอาการเมืองเป็นตัวตั้ง มักเริ่มที่การเมืองและจบที่การเมือง ซึ่งเป็นวิถีทางที่ผิดเพราะฝ่ายการเมืองมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง จนเกิดความไม่วางใจจากสังคม เพราะไม่ได้ทำให้เป็นวาระทางสังคมมาก่อน ถ้าเริ่มต้นนิรโทษกรรมหรือปรองดองด้วยการเมืองที่ล้มเหลวและไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนแบบนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายได้ ยิ่งในรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้แล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
“ครั้งนี้ก็เช่นกัน พรรคเพื่อไทยก็ทำปืนลั่นตั้งแต่ไก่โห่ เพราะส่งสัญญาณให้ ส.ส.ของพรรค 42 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปดักรอไว้ในสภาก่อนแล้ว รวมกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองล้างผิดทักษิณ ที่ยังค้างอยู่ในสภาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเชื่อว่าถ้าผลการพูดคุยเสนอให้สภาออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็เป็นไปได้สูงที่สภาจะนำร่างกฎหมายที่อยู่ในสภา ไปยำรวมกับร่างใหม่ที่อาจมีคนกลางไปร่างมา จนสุดท้ายก็กลายเป็นนิรโทษกรรมล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายไปในที่สุด” นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส ยังกล่าวอีกว่า การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่บริสุทธิ์ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคง หลักการนี้แม้ทุกฝ่ายจะค่อนข้างเห็นด้วย แต่วิธีการเป็นประเด็นต้องมีความชัดเจนก่อนจะออกเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.ก็ตาม เช่น ความผิดระดับไหนถึงจะเรียกว่า บริสุทธิ์ และใครจะเป็นผู้ตีความ หรือมีอำนาจแยกแยะว่า คนนั้นคนนี้ บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นผู้ที่เสนอแนวคิดนิรโทษกรรมประชาชนผู้บริสุทธิ์ จะต้องเริ่มต้นด้วยการแสดงความบริสุทธิ์ใจของตัวเองให้สังคมเห็นก่อนว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นหวังใช้แนวคิดนี้ไต่ระดับ หรือเป็นสะพานไปสู่การนิรโทษกรรมใครบางคนเหมือนที่พยายามกันมาก่อนหน้านี้
** ปธ.วุฒิฯห่วงร่าง 42 ส.ส.ขอบเขตกว้างเกิน
ขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาว่า เท่าที่ดูเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความเป็นห่วง 2 มาตรา คือ มาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งในมาตรา 3 เรื่องของขอบเขตความคุ้มครองผู้กระทำความผิด จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549-2554 ซึ่งกว้างเกินไป อาจจะทำให้บางคนที่ไม่เกี่ยวข้องฉวยโอกาสได้รับประโยชน์ในจุดนี้ รวมทั้งผู้ใช้และผู้จ้างวานก็ยังไม่มีความชัดเจน และมาตรา 4 การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอัยการใช้อำนาจมากเกินไป ซึ่งหากเข้าสู่การพิจารณาและสภารับหลักการในวาระแรก แล้วตั้งคณะกรรมาธิการก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้รอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายห่วงว่าจะเป็นการสร้างปมขัดแย้งรอบใหม่ให้บ้านเมือง นายนิคม กล่าวว่า เป็นการคิดกันไปเอง เพราะเป็นแค่การเสนอกฎหมายเข้าสภาเท่านั้น กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการใช้เวลาอีกนาน เพราะฉะนั้นในช่วงนี้กระบวนการยุติธรรมต้องเร่งพิจารณาคดีต่างๆที่เกี่ยวข้องทางการเมืองจะได้ทราบว่าคดีไหน คนไหนยกฟ้องไปแล้ว จากนั้นค่อยบรรจุเข้าไปในเนื้อหากฎหมายนิรโทษกรรม
“ถ้าตั้งใจที่จะปรองดองกันจริงๆ ก็ควรหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันหาทางออก เพราะในร่างที่ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอมาเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมือง เป็นคนละประเด็นเพราะในช่วงเวลานั้นมีเสื้อเหลือง เสื้อแดง” นายนิคม ระบุ
** โพลสภาฯค้านออก กม.นิรโทษฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ทีมงานด้านการประชาสัมพันธ์ของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้ามาโพสต์ข้อความเพื่อถามความคิดเห็นต่อสาธารณชนทางเฟซบุ๊ค “รัฐสภาไทย” เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า “ท่านเห็นกับการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่” ปรากฏว่า เมื่อเวลา19.40 น. ของวันที่ 10 มี.ค. มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 2,179คน ขณะที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 3,313 คน.