เครือข่ายสมัชชาสุขภาพคน กทม.ยื่นหนังสือผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ส่งเสริมคนเมืองหลวงใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมดึงสมาชิกร่วมรณรงค์ หวังช่วยแก้ปัญหาจราจร สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพ
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายณัชพล เกิดเกษม ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพคน กทม.และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ได้นำสมาชิกจากทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือพร้อมอ่านแถลงการณ์ต่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้สนับสนุนนโยบาย “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” พร้อมเรียกร้องให้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญในลำดับต้นๆ ของผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่ หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 มีนาคม 2556
นายณัชพล กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ ไบเทค บางนา โดยมีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 2,000 คน ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ว่าจะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาว กทม.ผู้ที่เข้ามาพักอาศัย และท่องเที่ยวในมหานครแห่งนี้ ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจากมลพิษ ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาการจราจร
“พวกเราเครือข่ายสมัชชาสุขภาพคน กทม.และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ขอเรียกร้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และผู้สมัครคนใดที่มั่นใจว่าจะทำเรื่องนี้ ขอให้ประกาศเป็นคำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนนโยบายดังกล่าวให้ชัดๆ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง หากได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงานจริง พวกเรายินดีที่จะเข้าร่วมดำเนินการตามนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องและเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ว่าราชการกทม.คนใหม่” นายณัชพล กล่าว
นายณัชพล กล่าวอีกว่า ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ระบุถึงหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหมายรวมถึง เขตปกครองพิเศษอย่าง กทม.นี้ด้วย ว่าต้องแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะรวมทั้งสถานีขนส่งสาธารณะ ต้องให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ รวมถึงกำหนดให้มีหน้าที่สนับสนุนให้การเดินเท้าและใช้จักรยานเกิดผลเป็นรูปธรรม และจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเดินเท้า การใช้ทางเท้า และสัญจรไปมา ของคนพิการและคนที่ใช้จักรยาน จำกัดความเร็วของรถยนต์ มีช่องการเดิน การใช้จักรยานที่ชัดเจน และให้มีป้ายบอกในเขตชุมชน ยิ่งไปกว่านั้นต้องประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง สร้างความตื่นตัว และสนับสนุนกิจกรรมด้านการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง
“ที่ผ่านมา กทม.มีแนวคิดส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดมาแล้วหลายปี มีการสร้างทางจักรยาน มีโครงการ “เรารักกรุงเทพ เรารักจักรยาน” เมื่อเดือนมีนานคม 2554 และรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยานอยู่ แต่ขาดการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ขาดการบูรณาการ และไม่ครอบคลุมระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานทั้งระบบ ทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพราะเกรงความไม่ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน” นายณัชล กล่าว
ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เห็นว่า การลดการใช้รถยนต์ในการเดินทางระยะสั้น โดยหันมาใช้การเดินเท้า และจักรยาน จะทำให้เกิดกิจกรรมทางร่ายกายอย่างเพียงพอ แก้ปัญหาความเจ็บป่วยและโรคร้ายที่รุมเร้าคน กทม.อาทิ โรคอ้วน หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้า, ช่วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างคุณภาพชีวิตของคนและชุมชนใน กทม.ให้ดีขึ้น