1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ออกมาให้ข่าวในทำนองว่าให้คนไทยทำใจยอมรับกับความพ่ายแพ้คดีที่ศาลโลกจะตัดสินในไม่ช้า เมื่อศาลโลกได้กำหนดเวลาให้ไทยแถลงการณ์ด้วยวาจา (Oral argument) ในเดือนเมษายน 2013 ในขณะเดียวกันรองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้ข่าวในทำนองว่า ไทยควรทำตัวเป็นเด็กดี เพราะผู้พิพากษาศาลโลกเป็นปุถุชนคนธรรมดา หากไทยทำตัวไม่ดี ไทยอาจแพ้คดีได้
จึงเกิดความสงสัยว่าในการที่ไทยได้ยื่นความเห็นต่อศาลโลกเป็นลายลักษณ์อักษร ( written observation ) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 นั้น รัฐบาลได้ทำความเห็นไปครบถ้วนทุกประเด็นแห่งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อโต้แย้งการใช้สิทธิของกัมพูชาที่ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ข้อสงวนสิทธิของไทยที่ได้แจ้งไว้ต่อสหประชาชาติในปี 1964 ตลอดจนข้อโต้แย้งการใช้อำนาจการตีความของศาลโลกที่จะให้ศาลโลกได้พิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพลเมืองไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ เพียงใด
ข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคำวินิจฉัยของศาลโลกนั้น มีผลต่อประเทศชาติและต่อพลเมืองไทยซึ่งถือได้ว่ามีผลต่อมนุษยชาติ เพราะพลเมืองไทยคือมนุษยชาติในความหมายของสหประชาชาติ พลเมืองไทยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคำวินิจฉัยของศาลโลก รัฐบาลไทยจะทำหน้าที่โดยมีข้อบกพร่องและโดยทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้ และจะอ้างความไม่รู้ ความไม่ชำนาญ เป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ เพราะคำพิพากษาของศาลโลกไม่อาจคุ้มครองการกระทำผู้แทนของรัฐซึ่งเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉล หรือการกระทำการโดยทุจริตคอรัปชั่นของผู้แทนของรัฐได้
พลเมืองไทยโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีอำนาจหน้าที่ในการมีบทบาท ตลอดจนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศโดยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมตามบริบทรัฐธรรมนูญ และตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 87(3) พลเมืองไทยในสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นองค์กรพลเมือง (civil organization หรือ Non government organization) มีสิทธิที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง (Right of self – determination ) ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่ได้รับรองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ( Customary Rule of International Law ) และตามพิธีสารของอนุสัญญาเจนีวา ประชาชนคนไทยหรือกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นองค์กรพลเมือง [ ที่มิใช่กลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง หรือมีลักษณะเป็นกองกำลังนอกกฎหมายของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ] องค์กรพลเมืองที่แท้จริงและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมมีสิทธิที่จะตัดสินใจดำเนินการนำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปยังศาลโลก โดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดของกระบวนการพิจารณาคดีของศาลโลกได้ และมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนำไปใช้เพื่อต่อสู้ในการพิจารณาคดีของศาลโลกได้ ในกรณีหลังนี้รัฐบาลมีดุลพินิจที่จะทำหรือไม่กระทำก็ได้ แต่รัฐบาลจะต้องสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาเอง หากศาลโลกได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีในทางลบต่อประเทศไทย โดยมีเหตุผลตามนัยข้อเรียกร้องของภาคพลเมืองที่รัฐบาลไม่นำพาไปใช้เป็นข้อต่อสู้คดีในศาลโลกได้ เพราะจะมีข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันทั่วไปถึงสาเหตุของการแพ้คดีว่าอาจเป็นปัญหาทางการเมืองได้ เนื่องจาก มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมาชิกพรรคการเมืองในขณะเป็นฝ่ายค้านมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อหาก่อการร้ายและการจลาจล โดยมีข่าวปรากฏต่อสาธารณะและประชาคมโลกว่ามีการใช้ประเทศกัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำ และเป็นสถานที่หลบหนีการกระทำความผิดดังกล่าวมาแล้วก่อนที่จะมาเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวสามารถพิสูจน์เจตนาในการกระทำความผิดของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายในประเทศได้
ผู้เขียนขอแสดงความเคารพเป็นอย่างสูงด้วยความจริงใจต่อรัฐบาลกัมพูชาในการกระทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของกัมพูชาในการที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลก ปี 1962 ที่ศาลได้พิพากษาว่า “ ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ( The Temple of Preah Vihear is situated in territory under sovereignty of Cambodia ) ” โดยกัมพูชาเห็นว่าคำพิพากษาของศาลโลก คู่กรณีต้องผูกพันตามเส้นเขตแดนตามแผนที่ที่กัมพูชาอ้างเป็นพยานแนบท้ายหมายเลข 1 ( Annex 1 map) ซึ่งไทยจะต้องถอนกำลังทหารและตำรวจผู้ดูแลควบคุมออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร ( Vicinity ) ซึ่งกัมพูชาถือว่าอยู่ในอาณาเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา โดยจะต้องออกไปจากตัวปราสาทซึ่งรวมถึงสถานที่ที่เรียกว่าบริเวณปราสาทด้วย ( extends to area of the Temple in general )
ผู้เขียนในฐานะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย โดยปราศจากซึ่งอคติใดๆกับทุกฝ่าย และเห็นด้วยกับการที่ไทยและกัมพูชาจะต้องมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดีต่อกันบนพื้นฐานของการเคารพและไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันภายใต้หลักกฎหมายและความชอบธรรมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ผู้เขียนจึงขอเสนอความเห็นทางวิชาการของวิชาชีพทางกฎหมายถึงสิทธิอันชอบธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่า กัมพูชามีสิทธิจะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ได้หรือไม่ และศาลโลกในปัจจุบันจะตีความคำพิพากษาศาลโลกที่ได้พิพากษาคดีไปแล้วเมื่อ 50 ปี ได้หรือไม่ในขอบเขตเพียงใด
2. ศาลโลกวินิจฉัยคดีโดยการยอมรับของคู่ความว่า ต้นเหตุของข้อพิพาทนี้อยู่ที่ความตกลงแบ่งเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศสยาม (ไทย ) ที่ได้ทำกันในปี 1904 -1908 ( ร.ศ. 122-126 ) และโดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารเป็นของไทยหรือกัมพูชานั้นขึ้นอยู่กับสนธิสัญญาปักปันเขตแดนฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 และขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมา ฉะนั้นศาลจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ระหว่างคู่ความก่อนสมัยสนธิสัญญาปี 1904 (คำพิพากษาหน้า 13 – 14 )
เมื่อคู่ความรับกันดังกล่าว ศาลโลกได้พิจารณาคดีโดยไม่รับฟังพยานหลักฐานภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดีประกอบด้วย โดยศาลโลกให้เหตุผลว่า ศาลไม่สามารถที่จะถือว่าข้อโต้แย้งเหล่านั้นมีความสำคัญในทางกฎหมายแต่อย่างใด โดยกล่าวในคำพิพากษาว่า “The Partris have also relied on other arguments of a physical , historical , religious and archaeological , but the Court is unable to regard them as legally decisive ”
จากคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ทำให้คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 นั้น ไม่สามารถนำมาตีความคำพิพากษาศาลโลกได้คือ
ประเด็นแรก การที่ศาลโลกพิพากษาคดีในปี 1962 เป็นการพิพากษาคดีโดยไม่รับฟังพยานที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และหลักฐานทางโบราณคดี โดยจะพิจารณาจากสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 เพื่อวินิจฉัยคดีเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยคดีว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนของประเทศใด โดยไม่พิจารณาถึงสถานการณ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และไทยกับกัมพูชาก่อนสนธิสัญญาปี 1904 รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ด้วยนั้น เป็นการที่ศาลโลกได้พิพากษาคดีในปี 1962 โดยศาลโลกได้ตัดพยานไม่รับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตนาในการทำสัญญาของคู่สัญญาคือ ไทยและฝรั่งเศส คำพิพากษาของศาลโลกในปี1962 จึงเป็นคำพิพากษาโดยไม่รู้ว่าคู่สัญญามีเจตนาที่แท้จริงในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวกันอย่างไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เจตนาของคู่สัญญาที่จะผูกพันกันตามสนธิสัญญาในปี 1904 – 1907 นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดยคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962
การขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีศาลโลกได้พิจารณาพิพากษาคดีในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตนาในการทำสัญญาของคู่สัญญาแล้ว คือคู่สัญญาไทยกับฝรั่งเศสจะต้องทำสัญญาด้วยความสมัครใจและเต็มใจ ปราศจากจากการข่มขู่ การบังคับ การฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญาดังกล่าว สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 1904- 1907 จะต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) หรือเป็นสัญญาที่เป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นเพราะถูกบังคับข่มขู่หรือถูกฉ้อฉล เมื่อคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับเจตนาในการเข้าทำสัญญาของคู่สัญญา ศาลโลกโดยผู้พิพากษาในปัจจุบันจึงไม่อาจตีความคำพิพากษาของศาลในปี 1962 ได้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงอันสำคัญที่จะหยั่งทราบเจตนาของไทยและฝรั่งเศสในขณะทำสนธิสัญญาในปี 1904 - 1907 ได้
กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ได้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตนาในการทำสัญญาของไทยกับฝรั่งเศสให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้
ประเด็นที่สอง คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ได้นำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก่อนสนธิสัญญา 1904 และช่วงของการทำสัญญาคือระหว่าง ค.ศ.1904 ถึง 1908 นั้น เป็นการที่ศาลไม่ได้พิจารณาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของไทยและของฝรั่งเศสในช่วงเวลาก่อนและในเวลาขณะที่ไทยทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในปี 1904 - 1908 แต่อย่างใด ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสนธิสัญญาดังกล่าว เมื่อไทยถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาด้วยการใช้เรือปืนรุกล้ำเข้ามาในประเทศไทยและถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่โดยกระทำต่อพลเมืองของไทย มีการปฏิบัติการโดยใช้เรือรบปิดปากอ่าวและน่านน้ำทางทะเลของไทย และบังคับให้เรือของชาติเป็นกลางออกจากพื้นที่ภายในกำหนดเวลา ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่จะถูกล่าเป็นเมืองขึ้นหรือถูกล่าให้เป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนคือ เวียดนามแล้ว การทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 1904 -1908 จึงเป็นโมฆะเพราะ ขัดต่อหลักกฎหมายตามมาตรฐานห้ามเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ [ Peremptory norm of general international law หรือ Jus Cogens) ซึ่งห้ามไม่ให้ใช้การบังคับขู่เข็ญ ใช้กำลังอาวุธกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาทำสัญญาด้วย หากมีการกระทำดังกล่าว สนธิสัญญาย่อมตกเป็นโมฆะ ซึ่งอยู่ในบังคับตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำสนธิสัญญาค.ศ. 1969 มาตรา 52 , 53 , 64, 71 [ Vienna Convention on the law of Treaties 1969 , Article 52 , 53 , 64 , 71 ]
และเมื่อไทยถูกบังคับให้ต้องทำสนธิสัญญาในระหว่างปี ค.ศ. 1904 ถึง 1907 กับฝรั่งเศส กรณีจึงมีเหตุผลอยู่ในตัวเองที่ศาลโลกในปัจจุบันไม่สามารถตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ได้ เพราะคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ไม่มีผลใช้บังคับ คำพิพากษาศาลโลก 1962 ไม่อาจรับรองหรือทำให้สัญญาที่ได้กระทำระหว่างคู่สัญญาโดยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่มีลักษณะบังคับห้ามเด็ดขาด ( Jus Cogens ) ให้กลายเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศได้แต่อย่างใดไม่ สัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 1904 – 1907 เป็นโมฆะในทันทีโดยอัตโนมัติตั้งแต่แรก ( ab initio ) และมีผลเป็นโมฆะตลอดมา กัมพูชาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้
สถานะของกัมพูชาเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยผลของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในระหว่าง ค.ศ.1904 – 1907 โดยที่ไทยไม่ได้อ้างความเป็นโมฆะของสนธิสัญญาดังกล่าวในการพิจารณาคดีของศาลโลกในปี 1962 นั้น นับว่าเป็นคุณต่อกัมพูชาแล้ว เพราะไทยสามารถอ้างความเป็นโมฆะกรรมและความสิ้นสุดของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1904 -1907 ขึ้นอ้างเมื่อใดก็ได้ และสามารถยกขึ้นอ้างในการแถลงการณ์ด้วยวาจาในเดือนเมษายน 2013 เพื่อให้ศาลโลกพิจารณาวินิจฉัยถึงอำนาจของศาลในการตีความคำพิพากษาปี 1962 ได้
เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ไทยจะต้องอ้างความเป็นโมฆะกรรมและความสิ้นสุดของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในระหว่างปี ค.ศ.1904 - 1907 เพื่อให้ศาลโลกนำไปพิจารณาในการที่จะตีความคำพิพากษาปี 1962 ในทันที เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเกิดผลว่า กัมพูชาไม่มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 1962 ได้ และศาลไม่มีอำนาจศาล ( Competent Court ) ที่จะตีความคำพิพากษาศาลโลกได้ เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่ได้พิสูจน์เจตนาของไทยและฝรั่งเศสในการเข้าทำสนธิสัญญาปี 1904 - 1907 และไม่รู้ว่าการทำสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส นั้นเป็นสัญญาที่ละเมิดกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) ซึ่งเป็นโมฆะมาตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว
ประเด็นที่สาม คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ได้วินิจฉัยเป็นข้อยุติแล้วว่า เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และประเด็นข้อพิพาทที่เสนอต่อศาล จึงอยู่ในวงจำกัด อยู่ที่ความแตกต่างกันในความเห็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อที่จะชี้ขาดปัญหาอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ศาลจำต้องพิจารณาถึง “เส้นเขตแดน ” ระหว่างทั้งสองประเทศในตอนนี้ มีการเสนอแผนที่หลายฉบับ มีการเสนอข้อพิพาทหลายประการ ศาลจะได้พิจารณาสั่งเรื่องเท่าที่เห็นว่า มีเหตุผลจะนำมาใช้สนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลในการชี้ขาด การระงับข้อพิพาทดังกล่าว ( คำพิพากษาหน้า 12 )
ในปัญหาเกี่ยวกับเส้นเขตแดน ( frontier line ) กัมพูชาได้อ้างแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยามทำขึ้น ( Commission of Delimitation between Indo-china and Siam ) อันเป็นการอ้างเส้นตามแผนที่บนกระดาษที่มนุษย์ทำขึ้นเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ (ไม่ได้ทำในพื้นที่ ) และแผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้นนั้น กัมพูชาอ้างว่าเป็นคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยาม ซึ่งผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ตามข้อตกลงข้อ 3 ( article III ) ซึ่งไทยได้ปฏิเสธแผนที่ดังกล่าวว่าไม่ใช่เป็นแผนที่ที่คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนทำขึ้น และไทยได้อ้างเส้นเขตแดนตามธรรมชาติคือสันปันน้ำ อันเป็นไปตามข้อตกลงของสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 ( article I ) ซึ่งได้กำหนดเขตเส้นแดนไว้ตามสนธิสัญญาฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 1893 และข้อตกลงตามข้อ 1 นี้ [ article I ของสนธิสัญญา 13 กุมภาพันธ์ 1904 ] ได้นำเอาข้อตกลงตามสนธิสัญญาลงวันที่ 3 ตุลาคม 1893 มาเป็นหลักในการกำหนดเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสอินโดจีนไว้ด้วย ดังนั้นสนธิสัญญาวันที่ 13 ตุลาคม 1904 เป็นสนธิสัญญาโดยอาศัยข้อตกลงก่อนปี 1904 มาเป็นการกำหนดเขตแดนไว้ด้วย
[ Article I : The frontier between Siam and Cambodia starts, on the left shore of Great Lake, from the mouth of the river Stung Roluos , it follows the parallel from that point in an easterly direction until it meets the river Prek Kompong Tiam , then, turning north- ward, it merges with the meridian from that meeting –point as fas as the Pnom Dang Rek mountain chin. From there it follows the watershed between the basins of the Nam Sen and the Mekong, on the one hand , and the Nam Moun , on the other hand, and joins the Pnom Padang chain the crest of which it follows eastwards as far as the Mekong Upstream from that point , the Mekong remains the frontier of the Kingdom of Siam, in accordance with Article I of the Treaty of 3 October 1893 ]
การอ้างแผนที่บนกระดาษที่มนุษย์ได้ทำขึ้นเป็นเส้นเขตแดนในอดีต จึงเป็นการอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการอ้างเขตแดนเป็นสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน เป็นการอ้างทั้งลักษณะทางกายภาพภูมิศาสตร์ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเส้นเขตแดน
เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาในปี 1962 นั้น ศาลโลกไม่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ระหว่างคู่กรณีก่อนสนธิสัญญาปี 1904 โดยจะนำสถานการณ์หลังปี 1904 มาวินิจฉัยเท่านั้น คำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 จึงขัดต่อข้อกำหนดตามสนธิสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ซึ่งกำหนดให้นำเอาข้อตกลงตามสนธิสัญญาวันที่ 3 ตุลาคม 1893 มาเป็นหลักในการกำหนดเขตแดนด้วย คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนจะปักปันเขตแดนโดยไม่ยึดหลักและข้อตกลงตามสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 1893 ข้อ 1 ก็ไม่ได้ด้วย
