ยิ่งใกล้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เข้ามา การประโคมโหมแห่ชิงคะแนนยิ่งต้องเข้มข้นขึ้น ทั้งป้าย ทั้งรถ ทั้งการเข้าหาประชาชน และการชูนโยบายแสดงกึ๋นของเหล่าผู้สมัครผู้ว่าฯ ทั้งหลายที่ยกกันมาประชันขันแข่ง อวดอ้างสรรพคุณว่าจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นแดนสวรรค์ แต่อย่างไรก็ตามคนกทม. ต่างรู้ดีว่านโยบายที่ต่างยกมาเกทับกันไปมา แนวทางอภิมหาโปรเจกต์ทั้งหลาย เป็นได้เพียงแค่นโยบายเพ้อฝัน
ประชานิยม สุดฮิต
นโยบายที่คล้ายคลึงกันที่สุดของทุกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คงหนีไม่พ้นเรื่องของประชานิยม ทั้งลด ทั้งแถม ทั้งแจกฟรี (ด้วยภาษีประชาชน) ที่เป็นหมัดเด็ดดึงคะแนนได้อย่างดี ก็ใครบ้างจะไม่ชอบ ด้วยนโยบายไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ฟรี, wi-fi ฟรี, สร้างสวนสาธารณะรอบกรุง, ตั้งโรงทาน,
ถึงแม้หลายคนจะเข้าใจว่าประชานิยมมันไม่ใช่แนวทางที่ดี แต่ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบและการเลือกตั้ง ได้กล่าวไว้ในงานเสวนา “เลือกตั้งกรุงเทพฯ กากๆ เขาหรือเรา โง่” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การใช้หลักประชานิยมนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ที่สำคัญคือใช้แล้วต้องสามารถเปลี่ยนโครงสร้างประเทศให้ดีขึ้นได้
“ในความคิดของคนส่วนใหญ่ ก็จะมองอะไรก็ตามที่เป็นประชานิยมว่ามันไม่ดี แต่ที่จริงเราต้องแยกแยะนะคะ อย่างที่อเมริกา ประธานาธิบดีโอบามาเค้าก็มีนโยบายลดภาษีให้กับคนจน อันนี้มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อโครงสร้างเศรษฐกิจเค้า มันจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนภายในประเทศ เพราะฉะนั้นถึงแม้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเข้ามาจัดการตรงนี้ แล้วมันเป็นประโยชน์ก็อาจไม่เรียกว่าเป็นประชานิยม แต่สำหรับนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ดิฉันก็ว่ายังไม่มีนโยบายที่เป็นการช่วยให้โครงสร้างตรงนี้ดีขึ้น”
หนึ่งในความหมายของคำว่า ประชานิยม ที่นิยามโดย อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ระบุไว้ว่า “ประชานิยมคือการให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ประชาชน คือการเมืองที่ให้คุณค่าแก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปหรือชนชั้นล่าง การเมืองที่เห็นความสำคัญของประชาชนทั่วไปจึงเป็นประชานิยมเสมอ” ดังนั้นการคำนึงถึงประชาชนโดยส่วนใหญ่อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากแต่นโยบายนั้นสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เพียงเป็นนโยบายเอาใจประชาชนแต่ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา
น่าห่วงตรงที่ว่าโครงการประชานิยมอภิมหาเลิศหรูนั้น ก็เหมือนกับฝันหวานที่นักการเมืองเอามาโปรยโรยเหยื่อ หลายนโยบายดูแล้วเป็นไปไม่ได้ หลายนโยบายต้องมีการใช้เงินลงทุนมหาศาล ดังนั้นประชาชนจึงจำเป็นต้องมีสติ อย่าวาดภาพเกินจริง เพราะอาจฝันค้างได้ไม่รู้ตัว โดย ดร.สิริพรรณ พูดให้ได้ขบคิดว่า งบมากมายขนาดนั้น หากดึงมาจากงบส่วนกลางแล้วทุ่มลงที่กทม. ก็คงไม่ได้และไม่ยุติธรรม
