xs
xsm
sm
md
lg

ฤา พล.อ.อ.สุกำพล จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์เมื่อ 83 ปีที่แล้ว!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กฎหมายปิดปาก คือกฎหมายประเพณีอังกฤษที่ศาลโลกนำมาใช้กับคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 โดยใช้หลักคิดที่ว่า ผู้นิ่งเฉย ไม่ปฏิเสธ เท่ากับยอมรับแต่ที่สำคัญก็คือในเรื่องข้อพิพาทเรื่องชายแดนนั้น ถือได้ว่าการใช้กฎหมายปิดปากที่เป็นเหตุอ้างทำให้ไทยต้องเสียดินแดนนั้น ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในโลก เป็นครั้งเดียวในโลก และเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการใช้กฎหมายแบบนี้

ด้วยความที่ประเทศไทยยึดถือเรื่อง สนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 มาเป็นคำจำกัดความในเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส และยังยึดถือรายงานและหลักฐานบันทึกของฝ่ายฝรั่งเศสเองการเดินสำรวจบริเวณเทือกเขาพระวิหารว่าสามารถมองเห็นหน้าผาเป็นสันปันน้ำตลอดแนวทิวเขาดงรัก ตลอดจนได้หลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้สำรวจจนเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา อีกทั้งยังสามารถชี้ชัดว่าแผนที่ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นนั้นได้ทำผิดและขัดแย้งจากภูมิประเทศจริง แต่ศาลโลกในเวลานั้นเลือกที่จะใช้กฎหมายปิดปากแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงข้างต้น

และด้วยเหตุผลที่ศาลโลกได้ตัดสินอย่างไร้เหตุผลและอยุติธรรมนี้เอง ประเทศไทยจึงได้ทำการประท้วง คัดค้าน ตั้งข้อสงวนในคำพิพากษาที่เกิดขึ้น อีกทั้งไม่ต่ออายุปฏิญญาการรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับอีกนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ความอยุติธรรมและการใช้เล่ห์เพทุบายเรื่องการใช้กฎหมายปิดปาก ทำให้ประเทศไทยต้องใคร่ครวญและไตร่ตรองให้จงหนัก เพราะการที่กัมพูชาเชิญประชุมที่ปราสาทพระวิหารในครั้งนี้ ก็จะส่งผลต่อจิตวิทยาและท่าทีต่อประเทศไทยต่อ “บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ทางขึ้นเขาไปถึงวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระซึ่งมีธงชาติกัมพูชาแต่เพียงชาติเดียวอยู่ในผืนแผ่นดินไทยนั้น คณะไทยซึ่งนำโดย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อหากเดินขึ้นไปด้วยสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ก็พึงจะต้องประท้วง คัดค้าน และแสดงออกในที่สาธารณะ มิเช่นนั้นก็อาจจะตกเป็นเหยื่อ “กฎหมายปิดปากภาค 2” ได้

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ จำต้องกล่าวถึงกรณีที่ที่ศาลโลกได้หยิบกฎหมายปิดปากมาใช้กับประเทศไทย โดยได้หยิบยกสิ่งที่ศาลโลกเรียกว่า “เหตุการณ์สำคัญที่สุด” ก็คือการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ 83 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1930

ในคำพิพากษาของศาลโลกได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเอาไว้ดังนี้:

“ในเรื่องนี้เหตุการณ์สำคัญที่สุดประกอบด้วยการเสด็จไปเยี่ยมพระวิหารใน ค.ศ. 1930 ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีปลัดกระทรวงมหาดไทยและในขณะนั้นทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศสยาม และทรงรับหน้าที่เกี่ยวกับหอสมุดแห่งชาติและโบราณสถาน

การเสด็จไปเยี่ยมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปสำรวจโบราณสถาน โดยพระบรมราชานุญาตของพระมหากษัตริย์สยาม และเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะกึ่งราชการ เมื่อเสด็จในกรมเสด็จถึงพระวิหารทรงได้รับการต้อนรับเป็นทางการจากข้าหลวงฝรั่งเศสของจังหวัดกัมพูชาที่ติดต่อกับชายแดนในนามของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส โดยมีธงฝรั่งเศสชักไว้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่น่าที่จะไม่ทรงสังเกตเห็นผลที่เนื่องมาจากการรับรองในลักษณะนี้ การยืนยันสิทธิทางด้านอินโดจีนฝรั่งเศสที่ชัดแจ้งกว่านี้ นึกคิดได้ยาก แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้กระทำอะไร

