“คำนูณ” ฉะ “บัวแก้ว” นิยาม “สันปันน้ำ” เพี้ยน ทำไทยเสียเปรียบ จี้ยุติเผยแพร่เอกสาร “50 ปี 50 ประเด็นฯ” ทันที หวั่นกระทบเส้นเขตแดนตลอดแนว “ช่องบก-ช่องสะงำ” ระบุจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่กว่าคดีเขาพระวิหาร พร้อมติงกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลคนไทยไม่รอบด้าน แถมแบไต๋เตรียมรับอำนาจศาลโลกแบบไม่มีข้อแม้
ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร วันนี้ (7 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างร่วมสัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อพิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชาในเขตอำนาจศาลโลก : ก้าวสำคัญของไทยกับจุดยืน จุดเปลี่ยน และจุดจบ” ว่า ขณะนี้จุดยืนของประเทศไทยแตกต่างจากในอดีตมาก แม้ในอดีตประเทศไทยจะเป็นฝ่ายแพ้ แต่ก็มีจุดยืนที่มีความเฉลียวฉลาด มีภูมิปัญญาในการต่อสู้ และยืนหยัดความเป็นจริงมาโดยตลอด แต่หลังจากนั้นน่าเสียดายว่ามีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของทุกรัฐบาลที่เข้ามา โดยเฉพาะช่วง 15 ปีให้หลังมานี้ ทั้งนี้ มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่จุดจบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย คือ เอกสาร 50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบปราสาทพระวิหาร ที่กระทรวงการต่างประเทศที่เผยแพร่ในเวบไซต์ไปเมื่อปลายเดือน ม.ค. 56 และกำลังจะพิมพ์แจกประชาชนทั่วประเทศในเร็วๆนี้
“เอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นฯ เป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกจุดยืนของประเทศไทยเมื่อปี 2505 แบบชนิดเอาหัวยืนแทนเท้า เอาเท้าขึ้นมาชูแทนหัว ทำให้สามารถคาดหมายได้ว่าจุดจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งผมได้พยายามวิงวอนให้รัฐบาลยุติการเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้มาโดยตลอด”
นายคำนูณยังได้กล่าวอีกว่า ในเอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นฯ มีหลายประเด็นที่จะนำพาประเทศไทยถลำลึกในหลุมดำแห่งความเสียเปรียบในการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาในอนาคต โดยเฉพาะคำนิยามศัพท์ “สันปันน้ำ” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่างจากจุดยืนในอดีตถึง 3 ข้อใหญ่ๆ คือ 1. บอกว่าสันปันน้ำอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ 2. บอกว่าปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ และ 3. ไปบอกด้วยว่าบริเวณปราสาทพระวิหารจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการสำรวจสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง ทั้งที่เมื่อครั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ฝ่ายไทยยืนยันเรื่องหลักเขตแดนโดยอ้างอิงสันปันน้ำซึ่งอยู่ที่หน้าผาไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งเมื่อ 100-200 ปีก่อนก็ไม่มีเครื่องมือใดๆ แต่ใช้วิธีการเดินสำรวจ
“ไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศจะไปนิยามศัพท์คำว่าสันปันน้ำใหม่เพื่ออะไร เพราะผลที่ตามมาจะทำให้เส้นเขตแดนที่ไทยเคยยืนยันหายไป เหลือเพียงเส้นเขตแดนที่กัมพูชายืนยัน เพราะเราไปกลับคำของประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง และไปยอมรับว่าไม่เคยมีการสำรวจ ไม่เคยใช้เครื่องมือ และสันปันน้ำอาจจะไม่ใช่หน้าผาก็ได้ ประเด็นนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง และเรื่องนี้อาจใหญ่กว่าคคีที่กำลังพิจาณาอยู่ในศาลโลกด้วยซ้ำ เพราะจะมีผลต่อการเจรจาเขตแดนไทยตลอดแนวช่องบก-ช่องสะงำ ระยะทาง 195 กม. ที่ไม่เคยมีการปักปันเขตแดนมาก่อน”
นายคำนูณยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศกลับไม่เคยให้ข้อมูลแก่คนไทยอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการที่ประเทศประเทศหนึ่งจะรับเขตอำนาจศาลโลกต้องมีเงื่อนไขอย่างไร และไม่ได้บอกว่าไทยไม่จำเป็นต้องรับเขตอำนาจศาลโลกโดยอัตโนมัติ อีกทั้งไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญารับเขตอำนาจศาลโลกมาแล้วกว่า 50 ปีเศษ ซึ่งอาจจะอ้างว่าไทยจำเป็นต้องรับผลผูกพันของศาลโลก เนื่องจากกัมพูชายื่นให้ศาลตีความในคำพิพากษาเดิมตามแต่ในธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 (2) แต่ก็ไม่เคยมาบอกกับคนไทยอีกว่าที่ผ่านมามีเพียง 4 กรณีที่ยื่นต่อศาลโลกตามมาตรา 60 (2) และระยะเวลานานที่สุดที่ยื่นขอตีความคือ 4 ปีเท่านั้น แต่คดีปราสาทพระวิหารผ่านมาแล้วถึง 50 ปี ซึ่งเป็นจุดที่กระทรวงการต่างประเทศไม่นำไปต่อสู้ แถมยังไประบุไว้ในเอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นฯ อีกว่า หากศาลโลกมีคำพิพากษาออกมา ประเทศไทยและกัมพูชาในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีในการปฎิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกอย่างไม่มีข้อแม้