xs
xsm
sm
md
lg

​เจ็บแล้วไม่จำ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

​เอกสารของรัฐบาลไทยก็ดี ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีไทยก็ดี เคยถูกกัมพูชานำไปอ้างอิงเพื่อเป็นประโยชน์ในเวทีระหว่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง เฉพาะในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็เห็นได้ไม่ต่ำกว่า 3 กรณี

​จะขอยกตัวอย่างการตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2497

​สถานการณ์พื้นฐานก่อนจะถึงวันนั้นก็คือกัมพูชาเพิ่งจะได้เอกราชอย่างถาวรจากฝรั่งเศสมาเพียง 1 ปี โดยประเทศไทยรับรองตามสหประชาชาติ ก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกในปี 2492 ประเทศไทยเข้าครอบครองปราสาทพระวิหารในขณะที่ฝรั่งเศสยังปกครองกัมพูชาอยู่ แต่เตรียมการที่จะปลดปล่อยกัมพูชาเป็นขั้นตอนแล้ว ฝรั่งเศสทำหนังสือประท้วงเป็นระยะ ๆ มารวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2492 ฝรั่งเศสอ้างว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชา

​นายอารีย์ ตันติเวชกุล ส.ส.นครราชสีมาในขณะนั้น ตั้งกระทู้ถามพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นในประเด็นนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการรับรองประเทศต่าง ๆ กระทู้ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2/2497 (วิสามัญ) ชุดที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2497

​มีการถามตอบกันหลายรอบด้วยวาทะที่น่าศึกษา

​แต่ที่เกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหารโดยตรงคือการถามตอบรอบสุดท้าย นายอารีย์ ตันติเวชกุลเห็นว่าไม่ควรด่วนรับรองรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่ยังไม่ได้เอกราชสมบูรณ์ เพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อเขตแดนที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะประเทศไทยได้ดินแดนที่เสียไปยุครัชกาลที่ 5 คืนมาบางส่วนจากฝรั่งเศสในช่วงปี 2484 แต่ก็เสียกลับไปหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2

​“เขาวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ จนเดี๋ยวนี้ดินแดนเหล่านี้ยังไม่รู้ว่าเป็นของใครเลย เชื่อว่าเสด็จในกรมทราบดี อยู่ในแฟ้มของต่างประเทศ ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิไปค้นทั้งนั้นแหละ ที่เขาพระวิหารคือมันย้อยข้ามอยู่ ทางโน้นก็ไม่ยอม ทางเราก็ไม่ยอม หลังจากดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสนี่มา ขอให้ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศได้ทรงพระกรุณาไปเอาหน่อยเถอะ ไปเอามาให้หมด...”

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงตอบในรอบสุดท้ายนี้ว่า...

“ทีนี้อีกข้อหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่สู้แน่ใจนักว่าจะเข้าอยู่ในกรอบ แต่ว่าเพราะเป็นเรื่องการเมืองที่ท่านซักถาม แต่ครั้นข้าพเจ้าจะไม่ตอบไปก็จะเกิดมีความลังเล และอาจมีความเข้าใจผิดได้ คือเกี่ยวกับดินแดน อันที่จริงท่านอ้างถึงคณะกรรมการที่ไปกรุงวอชิงตัน ในขณะนั้นข้าพเจ้าก็เป็นคณะกรรมการอยู่คนหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ย่อมทราบเรื่องดี...

“ในขณะนั้นความปรารถนาของประเทศไทย ปรารถนาอย่างยิ่งก็คือ อยากจะให้ประเทศเขมรในกรณีนี้ และประเทศลาวและเวียตนามด้วย ได้เป็นเอกราช เราได้บอกกับฝรั่งเศสทีเดียว บอกว่าความปรารถนาของไทยนั้นไม่ใช่จะไปเอาดินแดนมาหรอก ไม่ใช่ดินแดน แต่เราปรารถนาที่จะให้ชาติพี่น้องของเราได้รับเอกราช เพราะฉะนั้นถ้าฝรั่งเศสจะให้คำมั่นว่าจะให้เอกราชใน 5 ปีอย่างนี้แล้ว เราก็อาจจะสละการเรียกร้อง เพราะว่าเราถือว่าเมื่อเป็นชาติเป็นดินแดนของชาติพี่น้องกันแล้ว เราอาจจะทำความตกลงเข้าใจและเจริญทางไมตรีกันอย่างสนิทสนม ไม่ใช่เฉพาะแต่อย่างฐานเพื่อนบ้านที่ดี แต่ฐานพี่น้องอีกด้วย...

“ข้อบกพร่องเกี่ยวกับเขตแดนยังมีอยู่บางประการที่ไม่ต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และในแง่นี้แหละข้าพเจ้ากำลังจัดการอยู่แล้ว...