นอกจากนั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้วยังได้ประทานรูปถ่ายที่ระลึกไปให้ข้าหลวงฝรั่งเศส พระองค์ทรงใช้ภาษาที่ดูเหมือนจะยอมรับว่า โดยการกระทำของข้าหลวงฝรั่งเศสคู่นี้ ฝรั่งเศสได้กระทำตนเป็นประเทศเจ้าภาพ

ศาลได้พิจารณาเห็นว่า คำอธิบายของทนายฝ่ายไทยเกี่ยวกับการเสด็จของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ครั้งนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อพิจารณาเหตุการณ์โดยตลอด การกระทำเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายจากฝ่ายสยามในอธิปไตยของกัมพูชา (ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส) เหนือพระวิหาร โดยการที่ไม่มีปฏิกิริยาทางใดๆ ในโอกาสที่จะต้องแสดงปฏิกิริยา เพื่อยันยันหรือรักษาไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ของตนในเมื่อมีข้อเรียกร้องของคู่แข่งขันที่ประจักษ์ สิ่งที่ปรากฏชัดคือว่าตามความเป็นจริงประเทศสยามไม่ได้เชื่อว่าตนมีกรรมสิทธิ์ใดๆ และข้อนี้ย่อมสอดคล้องกับท่าทีของไทยที่มีต่อแผนที่ภาคผนวก 1 ตลอดมาและภายหลัง หรือมิฉะนั้นไทยก็ตกลงใจที่จะไม่อ้างสิทธิ ซึ่งก็หมายความได้อีกว่า ไทยได้ยอมรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสหรือยอมรับเส้นเขตแดน ณ พระวิหารตามที่ได้ลากไว้บนแผนที่”

นี่คือประวัติศาสตร์เมื่อ 83 ปีที่แล้ว กรณีการเสด็จเยือนประสาทพระวิหารของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ถูกหยิบมาใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ในเวทีศาลโลกเพื่อใช้กฎหมายปิดปากกับประเทศไทยอย่างอยุติธรรมที่สุด

เพราะแม้แต่ธงที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ใครจะเชื่อได้ว่าธงชาติเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเกี่ยวกับธงชาติอื่นใดในแผ่นดินไทย ฝ่ายไทยจะมองข้ามไปไม่ได้เลยไม่ว่าธงชาติอื่นนั้นจะอยู่ในบริเวณใดในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ก็ล้วนแล้วแต่ตอกย้ำในเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น

การต่อสู้คดีในครั้งนั้นฝ่ายไทยได้ยื่นคำให้การของไทยเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2504 จะเห็นได้ว่าเรื่องธงชาตินั้นเป็นเรื่องใหญ่มากและฝ่ายไทยต้องหาเหตุผลในการหักล้างที่ศาลโลกไม่ฟังในเวลานั้น โดยปรากฏเป็นคำให้การความบางตอนที่น่าสนใจดังนี้

ข้อ 47 วรรค 2 “ที่กัมพูชาฟ้องกล่าวอ้างมาดังนี้เห็นได้ชัดว่า เป็นการอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงตามหลักฐาน เพราะข้อเท็จจริงจะต้องรับกันว่า ที่เขาพระวิหารไม่มีเจ้าหน้าที่คนเข้าเมืองคอยห้ามปรามมิให้คนต่างด้าวข้ามเขตมา เพียงแต่มีคนต่างด้าวข้ามเขตเข้ามา แล้วมีการชักรูปกันไว้ เท่านี้จะมาอ้างเอาเป็นหลักฐานว่า สถานที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของชาติที่คนต่างด้าวนั้นสังกัดได้อย่างไร ยังเป็นเรื่องน่าฉงนอยู่ แต่กระนั้นคดีนี้ก็ยังมีการอ้างรูปถ่ายเข้ามาเป็นหลักฐาน ดูเหมือนเพื่อพิสูจน์ว่าที่ปราสาทเขาพระวิหารมีธงฝรั่งเศสชักขึ้นเสาไว้ ถ้าจะถามว่าธงนั้นชักไว้ที่ไหนที่ควรเป็นที่ชักธงชาติเพื่อแสดงอำนาจอธิปไตย คนธรรมดาคงคิดว่าได้ชักไว้บนยอดเขา หรือภายในตัวปราสาทหรือที่หน้าปราสาทพหลังสุดท้าย แต่ก็เปล่าทั้งสิ้น รูปถ่ายแสดงว่า ฝรั่งเศสเอาธงไปชักขึ้นเสาไว้ตรงกลางเขาที่หน้าที่พักของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเอง ข้อนี้จึงไม่มีความหมายเพราะในตะวันออกสมัยนั้น เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสไปพักที่ไหน ก็มักจะไปชักธงฝรั่งเศสขึ้นที่นั่น”

