xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ประเด็นการต่อสู้คดีการตีความคำพิพากษาศาลโลก

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

อ้างถึง บทความเรื่อง “ประเด็นที่ไทยต้องยกขึ้นให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร” โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ 7 ก.พ. 56

ตามที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ( คดีปราสาทพระวิหารระหว่างกัมพูชาและไทย ) นั้น ปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่เอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ถาม – ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร” ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้อ่านทั้งโดยส่วนตัวและสังคมไทยโดยรวมได้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วนั้น

และโดยหนังสือดังกล่าวข้าพเจ้าในฐานะส่วนตัวและผู้อ่านส่วนมากได้เข้าใจถึงแนวทางการต่อสู้คดี และตามแนวทางที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวนั้น ยังขาดข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นสำคัญอีกหลายประเด็น

ข้าพเจ้าขอกราบเรียนด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงในการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำในนามของคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐบาลในการใช้อำนาจบริหาร จะต้องทราบได้ว่าการต่อสู้คดี “ ในปัญหาการตีความคำพิพากษาของศาล ” นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลที่จะยึดข้อเท็จจริงหรือแนวทางที่ได้ต่อสู้คดีในการดำเนินคดีเก่าแต่เพียงอย่างเดียวมาโต้แย้งนั้น หาได้ไม่ การต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามแนวทางในคดีเดิม เป็นเพียงประเด็นหนึ่งของการต่อสู้คดีในกรณีที่ให้ศาลตีความคำพิพากษาของศาลเท่านั้น

การต่อสู้คดีในเรื่องการตีความคำพิพากษานั้น จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย อันเป็นข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดหรือหลงผิดในข้อสำคัญที่ได้ทำให้ความยุติธรรมนั้นเสียไปในการดำเนินคดีนั้น ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ข้อโต้แย้งในการตีความคำพิพากษาด้วย เพราะตามคำขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษานั้น ผู้ขอหรือกัมพูชาต้องการจะให้มีการบังคับคดีในเรื่องอาณาเขตในดินแดนของประเทศไทย การตีความคำพิพากษาของศาลโลก จึงมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนกระทบต่อทรัพยากรของประเทศอย่างกว้างขวาง รัฐบาลโดยฝ่ายบริหารจะต้องนำเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศดังกล่าวเพื่อขอรับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 เสียก่อน แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกก็ตาม เพราะมิใช่เป็นอำนาจที่ฝ่ายบริหารจะกระทำได้แต่ฝ่ายเดียวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และรัฐบาลโดยฝ่ายบริหารก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อสู้คดีในศาลเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยในเขตแดนที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางไว้ให้ได้ด้วย

แนวทางการต่อสู้คดีจึงมิใช่เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการต่อสู้คดีของฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ต้องเป็นการใช้หลักวิชาการของวิชาชีพชั้นสูงในทางกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ หลักวิชาการชั้นสูงในทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดีมาประกอบกัน เพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้คดีให้ครอบคลุมถึงการตีความในคำพิพากษาศาลโลกดังกล่าว การต่อสู้คดีในศาลระหว่างประเทศโดยใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินที่หย่อนต่อมาตรฐานการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมายของรัฐบาลแล้ว และโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อนนั้น การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีก็จะสุ่มเสี่ยงและเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 , 120 ได้


ปัญหาที่จะยกขึ้นต่อสู้คดีนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับความสูญเสียหรือมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือไทยกับฝรั่งเศส การต่อสู้คดีในศาลโลกไม่มีความผิดต่อสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 130 -135 เพราะการต่อสู้คดีเป็นเรื่องของการยกเหตุผลทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นมาว่ากล่าวกัน อันเป็นการดำเนินการเพื่อแสวงหาความยุติธรรมในแนวทางแห่งสันติภาพร่วมกัน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เป็นข้อสำคัญ อันจะผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม จึงเป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นมาว่ากล่าวต่อสู้กันให้สิ้นกระแสความ เพื่อให้ศาลโลกที่จะใช้อำนาจตีความคำพิพากษาเมื่อ 50 ปีก่อนนั้น ได้พิจารณาวินิจฉัยว่า ศาลโลกในปัจจุบันจะมีอำนาจตีความคำพิพากษาดังกล่าวได้หรือไม่ และกัมพูชามีอำนาจจะขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้หรือไม่

ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนมีหน้าที่ที่ต้องป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 71 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการต่อสู้คดีของรัฐบาลที่ศาลโลก ซึ่งต้องผ่านกลไกการได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน และคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ และตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศต่อรัฐสภามีความว่า “การจัดทำหลักเขตแดนตามหลักฐานของกฎหมายและสนธิสัญญาที่มีอยู่ เพื่อมิให้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง” และจากนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภานั้น หากคณะรัฐมนตรีไม่ทราบซึ่งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายอันเป็นข้อสาระสำคัญในการพิจารณาพิพากษาคดีในปี 1962 และไม่ตรวจสอบหลักฐานของกฎหมายและสนธิสัญญาที่มีอยู่ว่าเป็นสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น การกระทำดังกล่าวย่อมจะทำให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้เกี่ยวกับการจัดทำหลักเขตแดน เพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาดังกล่าว ซึ่งก็คือรัฐบาลก็จะละเลยการรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ โดยอ้างเงื่อนไขที่จะขจัดความขัดแย้งดังกล่าวได้ การขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องพยายามกระทำ แต่การขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศจะต้องมีความสมดุลกับการทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะบริหารราชการแผ่นดินหย่อนไปจากมาตรฐานทางกฎหมายในการรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยในเขตแดน และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐหาได้ไม่ ข้าพเจ้าจึงมีความจำเป็นต้องกราบเรียนต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงการต่างประเทศถึงปัญหาที่จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีการตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ซึ่งข้าพเจ้าได้เผยแพร่ประเด็นสำคัญบางอำนาจประเด็น โดยบทความที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนตามเอกสารที่อ้างถึงไว้แล้ว

ประเด็นสำคัญที่ไทยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อตัดอำนาจศาลในการพิจารณาตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 คือ

1. จำเดิมกัมพูชาฟ้องคดีและศาลมีคำพิพากษาในปี 1962 นั้น กัมพูชาได้ยกเอาสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นมูลฐานในการใช้สิทธิทางศาล สัญญาที่กัมพูชาอ้างและศาลนำมาพิพากษาคดี คือ (1) อนุสัญญา ( Convention ) ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส 13 กุมภาพันธ์ 1904 ( 2 ) สนธิสัญญา (Treaty) ไทย - ฝรั่งเศส 23 มีนาคม 1907 (3) พิธีสาร ( Protocol) ว่าด้วยปักปันเขตแดนท้ายสนธิสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม 1907 (แนบท้ายสนธิสัญญา)

สัญญาทั้งสามฉบับไม่ว่าจะเรียกชื่อต่างกันอย่างไร ก็เป็นสนธิสัญญา ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ( International Convention) ซึ่งมีผลผูกพันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นคู่ภาคีในสนธิสัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันกัมพูชาที่กัมพูชาจะมาถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนั้นหาได้ไม่ และกัมพูชาจะนำเอาสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสไปใช้สิทธิที่ศาลโลก เพื่อให้ศาลโลกมีคำพิพากษาเมื่อปี 1962 ก็ไม่ได้เช่นกัน การที่ศาลโลกมีคำพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 จึงเป็นคำพิพากษาที่ขัดต่อธรรมนูญศาลโลก ( Statute of the International Court of Justice ) ตามนัยมาตรา 36 ซึ่งมีหลักว่าสัญญาไม่มีความผูกพันทางกฎหมายสำหรับรัฐที่ไม่ได้ลงนาม และเป็นคำพิพากษาที่ขัดต่ออนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 มาตรา 2 ( 1) a, g และมาตรา 26 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ สัญญาต้องเป็นสัญญา ” ( Pacta sunt servanda ) “ โดยสัญญาผูกพันเฉพาะคู่สัญญา และอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะทำขึ้นฉบับเดียว สองฉบับ หรือหลายฉบับผนวกเข้าด้วยกัน และไม่ว่าจะเรียกชื่อเช่นใดก็ตาม ” และคู่สัญญาหมายถึง “ รัฐที่ยอมผูกพันตามสนธิสัญญา และรัฐที่สนธิสัญญามีผลบังคับใช้” กัมพูชาไม่ใช่คู่สัญญาและกัมพูชา ไม่ใช่เป็นรัฐที่สนธิสัญญาระหว่างไทย- ฝรั่งเศส 1904 - 1907 มีผลบังคับใช้ กัมพูชาจะนำสนธิสัญญาระหว่างไทย – ฝรั่งเศส 1904 -1907 ไปใช้สิทธิที่ศาลโลกไม่ได้เลย และศาลโลกก็ไม่มีอำนาจศาลที่จะพิจารณาพิพากษาคดีในปี 1962 โดยใช้สนธิสัญญาระหว่างไทย – ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ได้

นอกจากสัญญามีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาแล้ว หลักกฎหมาย สากลที่ว่า “ สัญญาต้องเป็นสัญญา” นั้น ยังเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เป็นหลักฐานในการปฏิบัติที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นกฎหมายคือ สัญญามีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญา ซึ่งธรรมนูญศาลโลกได้บัญญัติให้ศาลโลกซึ่งมีหน้าที่พิจารณาพิพากษากรณีพิพาทตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น จะต้องใช้จารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งได้รับการรับรองโดยทั่วไปว่าเป็นกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดี เมื่อกัมพูชาไม่ใช่คู่สัญญาตามสนธิสัญญาทั้งสามฉบับ แต่กัมพูชาใช้สนธิสัญญาทั้งสามฉบับมาฟ้องคดีต่อศาลโลก และศาลโลกได้ใช้สนธิสัญญาทั้งสามฉบับพิจารณาพิพากษาคดี คำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 จึงขัดต่อธรรมนูญศาลโลกมาตรา 38 ( 1 ) b คำพิพากษาศาลโลกจึงเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับกับไทย และในกรณีดังกล่าว กัมพูชาจะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ได้ แต่เมื่อกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา และศาลโลกรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ไทยจะต้องยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นต่อสู้และต้องยกขึ้นโต้แย้งในคำแถลงการณ์ด้วยวาจา โดยศาลโลกจะนำเอาคำพิพากษาที่เป็นโมฆะขัดต่อธรรมนูญศาลโลกและขัดต่ออนุสัญญากรุงเวียนนามาตีความตามที่กัมพูชาร้องขอไม่ได้ และจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน โดยศาลโลกไม่มีอำนาจรับคำร้องของกัมพูชาซึ่งไม่ใช่เป็นคู่สัญญาตามสนธิสัญญาทั้งสามฉบับที่ได้มีคำพิพากษาในปี 1962 นั้นได้เลย

ตามหลักกฎหมาย สนธิสัญญาจะมีผลก็แต่เฉพาะคู่สัญญาระหว่างรัฐภาคีเท่านั้น บุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นภาคีสัญญาด้วยไม่อาจอ้างประโยชน์จากสัญญา หรือไม่อาจถูกบังคับตามสัญญาได้ เพราะไม่มีความผูกพันทางกฎหมายต่อกัน ( Res inter alios acta ) ซึ่งสอดคล้องกับหลักภาษิตกฎหมายที่ว่า บุคคลที่สามไม่อาจอ้างประโยชน์จากสัญญา หรือไม่อาจถูกบังคับตามสัญญาได้ ( Pacta Tertiis nec nocent nec prosumt )

คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 เป็น “ ความผิดพลาดในกฎหมายซึ่งมีผลร้าย ” ( Error juris nocet ) แม้ไทยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยการถอนทหารจากปราสาทพระวิหารและล้อมรั้วปราสาทพระวิหาร รวมทั้งถอนเสาธงชาติไทยออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ก็ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาที่ผิดพลาดเป็นผลร้ายต่อไทยนั้น เป็นคำพิพากษาที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ และไม่อาจถือได้ว่าไทยได้ยอมรับคำพิพากษาศาลโลกนั้นแล้ว และไทยได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลโลกนั้นแล้ว คำพิพากษาที่ผิดพลาดเป็นผลร้ายนั้น จะต้องได้รับการเยี่ยวยาจากศาลโลกที่จะต้องให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมคือ ปราสาทพระวิหารยังคงเป็นของไทยและอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย โดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการขอให้ไทยกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนที่ศาลโลกมีคำพิพากษาปี 1962 และรัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการยกประเด็นดังกล่าวในการแถลงการณ์ด้วยวาจา เพื่อให้ศาลโลกยุติการตีความคำพิพากษาในครั้งนี้ และเพิกถอนมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นเสียด้วย

3. และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ได้กล่าวในคำพิพากษาว่า “ คู่ความมีข้อโต้แย้งอื่น อันมีลักษณะในทางภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดีประกอบด้วย แต่ศาลไม่สามารถที่จะถือว่าข้อโต้แย้งเหล่านั้นมีความสำคัญแต่อย่างใดในทางกฎหมาย” ( คำพิพากษาหน้า 13 ) ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่ศาลโลกไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยคดีในเรื่อง “ ที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ” ( Source of International law ) คือไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยที่มาหรือบ่อเกิดของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904 – 1907 เมื่อศาลโลกไม่ได้พิจารณาวินิจฉัย “ ที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ” จึงเกิดผลว่าสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 - 1907 ทั้งสามฉบับเป็นกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเท่านั้น ( เป็นกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างคู่ภาคี หรือคู่สัญญา ) แต่ศาลโลกได้ใช้สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 - 1907 ในการพิจารณาพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารซึ่งมีข้อพิพากษาระหว่างกัมพูชากับไทย จึงเกิดผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า ทั้งไทยและกัมพูชาไม่อยู่ในฐานะที่จะรับรองสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904 - 1907 เป็นสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ศาลโลกใช้พิจารณาพิพากษาคดีข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาได้เลย เพราะไทยกับกัมพูชาไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904 -1907 ทั้งสามฉบับ การที่ศาลโลกใช้สัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904 – 1907 เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ( International Convention ) มาบังคับใช้กับคดี ในกรณีมีข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาปี 1962 นั้น การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลโลกปี 1962 จึงเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ขัดต่อธรรมนูญศาลโลก มาตรา 38 ( 1) a ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มาสู่ศาลโดยจะต้องใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศไม่ว่าโดยทั่วไปหรือโดยเฉพาะ ซึ่งต้องมีกฎเกณฑ์อันเป็นที่รับรองโดยรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904 - 1907 ไม่อาจนำมาใช้ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ( International law ) ในคดีปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ เพราะไม่ใช่เป็นสัญญาระหว่างประเทศ ( International Convention ) ระหว่างไทยกับกัมพูชานั่นเอง (สัญญาระหว่างคู่สัญญาคือกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน ) ไทยและกัมพูชาไม่ใช่รัฐที่เกี่ยวข้องในสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ที่จะรับรองสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ได้เลย

รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องยกปัญหาการที่ศาลโลกใช้สัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904 -1907 จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชาขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในการแถลงการณ์ด้วยวาจา เพื่อตัดบทไม่ให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962


4. รัฐบาลไทยจะต้องยก สัญญาลับระหว่างอังกฤษ - ฝรั่งเศส ( Entente Cordiale) 8 เมษายน 1904 หรือ “ สัญญาลับ Entente Cordiale1904 ” “ อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวระหว่างไทย – ฝรั่งเศส 9 พฤษภาคม 1941 และ “ ข้อตกลงวอชิงตันระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 17 พฤศจิกายน 1946” ขึ้นต่อสู้ในคำแถลงการณ์ด้วยวาจาด้วย เพราะสัญญาดังกล่าวมีผลต่อสัญญาระหว่างไทย – ฝรั่งเศส 1940 -1907 และพิธีสารหรือสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนฉบับวันที่ 23 มีนาคม 1907 ที่ศาลโลกใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีปี 1962 ทั้งสิ้น