“เพราะฉะนั้นสรุปความก็คือ เพื่อไม่ให้มีความเข้าใจผิด และข้าพเจ้าถือว่าประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นเป็นประเทศพี่น้องกันได้รับเอกราชแล้ว การที่จะคิดไปเอาดินแดนก้อนใหญ่ ๆ มานั้นก็ไม่อยู่ในนโยบาย เพราะว่าได้ดำเนินตามนโยบายของชาติเราตลอดมา ที่หวังให้ประเทศเหล่านั้นได้รับเอกราช แต่ส่วนเขตแดนที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ข้าพเจ้ากำลังจัดการที่จะให้เป็นไปตามนั้น รวมทั้งกรณีที่ท่านอ้างโดยชัดแจ้งนั้นด้วย...”


ที่จริง เสด็จในกรมท่านก็ไม่ได้ยืนยันอะไรมากในประเด็นปราสาทพระวิหาร ท่านเพียงแต่ตรัสว่าให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่กัมพูชานำไปขยายความในคำฟ้องที่ยื่นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502

“เมื่อวันที่ 14 มกราคม 1954 ระหว่างที่มีการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา มีเหตุที่รัฐบาลไทยต้องแสดงนโยบายออกมาให้ปรากฏเป็นการแน่นอน

“ผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามว่า การรับรองรัฐบาลกัมพูชาจะหมายความว่าประเทศไทยได้สละสิทธิเป็นเด็ดขาดเกี่ยวกับจังหวัดต่าง ๆ ที่ต้องคืนไปในปี 1947 ด้วยหรือไม่

“เสด็จในกรมนราธิปฯ รัฐมนตรีต่างประเทศ ตอบว่า พระองค์ถือว่าการได้เอกราชของกัมพูชาเป็นปัญหาสำคัญกว่าที่จะไทยจะได้ครอบครองจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งได้คืนให้กัมพูชาไปเมื่อปี 1946 เสด็จในกรมรับสั่งต่อไปว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบายในทางขยายอาณาเขต แต่ต้องการปรับปรุงพรมแดนบางแห่ง ซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรนัก ยกตัวอย่างเช่นที่เขาเปรี๊ยะวิเฮียร์ แต่ก็ตั้งพระทัยที่จะให้ได้รับความพอใจด้วยการเจรจากับกัมพูชาฉันมิตรตามกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงยังเคารพต่ออธิปไตยของกัมพูชา”


นี่อยู่ในคำฟ้องข้อ 26

ย้อนขึ้นไปในคำฟ้องข้อ 13 วรรคสี่ กัมพูชาก็ได้อ้างหลักฐานเอกสารของรัฐบาลไทยที่ออกเผยแพร่ทั่วไปชื่อ “ไทยในสมัยสร้างชาติ” พิมพ์โฆษณาเมื่อปี 2484 หรือค.ศ. 1941 พิมพ์สนธิสัญญาโตเกียว 9 พฤษภาคม 2484 ที่ฝรั่งเศสยกดินแดนอินโดจีนบางส่วนให้ประเทศไทย กัมพูชาอ้างไว้ว่า...

“ข้อความในหนังสือนี้กล่าวไว้ชัดเจนโดยมีภาพถ่ายแสดงประกอบด้วยว่า โบราณสถานที่เปรี๊ยะวิเฮียร์ และวัดโพธิ(ที่พรมแดนลาว) ไทยก็ได้ไปด้วยผลของการปรับปรุงอาณาเขตกันใหม่ตามสัญญาปี 1941”

2 หลักฐานนี้กัมพูชาต้องการแสดงว่าปราสาทพระวิหารไม่เคยเป็นของประเทศไทยมาก่อนตั้งแต่ปีค.ศ. 1904 จากอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแต่ประการใด หากไทยจะได้ไป ก็ได้ไปพร้อมกับดินแดนบางส่วนจากสนธิสัญญาโตเกียวเมื่อปี 1941 นี้เอง และประเทศไทยก็ไม่ติดใจแล้ว

หนังสือ “ไทยสมัยสร้างชาติ” ก็คงคล้าย ๆ กับหนังสือ “50 ปี 50 ประเด็นถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร” ที่กระทรวงการต่างประเทศพิมพ์เผยแพร่เป็นแสน ๆ เล่มอยู่ขณะนี้ในแง่ของรูปแบบ

แต่ในแง่ของเนื้อหาแล้ว “50 ปี 50 ประเด็นถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร” หนักแน่นและเป็นประโยชน์กับกัมพูชามากกว่า “ไทยสมัยสร้างชาติ” เป็นร้อยเป็นพันเท่า

เมื่อประกอบกันเอกสารแผ่นพับของกระทรวงการต่างประเทศก่อนหน้านี้ที่บอกว่าคดีปราสาทพระวิหารภาคสองจะไม่ถือว่าใครแพ้ใครชนะ แต่จะเป็นชัยชนะร่วมกันของสันติภาพ เข้าไปด้วยแล้ว ยิ่งหนุนเสริมให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้นไปอีก

อยู่ที่ว่ากัมพูชาจะหยิบจับไปใช้เมื่อใดในเวทีไหน ?

จะใช้ในการแถลงปิดคดีด้วยวาจาในศาลโลก 15, 18 เมษายนนี้ หรือในการเจรจาเขตแดนในชั้น JBC โอกาสต่อไป ??

กำลังโหลดความคิดเห็น