ข้อ 48 “ความจริงก็ไม่เป็นดังฟ้อง เพราะเสด็จในกรมไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีอยู่ในเวลานั้น (เพราะเสด็จออกจากตำแหน่งเสนาบดีไปก่อนแล้วหลายปี) แต่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานราชบัณฑิตยสภา และในตำแหน่งนั่น ได้เสด็จไปที่ปราสาทพระวิหารเสด็จประพาสสำรวจโบราณสถานในจังหวัดขุขันธ์และอุบลราชธานีตามหน้าที่”

ข้อ 50 “ถึงกระนั้นก็เป็นความจริงอยู่ด้วยว่า การที่เรซิดังฝรั่งเศสมาแสดงละครที่เขาพระวิหารนั้น มิใช่ว่าเสด็จในกรมตลอดจนผู้ติดตามจะมาเข้าใจในความมุ่งหมายและรู้สึกไม่พอใจที่ฝรั่งเศสมากระทำดังนั้น การที่เสด็จในกรมไม่ได้ได้รับสั่งอะไร ภายหลังที่ได้ทรงใคร่ครวญอยู่พักหนึ่ง และคงขอให้เรซิดังฝรั่งเศสไปเปลื้องเครื่องแบบเต็มยศแล้วแต่งกายเสียใหม่ตามสบายนั้น พอจะเข้าใจได้ เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์ตามปรากฏ เสด็จในกรมทรงดำริชอบ เพราะเมื่อฝรั่งเศสลงจากเขาไปแล้ว ธงที่ชักไว้ก็ปลดลลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกลับเข้าใช้อำนาจปกครองเหนือเขาพระวิหารต่อไปตามเดิม”

และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือข้อเท็จจริงประการใด ศาลโลกก็ไม่ฟังอยู่ดีและจะยึดเอากฎหมายปิดปากอยู่เหนือสนธิสัญญา อยู่เหนือข้อเท็จจริงจากการปักปัน อยู่เหนือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ จึงนับเป็นเรื่องที่สมควรแก่เหตุแล้วที่บรรพบุรุษไทยจะได้วางรากฐานในการไม่รับอำนาจศาลโลกอีกนับตั้งแต่คดีนี้สิ้นสุดลง

คำถามสำคัญก็คือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ได้ทราบเรื่องข้อเท็จจริงข้างต้นหรือยัง จึงคิดรับนัดหมายเดินทางไปที่ตัวปราสาทพระวิหารอันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายปิดปากรอบที่ 2?

คำตอบที่น่าจะเป็นก็คือ “น่าจะรู้อยู่แล้ว” เพราะไม่เช่นนั้นเหตุใดฝ่ายจึงมีการเปลี่ยนจากสถานที่จากที่ พล.อ.เตีย บันห์ ได้เชิญ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ปราสาทพระวิหาร มาเป็น “โรงแรมสุรินทร์มาเจสติก” จ.สุรินทร์แทน?

เพราะการเปลี่ยนครั้งนั้นก็อาจจะเป็นเพราะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศได้ท้วงติงเรื่องสถานที่ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จริงหรือไม่?

แต่เมื่อฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธที่จะมาเยือนฝั่งไทย และต้องการใช้ปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนในการประชุมย่อมแสดงให้เห็นว่ากัมพูชามีเป้าหมายทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะต้องจินตนาการต่อไปว่า ฝ่ายคณะไทยได้ถูกเชิญโดยฝ่ายกัมพูชา โดยที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นคนต้อนรับจัดขบวน ฝ่ายคณะไทยจะต้องเดินผ่านการตั้งด่าน แถวทหาร ชุมชนบ้านเรือนกัมพูชา และธงชาติกัมพูชาในบริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ฝ่ายได้พร้อมหรือไม่ที่จะประกาศประท้วง และคัดค้าน ในทันทีเมื่อได้เห็น เพื่อมิให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เมื่อ 83 ปีที่แล้วอีก?

ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ควรไป ถ้าพร้อมจะคัดค้านประท้วงก็ควรไป แต่ถ้าอยากไปแต่จะไม่ประท้วงคัดค้าน ก็อาจถูกครหาได้ว่าเป็นการ “ขายชาติ เอาหน้ารอด”จริงหรือไม่?

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น พล.อ.อ.สุกำพล และคณะก็ต้องพร้อมความเสี่ยงที่จะต้องถูกดำเนินคดีความอาญาต่อไปอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น