“สัญญาลับ Entente Cordiale 1904” เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังอนุสัญญาไทย –ฝรั่งเศส 13 กุมภาพันธ์ 1904 และเกิดขึ้นก่อนสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 23 มีนาคม 1907 และพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนท้ายหนังสือสนธิสัญญาไทย –ฝรั่งเศส 23 มีนาคม 1907 “สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ” จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามอนุสัญญากรุงเวียนนา 1969 มาตรา 36 ( Vienna Convention on the law of Treaties 1969 ) สนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ทั้งสามฉบับ จึงเป็นโมฆะเพราะขัดกับ “สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ” [ นอกจากจะเป็นโมฆะเพราะขัดต่อหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus Cogens ) โดยถูกกำลังบังคับให้ทำสัญญาแล้ว ] สัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904-1907 จึงเป็นโมฆะและไม่มีอยู่ตั้งแต่เริ่มทำสัญญา เมื่อไทยได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสตามอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวเมื่อ 9 พฤษภาคม 1941 “อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว” จึงมีผลบังคับใช้ตามเจตนาของคู่สัญญาคือไทยกับฝรั่งเศส และมีผลผูกพันฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ซึ่งฝรั่งเศสไม่อาจเลิกสัญญาลับ Entente Cordiale ได้ เพราะไทยได้ถือเอาประโยชน์ตามสัญญาลับ Entente Cordiale โดยทำอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา 37 ( 2) ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา 1969

5. ต่อมาเมื่อได้มีกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยสหประชาชาติได้ยึดหลักแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยของประเทศสมาชิกเป็นมูลฐาน ไทยได้ขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่ได้ถูกปิดกั้นการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติและถูกบังคับให้ไทยต้องจำใจทำข้อตกลงวอชิงตัน กับฝรั่งเศสเมื่อ 17 พฤศจิกายน 1946 ( พ.ศ.2489 ) โดยไทยต้องยอมยกเลิก “ อนุสัญญากรุงโตเกียว ” และยอมเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทยบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ล้านช้าง ( หลวงพระบางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ) เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง นครจำปาศักดิ์ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและพระตะบองให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 4 ( 2 ) ซึ่งบัญญัติว่า “ การรับรัฐใดๆเช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาติจะเป็นผลก็แต่โดยมติของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง ” เมื่อฝรั่งเศสเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติ (Original Member ) และเป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวร (Security Permanent Member) ของสหประชาชาติ ซึ่งมีอำนาจในการรับสมาชิกสหประชาชาติแล้ว ไทยจำต้องยอมเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทยเพื่อได้เข้ามาเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยการทำสัญญา “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ” ซึ่งไทยต้องจำยอมให้มีคณะกรรมการขึ้นพิจารณาให้ไทยจะต้องยอมเสียอำนาจอธิปไตยในเขตแดนของไทย (ในส่วนที่ตกเป็นของกัมพูชา ) คือ นครจำปาศักดิ์บางส่วนและมณฑลบูรพาคือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เมื่อไทยได้ยอมเสียดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสซึ่งเคยออกเสียงคัดค้านการเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1946 ก็เปลี่ยนมาเป็นออกเสียงสนับสนุนในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคง ไทยจึงได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติตามมติของสมัชชาใหญ่ในวันที่ 15 ธันวาคม 1946 ( พ.ศ.2489 )

และก่อนที่ไทยจะลงนามใน “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946” ไทยได้พยายามที่จะรักษาอาณาเขตดินแดนของไทยไว้ให้ได้ โดยได้เสนอให้ (1) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตัดสิน ( 2 ) เสนอให้ศาลโลกตัดสิน ( 3) ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตดินแดนลงมติ ( 4 ) เจรจาโดยตรงกับฝรั่งเศส ( 5 ) ให้คณะกรรมการประนีประนอมดำเนินการ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

“ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ” นอกจากจะเป็นสัญญาที่เกิดจากการถูกบังคับให้ไทยต้องจำใจทำสัญญาซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus Cogens ) และขัดต่อ “ สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ” แล้ว นอกจากนี้ “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1904 ” ยังเป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ เพราะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักการสถาปนาองค์กรสหประชาชาติที่จะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ตามเจตจำนงและความมุ่งหมายของกฎบัตรสหประชาชาติ ( Detemined and the Ends ) ขัดต่อจุดประสงค์และหลักการ ( Purpose and principle )สหประชาชาติจะต้องยึดหลักแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยของรัฐสมาชิกทั้งมวลเป็นมูลฐานตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 ( 1 )

การที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และถูกบังคับให้ต้องทำ “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ” โดยไทยต้องเสียเขตแดนซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของไทยไปจำนวนไม่น้อยกว่า 69,029 ตารางกิโลเมตร ( เฉพาะที่ตกไปเป็นของกัมพูชา ซึ่งไม่รวมทั้งเกาะกงและเกาะต่างๆในทะเลอ่าวไทย ) กับต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมหาศาลในพื้นที่ดังกล่าวไปทั้งหมดด้วยนั้น จึงเป็นการที่ไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนและทรัพยากรดังกล่าว เพื่อการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ไทยจึงไม่ได้รับความเสมอภาคในอำนาจอธิปไตยในฐานะเป็นสมาชิกสหประชาชาติเช่นเดียวกับรัฐสมาชิกอื่น ๆ จึงเปรียบเทียบกับไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยไทยถูกเรียกให้จ่ายค่าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งต้องแลกด้วยอำนาจอธิปไตยในเขตแดนของไทยให้กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะมนตรีความมั่นคงถาวรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้มีอำนาจในการรับไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ

การที่ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนจำนวนไม่น้อยพร้อมทั้งทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลในดินแดนทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่กล่าวได้ว่าไทยถูกเรียกสินบนเพื่อให้ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาตินั่นเอง ซึ่งขัดกับหลักการและวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์กรสหประชาชาติ “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946” จึงเป็นโมฆะ เป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของมวลมนุษยชาติ “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ” จึงไม่มีผลบังคับใช้และไม่ทำให้ “ อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว 1941 ” สิ้นผลลงแต่อย่างใดไม่ “ อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว 1941 ” ยังมีผลบังคับใช้จนทุกวันนี้และผูกพัน ตามสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องให้อาณาเขตดินแดนของไทยเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น ( things thus standing ) และ “สัญญาลับ Entente Cordiale 1904” เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา 1969 มาตรา 36 (1) มาตรา 37 (2 ) และมีผลบังคับใช้กับฝรั่งเศสและไทยจนบัดนี้

อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา 1969 ออกใช้บังคับภายหลังที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาในปี 1962 เมื่อกัมพูชายกปัญหาคำพิพากษาในปี 1962 ให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาไทยจึงมีสิทธิยกอนุสัญญาเวียนนา 1969 ขึ้นกล่าวอ้าง และใช้ในคดีการตีความคำพิพากษาของศาลโลกได้

เขตดินแดนของไทยคือ นครจำปาศักดิ์บางส่วน มณฑลบูรพา รวมทั้งปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่รอยต่อระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ ( ขุขันธ์) กับนครจำปาศักดิ์ ( ส่วนที่ตกไปเป็นของกัมพูชา) และมณฑลบูรพา ซึ่งเป็นอาณาเขตของไทยอาณาเขตในดินแดนดังกล่าวทั้งหมดได้กลายเป็นทรัพย์สินที่เปรียบเสมือนเป็นค่าสินบน ที่ไทยถูกเรียกให้ชำระเพื่อการได้มาซึ่งการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสินบนนั้น ตามหลักกฎหมายหรือโดยจารีตประเพณี กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรืออำนาจอธิปไตยในเขตแดนไม่โอนไปแต่อย่างใด ดินแดนของไทยรวมทั้งปราสาทพระวิหารจึงยังคงเป็นดินแดนของไทย ทรัพย์สินที่เป็นสินบนนั้นไม่อาจโอนได้ไม่ว่าในกรณีใด เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายจากข้อตกลงที่เป็นโมฆะ ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ กัมพูชาจึงไม่อาจอ้างเอาเขตแดนของไทยที่ไทยจำต้องให้ฝรั่งเศสไปเป็นของกัมพูชาได้แต่อย่างใดไม่

เขตแดนของไทยที่เป็นเสมือนสินบน เพื่อการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ตาม “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1964 ” นั้น กรรมสิทธิ์ในเขตแดนไม่อาจโอนได้และเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจสืบสิทธิให้แก่กัมพูชาได้
เมื่อกัมพูชาเคยเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส “ อนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 ” “ ข้อตกลงวอชิงตัน 1964” จึงผูกพันกัมพูชาด้วย และกัมพูชาจะอ้างเอาอาณาเขตแดนของไทยซึ่งรวมทั้งปราสาทพระวิหารที่เป็นเสมือนค่าสินบนที่ทำให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาตินั้นไปเป็นของกัมพูชาหาได้ไม่ แม้ศาลโลกจะมีคำพิพากษาให้อำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ก็หาทำให้กัมพูชาได้ไปซึ่งอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหารโดยคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ไม่

ไทยจำเป็นต้องยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ หรือขึ้นว่ากล่าวในคำแถลงการณ์ด้วยวาจาให้สิ้นกระแสความ มิใช่เพื่อจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดินแดนคืน แต่เพื่อตัดอำนาจศาลโลกในการที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาปี 1962
หากรัฐบาลไทยละเลยไม่ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้หรือแถลงด้วยวาจาให้ปรากฏไว้ ก็จะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดอาญาในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรได้ เพราะรัฐบาลจะต้องรู้ว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลโลกในปี 1962 เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีโดยใช้สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 1904-1907 กับศาลโลกในปี 1962 ไม่ได้มีการพิจารณาถึง “การเป็นคู่สัญญา” ในสนธิสัญญา และไม่ได้มีการพิจารณาถึง “ที่มาหรือบ่อเกิดของสัญญาไทย – ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ” อันเป็นการพิจารณาที่ขัดต่อธรรมนูญศาลโลกตามนัย มาตรา 36 (5 ) , มาตรา 38 (1) a , b และไทยจำเป็นต้องยกสัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญา 1904 -1907 ขึ้นต่อสู้ในการตีความของศาลโลกด้วย เพราะสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังนั้นมีผลต่อการสิ้นผลของสนธิสัญญา 1904 -1907 โดยตรง สัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังที่ทำให้สนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส 1904-1907 สิ้นผล ศาลโลกก็จะตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 อันเป็นคำพิพากษาที่มีรากฐานมาจากสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ไม่ได้ และศาลโลกไม่มีอำนาจในการตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ได้

จากการได้ศึกษา “หนังสือ 50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร” จะเห็นได้ว่า การต่อสู้คดีของกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ครบถ้วน ไม่มีประเด็นอันเป็นแก่นของปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้ในคดี มีแต่กระพี้ของปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายแก่ข้าพเจ้าและประเทศชาติได้ ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงฯให้ทราบถึงประเด็นที่ควรจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลโลก นอกจากจะมีรายละเอียดข้อต่อสู้ ข้อโต้แย้ง ข้อคัดค้าน ตามหนังสือฉบับนี้แล้วยังมีรายละเอียดตามเอกสารที่อ้างถึงอีกหลายประเด็น