และเมื่อศาลโลกได้ตัดพยานไม่รับฟังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดี รวมทั้งไม่รับฟังเหตุการณ์ที่มีมาก่อนสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 คือ ไม่รับฟังสนธิสัญญาลงวันที่ 3 ตุลาคม 1893 ซึ่งระบุไว้ในสนธิสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดน ( Mixed Commission Of Delimitation between Indo-china and Siam ) จะต้องดำเนินการปักปันเขตแดนให้มีเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 โดยต้องเป็นไปตามสนธิสัญญาวันที่ 3 ตุลาคม 1893 ข้อ 1 ด้วย โดยอย่างน้อยจะต้องมีเส้นเขตแดนจากฝั่งซ้ายของทะเลสาบ ( Great Lake ) จากปากแม่น้ำ สะดุง โรลูโอส ( Stung Roluos ) และไปตามเส้นขนานจากจุดนั้นไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งถึงแม่น้ำแปรก กำปง เทียม ( Prek Kompong Tiam ) แล้วเลี่ยงไปทางทิศเหนือไปพบกับเส้นตั้งฉาก จากจุดบรรจบนั้นจนกระทั่งถึงเขาดงรัก( Prom Dang Rek ) จากที่นั่น เส้นเขตแดนคือ สันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำของแม่น้ำเสน ( Nam Sem ) และแม่น้ำโขง ( Mekong ) ด้านหนึ่ง กับแม่น้ำมูล( Nam Moun ) อีกด้วยหนึ่งและสมทบกับทิวเขาภูผาด่าง ( Pnom Padang ) โดยถือยอดเขาเป็นเส้นเขตแดนไปทางทิศตะวันออกจนถึงแม่น้ำโขง จากจุดนั้นทวนน้ำขึ้นไปให้ถือแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนของอาณาจักรสยาม แต่เส้นเขตแดน ตามแผนที่ anmex 1 ที่กัมพูชาอ้างนั้น ไม่มีเส้นตั้งฉากถึงเขาดงรักเป็นเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 แต่ปรากฏว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ที่กัมพูชาส่งต่อศาลโลกนั้น เป็นเส้นเขตแดนอยู่แนวหลังทิวเขาดงรักเลยสันปันน้ำ ซึ่งศาลโลกก็มีความสงสัยว่าจะเป็นเส้นเขตแดนที่คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนได้ทำไว้จริงหรือไม่ ศาลโลกไม่ได้พิพากษาว่า คณะกรรมการร่วมได้มีการปักปันเขตแดนกันแล้ว แต่ศาลโลกวินิจฉัยคดีโดยสันนิษฐาน ( Presumption ) ว่าได้มีการปักปันเขตแดนแล้ว ( คำพิพากษาหน้า 17-18 )
คำพิพากษาศาลโลกที่พิพากษาคดีโดยมีข้อสันนิษฐานว่า คณะกรรมการร่วมได้มีการปักปันเขตแดนกันแล้ว คำพิพากษาศาลโลกจึงไม่อาจนำมาตีความคำพิพากษาได้ เพราะศาลโลกพิพากษาคดีโดยใช้ข้อสันนิษฐานของศาลในขณะนั้นเท่านั้น ศาลโลกไม่ได้พิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันแต่อย่างใด และศาลโลกก็ไม่มีอำนาจศาลที่จะตีความคำพิพากษาที่พิพากษาคดีโดยข้อสันนิษฐานของศาลเมื่อ 50 ปี ก่อนได้
การที่กัมพูชาอ้างเขตแดนโดยใช้แผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้น และไทยไม่ยอมรับแผนที่ แต่ไทยได้อ้างสันปันน้ำเป็นเขตแดน เมื่อศาลไม่รับฟังพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาและทางโบราณคดี การพิพากษาให้กัมพูชาชนะคดีย่อมเป็นการพิพากษาคดีที่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “อย่าไปเสียเวลากับการโต้แย้งสิ่งที่ชัดแจ้งเห็นจริงแล้ว” ( Adverus Solem ne Loquitor ) เพราะสันปันน้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่วิญญูชนทั่วไปคาดคิด และมีความเป็นไปได้ว่า คู่กรณีตกลงเอาสันปันน้ำเป็นการแบ่งอาณาเขตกันได้
ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกฎหมายการรับฟังพยานหลักฐาน ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งอ้างแผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้นมาเป็นพยาน และอีกฝ่ายหนึ่งอ้างสันปันน้ำธรรมชาติเป็นพยาน หากคู่ความไม่สืบพยานอื่นใดอีกแล้วฝ่ายอ้างสันปันน้ำย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะเป็นสิ่งที่เห็นชัดแจ้งอยู่แล้ว และเป็นไปตามหลักกฎหมายวิชาพิจารณาคดีสากลที่ว่า “ ข้อความที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว ย่อมไม่ต้องการคำอธิบาย ” ( Absoluta sententia expositore non indiget )
ประเด็นที่สี่ กัมพูชาฟ้องคดีต่อศาลโลกปี 1962 โดยอาศัยการ “สืบสิทธิจากฝรั่งเศส ” ( Succession ) เพราะฝรั่งเศสได้ทำสงครามล่าอาณานิคมและเข้ายึดครองประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนเป็นเมืองขึ้น ได้ยึดครองเวียดนามและรุกคืบเข้ามายึดครองลาวและกัมพูชา [ ในขณะนั้นเรียกว่าเขมร ] เขมรขณะนั้นยังไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศและอยู่ในความอารักขาของไทยมาเป็นเวลานาน มีวัฒนธรรมประเพณีมีการปฏิบัติระหว่างเจ้าเมืองเขมรกับพระมหากษัตริย์ของไทยที่ปฏิบัติต่อกันเยี่ยงญาติและผู้อยู่ในปกครอง ดินแดนของกัมพูชาจำนวนมากในปัจจุบัน รวมทั้งเกาะต่างๆในทะเลเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน จังหวัดพระตะบอง เสียมราช และศรีโสภณของกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นดินแดนของไทยมาก่อนเรียกว่ามณฑลบูรพาหรือมณฑลเขมร รวมทั้งดินแดนของกัมพูชาในปัจจุบันที่อยู่ต่อเนื่องกับจังหวัดศรีสะเกษ ( เดิมชื่อ จังหวัดขุขันธ์ ) ซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารก็เป็นดินแดนของไทยคือ นครจำปาศักดิ์ ฝรั่งเศสได้บังคับให้ไทยจำต้องยกนครจำปาศักดิ์ให้กับฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนจังหวัดจันทบุรีที่ฝรั่งเศสใช้กำลังบังคับยึดไว้เป็นประกันนั้นให้แก่ไทย ฝรั่งเศสคืนจังหวัดจันทบุรีให้ไทยแต่ก็ไปยึดจังหวัดตราดไว้แทน ฝรั่งเศสได้ดินแดนของไทยคือ นครจำปาศักดิ์ รวมทั้งมณฑลบูรพาและเกาะในทะเล โดยการใช้กำลังอาวุธบังคับและใช้วิธีการยึดจังหวัดจันทบุรีไว้เป็นการต่อรอง เพื่อให้ไทยยินยอมยกดินแดนนครจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนที่ต่อเนื่องกับจังหวัดศรีสะเกษและมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศส ไทยไม่เคยยินยอมยกดินแดนนครจำปาศักดิ์ซึ่งติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษและมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศส สนธิสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสไม่ใช่เป็นสนธิสัญญาที่ไทยได้สละดินแดนอาณาเขตประเทศไทยให้กับฝรั่งเศสด้วยความเสน่หาแต่อย่างใด แต่ไทยจำต้องทำสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะมีการใช้กำลังอาวุธที่เหนือกว่าบังคับและบุกเข้ายึดดินแดนบางแห่งไว้เป็นหลักประกันเพื่อเรียกร้องให้ไทย จำต้องยกดินแดนของไทยจำนวนมากให้กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาล่าอาณานิคมและเมืองขึ้น ในยุคการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก
ไทยไม่เคยยินยอมยกส่วนใดส่วนหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษรวมทั้งปราสาทพระวิหารให้แก่ฝรั่งเศส ไทยได้หวงแหนครอบครองดูแลจังหวัดศรีสะเกษหรือขุขันธ์ตลอดมา แม้ไทยจะเสียนครจำปาศักดิ์ให้ฝรั่งเศสแล้วก็ตาม ซึ่งปรากฏหลักฐานในคดีที่ศาลโลกกล่าวในคำพิพากษาว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตสถานแห่งประเทศไทย ได้เสด็จกึ่งราชการไปตรวจปราสาทพระวิหารในเดือนมกราคม 1929 และได้มีหนังสือถึงสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1930 และ 22 กรกฎาคม 1931 ขอทราบสารบบบัญชีของโบราณสถานที่ได้ตรวจสอบแล้ว ได้รับคำตอบสารบบระบุชื่อ “ เขาพระวิหาร “ แห่งนี้ว่าเป็นโบราณสถานหนึ่งในสี่แห่งของจังหวัดขุขันธ์ ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย การตรวจสอบโบราณสถานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน จึงเป็นการยืนยันโดยชัดเจนว่า ไทยได้ครอบครองเป็นเจ้าของและแสดงความเป็นเจ้าของตลอดมา เขาพระวิหารเป็นของไทยและอยู่ในเขตแดนของจังหวัดขุขันธ์ ซึ่งเป็นดินแดนไทยที่เชื่อมโยงกับมณฑลบูรพาและนครจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนของไทย และเป็นดินแดนที่อยู่ติดต่อเนื่องจากจังหวัดศรีสะเกษ ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจบังคับให้ไทยทำสัญญายกดินแดนนครจำปาศักดิ์ มณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา 1904 – 1907 เพื่อแลกกับจังหวัด จันทบุรี ตราด เกาะกง ด่านซ้ายที่ฝรั่งเศสใช้กำลังบังคับยึดไว้ โดยฝรั่งเศสยอมคืนจังหวัดตราดกับด่านซ้ายให้ โดยการถอนทหารออกไปเมื่อปี 1907 แต่ไม่ยอมคืนเกาะกงให้ไทย การที่ฝรั่งเศสได้ดินแดนนครจำปาศักดิ์ และมณฑลบูรพาของไทยไป เกิดจากการกระทำของฝรั่งเศสที่ได้กระทำโดยวิธีการบังคับขู่เข็ญ อันเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลัก JUS COGENS สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1904 - 1907 จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน
การแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จึงเป็นการแบ่งเขตแดนโดยไทยจำใจต้องกระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะอยู่ในภาวะที่ถูกบังคับข่มขู่ให้จำต้องยอม เพราะมิฉะนั้นไทยจะต้องสูญเสียดินแดนมากกว่าเดิมและอาจต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยของไทยไป ซึ่งอาจต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในสงครามล่าอาณานิคม การแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กระทำโดยฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นจากการกระทำอันละเมิดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามหลัก JUS COGENS ด้วยเช่นกัน การแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยทำเป็นแผนที่ Anmex 1 โดยฝรั่งเศสจึงเป็นโมฆะ กัมพูชาไม่อาจอ้างสิทธิการแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งละเมิดต่อหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาดและเป็นโมฆะนั้นมาใช้สิทธิใดๆได้เลย เพราะกัมพูชาเป็นผู้รับโอนสิทธิหรือเป็นผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศส ไม่มีสิทธิในดินแดนของไทยจากการกระทำโดยผิดกฎหมายและละเมิดหลักกฎหมาย Jus cogens ของฝรั่งเศส สิทธิของกัมพูชาเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ ผู้รับโอนมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้โอน ” หรือ “ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” ( Assignatus unitur jure auctoris ) ซึ่งก็สอดคล้องกับสนธิสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วย หลักเกณฑ์ในการทำสัญญา 1969 มาตรา 52 , 53 ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ( Vienna Convention on the law of Treaties 1969 , Article 52 , 53 )
กัมพูชาได้รับอิสรภาพในปี 1953 เป็นการได้รับอิสรภาพก่อนที่อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการสืบทอดของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา ค.ศ. 1978 และอนุสัญญาว่าด้วยการสืบสอดของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน บรรณสารและหนี้สินของรัฐ ค.ศ.1983 ออกใช้บังคับ [ Vienna Convention on Succession of state in Respect of Treaties , 1978 , Vienna Convention on Succession of state in Respect of Property , Archives and Debts , 1983 ] กัมพูชาจึงไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิในสนธิสัญญาที่ไทยได้ทำกับฝรั่งเศสในปี 1904 - 1907 และไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้รับโอนมาจากฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 - 1907 เลย เพราะสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นโมฆะก่อนที่กัมพูชาได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส กัมพูชาจึงไม่ได้สืบสิทธิทั้งในเรื่องดินแดน ทรัพย์สินในดินแดนคือ ปราสาทพระวิหาร ตลอดจนแผนที่ที่แสดงแนวเขตแดนที่ฝรั่งเศสได้ทำขึ้น อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะ “ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ”
กัมพูชาเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโลกเมื่อ 6 ตุลาคม 1959 ( พ.ศ.2502 ) คำฟ้องของกัมพูชาไม่ใช่เป็นปัญหาการโต้แย้งแบ่งเขตแดนระหว่างสองประเทศที่มีอาณาเขตแดนติดต่อกันและมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่เดิมพร้อมกันแต่อย่างใดไม่ แต่กัมพูชาฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิตามสนธิสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสในปี 1904 - 1907 เป็นการที่กัมพูชาอ้างสิทธิการมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารโดยการสืบสิทธิจากฝรั่งเศส ภาระการพิสูจน์ ( burden of proof ) จึงตกอยู่กับฝ่ายกัมพูชา ทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะอ้างการสืบสิทธิจากฝรั่งเศส โดยกัมพูชาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ( 1 ) กัมพูชาสืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ( Lawful Succession ) (2 ) ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและปราสาทพระวิหารอยู่ก่อนแล้ว โดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
แต่ศาลโลกได้กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกกับทั้งไทยและกัมพูชาโดยเท่าเทียมกัน เสมือนหนึ่งกัมพูชาเคยมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณที่เป็นอาณาเขตของปราสาทพระวิหารมาก่อน ( ปรากฏตามคำพิพากษาในหน้า 13-14 ) เมื่อศาลโลกได้กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับทั้งสองฝ่าย แต่ศาลโลกไม่รับฟังพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดีนั้น จึงเป็นการที่ศาลโลกในปี 1962 ไม่รับฟังพยานหลักฐานการสืบสิทธิของกัมพูชาที่สืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาปี 1904 และ 1907 โดยสิ้นเชิง แต่รับฟังโดยปริยายเลยว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและปราสาทพระวิหารมาโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว คำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 ได้พิพากษาคดีโดยตัดประเด็นความเป็นโมฆะกรรมของสนธิสัญญาปี 1904 - 1907 ซึ่งเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น และกำหนดให้ไทยและกัมพูชามีภาระการพิสูจน์โดยศาลโลกได้ตัดพยานไม่รับฟังพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดี แล้วพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารและพื้นที่บริเวณปราสาทอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชานั้น เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ( Civil procedure ) โดยผิดพลาดซึ่งเป็นผลร้ายต่อไทย กระบวนการดำเนินคดีดังกล่าว จึงขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปของสากล เพราะ “ความผิดพลาดในกฎหมายมีผลร้าย ” ( Error juris nocet ) ซึ่งเท่ากับกัมพูชาไม่ต้องพิสูจน์อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาที่มีเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร กัมพูชาไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารของฝรั่งเศสด้วยว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารที่ตนเองสืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสหรือไม่ กัมพูชาใช้กระดาษแผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้น (ตามแผนที่หมายเลข 1) โดยที่กัมพูชาไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนที่และไม่รู้ว่าแผนที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะศาลโลกได้กำหนดให้ไทยมีภาระการพิสูจน์ ทั้งที่ไทยครอบครองและเป็นเจ้าของอาณาเขตปราสาทพระวิหาร
และโดยหลักฐานทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นครจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนของไทยมาก่อนและเป็นดินแดนที่ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาวไทยเชื้อสายลาวมาก่อน เมื่อหมดสมัยล่าอาณานิคม นครจำปาศักดิ์บางส่วน โดยเฉพาะส่วนที่ติดเขตแดนของไทยทางจังหวัดศรีสะเกษได้กลายเป็นดินแดนของกัมพูชา จึงไม่มีเหตุที่กัมพูชาจะอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารหรือดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารได้เลยตามหลักฐานทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพราะบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร คือ จังหวัดขุขันธ์ หรือศรีสะเกษในปัจจุบัน และพื้นที่ต่อเนื่องเข้ามาในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาวไทยเชื้อสายลาวซึ่งเป็นดินแดนของไทยมาก่อน ไม่ใช่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวกัมพูชามาก่อน
คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 จึงไม่อาจนำมาให้ศาลโลกในปัจจุบันตีความคำพิพากษาได้ เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสืบสิทธิของกัมพูชาที่สืบสิทธิมาจากฝรั่งเศส และยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและเหนือบริเวณปราสาทมาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ลำพังการทำแผนที่บนกระดาษไม่อาจนำมาพิสูจน์อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่เกิดใหม่ได้เลย กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิที่ร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ได้ และศาลโลกในปัจจุบันก็ไม่มีอำนาจศาล ( Incompetence of Court ) ที่จะตีความคำพิพากษาศาลโลกเมื่อ 50 ปีก่อนได้
ประเด็นที่ห้า ศาลโลกปี 1962 ได้พิจารณาพิพากษาคดีแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ได้ทำขึ้นในปี 1904 – 1907 และสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นมา แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 นั้น มิได้มีแต่เฉพาะเหตุการณ์การตั้งกรรมการผสมไทย – ฝรั่งเศสเพื่อปักปันเขตแดนเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นภายหลังที่เป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาจำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณาและกล่าวอ้างในการต่อสู้คดีในคดีด้วย เพราะเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในดินแดนอันเป็นการแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศคือไทยกับกัมพูชา ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่มาตั้งแต่ดั้งเดิม กับประเทศกัมพูชาซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ในปี 1953 ( พ.ศ.2496 ) สิทธิในการอ้างสิทธิในดินแดนและปราสาทพระวิหารจึงมีความแตกต่างกันที่จะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
คำพิพากษาศาลโลกระบุว่า “คดีในปัจจุบันประเทศกัมพูชากล่าวหาว่าประเทศไทยได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขตปราสาทและบริเวณพระวิหาร ประเทศไทยได้ตอบแก้โดยยืนยันว่า ดินแดนที่เป็นปัญหานั้นอยู่ในด้านไทยของเขตแดนร่วมระหว่างประเทศทั้งสอง และอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย เรื่องนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน [ In the present case , Cambodia alleges a violation on the part of Thailand of Cambodia ’ s territorial sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts . Thailand replies by affirming that the area in guestion lies on the Thai side of the common frontier between the two countries , and is under the sovereignty of Thailand . This is a dispute about territorial sovereignty ] ( คำพิพากษาหน้า 12 )