“ถามว่างบประมาณที่จะเอามาสนองนโยบายทั้งหลายนั้นเอามาจากไหน มันก็เอามาจากงบส่วนกลางของรัฐบาล แล้วถ้าจะดึงงบจำนวนมหาศาลเพื่อมาพัฒนาแค่กรุงเทพฯ จังหวัดที่บอกว่ามีจีดีพีสูงสุดในประเทศเพียงแค่จังหวัดเดียว มันเป็นธรรมหรือไม่”
อวดอ้าง “นโยบายขายฝัน”
นโยบายสวยหรูที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ ต่างเข็นออกมาเรียกคะแนนเสียง นอกจากจะเป็นนโยบายประชานิยมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องนโยบายขายฝัน ซึ่งอาจไม่มีวันเป็นจริง เพราะบางเรื่องนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจที่ส่วนของกรุงเทพฯ จะทำได้ ดังที่ รศ.สิริพรรณ ยกตัวอย่างให้เราฟัง
“อย่างป้ายจราจร มันก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ แล้วจะใช้อิทธิฤทธิ์อะไรไปแก้ไข ถ้าจะทำได้ก็ต้องมีแนวทางการเรียกร้องดึงอำนาจให้กรุงเทพฯ เป็นส่วนปกครองพิเศษ”
ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจแล้ว แต่ยังโฆษณากันปาวๆ แล้วบางเรื่องก็น่าสลดใจที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ ออกนโยบายแบบสุกเอาเผากิน ไม่มองให้ลึกซึ้ง ไม่ศึกษาข้อมูลและผลกระทบให้เข้าใจ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเรื่องผังเมือง ยกเรื่องของถนนที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ บางท่านลืมคำนึงไปว่า ใครเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ต้องใช้ถนนในทุกวัน
“เอาง่ายๆ เลย นโยบายทำทางจักรยาน คุณจะเอาถนนคืนยังไง ใครเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดบนถนน ถ้าคนจนมีอำนาจก่อนก็ต้องรถเมล์ คุณจะเอาอะไรก่อนล่ะ อย่างประเทศมาเลเซียเค้าก็มีเลนมอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต้องดูก่อนว่าใครมีอำนาจที่สุดบนท้องถนน ไม่ใช่สัญญากันไปหมด
เรื่องแก้ปัญหาจราจร ตัดถนนใหม่ ทำสวนสาธารณะให้หมา แล้วไม่นึกถึงคนที่โดนเวนคืน บางคนต้องออกไปอาศัยไกลๆ เรื่องรถไฟฟ้าก็อีกเรื่อง ผู้สมัครผู้ว่าฯ ล้วนเห็นแก่ตัวหมด การเอารถไฟฟ้าเข้ามาคือการเสริมราคาที่ดินตรงนั้นน่ะแหละ อย่างเมื่อก่อนคนเริ่มออกไปอยู่ชานเมืองก็เอารถไฟฟ้าเข้ามาเพื่อดึงคนกลับมาอยู่ในเมือง ผมเห็นด้วยนะที่จะทำรถไฟฟ้าแต่คุณจะต้องพัฒนาที่ดินบริเวณนั้นด้วย ไม่ใช่ปล่อยทิ้งว่างให้นายทุนโก่งราคา”
ว่ากันตามที่เห็น ผู้สมัครผู้ว่าฯ ต่างออกลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างสนุกสนาน ออกไปทำกิจกรรมอย่าง โหนรถขยะ สับหมู ฯลฯ ที่เราคงไม่ได้เห็นกันอีกหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้น ซึ่ง ดร.พิชญ์ก็ย้ำว่า การลงหาเสียงในพื้นที่แต่ละครั้งไม่ใช่สักแต่ว่าไปพอเป็นพิธี เอาแต่โครงการสวยหรูไปนำเสนอ แต่ไม่เข้าใจในเรื่องของพื้นที่ และที่สำคัญจะทำได้หรือไม่ได้นั้นก็ยังไม่รู้
“การเดินทางลงไปในพื้นที่ต่างๆ ผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนเนี่ยรู้มั้ยว่าแต่ละที่คือพื้นที่อะไร เป็นเขตที่พักอาศัย หรือเป็นเขตอะไร ควรพูดถึงเรื่องพื้นที่ว่าควรทำอย่างไร เมื่อเอาโครงการเหล่านี้ลงไป มันจะกระทบกับคนอย่างไร จุดนี้ผมว่าคุณโสภณ (โสภณ พรโชคชัย) ทำได้ดี ส่วนที่เหลือดูเหมือนว่าไม่เข้าใจเรื่องผังเมืองเลย แต่สุขุมพันธุ์จะได้เปรียบหน่อยตรงที่เคยเป็นพ่อเมืองเก่ามาก่อน”
