xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษา...จากคนไทยทั้งประเทศต่อคำพิพากษาศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

จริงอยู่ ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชาโดยคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 แต่ก็ต้องเข้าใจว่าศาลไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน ไม่ได้ชี้ให้เส้นตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดน ในบทปฏิบัติการของคำพิพากษาฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาหลักของคดีนี้มี 3 ข้อ

ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตใต้อธิปไตยของกัมพูชา ; โดยเหตุนี้

ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแล ซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา ; และ

ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ. 1954


โปรดสังเกตตรงที่ผมขีดเส้นใต้ไว้

เป็นคำแปลมาจากคำพิพากษาฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งระบุให้ใช้เป็นภาษาหลักของคำพิพากษาคดีนี้ คำภาษาอังกฤษทั้งสองคือ “...in territory under sovereignty of Cambodia” และ “...on Cambodian territory”

นี่เป็นคำแปลภาษาไทยฉบับเป็นทางการโดยกระทรวงการต่างประเทศ จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเผยแพร่โดยสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2505 หลังคำพิพากษา 15 วัน คนไทยรุ่นหลังก่อนหน้าเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เวลาอ้างอิงถึงคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้แทบทั้งหมดจะอ้างอิงสำนวนแปลฉบับนี้ โดยจะอ้างเลขหน้าและย่อหน้าประกอบด้วย แม้หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์เมื่อ 50 ปีฉบับหน้าปกเป็นธงชาติไทยจะหมดลง การจัดพิมพ์ครั้งใหม่ก็ใช้วิธีนำทั้งรูปแบบหนังสือเดิมมาถ่ายเพลทพิมพ์ใหม่โดยไม่ได้จัดรูปเล่มใหม่ให้ทันสมัยขึ้น ไม่มีแม้กระทั่งคำนำใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบปกหน้าใหม่เป็นสีส้มๆ เท่านั้น ทำให้การถกทางวิชาการถึงตัวคำพิพากษายังคงสามารถอ้างอิงเลขหน้าและย่อหน้าได้เหมือนเดิมโดยไม่มีความสับสน

ศาลไม่ได้ชี้เรื่องเขตแดนไว้ เพราะคำฟ้องและคำขอครั้งแรกของกัมพูชาในคดีนี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 มีเพียงขอให้ศาลสั่งว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ต่อมากัมพูชาจึงเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น คือ ความถูกต้องของแผนที่ระวางดงรัก และเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นไปตามแผนที่ระวางดงรัก

ศาลจึงมีคำพิพากษาตามคำฟ้องและคำขอในครั้งแรกของกัมพูชาเท่านั้น

ศาลไม่ได้ชี้เรื่องเขตแดน – ขอย้ำอีกครั้ง !

การปฏิบัติตามคำพิพากษาของประเทศไทยแม้จะไม่เห็นด้วย ก็คือมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ล้อมรั้วอาณาเขตปราสาทพระวิหาร ซึ่งนอกจากตัวพระวิหารแล้วก็มีพื้นที่อีกรวม 1 ใน 4 ตารางกิโลเมตร และถอนกำลังออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวตามคำพิพากษาข้อสองเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2505 แม้แต่ธงไตรรงค์ก็อัญเชิญออกมาโดยวิธีการขุดเสาและแบกออกมาโดยที่ไม่ได้ชักธงลงจากยอดเสา

ประเด็นที่ต้องเข้าใจกันคือเขตที่ล้อมรั้วไว้คือเขตปราสาทพระวิหาร หรือพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่เขตแดนไทย-กัมพูชา

ประเทศไทยยังคงมีจุดยืนเหมือนที่ต่อสู้คดีในช่วงปี 2502 – 2505 มาโดยตลอด 2 ประการว่า

หนึ่ง : เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอยู่ที่สันปันน้ำตามข้อ 1 อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ

สอง : สันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา ตามสรุปผลการสำรวจของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส 3 ชุด คือ ชุดปี ค.ศ. 1904, 1907 และ 1919 โดยมีหลักฐานหลายรายการตามที่ประเทศไทยอ้างไว้ในคำให้การที่ยื่นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2504 และคำติงที่ยื่นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2505