อำนาจอธิปไตยในอาณาเขตดินแดนของความเป็นประเทศเก่ามีอายุมานานเกือบ 1,000 ปี กับอำนาจอธิปไตยของประเทศเกิดใหม่เพียง 60 ปีเศษย่อมแตกต่างกัน สิทธิเรียกร้องเรื่องอาณาเขตดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารของกัมพูชา จะต้องได้รับการพิสูจน์จากคำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 อย่างมั่นคงและแน่นอนเสียก่อน กับต้องเป็นประเด็นโดยตรงในเรื่องอาณาเขตระหว่างประเทศ การที่กัมพูชายื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ย่อมแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่า คำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องอำนาจอธิปไตยในเขตแดนโดยตรง ซึ่งไทยได้สงวนสิทธิในอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหาร โดยปรากฏหลักฐานในองค์การสหประชาชาติแล้ว การที่กัมพูชาจะเรียกร้องเอาอำนาจอธิปไตยในดินแดนรอบปราสาทพระวิหารที่นอกเหนือจากปราสาทพระวิหาร กัมพูชาจะต้องฟ้องคดีใหม่เพื่อพิสูจน์สิทธิของกัมพูชาว่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของกัมพูชา กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยอยู่ก่อนแล้วอย่างไร และฝรั่งเศสเข้ามายึดจากกัมพูชาไปอย่างไร และกัมพูชาได้รับการสืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสมาอย่างไร เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่กัมพูชาจะนำมาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้เลย
แต่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภายหลังที่ได้มีการทำสนธิสัญญาไทย ฝรั่งเศส ในปี 1904 – 1907 และสัญญาปักปันเขตแดนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 แล้ว ไทยกับฝรั่งเศสได้มีการทำสงครามเรื่องดินแดนกันอีก ในเดือนพฤศจิกายน 1940 ( พ.ศ.2483 ) มีการรบเกิดขึ้น โดยไม่ประกาศสงคราม ญี่ปุ่นให้เข้ามาไกล่เกลี่ย และได้มีการตกลงทำอนุสัญญาสันติภาพไทย –ฝรั่งเศส ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1941 [ Tokyo Peace Convention of May 9, 1941 ( พ.ศ. 2484 ) ] และผลจากอนุสัญญาและพิธีสารกรุงโตเกียว ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเขมรและลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เป็นของไทยและไทยเสียไปให้ฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 - ค.ศ.1907 ( พ.ศ. 2447 – 2450 ) คืนกลับให้แก่ไทย และใช้แม่น้ำโขงจึงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน-ฝรั่งเศส ( French – Indochina ) ดินแดนที่ไทยได้คืนกลับมาคือ นครจำปาศักดิ์ จังหวัดล้านช้างในแคว้นอาณาเขตลาว และมณฑลบูรพา และไทยได้ปกครองดินแดนดังกล่าว โดยตั้งเป็นจังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจำปาศักดิ์และจังหวัดล้านช้าง ปรากฏตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสคืน “ดินแดนของไทย” ให้กับไทยเฉพาะที่เป็นปัญหาในเรื่องนี้
ดินแดนแคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาได้กลับคืนมาเป็นของไทยตามอนุสัญญากรุงโตเกียวระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1941 ( พ.ศ. 2484 ) อนุสัญญามีผลโดยสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะได้มีการให้สัตยาบัน ( ratification ) จากสภานิติบัญญัติของคู่ภาคีสนธิสัญญาทั้งสองฝ่ายแล้ว ปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารจึงไม่เคยอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส เพราะดินแดนที่ไทยได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น เป็นดินแดนของไทยมาแต่เดิม
สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี ค.ศ.1904 -1907 เป็นสนธิสัญญาที่ขัดต่อหลักกฎหมายบังคับเด็ดขาดหรือ Jus cogens ซึ่งเป็นโมฆะและสัญญาสิ้นสุดลง ( terminates ) ตั้งแต่วันทำสัญญา ตามสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำสัญญามาตรา 64 ( Vienna Convention on the law of Treaties 23 May 1969, article 64 ) และเมื่อปรากฏว่าไทยกับฝรั่งเศสได้ทำอนุสัญญากรุงโตเกียวขึ้นในภายหลังก็ยิ่งเป็นการยืนยันซ้ำอีกถึงความไม่มีอยู่ขอสนธิสัญญาไทย -ฝรั่งเศส 1904 – 1907 มาตั้งแต่ต้น และเท่ากับ “ อนุสัญญากรุงโตเกียว 1941 ” เป็นสัญญาที่มีผลบังคับใช้ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสตามกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ฝรั่งเศสได้บังคับไทยและยึดครองดินแดนแคว้นนครจำปาศักดิ์ และมณฑลบูรพาไป อันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี 1904 -1907 เมื่อไทยได้ดินแดนทั้งสองกลับคืนมาจึงมีผลในทางกฎหมายโดยนัยสำคัญ ตามหลักกฎหมายสากลที่ว่า “ สัญญาไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำที่ผิดกฎหมาย” ( Ex maleficio non oritur Contractus ) ฝรั่งเศสจึงไม่ได้ครอบครองหรือได้ดินแดนหรือมีอำนาจอธิปไตยในแคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาของไทยในช่วงเวลาตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 - 1907 ดังกล่าว คือ ตั้งแต่วันที่ทำสนธิสัญญา 1904 -1907 จนถึงวันทำอนุสัญญากรุงโตเกียว คือ ถึงปี 1941 ( พ.ศ. 2484 ) ฝรั่งเศสไม่อาจอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจอธิปไตยในดินแดนแคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาตลอดจนปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดขุขันธ์ของไทยได้แต่อย่างใด เพราะสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสปี 1904 – 1907 เป็นโมฆะ และสิ้นสุดลงตั้งแต่วันทำสัญญาตามมาตรา 64 แห่งสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยการทำสัญญา 1969 ตามหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) ดังกล่าว เมื่อไทยได้แคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพากลับคืนมา จึงถือได้ว่าไทยเป็นเจ้าของและครอบครองปราสาทพระวิหารและดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารติดต่อกันมาตลอดระยะเวลาในฐานะมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทและดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารตลอดมาตั้งแต่ก่อนมีการทำสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส 1904 – 1907 และมีอำนาจอธิปไตยมาตลอดระยะเวลาจนถึงปี ค.ศ.1962 ( พ.ศ.2505 ) ที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชานี้เอง
คำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 จึงเป็นคำพิพากษาที่ได้นำเอาสนธิสัญญาระหว่างไทย – ฝรั่งเศส 1904 - 1907 ซึ่งเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้ในระหว่างคู่สัญญาและนำเอาผลในการดำเนินการปักปันเขตแดนซึ่งเป็นโมฆะตามสนธิสัญญาดังกล่าวมาพิจารณาพิพากษาคดี โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดีเลยนั้นย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยผิดพลาด ผลของคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 จึงไม่มีผลผูกพันไทย และกัมพูชาไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆที่จะนำคำพิพากษาดังกล่าวมาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้เลย และศาลโลกในปัจจุบันก็ไม่มีอำนาจศาลในการที่จะตีความคำพิพากษาในปี 1962 ได้ ไม่ว่ากรณีใด
อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวระหว่างไทย-ฝรั่งเศส [ Tokyo Peace Convention 1941 ( พ.ศ. 2484 ) ] ซึ่งมีความผูกพันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศตั้งแต่ 9 พฤษภาคม 1941
ข้อตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 (พ.ศ. 2489)[ Washingtion Accord , November 17 1946 ] เป็นข้อตกลงซึ่งไทยผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ไทยต้องโอนดินแดนของไทยบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ล้านช้าง ( หลวงพระบางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ) เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง บางสัดหรือนครจำปาศักดิ์ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และพระตะบองให้แก่ฝรั่งเศส
และสัญญาลับระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1904 ( ร.ศ.112 ) ( The Siam clause in the Entente Cordiale , 8 April 1904 ) สัญญาทั้งสามฉบับเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างไทยกับฝรั่งเศสทั้งสิ้น และมีความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 – 1907 และฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ทั้งสิ้น และสัญญาทั้งสามฉบับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ต้องนำมาพิจารณาวินิจฉัยถึงความผูกพันระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งโดยตรงและโดยปริยาย เมื่อกัมพูชาได้ฟ้องคดีที่ศาลโลกในปี 1962 แต่ศาลโลกไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสัญญาทั้งสามฉบับแต่อย่างใดเลย
การพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหารซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างเขตแดนประเทศ โดยศาลโลกไม่ได้พิจารณาถึงประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับสัญญาและข้อตกลงต่างๆที่ทำขึ้นภายหลังจากการทำสัญญาในปี 1904 -1907 แล้ว คำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 จึงเกิดความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะศาลโลกยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่และความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใดเลย การที่ศาลโลกรับคำร้องของกัมพูชาไว้แล้วเพื่อวินิจฉัยตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 การตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 จึงเป็นการตีความที่สุ่มเสี่ยงต่อประเทศไทยที่จะทำให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยทับซ้อนกับอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทยได้ โดยที่กัมพูชาไม่เคยมีสิทธิใดๆในปราสาทพระวิหารและดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารมาก่อน และการสืบสิทธิของกัมพูชาจากฝรั่งเศสยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์โดยคำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 มาก่อน ว่าเป็นการสืบสิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้แต่สิทธิหรืออำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศส ผู้ให้การสืบสิทธิกับกัมพูชาก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์จากศาลโลกในปี 1962 เลยว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารมาก่อนหรือไม่
การตีความคำพิพากษาศาลโลก เพื่อให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยทับซ้อนกับอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทย จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาดังกล่าวได้ ดังนั้นในการที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก ปี 1962 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศจะต้องยก “ อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว ค.ศ. 1941” “ สัญญาลับอังกฤษ Entente Cordiale 1904 ” “ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ” ขึ้นอ้างเป็นข้อโต้แย้ง เพราะอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาในฐานะผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศสและอำนาจอธิปไตยจากฝรั่งเศสเหนือปราสาทพระวิหาร ยังไม่มีการพิสูจน์โดยคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ได้ และไทยจะต้องคัดค้านโดยการขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินคดีใหม่ได้ในคำร้องคัดค้านดังกล่าวด้วย หากไทยไม่กระทำการดังกล่าวอาจถูกกล่าวว่าปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
ประเด็นที่หก เหตุผลที่ต้องยกอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว 1941 สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 และข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ขึ้นโต้แย้งในคำแถลงการณ์ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและเขตแดนระหว่างประเทศ ซึ่งมีปัญหาและเงื่อนแง่ในทางกฎหมายที่สำคัญ โดยต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาจากศาลโลกเสียก่อนคือ
( 1 ) สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญากับไทยคือทำในปี 1904 ( ร.ศ.112 ) สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่เป็นปฏิญญาร่วมกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนของไทยที่ทั้งสองประเทศกำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตอิทธิพลของตน ( Sphere of influence ) โดยทั้งสองประเทศตกลงจะไม่ยึดเอาดินแดนของไทยไม่ว่าที่ใด ประเทศทั้งสองต้องการเพียงขยายอิทธิพลในดินแดนทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำโขงให้เป็นของฝรั่งเศส และอังกฤษจะมีอิทธิพลอยู่ในดินแดนทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง ปฏิญญาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสดังกล่าวจึงมีผลผูกพันตามสัญญาระหว่างประเทศ โดยฝรั่งเศสจะยึดเอาดินแดนของไทยไปไม่ได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ไทยจะไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาลับ Entente Cordiale ด้วยก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสบังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาในปี 1904 -1907 โดยยึดเอาดินแดนของไทยไปผนวกเป็นดินแดนของอินโดจีนฝรั่งเศส ( French – Indochina ) สนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศสในปี 1904 -1907 ซึ่งเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายห้ามเด็ดขาดอยู่แล้ว( Jus cogens ) สนธิสัญญาปี 1904 – 1907 ดังกล่าวยังขัดต่อสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 อีกด้วย สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 จึงผูกพันกัมพูชาในฐานะที่กัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 และอ้างถึงการที่ตนสืบสิทธิจากฝรั่งเศสโดยนำเอาแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นมาใช้อ้าง และแผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นการยึดเอาดินแดนของไทยไปผนวกกับอินโดจีนฝรั่งเศส ไทยจะต้องอ้างการที่ฝรั่งเศสปฏิบัติต่อไทยโดยละเมิดต่อสนธิสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ที่ฝรั่งเศส เข้ามายึดดินแดนของไทยในส่วนที่ติดต่อจังหวัดศรีสะเกษผนวกเป็นอินโดจีนฝรั่งเศสขึ้นต่อสู้โต้แย้งด้วย เพราะการกระทำของกัมพูชาเป็นการใช้สิทธิของกัมพูชาในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศสมาเรียกร้องเอาดินแดนที่ต่อเนื่องกับปราสาทพระวิหารนั้น ก็เป็นการที่กัมพูชาได้จงใจกระทำละเมิดต่อไทยบุกรุกละเมิดอธิปไตยในดินแดนของไทย และกัมพูชาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาในปี 1962 เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชาได้เลย [ สนธิสัญญา Entente Cordiale 1904 ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสจะเป็นหลักฐานใหม่ที่จะเรียกเอาปราสาทพระวิหารคืนได้ ]
สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 เปรียบเทียบกับกฎหมายแพ่งในประเทศซึ่งเป็นหลักสากลแล้ว ก็คือ สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 , 375 โดยฝรั่งเศสและอังกฤษทำสัญญาจะไม่ยึดดินแดนของไทยในปี 1904 นั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อไทยซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญา แม้ไทยจะไม่รู้มาก่อนว่ามีสนธิสัญญาดังกล่าวก็ตาม ฝรั่งเศสก็ผูกพันตามสัญญาดังกล่าวที่จะไม่บุกยึดดินแดนของไทยไปผนวกกับอินโดจีนฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และไทยถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาลับดังกล่าวแล้ว โดยไทยไม่ยินยอมให้ฝรั่งเศสเอาดินแดนของไทยไปจนเกิดสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสขึ้น เพราะฝรั่งเศสเข้าโจมตีพลเมืองของไทยก่อน ไทยได้ต่อสู้และยึดคืนดินแดนของไทยทางด้านฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดตราดได้คืนมาจำนวนหนึ่ง ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงคราม การที่ฝรั่งเศสและไทยทำอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 นั้น เป็นการที่ฝรั่งเศสได้รู้ถึงการที่ไทยได้ถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 โดยสมบูรณ์แล้ว อนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 จึงไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกได้ เพราะมีสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 รองรับการทำอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 แล้ว การที่ฝรั่งเศสบังคับให้ไทยต้องคืนดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศส ภายหลังที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ โดยบังคับให้ไทยทำข้อตกลงระงับปัญหาวอชิงตัน 1946 [ Washingtion Accord 1946 ( พ.ศ.2489 ) ] และให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาระงับข้อขัดแย้งที่ไทยไม่ยอมคืนดินแดนที่ไทยได้มาตามอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 แต่คณะกรรมการได้ให้ไทยคืนดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศสไปอีกครั้งนั้น ย่อมเกิดปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 มีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ เพราะขัดกับสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ถ้าข้อตกลงวอชิงตันไม่มีผลบังคับใช้ อนุสัญญาสันติภาพโตเกียวก็ยังมีผลบังคับใช้ได้อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลโลกเสียก่อนที่ศาลจะตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 ได้
หรือเมื่อข้อตกลงวอชิงตันที่ยกเลิกอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว โดยมีข้อสัญญาว่า ให้คู่สัญญาไปใช้สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 ซึ่งเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นนั้น ข้อตกลงวอชิงตันก็ไม่เกิดผลผูกพันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่จะกลับไปใช้สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 ได้ ข้อตกลงวอชิงตันจึงเป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลในการปฏิบัติ สิทธิและหน้าที่ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก็ยังคงผูกพันตามอนุสัญญาสันติภาพโตเกียวอยู่อย่างเดิม ดินแดนนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาก็ยังคงเป็นของไทยตามอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว ปัญหาดังกล่าวก็ต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลโลกก่อนที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 ได้
ทั้งสองกรณีดังกล่าวกัมพูชาจึงไม่อาจอ้างการสืบสิทธิจากฝรั่งเศสในดินแดนนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพา ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ต่อเนื่องจากเขาพระวิหารที่ตั้งปราสาทพระวิหาร และไม่อาจอ้างการสืบสิทธิจากฝรั่งเศสในปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารได้เลย เพราะฝรั่งเศสไม่เคยมีอำนาจอธิปไตยในดินแดนเขาพระวิหารและปราสาทพระวิหารมาก่อน ในกรณีเช่นนี้ไทยจะต้องยื่นคำขาดเป็นหนังสือให้กัมพูชาถอนคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไปเสีย เพื่อให้เกิดสันติสุขระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
( 2 ) อนุสัญญาสันติภาพโตเกียวปี 1941 ( พ.ศ.2484 ) เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของฝรั่งเศส ตามสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 มีผลผูกพันฝรั่งเศสที่จะต้องให้อาณาเขตดินแดนของไทยเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น ( things thus standing ) และผูกพันคู่ภาคีสัญญาให้ต้องปฏิบัติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาสันติภาพโตเกียวปี 1941 จึงมีผลผูกพันฝรั่งเศสมาจนบัดนี้ เพราะเป็นอนุสัญญาที่เป็นไปตามสัญญาลับอังกฤษ-ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 ข้อตกลงวอชิงตัน1946 จึงขัดกับสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ที่ฝรั่งเศสทำไว้กับอังกฤษ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 จึงเป็นโมฆะ และขัดกับอนุสัญญาโตเกียวที่ฝรั่งเศสทำขึ้นเอง และมีผลผูกพันฝรั่งเศสตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์แล้ว การที่ไทยได้คืนดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศสตามข้อตกลงวอชิงตัน 1946 จึงมีปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะขัดกับเจตนารมณ์ของฝรั่งเศสตามสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ซึ่งสัญญาลับ Entente Cordiale มีผลผูกพันกับไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่อาณาเขตไทยต้องอยู่ในสถานะที่เป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น โดยฝรั่งเศสจะเอาดินแดนของไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศสไม่ได้ และฝรั่งเศสจะส่งมอบดินแดนของไทยให้กับกัมพูชาไม่ได้
เมื่อกัมพูชาอ้างว่าเป็นผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศส กัมพูชาจึงไม่ได้สิทธิหรือมีอำนาจอธิปไตยในเขตดินแดนนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาที่ฝรั่งเศสได้รับคืนไปจากไทย ( รวมทั้งกัมพูชาไม่มีอำนาจอธิปไตยในดินแดนที่ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหาร )
คำพิพากษาของศาลโลกที่ไม่ได้นำประวัติศาสตร์ การทำอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 และสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 มารับฟังเพื่อพิพากษาคดีในปี 1962 นั้น ไทยจะต้องยกประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งการตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ด้วย เพราะศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาพยานหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาทั้งสามฉบับ อันมีผลในเรื่องอาณาเขตดินแดนหรืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น หาทำได้ไม่
และกระทรวงการต่างประเทศจะคิดเองหรือตีความถึงความสิ้นสุดของสัญญาทั้งสามฉบับเองไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยต้องโต้แย้งให้ศาลโลกตีความความสิ้นสุดของสัญญา หรือความมีอยู่ของสัญญาทั้งสามฉบับเสียก่อนที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 และเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศโดยตรง เมื่อกระทรวงต่างประเทศได้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาทั้งสามฉบับมานานแล้ว ความบกพร่องของกระทรวงต่างประเทศในประเด็นนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดอาญาเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นที่เจ็ด ก่อนที่กัมพูชาจะยื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาปี 1962 กัมพูชาได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก ซึ่งเป็นกรณีที่กัมพูชาและยูเนสโกจะต้องทราบเป็นอย่างดีว่า ลำพังซากสลักหักพังของปราสาทพระวิหาร ( Ruin of the Temple of Preah Vihear ) ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ แต่จะต้องใช้พื้นที่ดินโดยรอบบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นของไทยและอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทยไปผนวกเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ช่วยให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไปทำข้อตกลงยินยอม ( Joint Communigue ) ให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงในการกระทำความผิดกฎหมายอาญาของเจ้าหน้าที่ไทย เพราะรัฐบาลไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน จึงจะไปทำบันทึกข้อตกลงให้กัมพูชาได้
การกระทำของกัมพูชาจึงทำให้เป็นที่สงสัยได้ว่า เป็นการกระทำที่มีเถยจิต (mens rea ) ร่วมกับนักการเมืองของรัฐบาลไทยที่จะรุกล้ำยึดถือดินแดนของไทยไปเป็นของกัมพูชา โดยอาศัยกติกาของยูเนสโกเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอาณาเขตของประเทศไทยหรือไม่
ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ( Compliance ) แล้ว โดยการถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารแล้ว ได้ถอนเสาธงชาติพร้อมทั้งธงชาติออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ได้ทำแนวเขตเพื่อให้การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกมีผลเป็นรูปธรรม ไทยได้ทำการล้อมรั้วลวดหนามไว้เป็นเขตแนวที่ชัดเจนว่า อาณาเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมีคำพิพากษานั้นอยู่ในขอบเขตอย่างไร การที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก กัมพูชาได้ยอมรับมาเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี และไม่เคยทักท้วงว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกแต่อย่างใดเลย ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกในทันทีที่ศาลโลกมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 94 ( 1 ) โดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 1962 พร้อมทั้งได้สงวนสิทธิที่จะเรียกคืนปราสาทพระวิหาร หากมีข้อเท็จจริงปรากฏหลักฐานภายหลังว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย การที่ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกมาเป็นเวลา 50 ปี โดยกัมพูชาไม่เคยทักท้วงหรือโต้แย้ง กฎหมายจึงปิดปากกัมพูชา กัมพูชาไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 ได้
การที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกตามกฎบัตรสหประชาชาติ 94 ( 1 )ตั้งแต่ปี 1962 แล้วนั้น กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลโลกดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของไทยโดยสมบูรณ์แล้วได้อีก การร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลก จึงเป็นการร้องขอให้ศาลโลกดำเนินการให้ศาลโลกรับรองการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชา และเป็นการกระทำอยู่ในข่ายของความผิดอาญาของราชอาณาจักรไทย ซึ่งกัมพูชาได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาไปแล้ว คำร้องของกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 จึงเป็นการใช้ศาลโลกเป็นเครื่องมือเพื่อให้รับรองการกระทำอันมีเจตนาร้าย ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายไทย ให้กลายเป็นการกระทำอันชอบในสายตาของประชาคมโลก คำร้องของกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา จึงไม่ใช่เป็นคำร้องตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 เมื่อกัมพูชาไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตีความคำพิพากษาศาลโลกได้ ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตามธรรมนูญศาลโลก หรือมีความชอบธรรมใดๆที่จะวินิจฉัยคำร้องของกัมพูชาได้เลย
ประเด็นที่แปด คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 เป็นคำพิพากษาที่วางสิทธิ โดยให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหาร ( The Temple of Preah Vihear is situated in territory under sovereignty of Cambodia ) คือให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยในทรัพย์สิน ( Imovable property ) คำพิพากษาของศาลโลกเป็นไปตามคำขอของกัมพูชาที่ขอต่อศาลโลกสองครั้ง คำร้องครั้งแรกกัมพูชาฟ้องและขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งว่า อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ( that the territory sovereignty over the Temple of Preah Vihear belongs to the Kingdom of Cambodia ) คำร้องครั้งที่สอง กัมพูชาเพิ่มเติมคำฟ้องและขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา (The Temple of Preah Vihear belongs to the Kingdom of Cambodia )
คำฟ้องและคำขอของกัมพูชาจึงมีจุดประสงค์ขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา จึงเป็นคำพิพากษาในเรื่องทรัพย์สินคือปราสาทพระวิหาร เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้กัมพูชามีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหาร ( ไม่ได้พิพากษาให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหาร ) โดยศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษาว่า ข้อเรียกร้องของกัมพูชาในข้อ 1 – 2 ที่ขอให้ศาลพิพากษาถึงสถานะทางกฎหมายของแผนที่และเส้นแดนนั้น มิใช่เป็นข้อที่ศาลจะต้องพิพากษาในภาคปฏิบัติ หากแต่ได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น [ คำพิพากษาหน้า 34 : Cambodia’ s first and second Submission , calling for pronouncement on the legal status of the Annex 1 map and on the frontier line in the disputed region , can be entertained only to the extent they give expression to grounds , and not as claims to be dealt with in the operative provisions of the Judgment . ]
คำพิพากษาของศาลโลกดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นคำพิพากษาที่กัมพูชา จะขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ได้เลย เพราะเป็นคำพิพากษาที่ห้ามตีความเพื่อบังคับในเรื่องเขตแดนไว้อยู่ในตัว
คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 เป็นคำพิพากษาที่เป็นเพียงการวางสิทธิของกัมพูชามีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจอธิปไตยเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารและอาณาเขตของตัวปราสาทเท่านั้น การขอให้ตีความเป็นเรื่องของการตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น กัมพูชาจะขอตีความคำพิพากษาเพื่อให้คำพิพากษากลายเป็นกฎหมายมาบังคับใช้สิทธิ หาได้ไม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายสากลว่า “ คำพิพากษาเป็นเพียงการวางสิทธิ การตีความกฎหมายเป็นเรื่องการบังคับใช้สิทธิ” (Sententia facit jus, et legis interpretation legis vim obtinet )
คำพิพากษาศาลโลกพิพากษาให้กรรมสิทธิ์ในประสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา จึงเป็นเสมือนหนึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าของตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของไทย ปราสาทพระวิหารจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกปักบนที่ดิน ปราสาทพระวิหารย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ตามหลักกฎหมายสากล “ สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน” ( Aedificatum solo, solo cedit ) หาใช่ที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของอาคารปราสาท หรือที่ดินเป็นอาณาเขตของอาคารปราสาทพระวิหารไม่ การที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา เพื่อจะบังคับคดีกับไทย เพื่อที่จะเอาที่ดินรอบอาคารปราสาทไปเป็นส่วนประกอบของอาคารปราสาทนั้น จึงเป็นการขอให้ศาลโลกปฏิบัติหน้าที่ของศาลแบบกลับตาลปัตรกัน เพราะเป็นการขอให้ศาลโลกใช้คำพิพากษาเป็นกฎหมายบังคับให้ที่ดินรอบปราสาทพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหาร ซึ่งก็คือกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกทำผิดหลักกฎหมายตามหลักกฎหมายสากล “ สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน” ไม่ใช่ให้ที่ดินที่ตั้งอาคารและที่ดินรอบอาคารเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ซึ่งไม่อาจจะกระทำได้ เพราะการตีความให้ที่ดินที่ตั้งอาคารหรือที่ดินรอบอาคารปราสาทเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารแล้ว การตีความคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษย์ชนของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลโลก ที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ตามกฎบัตรสหประชาชาติตามหลัก Bangalor Principles of Judicial Conduct
ในทางกลับกัน กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก ปี 1962 โดยต้องรื้อถอนปราสาทพระวิหารออกไปจากดินแดนของไทย รัฐบาลไทยต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลโลก (หากรัฐบาลไม่ต้องการจะใช้สิทธิฟ้องเรียกปราสาทพระวิหารคืน ) โดยต้องแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก ขอให้กัมพูชาปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ให้รื้อถอนปราสาทพระวิหารออกไปจากดินแดนอำนาจอธิปไตยของไทย ภายในระยะเวลาที่กำหนด ( ไม่ควรเกิน 1 ปี ) เพื่อให้กัมพูชานำไปประกอบเป็นปราสาทพระวิหารในดินแดนของกัมพูชา ซึ่งสามารถทำให้ปราสาทพระวิหารคงสภาพในรูปเดิม และมีคุณค่าทางโบราณคดีดังเดิมได้ โดยใช้ระบบการรื้อถอนและก่อสร้าง Anastilosis ได้
และหากไทยไม่ร้องขอต่อศาลโลก เพื่อบังคับคดีให้กัมพูชาให้รื้อถอนปราสาทพระวิหารออกไปในครั้งนี้ ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ถึงการทุจริตคอรัปชั่นได้โดยไม่ยาก ข้อความที่กระทรวงต่างประเทศจัดทำและนำเสนอต่อสาธารณะทางอินเตอร์เน็ต “ 50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร ” จะมีข้อความที่ส่อให้เห็นการทำพยานหลักฐานและสร้างพยานหลักฐานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชา โดยมีเจตนาให้ไทยเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนอย่างชัดแจ้งในหลายประเด็น
บทสรุป ประเด็นสำคัญการแถลงด้วยวาจาที่ไทยจะต้องยกขึ้นอ้างในแถลงการณ์คือ
1. อ้างถึงคำพิพากษาศาลโลกที่ไม่ได้นำเอาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาและหลักฐานทางโบราณคดีมาพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นคำพิพากษาที่ศาลโลกไม่ได้พิจารณาพิพากษาในเรื่องอาณาเขตระหว่างประเทศไว้ในคำพิพากษาปี 1962
2. คำพิพากษาศาลโลกได้อธิบายไว้โดยชัดแล้วว่า เป็นคำพิพากษาที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศ
3. สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 - 1907 เป็นโมฆะ ขัดต่อกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) ศาลโลกพิพากษาคดีโดยใช้สนธิสัญญา ไทย-ฝรั่งเศส 1904- 1907 คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่มีผลบังคับให้ไทยต้องปฏิบัติ และศาลโลกจะนำคำพิพากษาปี 1962 มาตีความใช้บังคับเป็นกฎหมายไม่ได้ ผลของการเป็นโมฆะของสนธิสัญญาดังกล่าว จะยกขึ้นต่อสู้เมื่อใดก็ได้ และไทยขอยกขึ้นต่อสู้ในกรณีที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ในครั้งนี้ด้วย
4. ไทยต้องอ้างสัญญาลับระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส 1904( Entente Cordiale 1904 ) ซึ่งผูกพันฝรั่งเศสที่จะนำดินแดนของไทยไปผนวกกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสไม่ได้
5. ไทยต้องอ้างอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ปี 1941 ว่ามีผลบังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน ในขณะทำอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวในปี 1941 นั้น สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 ไม่มีอยู่ เพราะเป็นโมฆะตามหลัก Jus cogens และขัดต่อสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 อาณาเขตของไทยตามสนธิสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว 1941 มีผลสมบูรณ์และไม่ได้ถูกล้มล้างโดยข้อตกลงวอชิงตัน 1946 เพราะข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ขัดต่อสัญญาลับอังกฤษ – ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 จึงเป็นโมฆะ
6. แผนที่ที่กัมพูชาอ้าง และศาลมีคำพิพากษาเกี่ยวกับแผนที่นั้น เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นตามสนธิสัญญา ไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 แผนที่ที่ทำขึ้นจึงเป็นโมฆะ และเป็นแผนที่ที่ขัดต่อสนธิสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 จะนำแผนที่มาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาไม่ได้
7. กัมพูชาไม่มีสิทธิในปราสาทพระวิหาร เพราะไม่ได้รับการสืบสิทธิจากฝรั่งเศส และฝรั่งเศสก็ไม่มีสิทธิในปราสาทพระวิหารที่จะให้กัมพูชาสืบสิทธิได้
8. กัมพูชาจะขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีไม่ได้ ไทยจะต้องยื่นคำร้องและแถลงด้วยวาจาให้กัมพูชารื้อถอนปราสาทพระวิหาร ไปจากดินแดนของไทยในกำหนดเวลาที่ไทยกำหนดให้ หากไม่รื้อถอนก็ให้ถือว่ากัมพูชาสละสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยตามหลักกฎหมายสากลที่ว่า “ อะไรที่ปลูกปักลงบนที่ดิน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ” ( ความจริงขณะนี้ก็เป็นของไทยอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ผูกพันไทย ) และสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ขัดต่อหลักกฎหมาย Jus cogens
9. ไทยควรสงวนสิทธิที่จะฟ้องคดีเรียกดินแดนคืน และเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายในกรณีที่ไม่ได้ดินแดนคืน
10. รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า การทำหน้าที่ฝ่ายบริหารกับการทำหน้าที่ในฐานะเป็น “ รัฐบาล ” นั้น มีความหมายแตกต่างกัน รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ของความเป็น “ รัฐบาล ” ในกรณีนี้ อันมิใช่ทำหน้าที่ “ เป็นเพียงฝ่ายบริหาร” เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน
11. กัมพูชานำคดีไปฟ้องต่อศาลโลก และกำลังให้ศาลโลกใช้คำพิพากษาเป็นกฎหมายโดยให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา เพื่อบังคับไทยให้ต้องเสียดินแดนและอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทย (ในความรู้สึกของประชาชน) กัมพูชาทำให้ไทยต้องไปศาลโลก ทำให้ประชาชนมีความทุกข์ รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกทางตามวิถีทางกฎหมายตามสุภาษิต “น้ำทำให้ดินเป็นโคลนได้ฉันใด โคลนหรือดินก็รับน้ำได้ฉันนั้น” ( Aqua cedit solo)
ไทยกับกัมพูชาจะต้องอยู่ร่วมกันเช่น น้ำกับดิน และต้องรับมือกันให้ได้ในบริบททางกฎหมาย ความเป็นจริงและความยุติธรรมตามกฎหมาย ด้วยความสุจริตของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย มิใช่ในบริบทของ ดินเลนและตม ที่ไหลตามน้ำลงทะเลไป มิฉะนั้นสันติสุขของประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้
7 ก.พ.56
จึงเกิดความสงสัยว่าในการที่ไทยได้ยื่นความเห็นต่อศาลโลกเป็นลายลักษณ์อักษร ( written observation ) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 นั้น รัฐบาลได้ทำความเห็นไปครบถ้วนทุกประเด็นแห่งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อโต้แย้งการใช้สิทธิของกัมพูชาที่ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ข้อสงวนสิทธิของไทยที่ได้แจ้งไว้ต่อสหประชาชาติในปี 1964 ตลอดจนข้อโต้แย้งการใช้อำนาจการตีความของศาลโลกที่จะให้ศาลโลกได้พิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพลเมืองไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ เพียงใด
ข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคำวินิจฉัยของศาลโลกนั้น มีผลต่อประเทศชาติและต่อพลเมืองไทยซึ่งถือได้ว่ามีผลต่อมนุษยชาติ เพราะพลเมืองไทยคือมนุษยชาติในความหมายของสหประชาชาติ พลเมืองไทยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคำวินิจฉัยของศาลโลก รัฐบาลไทยจะทำหน้าที่โดยมีข้อบกพร่องและโดยทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้ และจะอ้างความไม่รู้ ความไม่ชำนาญ เป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ เพราะคำพิพากษาของศาลโลกไม่อาจคุ้มครองการกระทำผู้แทนของรัฐซึ่งเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉล หรือการกระทำการโดยทุจริตคอรัปชั่นของผู้แทนของรัฐได้
พลเมืองไทยโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีอำนาจหน้าที่ในการมีบทบาท ตลอดจนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศโดยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมตามบริบทรัฐธรรมนูญ และตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 87(3) พลเมืองไทยในสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นองค์กรพลเมือง (civil organization หรือ Non government organization) มีสิทธิที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง (Right of self – determination ) ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่ได้รับรองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ( Customary Rule of International Law ) และตามพิธีสารของอนุสัญญาเจนีวา ประชาชนคนไทยหรือกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นองค์กรพลเมือง [ ที่มิใช่กลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง หรือมีลักษณะเป็นกองกำลังนอกกฎหมายของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ] องค์กรพลเมืองที่แท้จริงและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมมีสิทธิที่จะตัดสินใจดำเนินการนำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปยังศาลโลก โดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดของกระบวนการพิจารณาคดีของศาลโลกได้ และมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนำไปใช้เพื่อต่อสู้ในการพิจารณาคดีของศาลโลกได้ ในกรณีหลังนี้รัฐบาลมีดุลพินิจที่จะทำหรือไม่กระทำก็ได้ แต่รัฐบาลจะต้องสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาเอง หากศาลโลกได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีในทางลบต่อประเทศไทย โดยมีเหตุผลตามนัยข้อเรียกร้องของภาคพลเมืองที่รัฐบาลไม่นำพาไปใช้เป็นข้อต่อสู้คดีในศาลโลกได้ เพราะจะมีข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันทั่วไปถึงสาเหตุของการแพ้คดีว่าอาจเป็นปัญหาทางการเมืองได้ เนื่องจาก มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมาชิกพรรคการเมืองในขณะเป็นฝ่ายค้านมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อหาก่อการร้ายและการจลาจล โดยมีข่าวปรากฏต่อสาธารณะและประชาคมโลกว่ามีการใช้ประเทศกัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำ และเป็นสถานที่หลบหนีการกระทำความผิดดังกล่าวมาแล้วก่อนที่จะมาเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวสามารถพิสูจน์เจตนาในการกระทำความผิดของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายในประเทศได้
ผู้เขียนขอแสดงความเคารพเป็นอย่างสูงด้วยความจริงใจต่อรัฐบาลกัมพูชาในการกระทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของกัมพูชาในการที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลก ปี 1962 ที่ศาลได้พิพากษาว่า “ ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ( The Temple of Preah Vihear is situated in territory under sovereignty of Cambodia ) ” โดยกัมพูชาเห็นว่าคำพิพากษาของศาลโลก คู่กรณีต้องผูกพันตามเส้นเขตแดนตามแผนที่ที่กัมพูชาอ้างเป็นพยานแนบท้ายหมายเลข 1 ( Annex 1 map) ซึ่งไทยจะต้องถอนกำลังทหารและตำรวจผู้ดูแลควบคุมออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร ( Vicinity ) ซึ่งกัมพูชาถือว่าอยู่ในอาณาเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา โดยจะต้องออกไปจากตัวปราสาทซึ่งรวมถึงสถานที่ที่เรียกว่าบริเวณปราสาทด้วย ( extends to area of the Temple in general )
ผู้เขียนในฐานะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย โดยปราศจากซึ่งอคติใดๆกับทุกฝ่าย และเห็นด้วยกับการที่ไทยและกัมพูชาจะต้องมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดีต่อกันบนพื้นฐานของการเคารพและไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันภายใต้หลักกฎหมายและความชอบธรรมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ผู้เขียนจึงขอเสนอความเห็นทางวิชาการของวิชาชีพทางกฎหมายถึงสิทธิอันชอบธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่า กัมพูชามีสิทธิจะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ได้หรือไม่ และศาลโลกในปัจจุบันจะตีความคำพิพากษาศาลโลกที่ได้พิพากษาคดีไปแล้วเมื่อ 50 ปี ได้หรือไม่ในขอบเขตเพียงใด
2. ศาลโลกวินิจฉัยคดีโดยการยอมรับของคู่ความว่า ต้นเหตุของข้อพิพาทนี้อยู่ที่ความตกลงแบ่งเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศสยาม (ไทย ) ที่ได้ทำกันในปี 1904 -1908 ( ร.ศ. 122-126 ) และโดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารเป็นของไทยหรือกัมพูชานั้นขึ้นอยู่กับสนธิสัญญาปักปันเขตแดนฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 และขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมา ฉะนั้นศาลจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ระหว่างคู่ความก่อนสมัยสนธิสัญญาปี 1904 (คำพิพากษาหน้า 13 – 14 )
เมื่อคู่ความรับกันดังกล่าว ศาลโลกได้พิจารณาคดีโดยไม่รับฟังพยานหลักฐานภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดีประกอบด้วย โดยศาลโลกให้เหตุผลว่า ศาลไม่สามารถที่จะถือว่าข้อโต้แย้งเหล่านั้นมีความสำคัญในทางกฎหมายแต่อย่างใด โดยกล่าวในคำพิพากษาว่า “The Partris have also relied on other arguments of a physical , historical , religious and archaeological , but the Court is unable to regard them as legally decisive ”
จากคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ทำให้คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 นั้น ไม่สามารถนำมาตีความคำพิพากษาศาลโลกได้คือ
ประเด็นแรก การที่ศาลโลกพิพากษาคดีในปี 1962 เป็นการพิพากษาคดีโดยไม่รับฟังพยานที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และหลักฐานทางโบราณคดี โดยจะพิจารณาจากสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 เพื่อวินิจฉัยคดีเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยคดีว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนของประเทศใด โดยไม่พิจารณาถึงสถานการณ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และไทยกับกัมพูชาก่อนสนธิสัญญาปี 1904 รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ด้วยนั้น เป็นการที่ศาลโลกได้พิพากษาคดีในปี 1962 โดยศาลโลกได้ตัดพยานไม่รับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตนาในการทำสัญญาของคู่สัญญาคือ ไทยและฝรั่งเศส คำพิพากษาของศาลโลกในปี1962 จึงเป็นคำพิพากษาโดยไม่รู้ว่าคู่สัญญามีเจตนาที่แท้จริงในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวกันอย่างไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เจตนาของคู่สัญญาที่จะผูกพันกันตามสนธิสัญญาในปี 1904 – 1907 นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดยคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962
การขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีศาลโลกได้พิจารณาพิพากษาคดีในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตนาในการทำสัญญาของคู่สัญญาแล้ว คือคู่สัญญาไทยกับฝรั่งเศสจะต้องทำสัญญาด้วยความสมัครใจและเต็มใจ ปราศจากจากการข่มขู่ การบังคับ การฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญาดังกล่าว สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 1904- 1907 จะต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) หรือเป็นสัญญาที่เป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นเพราะถูกบังคับข่มขู่หรือถูกฉ้อฉล เมื่อคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับเจตนาในการเข้าทำสัญญาของคู่สัญญา ศาลโลกโดยผู้พิพากษาในปัจจุบันจึงไม่อาจตีความคำพิพากษาของศาลในปี 1962 ได้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงอันสำคัญที่จะหยั่งทราบเจตนาของไทยและฝรั่งเศสในขณะทำสนธิสัญญาในปี 1904 - 1907 ได้
กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ได้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตนาในการทำสัญญาของไทยกับฝรั่งเศสให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้
ประเด็นที่สอง คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ได้นำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก่อนสนธิสัญญา 1904 และช่วงของการทำสัญญาคือระหว่าง ค.ศ.1904 ถึง 1908 นั้น เป็นการที่ศาลไม่ได้พิจารณาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของไทยและของฝรั่งเศสในช่วงเวลาก่อนและในเวลาขณะที่ไทยทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในปี 1904 - 1908 แต่อย่างใด ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสนธิสัญญาดังกล่าว เมื่อไทยถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาด้วยการใช้เรือปืนรุกล้ำเข้ามาในประเทศไทยและถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่โดยกระทำต่อพลเมืองของไทย มีการปฏิบัติการโดยใช้เรือรบปิดปากอ่าวและน่านน้ำทางทะเลของไทย และบังคับให้เรือของชาติเป็นกลางออกจากพื้นที่ภายในกำหนดเวลา ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่จะถูกล่าเป็นเมืองขึ้นหรือถูกล่าให้เป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนคือ เวียดนามแล้ว การทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 1904 -1908 จึงเป็นโมฆะเพราะ ขัดต่อหลักกฎหมายตามมาตรฐานห้ามเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ [ Peremptory norm of general international law หรือ Jus Cogens) ซึ่งห้ามไม่ให้ใช้การบังคับขู่เข็ญ ใช้กำลังอาวุธกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาทำสัญญาด้วย หากมีการกระทำดังกล่าว สนธิสัญญาย่อมตกเป็นโมฆะ ซึ่งอยู่ในบังคับตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำสนธิสัญญาค.ศ. 1969 มาตรา 52 , 53 , 64, 71 [ Vienna Convention on the law of Treaties 1969 , Article 52 , 53 , 64 , 71 ]
และเมื่อไทยถูกบังคับให้ต้องทำสนธิสัญญาในระหว่างปี ค.ศ. 1904 ถึง 1907 กับฝรั่งเศส กรณีจึงมีเหตุผลอยู่ในตัวเองที่ศาลโลกในปัจจุบันไม่สามารถตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ได้ เพราะคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 ไม่มีผลใช้บังคับ คำพิพากษาศาลโลก 1962 ไม่อาจรับรองหรือทำให้สัญญาที่ได้กระทำระหว่างคู่สัญญาโดยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่มีลักษณะบังคับห้ามเด็ดขาด ( Jus Cogens ) ให้กลายเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศได้แต่อย่างใดไม่ สัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 1904 – 1907 เป็นโมฆะในทันทีโดยอัตโนมัติตั้งแต่แรก ( ab initio ) และมีผลเป็นโมฆะตลอดมา กัมพูชาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้
สถานะของกัมพูชาเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยผลของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในระหว่าง ค.ศ.1904 – 1907 โดยที่ไทยไม่ได้อ้างความเป็นโมฆะของสนธิสัญญาดังกล่าวในการพิจารณาคดีของศาลโลกในปี 1962 นั้น นับว่าเป็นคุณต่อกัมพูชาแล้ว เพราะไทยสามารถอ้างความเป็นโมฆะกรรมและความสิ้นสุดของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1904 -1907 ขึ้นอ้างเมื่อใดก็ได้ และสามารถยกขึ้นอ้างในการแถลงการณ์ด้วยวาจาในเดือนเมษายน 2013 เพื่อให้ศาลโลกพิจารณาวินิจฉัยถึงอำนาจของศาลในการตีความคำพิพากษาปี 1962 ได้
เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ไทยจะต้องอ้างความเป็นโมฆะกรรมและความสิ้นสุดของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในระหว่างปี ค.ศ.1904 - 1907 เพื่อให้ศาลโลกนำไปพิจารณาในการที่จะตีความคำพิพากษาปี 1962 ในทันที เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเกิดผลว่า กัมพูชาไม่มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 1962 ได้ และศาลไม่มีอำนาจศาล ( Competent Court ) ที่จะตีความคำพิพากษาศาลโลกได้ เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่ได้พิสูจน์เจตนาของไทยและฝรั่งเศสในการเข้าทำสนธิสัญญาปี 1904 - 1907 และไม่รู้ว่าการทำสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส นั้นเป็นสัญญาที่ละเมิดกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) ซึ่งเป็นโมฆะมาตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว
ประเด็นที่สาม คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ได้วินิจฉัยเป็นข้อยุติแล้วว่า เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และประเด็นข้อพิพาทที่เสนอต่อศาล จึงอยู่ในวงจำกัด อยู่ที่ความแตกต่างกันในความเห็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อที่จะชี้ขาดปัญหาอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ศาลจำต้องพิจารณาถึง “เส้นเขตแดน ” ระหว่างทั้งสองประเทศในตอนนี้ มีการเสนอแผนที่หลายฉบับ มีการเสนอข้อพิพาทหลายประการ ศาลจะได้พิจารณาสั่งเรื่องเท่าที่เห็นว่า มีเหตุผลจะนำมาใช้สนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลในการชี้ขาด การระงับข้อพิพาทดังกล่าว ( คำพิพากษาหน้า 12 )
ในปัญหาเกี่ยวกับเส้นเขตแดน ( frontier line ) กัมพูชาได้อ้างแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยามทำขึ้น ( Commission of Delimitation between Indo-china and Siam ) อันเป็นการอ้างเส้นตามแผนที่บนกระดาษที่มนุษย์ทำขึ้นเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ (ไม่ได้ทำในพื้นที่ ) และแผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้นนั้น กัมพูชาอ้างว่าเป็นคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยาม ซึ่งผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ตามข้อตกลงข้อ 3 ( article III ) ซึ่งไทยได้ปฏิเสธแผนที่ดังกล่าวว่าไม่ใช่เป็นแผนที่ที่คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนทำขึ้น และไทยได้อ้างเส้นเขตแดนตามธรรมชาติคือสันปันน้ำ อันเป็นไปตามข้อตกลงของสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 ( article I ) ซึ่งได้กำหนดเขตเส้นแดนไว้ตามสนธิสัญญาฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 1893 และข้อตกลงตามข้อ 1 นี้ [ article I ของสนธิสัญญา 13 กุมภาพันธ์ 1904 ] ได้นำเอาข้อตกลงตามสนธิสัญญาลงวันที่ 3 ตุลาคม 1893 มาเป็นหลักในการกำหนดเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสอินโดจีนไว้ด้วย ดังนั้นสนธิสัญญาวันที่ 13 ตุลาคม 1904 เป็นสนธิสัญญาโดยอาศัยข้อตกลงก่อนปี 1904 มาเป็นการกำหนดเขตแดนไว้ด้วย
[ Article I : The frontier between Siam and Cambodia starts, on the left shore of Great Lake, from the mouth of the river Stung Roluos , it follows the parallel from that point in an easterly direction until it meets the river Prek Kompong Tiam , then, turning north- ward, it merges with the meridian from that meeting –point as fas as the Pnom Dang Rek mountain chin. From there it follows the watershed between the basins of the Nam Sen and the Mekong, on the one hand , and the Nam Moun , on the other hand, and joins the Pnom Padang chain the crest of which it follows eastwards as far as the Mekong Upstream from that point , the Mekong remains the frontier of the Kingdom of Siam, in accordance with Article I of the Treaty of 3 October 1893 ]
การอ้างแผนที่บนกระดาษที่มนุษย์ได้ทำขึ้นเป็นเส้นเขตแดนในอดีต จึงเป็นการอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการอ้างเขตแดนเป็นสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน เป็นการอ้างทั้งลักษณะทางกายภาพภูมิศาสตร์ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเส้นเขตแดน
เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาในปี 1962 นั้น ศาลโลกไม่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ระหว่างคู่กรณีก่อนสนธิสัญญาปี 1904 โดยจะนำสถานการณ์หลังปี 1904 มาวินิจฉัยเท่านั้น คำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 จึงขัดต่อข้อกำหนดตามสนธิสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ซึ่งกำหนดให้นำเอาข้อตกลงตามสนธิสัญญาวันที่ 3 ตุลาคม 1893 มาเป็นหลักในการกำหนดเขตแดนด้วย คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนจะปักปันเขตแดนโดยไม่ยึดหลักและข้อตกลงตามสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 1893 ข้อ 1 ก็ไม่ได้ด้วย
และเมื่อศาลโลกได้ตัดพยานไม่รับฟังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดี รวมทั้งไม่รับฟังเหตุการณ์ที่มีมาก่อนสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 คือ ไม่รับฟังสนธิสัญญาลงวันที่ 3 ตุลาคม 1893 ซึ่งระบุไว้ในสนธิสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดน ( Mixed Commission Of Delimitation between Indo-china and Siam ) จะต้องดำเนินการปักปันเขตแดนให้มีเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 โดยต้องเป็นไปตามสนธิสัญญาวันที่ 3 ตุลาคม 1893 ข้อ 1 ด้วย โดยอย่างน้อยจะต้องมีเส้นเขตแดนจากฝั่งซ้ายของทะเลสาบ ( Great Lake ) จากปากแม่น้ำ สะดุง โรลูโอส ( Stung Roluos ) และไปตามเส้นขนานจากจุดนั้นไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งถึงแม่น้ำแปรก กำปง เทียม ( Prek Kompong Tiam ) แล้วเลี่ยงไปทางทิศเหนือไปพบกับเส้นตั้งฉาก จากจุดบรรจบนั้นจนกระทั่งถึงเขาดงรัก( Prom Dang Rek ) จากที่นั่น เส้นเขตแดนคือ สันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำของแม่น้ำเสน ( Nam Sem ) และแม่น้ำโขง ( Mekong ) ด้านหนึ่ง กับแม่น้ำมูล( Nam Moun ) อีกด้วยหนึ่งและสมทบกับทิวเขาภูผาด่าง ( Pnom Padang ) โดยถือยอดเขาเป็นเส้นเขตแดนไปทางทิศตะวันออกจนถึงแม่น้ำโขง จากจุดนั้นทวนน้ำขึ้นไปให้ถือแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนของอาณาจักรสยาม แต่เส้นเขตแดน ตามแผนที่ anmex 1 ที่กัมพูชาอ้างนั้น ไม่มีเส้นตั้งฉากถึงเขาดงรักเป็นเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ข้อ 1 แต่ปรากฏว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ที่กัมพูชาส่งต่อศาลโลกนั้น เป็นเส้นเขตแดนอยู่แนวหลังทิวเขาดงรักเลยสันปันน้ำ ซึ่งศาลโลกก็มีความสงสัยว่าจะเป็นเส้นเขตแดนที่คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนได้ทำไว้จริงหรือไม่ ศาลโลกไม่ได้พิพากษาว่า คณะกรรมการร่วมได้มีการปักปันเขตแดนกันแล้ว แต่ศาลโลกวินิจฉัยคดีโดยสันนิษฐาน ( Presumption ) ว่าได้มีการปักปันเขตแดนแล้ว ( คำพิพากษาหน้า 17-18 )
คำพิพากษาศาลโลกที่พิพากษาคดีโดยมีข้อสันนิษฐานว่า คณะกรรมการร่วมได้มีการปักปันเขตแดนกันแล้ว คำพิพากษาศาลโลกจึงไม่อาจนำมาตีความคำพิพากษาได้ เพราะศาลโลกพิพากษาคดีโดยใช้ข้อสันนิษฐานของศาลในขณะนั้นเท่านั้น ศาลโลกไม่ได้พิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันแต่อย่างใด และศาลโลกก็ไม่มีอำนาจศาลที่จะตีความคำพิพากษาที่พิพากษาคดีโดยข้อสันนิษฐานของศาลเมื่อ 50 ปี ก่อนได้
การที่กัมพูชาอ้างเขตแดนโดยใช้แผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้น และไทยไม่ยอมรับแผนที่ แต่ไทยได้อ้างสันปันน้ำเป็นเขตแดน เมื่อศาลไม่รับฟังพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาและทางโบราณคดี การพิพากษาให้กัมพูชาชนะคดีย่อมเป็นการพิพากษาคดีที่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “อย่าไปเสียเวลากับการโต้แย้งสิ่งที่ชัดแจ้งเห็นจริงแล้ว” ( Adverus Solem ne Loquitor ) เพราะสันปันน้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่วิญญูชนทั่วไปคาดคิด และมีความเป็นไปได้ว่า คู่กรณีตกลงเอาสันปันน้ำเป็นการแบ่งอาณาเขตกันได้
ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกฎหมายการรับฟังพยานหลักฐาน ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งอ้างแผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้นมาเป็นพยาน และอีกฝ่ายหนึ่งอ้างสันปันน้ำธรรมชาติเป็นพยาน หากคู่ความไม่สืบพยานอื่นใดอีกแล้วฝ่ายอ้างสันปันน้ำย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะเป็นสิ่งที่เห็นชัดแจ้งอยู่แล้ว และเป็นไปตามหลักกฎหมายวิชาพิจารณาคดีสากลที่ว่า “ ข้อความที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว ย่อมไม่ต้องการคำอธิบาย ” ( Absoluta sententia expositore non indiget )
ประเด็นที่สี่ กัมพูชาฟ้องคดีต่อศาลโลกปี 1962 โดยอาศัยการ “สืบสิทธิจากฝรั่งเศส ” ( Succession ) เพราะฝรั่งเศสได้ทำสงครามล่าอาณานิคมและเข้ายึดครองประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนเป็นเมืองขึ้น ได้ยึดครองเวียดนามและรุกคืบเข้ามายึดครองลาวและกัมพูชา [ ในขณะนั้นเรียกว่าเขมร ] เขมรขณะนั้นยังไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศและอยู่ในความอารักขาของไทยมาเป็นเวลานาน มีวัฒนธรรมประเพณีมีการปฏิบัติระหว่างเจ้าเมืองเขมรกับพระมหากษัตริย์ของไทยที่ปฏิบัติต่อกันเยี่ยงญาติและผู้อยู่ในปกครอง ดินแดนของกัมพูชาจำนวนมากในปัจจุบัน รวมทั้งเกาะต่างๆในทะเลเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน จังหวัดพระตะบอง เสียมราช และศรีโสภณของกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นดินแดนของไทยมาก่อนเรียกว่ามณฑลบูรพาหรือมณฑลเขมร รวมทั้งดินแดนของกัมพูชาในปัจจุบันที่อยู่ต่อเนื่องกับจังหวัดศรีสะเกษ ( เดิมชื่อ จังหวัดขุขันธ์ ) ซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารก็เป็นดินแดนของไทยคือ นครจำปาศักดิ์ ฝรั่งเศสได้บังคับให้ไทยจำต้องยกนครจำปาศักดิ์ให้กับฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนจังหวัดจันทบุรีที่ฝรั่งเศสใช้กำลังบังคับยึดไว้เป็นประกันนั้นให้แก่ไทย ฝรั่งเศสคืนจังหวัดจันทบุรีให้ไทยแต่ก็ไปยึดจังหวัดตราดไว้แทน ฝรั่งเศสได้ดินแดนของไทยคือ นครจำปาศักดิ์ รวมทั้งมณฑลบูรพาและเกาะในทะเล โดยการใช้กำลังอาวุธบังคับและใช้วิธีการยึดจังหวัดจันทบุรีไว้เป็นการต่อรอง เพื่อให้ไทยยินยอมยกดินแดนนครจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนที่ต่อเนื่องกับจังหวัดศรีสะเกษและมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศส ไทยไม่เคยยินยอมยกดินแดนนครจำปาศักดิ์ซึ่งติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษและมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศส สนธิสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสไม่ใช่เป็นสนธิสัญญาที่ไทยได้สละดินแดนอาณาเขตประเทศไทยให้กับฝรั่งเศสด้วยความเสน่หาแต่อย่างใด แต่ไทยจำต้องทำสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะมีการใช้กำลังอาวุธที่เหนือกว่าบังคับและบุกเข้ายึดดินแดนบางแห่งไว้เป็นหลักประกันเพื่อเรียกร้องให้ไทย จำต้องยกดินแดนของไทยจำนวนมากให้กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาล่าอาณานิคมและเมืองขึ้น ในยุคการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก
ไทยไม่เคยยินยอมยกส่วนใดส่วนหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษรวมทั้งปราสาทพระวิหารให้แก่ฝรั่งเศส ไทยได้หวงแหนครอบครองดูแลจังหวัดศรีสะเกษหรือขุขันธ์ตลอดมา แม้ไทยจะเสียนครจำปาศักดิ์ให้ฝรั่งเศสแล้วก็ตาม ซึ่งปรากฏหลักฐานในคดีที่ศาลโลกกล่าวในคำพิพากษาว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตสถานแห่งประเทศไทย ได้เสด็จกึ่งราชการไปตรวจปราสาทพระวิหารในเดือนมกราคม 1929 และได้มีหนังสือถึงสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1930 และ 22 กรกฎาคม 1931 ขอทราบสารบบบัญชีของโบราณสถานที่ได้ตรวจสอบแล้ว ได้รับคำตอบสารบบระบุชื่อ “ เขาพระวิหาร “ แห่งนี้ว่าเป็นโบราณสถานหนึ่งในสี่แห่งของจังหวัดขุขันธ์ ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย การตรวจสอบโบราณสถานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน จึงเป็นการยืนยันโดยชัดเจนว่า ไทยได้ครอบครองเป็นเจ้าของและแสดงความเป็นเจ้าของตลอดมา เขาพระวิหารเป็นของไทยและอยู่ในเขตแดนของจังหวัดขุขันธ์ ซึ่งเป็นดินแดนไทยที่เชื่อมโยงกับมณฑลบูรพาและนครจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนของไทย และเป็นดินแดนที่อยู่ติดต่อเนื่องจากจังหวัดศรีสะเกษ ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจบังคับให้ไทยทำสัญญายกดินแดนนครจำปาศักดิ์ มณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา 1904 – 1907 เพื่อแลกกับจังหวัด จันทบุรี ตราด เกาะกง ด่านซ้ายที่ฝรั่งเศสใช้กำลังบังคับยึดไว้ โดยฝรั่งเศสยอมคืนจังหวัดตราดกับด่านซ้ายให้ โดยการถอนทหารออกไปเมื่อปี 1907 แต่ไม่ยอมคืนเกาะกงให้ไทย การที่ฝรั่งเศสได้ดินแดนนครจำปาศักดิ์ และมณฑลบูรพาของไทยไป เกิดจากการกระทำของฝรั่งเศสที่ได้กระทำโดยวิธีการบังคับขู่เข็ญ อันเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลัก JUS COGENS สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1904 - 1907 จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน
การแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จึงเป็นการแบ่งเขตแดนโดยไทยจำใจต้องกระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะอยู่ในภาวะที่ถูกบังคับข่มขู่ให้จำต้องยอม เพราะมิฉะนั้นไทยจะต้องสูญเสียดินแดนมากกว่าเดิมและอาจต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยของไทยไป ซึ่งอาจต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในสงครามล่าอาณานิคม การแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กระทำโดยฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นจากการกระทำอันละเมิดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามหลัก JUS COGENS ด้วยเช่นกัน การแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยทำเป็นแผนที่ Anmex 1 โดยฝรั่งเศสจึงเป็นโมฆะ กัมพูชาไม่อาจอ้างสิทธิการแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งละเมิดต่อหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาดและเป็นโมฆะนั้นมาใช้สิทธิใดๆได้เลย เพราะกัมพูชาเป็นผู้รับโอนสิทธิหรือเป็นผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศส ไม่มีสิทธิในดินแดนของไทยจากการกระทำโดยผิดกฎหมายและละเมิดหลักกฎหมาย Jus cogens ของฝรั่งเศส สิทธิของกัมพูชาเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ ผู้รับโอนมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้โอน ” หรือ “ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” ( Assignatus unitur jure auctoris ) ซึ่งก็สอดคล้องกับสนธิสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วย หลักเกณฑ์ในการทำสัญญา 1969 มาตรา 52 , 53 ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ( Vienna Convention on the law of Treaties 1969 , Article 52 , 53 )
กัมพูชาได้รับอิสรภาพในปี 1953 เป็นการได้รับอิสรภาพก่อนที่อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการสืบทอดของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา ค.ศ. 1978 และอนุสัญญาว่าด้วยการสืบสอดของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน บรรณสารและหนี้สินของรัฐ ค.ศ.1983 ออกใช้บังคับ [ Vienna Convention on Succession of state in Respect of Treaties , 1978 , Vienna Convention on Succession of state in Respect of Property , Archives and Debts , 1983 ] กัมพูชาจึงไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิในสนธิสัญญาที่ไทยได้ทำกับฝรั่งเศสในปี 1904 - 1907 และไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้รับโอนมาจากฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 - 1907 เลย เพราะสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นโมฆะก่อนที่กัมพูชาได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส กัมพูชาจึงไม่ได้สืบสิทธิทั้งในเรื่องดินแดน ทรัพย์สินในดินแดนคือ ปราสาทพระวิหาร ตลอดจนแผนที่ที่แสดงแนวเขตแดนที่ฝรั่งเศสได้ทำขึ้น อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะ “ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ”
กัมพูชาเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโลกเมื่อ 6 ตุลาคม 1959 ( พ.ศ.2502 ) คำฟ้องของกัมพูชาไม่ใช่เป็นปัญหาการโต้แย้งแบ่งเขตแดนระหว่างสองประเทศที่มีอาณาเขตแดนติดต่อกันและมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่เดิมพร้อมกันแต่อย่างใดไม่ แต่กัมพูชาฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิตามสนธิสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสในปี 1904 - 1907 เป็นการที่กัมพูชาอ้างสิทธิการมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารโดยการสืบสิทธิจากฝรั่งเศส ภาระการพิสูจน์ ( burden of proof ) จึงตกอยู่กับฝ่ายกัมพูชา ทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะอ้างการสืบสิทธิจากฝรั่งเศส โดยกัมพูชาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ( 1 ) กัมพูชาสืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ( Lawful Succession ) (2 ) ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและปราสาทพระวิหารอยู่ก่อนแล้ว โดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
แต่ศาลโลกได้กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกกับทั้งไทยและกัมพูชาโดยเท่าเทียมกัน เสมือนหนึ่งกัมพูชาเคยมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณที่เป็นอาณาเขตของปราสาทพระวิหารมาก่อน ( ปรากฏตามคำพิพากษาในหน้า 13-14 ) เมื่อศาลโลกได้กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับทั้งสองฝ่าย แต่ศาลโลกไม่รับฟังพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดีนั้น จึงเป็นการที่ศาลโลกในปี 1962 ไม่รับฟังพยานหลักฐานการสืบสิทธิของกัมพูชาที่สืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาปี 1904 และ 1907 โดยสิ้นเชิง แต่รับฟังโดยปริยายเลยว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและปราสาทพระวิหารมาโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว คำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 ได้พิพากษาคดีโดยตัดประเด็นความเป็นโมฆะกรรมของสนธิสัญญาปี 1904 - 1907 ซึ่งเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น และกำหนดให้ไทยและกัมพูชามีภาระการพิสูจน์โดยศาลโลกได้ตัดพยานไม่รับฟังพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดี แล้วพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารและพื้นที่บริเวณปราสาทอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชานั้น เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ( Civil procedure ) โดยผิดพลาดซึ่งเป็นผลร้ายต่อไทย กระบวนการดำเนินคดีดังกล่าว จึงขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปของสากล เพราะ “ความผิดพลาดในกฎหมายมีผลร้าย ” ( Error juris nocet ) ซึ่งเท่ากับกัมพูชาไม่ต้องพิสูจน์อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาที่มีเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร กัมพูชาไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารของฝรั่งเศสด้วยว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารที่ตนเองสืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสหรือไม่ กัมพูชาใช้กระดาษแผนที่ที่มนุษย์ทำขึ้น (ตามแผนที่หมายเลข 1) โดยที่กัมพูชาไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนที่และไม่รู้ว่าแผนที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะศาลโลกได้กำหนดให้ไทยมีภาระการพิสูจน์ ทั้งที่ไทยครอบครองและเป็นเจ้าของอาณาเขตปราสาทพระวิหาร
และโดยหลักฐานทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นครจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นดินแดนของไทยมาก่อนและเป็นดินแดนที่ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาวไทยเชื้อสายลาวมาก่อน เมื่อหมดสมัยล่าอาณานิคม นครจำปาศักดิ์บางส่วน โดยเฉพาะส่วนที่ติดเขตแดนของไทยทางจังหวัดศรีสะเกษได้กลายเป็นดินแดนของกัมพูชา จึงไม่มีเหตุที่กัมพูชาจะอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารหรือดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารได้เลยตามหลักฐานทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพราะบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร คือ จังหวัดขุขันธ์ หรือศรีสะเกษในปัจจุบัน และพื้นที่ต่อเนื่องเข้ามาในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาวไทยเชื้อสายลาวซึ่งเป็นดินแดนของไทยมาก่อน ไม่ใช่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวกัมพูชามาก่อน
คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 จึงไม่อาจนำมาให้ศาลโลกในปัจจุบันตีความคำพิพากษาได้ เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสืบสิทธิของกัมพูชาที่สืบสิทธิมาจากฝรั่งเศส และยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและเหนือบริเวณปราสาทมาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ลำพังการทำแผนที่บนกระดาษไม่อาจนำมาพิสูจน์อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่เกิดใหม่ได้เลย กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิที่ร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ได้ และศาลโลกในปัจจุบันก็ไม่มีอำนาจศาล ( Incompetence of Court ) ที่จะตีความคำพิพากษาศาลโลกเมื่อ 50 ปีก่อนได้
ประเด็นที่ห้า ศาลโลกปี 1962 ได้พิจารณาพิพากษาคดีแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ได้ทำขึ้นในปี 1904 – 1907 และสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นมา แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 นั้น มิได้มีแต่เฉพาะเหตุการณ์การตั้งกรรมการผสมไทย – ฝรั่งเศสเพื่อปักปันเขตแดนเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นภายหลังที่เป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาจำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณาและกล่าวอ้างในการต่อสู้คดีในคดีด้วย เพราะเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในดินแดนอันเป็นการแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศคือไทยกับกัมพูชา ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่มาตั้งแต่ดั้งเดิม กับประเทศกัมพูชาซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ในปี 1953 ( พ.ศ.2496 ) สิทธิในการอ้างสิทธิในดินแดนและปราสาทพระวิหารจึงมีความแตกต่างกันที่จะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
คำพิพากษาศาลโลกระบุว่า “คดีในปัจจุบันประเทศกัมพูชากล่าวหาว่าประเทศไทยได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขตปราสาทและบริเวณพระวิหาร ประเทศไทยได้ตอบแก้โดยยืนยันว่า ดินแดนที่เป็นปัญหานั้นอยู่ในด้านไทยของเขตแดนร่วมระหว่างประเทศทั้งสอง และอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย เรื่องนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน [ In the present case , Cambodia alleges a violation on the part of Thailand of Cambodia ’ s territorial sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts . Thailand replies by affirming that the area in guestion lies on the Thai side of the common frontier between the two countries , and is under the sovereignty of Thailand . This is a dispute about territorial sovereignty ] ( คำพิพากษาหน้า 12 )
อำนาจอธิปไตยในอาณาเขตดินแดนของความเป็นประเทศเก่ามีอายุมานานเกือบ 1,000 ปี กับอำนาจอธิปไตยของประเทศเกิดใหม่เพียง 60 ปีเศษย่อมแตกต่างกัน สิทธิเรียกร้องเรื่องอาณาเขตดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารของกัมพูชา จะต้องได้รับการพิสูจน์จากคำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 อย่างมั่นคงและแน่นอนเสียก่อน กับต้องเป็นประเด็นโดยตรงในเรื่องอาณาเขตระหว่างประเทศ การที่กัมพูชายื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ย่อมแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่า คำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องอำนาจอธิปไตยในเขตแดนโดยตรง ซึ่งไทยได้สงวนสิทธิในอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหาร โดยปรากฏหลักฐานในองค์การสหประชาชาติแล้ว การที่กัมพูชาจะเรียกร้องเอาอำนาจอธิปไตยในดินแดนรอบปราสาทพระวิหารที่นอกเหนือจากปราสาทพระวิหาร กัมพูชาจะต้องฟ้องคดีใหม่เพื่อพิสูจน์สิทธิของกัมพูชาว่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของกัมพูชา กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยอยู่ก่อนแล้วอย่างไร และฝรั่งเศสเข้ามายึดจากกัมพูชาไปอย่างไร และกัมพูชาได้รับการสืบสิทธิมาจากฝรั่งเศสมาอย่างไร เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่กัมพูชาจะนำมาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้เลย
แต่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภายหลังที่ได้มีการทำสนธิสัญญาไทย ฝรั่งเศส ในปี 1904 – 1907 และสัญญาปักปันเขตแดนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 แล้ว ไทยกับฝรั่งเศสได้มีการทำสงครามเรื่องดินแดนกันอีก ในเดือนพฤศจิกายน 1940 ( พ.ศ.2483 ) มีการรบเกิดขึ้น โดยไม่ประกาศสงคราม ญี่ปุ่นให้เข้ามาไกล่เกลี่ย และได้มีการตกลงทำอนุสัญญาสันติภาพไทย –ฝรั่งเศส ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1941 [ Tokyo Peace Convention of May 9, 1941 ( พ.ศ. 2484 ) ] และผลจากอนุสัญญาและพิธีสารกรุงโตเกียว ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเขมรและลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เป็นของไทยและไทยเสียไปให้ฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 - ค.ศ.1907 ( พ.ศ. 2447 – 2450 ) คืนกลับให้แก่ไทย และใช้แม่น้ำโขงจึงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน-ฝรั่งเศส ( French – Indochina ) ดินแดนที่ไทยได้คืนกลับมาคือ นครจำปาศักดิ์ จังหวัดล้านช้างในแคว้นอาณาเขตลาว และมณฑลบูรพา และไทยได้ปกครองดินแดนดังกล่าว โดยตั้งเป็นจังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจำปาศักดิ์และจังหวัดล้านช้าง ปรากฏตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสคืน “ดินแดนของไทย” ให้กับไทยเฉพาะที่เป็นปัญหาในเรื่องนี้
ดินแดนแคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาได้กลับคืนมาเป็นของไทยตามอนุสัญญากรุงโตเกียวระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1941 ( พ.ศ. 2484 ) อนุสัญญามีผลโดยสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะได้มีการให้สัตยาบัน ( ratification ) จากสภานิติบัญญัติของคู่ภาคีสนธิสัญญาทั้งสองฝ่ายแล้ว ปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารจึงไม่เคยอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส เพราะดินแดนที่ไทยได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น เป็นดินแดนของไทยมาแต่เดิม
สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี ค.ศ.1904 -1907 เป็นสนธิสัญญาที่ขัดต่อหลักกฎหมายบังคับเด็ดขาดหรือ Jus cogens ซึ่งเป็นโมฆะและสัญญาสิ้นสุดลง ( terminates ) ตั้งแต่วันทำสัญญา ตามสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำสัญญามาตรา 64 ( Vienna Convention on the law of Treaties 23 May 1969, article 64 ) และเมื่อปรากฏว่าไทยกับฝรั่งเศสได้ทำอนุสัญญากรุงโตเกียวขึ้นในภายหลังก็ยิ่งเป็นการยืนยันซ้ำอีกถึงความไม่มีอยู่ขอสนธิสัญญาไทย -ฝรั่งเศส 1904 – 1907 มาตั้งแต่ต้น และเท่ากับ “ อนุสัญญากรุงโตเกียว 1941 ” เป็นสัญญาที่มีผลบังคับใช้ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสตามกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ฝรั่งเศสได้บังคับไทยและยึดครองดินแดนแคว้นนครจำปาศักดิ์ และมณฑลบูรพาไป อันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี 1904 -1907 เมื่อไทยได้ดินแดนทั้งสองกลับคืนมาจึงมีผลในทางกฎหมายโดยนัยสำคัญ ตามหลักกฎหมายสากลที่ว่า “ สัญญาไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำที่ผิดกฎหมาย” ( Ex maleficio non oritur Contractus ) ฝรั่งเศสจึงไม่ได้ครอบครองหรือได้ดินแดนหรือมีอำนาจอธิปไตยในแคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาของไทยในช่วงเวลาตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 - 1907 ดังกล่าว คือ ตั้งแต่วันที่ทำสนธิสัญญา 1904 -1907 จนถึงวันทำอนุสัญญากรุงโตเกียว คือ ถึงปี 1941 ( พ.ศ. 2484 ) ฝรั่งเศสไม่อาจอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจอธิปไตยในดินแดนแคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาตลอดจนปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดขุขันธ์ของไทยได้แต่อย่างใด เพราะสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสปี 1904 – 1907 เป็นโมฆะ และสิ้นสุดลงตั้งแต่วันทำสัญญาตามมาตรา 64 แห่งสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยการทำสัญญา 1969 ตามหลักกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) ดังกล่าว เมื่อไทยได้แคว้นนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพากลับคืนมา จึงถือได้ว่าไทยเป็นเจ้าของและครอบครองปราสาทพระวิหารและดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารติดต่อกันมาตลอดระยะเวลาในฐานะมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทและดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารตลอดมาตั้งแต่ก่อนมีการทำสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส 1904 – 1907 และมีอำนาจอธิปไตยมาตลอดระยะเวลาจนถึงปี ค.ศ.1962 ( พ.ศ.2505 ) ที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชานี้เอง
คำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 จึงเป็นคำพิพากษาที่ได้นำเอาสนธิสัญญาระหว่างไทย – ฝรั่งเศส 1904 - 1907 ซึ่งเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้ในระหว่างคู่สัญญาและนำเอาผลในการดำเนินการปักปันเขตแดนซึ่งเป็นโมฆะตามสนธิสัญญาดังกล่าวมาพิจารณาพิพากษาคดี โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางภูมิศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดีเลยนั้นย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยผิดพลาด ผลของคำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 จึงไม่มีผลผูกพันไทย และกัมพูชาไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆที่จะนำคำพิพากษาดังกล่าวมาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาได้เลย และศาลโลกในปัจจุบันก็ไม่มีอำนาจศาลในการที่จะตีความคำพิพากษาในปี 1962 ได้ ไม่ว่ากรณีใด
อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวระหว่างไทย-ฝรั่งเศส [ Tokyo Peace Convention 1941 ( พ.ศ. 2484 ) ] ซึ่งมีความผูกพันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศตั้งแต่ 9 พฤษภาคม 1941
ข้อตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 (พ.ศ. 2489)[ Washingtion Accord , November 17 1946 ] เป็นข้อตกลงซึ่งไทยผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ไทยต้องโอนดินแดนของไทยบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ล้านช้าง ( หลวงพระบางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ) เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง บางสัดหรือนครจำปาศักดิ์ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และพระตะบองให้แก่ฝรั่งเศส
และสัญญาลับระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1904 ( ร.ศ.112 ) ( The Siam clause in the Entente Cordiale , 8 April 1904 ) สัญญาทั้งสามฉบับเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างไทยกับฝรั่งเศสทั้งสิ้น และมีความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 – 1907 และฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ทั้งสิ้น และสัญญาทั้งสามฉบับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ต้องนำมาพิจารณาวินิจฉัยถึงความผูกพันระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งโดยตรงและโดยปริยาย เมื่อกัมพูชาได้ฟ้องคดีที่ศาลโลกในปี 1962 แต่ศาลโลกไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสัญญาทั้งสามฉบับแต่อย่างใดเลย
การพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหารซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างเขตแดนประเทศ โดยศาลโลกไม่ได้พิจารณาถึงประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับสัญญาและข้อตกลงต่างๆที่ทำขึ้นภายหลังจากการทำสัญญาในปี 1904 -1907 แล้ว คำพิพากษาศาลโลกในปี 1962 จึงเกิดความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะศาลโลกยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่และความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใดเลย การที่ศาลโลกรับคำร้องของกัมพูชาไว้แล้วเพื่อวินิจฉัยตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 การตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 1962 จึงเป็นการตีความที่สุ่มเสี่ยงต่อประเทศไทยที่จะทำให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยทับซ้อนกับอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทยได้ โดยที่กัมพูชาไม่เคยมีสิทธิใดๆในปราสาทพระวิหารและดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารมาก่อน และการสืบสิทธิของกัมพูชาจากฝรั่งเศสยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์โดยคำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 มาก่อน ว่าเป็นการสืบสิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้แต่สิทธิหรืออำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศส ผู้ให้การสืบสิทธิกับกัมพูชาก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์จากศาลโลกในปี 1962 เลยว่า ฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารมาก่อนหรือไม่
การตีความคำพิพากษาศาลโลก เพื่อให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยทับซ้อนกับอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทย จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาดังกล่าวได้ ดังนั้นในการที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก ปี 1962 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศจะต้องยก “ อนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว ค.ศ. 1941” “ สัญญาลับอังกฤษ Entente Cordiale 1904 ” “ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ” ขึ้นอ้างเป็นข้อโต้แย้ง เพราะอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาในฐานะผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศสและอำนาจอธิปไตยจากฝรั่งเศสเหนือปราสาทพระวิหาร ยังไม่มีการพิสูจน์โดยคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ได้ และไทยจะต้องคัดค้านโดยการขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินคดีใหม่ได้ในคำร้องคัดค้านดังกล่าวด้วย หากไทยไม่กระทำการดังกล่าวอาจถูกกล่าวว่าปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
ประเด็นที่หก เหตุผลที่ต้องยกอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว 1941 สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 และข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ขึ้นโต้แย้งในคำแถลงการณ์ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและเขตแดนระหว่างประเทศ ซึ่งมีปัญหาและเงื่อนแง่ในทางกฎหมายที่สำคัญ โดยต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาจากศาลโลกเสียก่อนคือ
( 1 ) สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญากับไทยคือทำในปี 1904 ( ร.ศ.112 ) สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่เป็นปฏิญญาร่วมกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนของไทยที่ทั้งสองประเทศกำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตอิทธิพลของตน ( Sphere of influence ) โดยทั้งสองประเทศตกลงจะไม่ยึดเอาดินแดนของไทยไม่ว่าที่ใด ประเทศทั้งสองต้องการเพียงขยายอิทธิพลในดินแดนทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำโขงให้เป็นของฝรั่งเศส และอังกฤษจะมีอิทธิพลอยู่ในดินแดนทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง ปฏิญญาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสดังกล่าวจึงมีผลผูกพันตามสัญญาระหว่างประเทศ โดยฝรั่งเศสจะยึดเอาดินแดนของไทยไปไม่ได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ไทยจะไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาลับ Entente Cordiale ด้วยก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสบังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาในปี 1904 -1907 โดยยึดเอาดินแดนของไทยไปผนวกเป็นดินแดนของอินโดจีนฝรั่งเศส ( French – Indochina ) สนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศสในปี 1904 -1907 ซึ่งเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายห้ามเด็ดขาดอยู่แล้ว( Jus cogens ) สนธิสัญญาปี 1904 – 1907 ดังกล่าวยังขัดต่อสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 อีกด้วย สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 จึงผูกพันกัมพูชาในฐานะที่กัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 และอ้างถึงการที่ตนสืบสิทธิจากฝรั่งเศสโดยนำเอาแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นมาใช้อ้าง และแผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นการยึดเอาดินแดนของไทยไปผนวกกับอินโดจีนฝรั่งเศส ไทยจะต้องอ้างการที่ฝรั่งเศสปฏิบัติต่อไทยโดยละเมิดต่อสนธิสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ที่ฝรั่งเศส เข้ามายึดดินแดนของไทยในส่วนที่ติดต่อจังหวัดศรีสะเกษผนวกเป็นอินโดจีนฝรั่งเศสขึ้นต่อสู้โต้แย้งด้วย เพราะการกระทำของกัมพูชาเป็นการใช้สิทธิของกัมพูชาในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศสมาเรียกร้องเอาดินแดนที่ต่อเนื่องกับปราสาทพระวิหารนั้น ก็เป็นการที่กัมพูชาได้จงใจกระทำละเมิดต่อไทยบุกรุกละเมิดอธิปไตยในดินแดนของไทย และกัมพูชาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาในปี 1962 เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชาได้เลย [ สนธิสัญญา Entente Cordiale 1904 ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสจะเป็นหลักฐานใหม่ที่จะเรียกเอาปราสาทพระวิหารคืนได้ ]
สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 เปรียบเทียบกับกฎหมายแพ่งในประเทศซึ่งเป็นหลักสากลแล้ว ก็คือ สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 , 375 โดยฝรั่งเศสและอังกฤษทำสัญญาจะไม่ยึดดินแดนของไทยในปี 1904 นั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อไทยซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญา แม้ไทยจะไม่รู้มาก่อนว่ามีสนธิสัญญาดังกล่าวก็ตาม ฝรั่งเศสก็ผูกพันตามสัญญาดังกล่าวที่จะไม่บุกยึดดินแดนของไทยไปผนวกกับอินโดจีนฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และไทยถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาลับดังกล่าวแล้ว โดยไทยไม่ยินยอมให้ฝรั่งเศสเอาดินแดนของไทยไปจนเกิดสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสขึ้น เพราะฝรั่งเศสเข้าโจมตีพลเมืองของไทยก่อน ไทยได้ต่อสู้และยึดคืนดินแดนของไทยทางด้านฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดตราดได้คืนมาจำนวนหนึ่ง ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงคราม การที่ฝรั่งเศสและไทยทำอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 นั้น เป็นการที่ฝรั่งเศสได้รู้ถึงการที่ไทยได้ถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 โดยสมบูรณ์แล้ว อนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 จึงไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกได้ เพราะมีสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 รองรับการทำอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 แล้ว การที่ฝรั่งเศสบังคับให้ไทยต้องคืนดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศส ภายหลังที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ โดยบังคับให้ไทยทำข้อตกลงระงับปัญหาวอชิงตัน 1946 [ Washingtion Accord 1946 ( พ.ศ.2489 ) ] และให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาระงับข้อขัดแย้งที่ไทยไม่ยอมคืนดินแดนที่ไทยได้มาตามอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 แต่คณะกรรมการได้ให้ไทยคืนดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศสไปอีกครั้งนั้น ย่อมเกิดปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 มีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ เพราะขัดกับสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ถ้าข้อตกลงวอชิงตันไม่มีผลบังคับใช้ อนุสัญญาสันติภาพโตเกียวก็ยังมีผลบังคับใช้ได้อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลโลกเสียก่อนที่ศาลจะตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 ได้
หรือเมื่อข้อตกลงวอชิงตันที่ยกเลิกอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว โดยมีข้อสัญญาว่า ให้คู่สัญญาไปใช้สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 ซึ่งเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นนั้น ข้อตกลงวอชิงตันก็ไม่เกิดผลผูกพันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่จะกลับไปใช้สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 ได้ ข้อตกลงวอชิงตันจึงเป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลในการปฏิบัติ สิทธิและหน้าที่ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก็ยังคงผูกพันตามอนุสัญญาสันติภาพโตเกียวอยู่อย่างเดิม ดินแดนนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาก็ยังคงเป็นของไทยตามอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว ปัญหาดังกล่าวก็ต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลโลกก่อนที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 ได้
ทั้งสองกรณีดังกล่าวกัมพูชาจึงไม่อาจอ้างการสืบสิทธิจากฝรั่งเศสในดินแดนนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพา ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ต่อเนื่องจากเขาพระวิหารที่ตั้งปราสาทพระวิหาร และไม่อาจอ้างการสืบสิทธิจากฝรั่งเศสในปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารได้เลย เพราะฝรั่งเศสไม่เคยมีอำนาจอธิปไตยในดินแดนเขาพระวิหารและปราสาทพระวิหารมาก่อน ในกรณีเช่นนี้ไทยจะต้องยื่นคำขาดเป็นหนังสือให้กัมพูชาถอนคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไปเสีย เพื่อให้เกิดสันติสุขระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
( 2 ) อนุสัญญาสันติภาพโตเกียวปี 1941 ( พ.ศ.2484 ) เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของฝรั่งเศส ตามสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส สัญญาลับ Entente Cordiale 1904 มีผลผูกพันฝรั่งเศสที่จะต้องให้อาณาเขตดินแดนของไทยเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น ( things thus standing ) และผูกพันคู่ภาคีสัญญาให้ต้องปฏิบัติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาสันติภาพโตเกียวปี 1941 จึงมีผลผูกพันฝรั่งเศสมาจนบัดนี้ เพราะเป็นอนุสัญญาที่เป็นไปตามสัญญาลับอังกฤษ-ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 ข้อตกลงวอชิงตัน1946 จึงขัดกับสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ที่ฝรั่งเศสทำไว้กับอังกฤษ ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 จึงเป็นโมฆะ และขัดกับอนุสัญญาโตเกียวที่ฝรั่งเศสทำขึ้นเอง และมีผลผูกพันฝรั่งเศสตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์แล้ว การที่ไทยได้คืนดินแดนของไทยให้กับฝรั่งเศสตามข้อตกลงวอชิงตัน 1946 จึงมีปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะขัดกับเจตนารมณ์ของฝรั่งเศสตามสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 ซึ่งสัญญาลับ Entente Cordiale มีผลผูกพันกับไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่อาณาเขตไทยต้องอยู่ในสถานะที่เป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น โดยฝรั่งเศสจะเอาดินแดนของไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศสไม่ได้ และฝรั่งเศสจะส่งมอบดินแดนของไทยให้กับกัมพูชาไม่ได้
เมื่อกัมพูชาอ้างว่าเป็นผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศส กัมพูชาจึงไม่ได้สิทธิหรือมีอำนาจอธิปไตยในเขตดินแดนนครจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาที่ฝรั่งเศสได้รับคืนไปจากไทย ( รวมทั้งกัมพูชาไม่มีอำนาจอธิปไตยในดินแดนที่ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหาร )
คำพิพากษาของศาลโลกที่ไม่ได้นำประวัติศาสตร์ การทำอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 1941 ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 และสัญญาลับ Entente Cordiale 1904 มารับฟังเพื่อพิพากษาคดีในปี 1962 นั้น ไทยจะต้องยกประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งการตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ด้วย เพราะศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาพยานหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาทั้งสามฉบับ อันมีผลในเรื่องอาณาเขตดินแดนหรืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น หาทำได้ไม่
และกระทรวงการต่างประเทศจะคิดเองหรือตีความถึงความสิ้นสุดของสัญญาทั้งสามฉบับเองไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยต้องโต้แย้งให้ศาลโลกตีความความสิ้นสุดของสัญญา หรือความมีอยู่ของสัญญาทั้งสามฉบับเสียก่อนที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 และเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศโดยตรง เมื่อกระทรวงต่างประเทศได้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาทั้งสามฉบับมานานแล้ว ความบกพร่องของกระทรวงต่างประเทศในประเด็นนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดอาญาเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นที่เจ็ด ก่อนที่กัมพูชาจะยื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาปี 1962 กัมพูชาได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก ซึ่งเป็นกรณีที่กัมพูชาและยูเนสโกจะต้องทราบเป็นอย่างดีว่า ลำพังซากสลักหักพังของปราสาทพระวิหาร ( Ruin of the Temple of Preah Vihear ) ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ แต่จะต้องใช้พื้นที่ดินโดยรอบบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นของไทยและอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทยไปผนวกเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ช่วยให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไปทำข้อตกลงยินยอม ( Joint Communigue ) ให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงในการกระทำความผิดกฎหมายอาญาของเจ้าหน้าที่ไทย เพราะรัฐบาลไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน จึงจะไปทำบันทึกข้อตกลงให้กัมพูชาได้
การกระทำของกัมพูชาจึงทำให้เป็นที่สงสัยได้ว่า เป็นการกระทำที่มีเถยจิต (mens rea ) ร่วมกับนักการเมืองของรัฐบาลไทยที่จะรุกล้ำยึดถือดินแดนของไทยไปเป็นของกัมพูชา โดยอาศัยกติกาของยูเนสโกเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอาณาเขตของประเทศไทยหรือไม่
ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ( Compliance ) แล้ว โดยการถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารแล้ว ได้ถอนเสาธงชาติพร้อมทั้งธงชาติออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ได้ทำแนวเขตเพื่อให้การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกมีผลเป็นรูปธรรม ไทยได้ทำการล้อมรั้วลวดหนามไว้เป็นเขตแนวที่ชัดเจนว่า อาณาเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมีคำพิพากษานั้นอยู่ในขอบเขตอย่างไร การที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก กัมพูชาได้ยอมรับมาเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี และไม่เคยทักท้วงว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกแต่อย่างใดเลย ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกในทันทีที่ศาลโลกมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 94 ( 1 ) โดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 1962 พร้อมทั้งได้สงวนสิทธิที่จะเรียกคืนปราสาทพระวิหาร หากมีข้อเท็จจริงปรากฏหลักฐานภายหลังว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย การที่ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกมาเป็นเวลา 50 ปี โดยกัมพูชาไม่เคยทักท้วงหรือโต้แย้ง กฎหมายจึงปิดปากกัมพูชา กัมพูชาไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลก 1962 ได้
การที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกตามกฎบัตรสหประชาชาติ 94 ( 1 )ตั้งแต่ปี 1962 แล้วนั้น กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลโลกดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของไทยโดยสมบูรณ์แล้วได้อีก การร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลก จึงเป็นการร้องขอให้ศาลโลกดำเนินการให้ศาลโลกรับรองการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชา และเป็นการกระทำอยู่ในข่ายของความผิดอาญาของราชอาณาจักรไทย ซึ่งกัมพูชาได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาไปแล้ว คำร้องของกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกในปี 1962 จึงเป็นการใช้ศาลโลกเป็นเครื่องมือเพื่อให้รับรองการกระทำอันมีเจตนาร้าย ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายไทย ให้กลายเป็นการกระทำอันชอบในสายตาของประชาคมโลก คำร้องของกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา จึงไม่ใช่เป็นคำร้องตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 เมื่อกัมพูชาไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตีความคำพิพากษาศาลโลกได้ ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตามธรรมนูญศาลโลก หรือมีความชอบธรรมใดๆที่จะวินิจฉัยคำร้องของกัมพูชาได้เลย
ประเด็นที่แปด คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 เป็นคำพิพากษาที่วางสิทธิ โดยให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหาร ( The Temple of Preah Vihear is situated in territory under sovereignty of Cambodia ) คือให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยในทรัพย์สิน ( Imovable property ) คำพิพากษาของศาลโลกเป็นไปตามคำขอของกัมพูชาที่ขอต่อศาลโลกสองครั้ง คำร้องครั้งแรกกัมพูชาฟ้องและขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งว่า อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ( that the territory sovereignty over the Temple of Preah Vihear belongs to the Kingdom of Cambodia ) คำร้องครั้งที่สอง กัมพูชาเพิ่มเติมคำฟ้องและขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา (The Temple of Preah Vihear belongs to the Kingdom of Cambodia )
คำฟ้องและคำขอของกัมพูชาจึงมีจุดประสงค์ขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา จึงเป็นคำพิพากษาในเรื่องทรัพย์สินคือปราสาทพระวิหาร เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้กัมพูชามีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจอธิปไตยในปราสาทพระวิหาร ( ไม่ได้พิพากษาให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหาร ) โดยศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษาว่า ข้อเรียกร้องของกัมพูชาในข้อ 1 – 2 ที่ขอให้ศาลพิพากษาถึงสถานะทางกฎหมายของแผนที่และเส้นแดนนั้น มิใช่เป็นข้อที่ศาลจะต้องพิพากษาในภาคปฏิบัติ หากแต่ได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น [ คำพิพากษาหน้า 34 : Cambodia’ s first and second Submission , calling for pronouncement on the legal status of the Annex 1 map and on the frontier line in the disputed region , can be entertained only to the extent they give expression to grounds , and not as claims to be dealt with in the operative provisions of the Judgment . ]
คำพิพากษาของศาลโลกดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นคำพิพากษาที่กัมพูชา จะขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ได้เลย เพราะเป็นคำพิพากษาที่ห้ามตีความเพื่อบังคับในเรื่องเขตแดนไว้อยู่ในตัว
คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 เป็นคำพิพากษาที่เป็นเพียงการวางสิทธิของกัมพูชามีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจอธิปไตยเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารและอาณาเขตของตัวปราสาทเท่านั้น การขอให้ตีความเป็นเรื่องของการตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น กัมพูชาจะขอตีความคำพิพากษาเพื่อให้คำพิพากษากลายเป็นกฎหมายมาบังคับใช้สิทธิ หาได้ไม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายสากลว่า “ คำพิพากษาเป็นเพียงการวางสิทธิ การตีความกฎหมายเป็นเรื่องการบังคับใช้สิทธิ” (Sententia facit jus, et legis interpretation legis vim obtinet )
คำพิพากษาศาลโลกพิพากษาให้กรรมสิทธิ์ในประสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา จึงเป็นเสมือนหนึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าของตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของไทย ปราสาทพระวิหารจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกปักบนที่ดิน ปราสาทพระวิหารย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ตามหลักกฎหมายสากล “ สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน” ( Aedificatum solo, solo cedit ) หาใช่ที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของอาคารปราสาท หรือที่ดินเป็นอาณาเขตของอาคารปราสาทพระวิหารไม่ การที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา เพื่อจะบังคับคดีกับไทย เพื่อที่จะเอาที่ดินรอบอาคารปราสาทไปเป็นส่วนประกอบของอาคารปราสาทนั้น จึงเป็นการขอให้ศาลโลกปฏิบัติหน้าที่ของศาลแบบกลับตาลปัตรกัน เพราะเป็นการขอให้ศาลโลกใช้คำพิพากษาเป็นกฎหมายบังคับให้ที่ดินรอบปราสาทพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหาร ซึ่งก็คือกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกทำผิดหลักกฎหมายตามหลักกฎหมายสากล “ สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน” ไม่ใช่ให้ที่ดินที่ตั้งอาคารและที่ดินรอบอาคารเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ซึ่งไม่อาจจะกระทำได้ เพราะการตีความให้ที่ดินที่ตั้งอาคารหรือที่ดินรอบอาคารปราสาทเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารแล้ว การตีความคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษย์ชนของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลโลก ที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ตามกฎบัตรสหประชาชาติตามหลัก Bangalor Principles of Judicial Conduct
ในทางกลับกัน กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก ปี 1962 โดยต้องรื้อถอนปราสาทพระวิหารออกไปจากดินแดนของไทย รัฐบาลไทยต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลโลก (หากรัฐบาลไม่ต้องการจะใช้สิทธิฟ้องเรียกปราสาทพระวิหารคืน ) โดยต้องแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก ขอให้กัมพูชาปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ให้รื้อถอนปราสาทพระวิหารออกไปจากดินแดนอำนาจอธิปไตยของไทย ภายในระยะเวลาที่กำหนด ( ไม่ควรเกิน 1 ปี ) เพื่อให้กัมพูชานำไปประกอบเป็นปราสาทพระวิหารในดินแดนของกัมพูชา ซึ่งสามารถทำให้ปราสาทพระวิหารคงสภาพในรูปเดิม และมีคุณค่าทางโบราณคดีดังเดิมได้ โดยใช้ระบบการรื้อถอนและก่อสร้าง Anastilosis ได้
และหากไทยไม่ร้องขอต่อศาลโลก เพื่อบังคับคดีให้กัมพูชาให้รื้อถอนปราสาทพระวิหารออกไปในครั้งนี้ ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ถึงการทุจริตคอรัปชั่นได้โดยไม่ยาก ข้อความที่กระทรวงต่างประเทศจัดทำและนำเสนอต่อสาธารณะทางอินเตอร์เน็ต “ 50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร ” จะมีข้อความที่ส่อให้เห็นการทำพยานหลักฐานและสร้างพยานหลักฐานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชา โดยมีเจตนาให้ไทยเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนอย่างชัดแจ้งในหลายประเด็น
บทสรุป ประเด็นสำคัญการแถลงด้วยวาจาที่ไทยจะต้องยกขึ้นอ้างในแถลงการณ์คือ
1. อ้างถึงคำพิพากษาศาลโลกที่ไม่ได้นำเอาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาและหลักฐานทางโบราณคดีมาพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นคำพิพากษาที่ศาลโลกไม่ได้พิจารณาพิพากษาในเรื่องอาณาเขตระหว่างประเทศไว้ในคำพิพากษาปี 1962
2. คำพิพากษาศาลโลกได้อธิบายไว้โดยชัดแล้วว่า เป็นคำพิพากษาที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศ
3. สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี 1904 - 1907 เป็นโมฆะ ขัดต่อกฎหมายห้ามเด็ดขาด ( Jus cogens ) ศาลโลกพิพากษาคดีโดยใช้สนธิสัญญา ไทย-ฝรั่งเศส 1904- 1907 คำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่มีผลบังคับให้ไทยต้องปฏิบัติ และศาลโลกจะนำคำพิพากษาปี 1962 มาตีความใช้บังคับเป็นกฎหมายไม่ได้ ผลของการเป็นโมฆะของสนธิสัญญาดังกล่าว จะยกขึ้นต่อสู้เมื่อใดก็ได้ และไทยขอยกขึ้นต่อสู้ในกรณีที่ศาลโลกจะตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ในครั้งนี้ด้วย
4. ไทยต้องอ้างสัญญาลับระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส 1904( Entente Cordiale 1904 ) ซึ่งผูกพันฝรั่งเศสที่จะนำดินแดนของไทยไปผนวกกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสไม่ได้
5. ไทยต้องอ้างอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ปี 1941 ว่ามีผลบังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน ในขณะทำอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียวในปี 1941 นั้น สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 ไม่มีอยู่ เพราะเป็นโมฆะตามหลัก Jus cogens และขัดต่อสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 อาณาเขตของไทยตามสนธิสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว 1941 มีผลสมบูรณ์และไม่ได้ถูกล้มล้างโดยข้อตกลงวอชิงตัน 1946 เพราะข้อตกลงวอชิงตัน 1946 ขัดต่อสัญญาลับอังกฤษ – ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 ข้อตกลงวอชิงตัน 1946 จึงเป็นโมฆะ
6. แผนที่ที่กัมพูชาอ้าง และศาลมีคำพิพากษาเกี่ยวกับแผนที่นั้น เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นตามสนธิสัญญา ไทย-ฝรั่งเศส 1904 -1907 แผนที่ที่ทำขึ้นจึงเป็นโมฆะ และเป็นแผนที่ที่ขัดต่อสนธิสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส Entente Cordiale 1904 จะนำแผนที่มาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาไม่ได้
7. กัมพูชาไม่มีสิทธิในปราสาทพระวิหาร เพราะไม่ได้รับการสืบสิทธิจากฝรั่งเศส และฝรั่งเศสก็ไม่มีสิทธิในปราสาทพระวิหารที่จะให้กัมพูชาสืบสิทธิได้
8. กัมพูชาจะขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีไม่ได้ ไทยจะต้องยื่นคำร้องและแถลงด้วยวาจาให้กัมพูชารื้อถอนปราสาทพระวิหาร ไปจากดินแดนของไทยในกำหนดเวลาที่ไทยกำหนดให้ หากไม่รื้อถอนก็ให้ถือว่ากัมพูชาสละสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยตามหลักกฎหมายสากลที่ว่า “ อะไรที่ปลูกปักลงบนที่ดิน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ” ( ความจริงขณะนี้ก็เป็นของไทยอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 ไม่ผูกพันไทย ) และสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1904 – 1907 ขัดต่อหลักกฎหมาย Jus cogens
9. ไทยควรสงวนสิทธิที่จะฟ้องคดีเรียกดินแดนคืน และเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายในกรณีที่ไม่ได้ดินแดนคืน
10. รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า การทำหน้าที่ฝ่ายบริหารกับการทำหน้าที่ในฐานะเป็น “ รัฐบาล ” นั้น มีความหมายแตกต่างกัน รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ของความเป็น “ รัฐบาล ” ในกรณีนี้ อันมิใช่ทำหน้าที่ “ เป็นเพียงฝ่ายบริหาร” เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน
11. กัมพูชานำคดีไปฟ้องต่อศาลโลก และกำลังให้ศาลโลกใช้คำพิพากษาเป็นกฎหมายโดยให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา เพื่อบังคับไทยให้ต้องเสียดินแดนและอำนาจอธิปไตยในดินแดนของไทย (ในความรู้สึกของประชาชน) กัมพูชาทำให้ไทยต้องไปศาลโลก ทำให้ประชาชนมีความทุกข์ รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกทางตามวิถีทางกฎหมายตามสุภาษิต “น้ำทำให้ดินเป็นโคลนได้ฉันใด โคลนหรือดินก็รับน้ำได้ฉันนั้น” ( Aqua cedit solo)
ไทยกับกัมพูชาจะต้องอยู่ร่วมกันเช่น น้ำกับดิน และต้องรับมือกันให้ได้ในบริบททางกฎหมาย ความเป็นจริงและความยุติธรรมตามกฎหมาย ด้วยความสุจริตของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย มิใช่ในบริบทของ ดินเลนและตม ที่ไหลตามน้ำลงทะเลไป มิฉะนั้นสันติสุขของประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้
7 ก.พ.56