ไร้รอยต่อ VS กทม.เดินหน้า
ถ้าให้พูดถึงตัวเต็ง คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากลูกพรรคสองขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน “พงศพัศ พงษ์เจริญ” จากฝั่งเพื่อไทย และ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” จากฝั่งประชาธิปัตย์ หม่อมหมูหน้าเดิมที่กุมอำนาจกรุงเทพฯ มากว่า 8 ปี แต่ผลงานที่สั่งสมมาประทับใจชาวกรุงฯ หรือไม่นั้น ให้ลองนึก ลองตอบกันเอาเอง
ในการหาเสียงครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างมีสโลแกนหลักงัดข้อกันแบบเบาๆ โดยเน้นว่าหากเลือกตนแล้วมันจะดีอย่างไร “กรุงเทพฯ เดินหน้าทันที” จากผู้ว่าฯ หน้าเดิม “ไร้รอยต่อ” จากฟากพงศพัศคู่ท้าชิงคนสำคัญจากพรรคเพื่อไทย หรือ “กทม. ต้องปลอดพรรคการเมือง” ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งรศ. สิริพรรณ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ทุกวันนี้น่าห่วงที่การหาเสียงไม่เน้นโชว์นโยบายแต่เน้นโจมตีผู้สมัครฯ คนอื่นๆ แทน
“ทุกวันนี้การหาเสียงมันย่ำอยู่กับที่ โจมตีพรรคตรงข้าม ถ้าเลือกอีกพรรคไม่สามารถประสานงานได้ เลือกพรรคเราทำงานต่อทันที เราไม่ค่อยจะได้เห็นการหาเสียงเชิงสร้างสรรค์ และทำได้จริงๆ”
รวมถึงดร.พิชญ์ ก็คิดไม่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แต่ละคนก็พยายามชูจุดแข็งด้วยนโยบายขายฝันคนกรุงฯ อย่างต่อเนื่อง
“การหาเสียงทุกวันนี้มัวแต่ใส่ร้ายป้ายสีกัน มันน่ากลัวเพราะแรงสะท้อนกลับจะยิ่งกว่าเดิม ในส่วนของนโยบาย ผมเชียร์คุณสุขุมพันธุ์นะ มีความชัดเจน เริ่มพูดถึงนโยบายมากขึ้น ส่วนคุณพงศพัศเนี่ย ยังไม่น่าพอใจ มันดูหนักไปทางโครงการแต่ไม่ใช่นโยบาย คุณเสรีพิศุทธ์ ผมเห็นว่าเริ่มถอยหลัง ตอนนี้เริ่มจะเหน็บ ค่อนแคะคนที่เค้าสังกัดพรรค ซึ่งประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยตอนนี้จะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายแข่งกันเรื่องนโยบาย ส่วนเสรีพิศุทธ์มัวแต่โหนกระแส”
ถึงแม้ว่าหลายสำนักโพล ฟันธงว่า “พงศพัศ พงษ์เจริญ” จะได้ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แต่จะจริงดังผลการสำรวจหรือไม่ เพราะกรุงเทพฯ ถือได้ว่า เป็นอีกหนึ่งสนามเลือกตั้งที่คาดเดาผลได้ยาก สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวเรา อย่าให้โพลมาชี้นำจูงจมูก เพราะการจะเลือกใครมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้น เป็นสิทธิของเราอย่างเต็มที่ การรับรู้และศึกษานโยบายของผู้สมัครฯ ผู้ว่าแต่ละคน ก็อาจทำให้เราไม่ต้องนั่งฝันค้างจากนโยบายขายฝันลวงๆ อย่างที่เราอาจเคยโดนกันมาแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ
10 อันดับ สิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากให้แก้ไขมากที่สุด
1. ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง
2. การจราจร
3. การเมือง
4. อาชญากรรม
5. ปัญหามลภาวะ
6. ยาเสพติด
7. แก๊งรถซิ่ง
8. ชุมชนแออัด
9. ขอทาน เด็กเร่ร่อน
10. ปัญหาโสเภณีเกลื่อนเมือง
(อ้างอิงจาก www.toptenthailand)
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live