นี่คือจุดยืนที่ประเทศไทยยืนยันมาตลอด ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยไม่เคยออกประกาศฝ่ายเดียวรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกเลย การรับเขตอำนาจศาลของประเทศไทยจึงขาดอายุลงตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2503 เป็นต้นมา

จริงอยู่ แม้จะมีผลแต่เพียงว่าเราไม่ผูกพันกับศาลเฉพาะคดีอื่นเท่านั้น แต่คดีเดิมที่เกิดขึ้นขณะเราเขตอำนาจศาลอยู่ยังคงมีผลผูกพันเราตลอดมาและตลอดไปในอนาคตเฉพาะในประเด็นแห่งคดีเดิมและคำพิพากษาคดีเดิม เฉพาะในกรณีที่คู่ความของเราเขาใช้สิทธิร้องต่อศาลตามธรรมนูญศาลมาตรา 60 เพราะธรรมนูญศาลมาตรา 60 ไม่มีกำหนดระยะเวลา

คดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 และกำลังจะตัดสินในวันนี้เป็นกรณีตามมาตรา 60 ครับ

“In the event of dispute as to the meaning or scope of the judgment, the Court shall construe it upon the request of any party. ”

“(การตัดสินเป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์) ในกรณีที่มีข้อพิพาทกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาให้ตีความได้ตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


มาตรา 60 นี้เปรียบเสมือนลำแสงเล็ก ๆ เลือน ๆ ที่ส่องออกมาจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วที่เราปิดประตูไม่รับเขตอำนาจศาลอีกต่อไป ลำแสงเล็ก ๆ เลือน ๆ นี้ยังคงส่องมาถึงวันนี้

แม้จะรักษาสิทธิด้วยการเข้าไปต่อสู้คดีครั้งนี้ แต่ประเทศไทยก็ได้เสนอต่อสู้กลับไปในประเด็นสำคัญที่สุดว่ากัมพูชาใช้สิทธิตามมาตรา 60 โดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาแอบแฝงเพื่ออุทธรณ์คดีเดิมที่ถือเป็นที่สุดแล้วตามธรรมนูญศาล และไทยก็ปฏิบัติตามครบถ้วนมาตั้งแต่ปี 2505 แล้วโดยกัมพูชาไม่ปริปากคัดค้านมา 50 ปี

ดังนั้นในวันนี้ หากศาลยังคงเป็นเหมือนเมื่อปี 2505 พิพากษาไปตามการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของกัมพูชา ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ก็เท่ากับศาลละเมิดธรรมนูญศาลเสียเอง คือใช้เขตอำนาจศาลออกนอกประเด็นแห่งคดีเดิม ออกนอกลำแสงเล็ก ๆ เลือน ๆ มาบังคับประเทศไทย

ประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา !

แม้คำพิพากษามีความเป็นไปได้ 4 ทาง

แต่มีเพียงทางเดียวเท่านั้นที่ประเทศไทยจะปฏิบัติตามได้

คือศาลพิพากษาว่าอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารคือพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 กำหนดให้ล้อมรั้วไว้ ซึ่งนอกจากตัวปราสาทพระวิหารแล้วก็มีพื้นที่อีกรวม 1 ใน 4 ตารางกิโลเมตร

ตามที่ประเทศไทยได้ส่งพิกัดไปให้ศาลแล้วหลังการแถลงด้วยวาจาเมษายน 2556 ที่ผ่านมา


ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเราชนะคดี

เราเพียงแต่เสมอตัว กลับไปสู่ความเป็นจริงในพื้นที่ตามเดิม

ความจริงในพื้นที่ที่มีชาวกัมพูชาทั้งชุมชน วัด ถนน และทหาร อยู่เต็มพื้นที่อาณาเขตประเทศไทยนอกเส้นมติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2505 เต็มไปหมด

เพราะฉะนั้นวันนี้ต่อให้ศาลตัดสินออกมาในทางที่ประเทศไทยเสมอตัว ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องตัดสินใจอีกต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่จริง

ไม่ต้องพูดถึงคำพิพากษาศาลแนวอื่นนะ

ณ นาทีนี้เชื่อว่าคำพิพากษาจากคนไทยทั้งประเทศจะไม่ยอมให้ปฏิบัติตามแน่ !

กำลังโหลดความคิดเห็น