6. อนึ่งการที่กัมพูชานำเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ซึ่งเป็นคำพิพากษาเมื่อในปี 1962 และศาลโลกรับเรื่องไว้พิจารณา และได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวตามคำร้องขอของกัมพูชาแล้วนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่กัมพูชาและไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจปักปันเขตแดนหรือ MOU 2543 ( ค.ศ.2000 ) กันแล้ว การที่กัมพูชานำคดีให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาภายหลังที่ได้ทำ MOU 2543 แล้วนั้น จึงเป็นกรณีที่กัมพูชาไม่ต้องการปฏิบัติตาม MOU 2543 และแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะใช้เส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส 1904 – 1907 และแผนที่ตามสนธิสัญญาที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาในปี 1962 ทั้งกัมพูชาได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกได้กำหนดขึ้น ซึ่งก่อนที่ศาลโลกจะกำหนดมาตรการชั่วคราว กัมพูชาก็ได้กระทำละเมิด MOU 2543 หลายครั้งและไทยก็ได้ประท้วงไปหลายครั้งเช่นกัน กรณีจึงเป็นการที่กัมพูชาได้ยกเลิก MOU 2543 ไปเรียบร้อยแล้ว และไม่ต้องการปฏิบัติตามข้อตกลง MOU 2543 อีกต่อไป และไทยก็ได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกได้กำหนดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ไทยแสดงเจตนายกเลิก MOU 2543 อันเนื่องมาจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ ตามอนุสัญญากรุงเวียนนา 1969 มาตรา 62 (1) และเป็นกรณีที่ไม่อาจเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 62 (2) a ได้ และเมื่อปรากฏว่า MOU 2543 เป็นข้อตกลงการจัดทำเส้นเขตแดนโดยใช้มาตราส่วน 1 : 200,000 แทนมาตราส่วนเดิม 1 : 50,000 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตอำนาจรัฐ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 224 วรรคสองก่อน [ ตอนทำ MOU 2543 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ] MOU 2543 ระหว่างไทยกับกัมพูชาจึงสิ้นผลลงตามหลักกฎหมายในประเทศ ซึ่งผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญในประเทศต่อไป

แต่เมื่อการสิ้นผลลงของ MOU 2543
มีผลกระทบกับนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาว่าจะจัดทำหลักเขตแดนตามหลักฐานของกฎหมายและสนธิสัญญาที่มีอยู่ซึ่งก็คือ MOU 2543 เมื่อ MOU 2543 สิ้นผลลงไปแล้ว การดำเนินการของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนตาม MOU 2543 ก็จะเป็นการอันใช้ไม่ได้อีกต่อไป จึงเกิดผลในทางกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศว่า การดำเนินการอันเกี่ยวข้องกับเขตดินแดนระหว่างไทย -กัมพูชาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 เสียก่อน นับตั้งแต่เวลาที่กัมพูชานำเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา และศาลโลกได้กำหนดมาตรการชั่วคราวให้ไทยต้องปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลก ซึ่งมีผลให้ MOU 2543 สิ้นผลลงโดยสมบูรณ์ แต่เมื่อคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันไทยตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น และคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวของศาลโลกก็โดยอาศัยคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ซึ่งทำให้มาตรการชั่วคราวที่ออกมาใช้บังคับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศไปด้วยนั้น กรณีจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องยกข้อต่อสู้ในทุกประเด็นของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ขึ้นต่อสู้คดีในกรณีที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาในครั้งนี้ หากไทยไม่กระทำการดังกล่าว ไทยจะได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจประมาณได้ และการกระทำของรัฐบาลโดยฝ่ายบริหาร ก็จะไม่พ้นจากความรับผิดทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรไปได้

จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง และขอได้โปรดพิจารณายกข้อต่อสู้ไว้ในแถลงการณ์ด้วยวาจาให้ครบถ้วน และขอให้ศาลโลกดำเนินการให้ไทยกลับคืนสู่สถานะเดิมให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนอาณาเขตประเทศไทย เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของแผ่นดินไทยและของประชาชนชาวไทยต่อไปด้วย การยกข้อต่อสู้ให้ครบถ้วนในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เป็นการรักษาสันติภาพและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคงและถาวรตลอดไป เพราะประวัติศาสตร์ของแผ่นดินหรือความมีอยู่ของแผ่นดินไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน บิดเบือนความมีอยู่ของแผ่นดิน อาจเป็นการกระทำที่เรียกว่า ขายชาติ ขายแผ่นดิน หรือปล้นชาติ ปล้นแผ่นดินของตนเองได้

26 ก.พ.56
กำลังโหลดความคิดเห็น