ปัญหาการจราจรนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับมหานครใหญ่ทั่วโลกที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมหานครนิวยอร์ก เม็กซิโกซิตี้ กรุงปักกิ่ง กรุงเทพมหานคร นครเซาเปาโล เมืองใหญ่ที่สุดของบราซิลซึ่งปีที่แล้วเกิดวิกฤตจราจรรถติดยาวเหยียดกว่า ๑๘๐ กิโลเมตร แม้แต่เมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย อดีตเคยมีปัญหาด้านจราจรเช่นเดียวกัน แต่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ
โบโกต้าเป็นเมืองหลวงของประเทศโคลัมเบียอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีประชากร ๘.๕ ล้านคน เมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๕ หรือ ๑๘ ปีก่อน โลกรู้จักโบโกต้าว่าเป็นเมืองอันตราย เพราะเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจน การจราจรติดขัดมาก และอากาศเสีย รวมทั้งขาดพื้นที่สีเขียว
กว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมาโบโกต้าเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อชาวเมืองได้นายเอนริเก้ เพนาโลซ่า เป็นนายกเทศมนตรี(ปีค.ศ.๑๙๙๘-๒๐๐๑) เขามองว่าเมืองต้องเป็นที่อยู่อาศัยที่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีแก่พลเมืองทุกคน ทุกคนจึงต้องมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน และพื้นที่สาธารณะที่สำคัญที่สุดคือถนนและทางเท้า แต่คนขับรถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ ๒๕ กลับยึดพื้นที่เหล่านี้ไปหมด
เมื่อก่อนรถยนต์จะขี้นมาจอดกันเต็มทางเท้า สิ่งแรกที่นายเพนาโลซ่าทำคือ การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ไม่ยอมให้รถยนต์ขี้นมาจอดบนทางเท้า มีการติดตั้งเสาเตี้ยๆกันไม่ให้รถเข้า และเพิ่มพื้นที่ให้คนเดิน โดยเปลี่ยนที่จอดรถให้เป็นทางเท้าและที่สาธารณะถึง ๑,๒๐๐ แห่ง รวมทั้งปลูกต้นไม้ในเมืองเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐,๐๐๐ ต้น
นอกจากนี้เขายังขึ้นราคาน้ำมัน และค่าจอดรถในเมืองเพื่อแบ่งมาเป็นกองทุนพัฒนาระบบโครงข่ายรถเมล์ด่วนBRTให้ขนส่งมวลชนมีเลนวิ่งได้สะดวก สร้างระบบเส้นทางจักรยานอย่างดี มีต้นไม้ริมทาง เป็นโครงข่ายยาว ๓๐๐ กิโลเมตรเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน
ด้วยเงินลงทุนเพียง ๑,๕๐๐ ล้านบาทในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมือง ทำให้มีคนขี่จักรยานเพิ่มขี้นกว่า ๒๐ เท่า นับได้ว่าคุ้มทุนภายในเพียงปีเศษ เพราะทำให้สามารถประหยัดน้ำมันได้ถึงปีละ ๑,๒๓๐ ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการสร้างทางจักรยานอย่างดีขนานกับทางเท้าในเขตชุมชนยากจนที่ไม่เคยมีแม้แต่ถนนลาดยางเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขี้น สามารถใช้เดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก และทางจักรยานได้สร้างอาชีพใหม่ๆขี้นมาให้แก่คนรายได้น้อย เช่น อาชีพซ่อมจักรยาน และขายอะไหล่จักรยาน
ย่านธุรกิจหลายแห่งเปลี่ยนมาเป็นถนนคนเดิน และจักรยานเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ เพราะทำให้คนสามารถสัญจรไปมาได้สะดวกสบายและใช้ชีวิตตามถนนสาธารณะกันมากขึ้น ทุกวันอาทิตย์ในช่วงเช้าถนนใหญ่หลายสายในเมืองปิดไม่ให้รถยนต์เข้า เปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนเข้ามาพบปะสังสรรค์ทำกิจกรรมสันทนาการกับครอบครัว
ทุกวันนี้เมืองโบโกต้ารถติดน้อยลงถึงร้อยละ ๔๐ อากาศดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และอัตราฆาตกรรมลดลงถึง ๔ เท่า ปัจจุบันผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกคนต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อจักรยาน คนเดิน และพื้นที่สาธารณะ มิเช่นนั้นจะไม่มีใครลงคะแนนเสียงให้
ชาวโบโกต้าได้สรุปบทเรียนว่า การสร้างเมืองให้น่าอยู่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ แต่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงค์ทางการเมืองและการลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา เดี๋ยวนี้เมืองอื่นๆ เกิดความตื่นตัวและเอาเมืองโบโกต้าเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเมือง
ทุกวันนี้โบโกต้าได้ลบภาพเก่าจากอดีตที่เคยเป็นเมืองอันตรายที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม การจราจรติดขัด มลภาวะ อากาศเสีย
หลายเมืองในยุโรปก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่จักรยานมากขึ้นอย่างกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นเมืองที่มีความเป็นมิตรกับการขี่จักรยานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะเกือบร้อย ๔๐ ของการเดินทางในเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์เป็นการเดินทางโดยใช้จักรยาน และยังมีจักรยานสาธารณะให้เช่ากันอย่างแพร่หลาย
กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงประเทศเดนมาร์กปัจจุบันชาวโคนมจำนวนร้อยละ ๓๒ เดินทางไปทำงานโดยการขี่จักรยาน ที่นี่มีวัฒนธรรมการส่งเสริมการใช้จักรยานถึงขั้นที่ให้คนเช่าจักรยานฟรี โดยจะให้จ่ายมัดจำไว้ก่อนและเมื่อนำจักรยานมาคืนก็จะคืนเงินให้ โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับทางจักรยานของประเทศก็เอื้ออำนวยให้การเดินทางโดยจักรยานมีความสะดวกและรวดเร็ว
สำหรับกรุงเทพมหานครนั้นรายงานจากกรมการขนส่งระบุว่า ปัจจุบันในกรุงเทพมีรถทุกประเภทที่จดทะเบียนสมสม ณ วันที่ ๓๑ มกราคม๒๕๕๖ มากถึง ๗.๖ ล้านคันจากนโนบายรถคันแรก แต่มีพื้นที่ถนนสำหรับรถเพียง ๑.๕ ล้านคันเท่านั้น จนกรุงเทพมหานครได้ชื่อจากสื่อตะวันตกว่าเป็นเมืองที่รั้งอันดับต้นๆที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกภาคส่วนจะหันมาร่วมมือกันแก้ไขจัดการปัญหาวิกฤตจราจรในกรุงเทพมหานครกันอย่างจริงจังโดยเพิ่มพื้นที่สาธารณะสำหรับจักรยาน พื้นที่สีเขียว ควบคุมปริมาณรถ จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่รุกล้ำทางเท้าและพื้นที่สาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นจนเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย สะอาด ปลอดภัย และน่าท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต
สมชาย หาญญานันท์ กฟผ. ( ๑๘ ก.พ. ๕๖)
------------------------------
หมายเหตุ: ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ปี ๒๕๕๕ ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศปีละกว่า ๑.๒ ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง