xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ความสามารถ+พันธมิตร” ทางรอด SMEs ในยุค AEC ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การ no-shelf ในฐานะซับพลายเออร์ให้กับเครือข่ายร้านเซเว่นอีเลฟเว่นของซีพี ออลล์ กลายเป็น SMEs หลายรายปรารถนา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความเป็นไปของ AEC ดูจะแผ่ซ่านครอบคลุมไปในทุกบริบท ไล่เรียงตั้งแต่มิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม แต่ประเด็นที่กำลังสร้างความกังวลใจอย่างกว้างขวางน่าจะอยู่ที่อนาคตของ SMEs ไทยว่าจะดำเนินไปอย่างไรในกระแสธารแห่ง AEC ที่ว่านี้

แม้ว่าในความเป็นจริง SMEs ในหลายภาคอุตสาหกรรมจะถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป พลังงานทดแทน รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ บริการ เพราะมีโอกาสทางการค้าอยู่มากมาย และSMEs ของไทยก็มีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่ตลาดภายนอกได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิด AEC

แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดธุรกิจที่อาจจะยังไม่แข็งแรงพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองในการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนไม่น้อยต้องอยู่ในภาวะชะงักงัน ซึ่งทางออกของประเด็นนี้ในด้านหนึ่งอยู่ที่การส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ ทั้งในมิติของค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบ การแลกเปลี่ยนวิธีในการบริหารจัดการและเทคโนโลยี เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งที่กลุ่ม SMEs ต้องตระหนักและเร่งดำเนินการ อยู่ที่การเก็บข้อมูลเพื่อมาพัฒนา สินค้าและบริการ สร้างคุณค่าคุณภาพ ไปสู่มาตรฐาน ไปสู่ลูกค้ากลุ่มที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นลำดับขั้นของการพัฒนา SMEs จากธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้เติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเป็นบริษัทระดับโลก ที่ทันสมัย ซึ่งมีประเด็นว่าด้วยการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของการผลิตและแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญ

ทัศนะว่าด้วยการพัฒนา SMEs ในลักษณะเช่นว่านี้ สอดรับกับท่วงทำนองและทิศทางของ CP All ที่กำลังเพิ่มพูนบทบาทเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการนำสินค้าของ SMEs มาจำหน่าย ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และ7-catalog ก่อนที่จะนำสินค้าที่ขายดีใน 7-catalog ไป on shelf ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีอยู่ 7,000 กว่าสาขาทั่วประเทศ ทำให้สินค้า SMEs รายเล็กๆ มีโอกาสพัฒนาเป็นขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และหลายรายได้มีการส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศ

“นอกจากจะนำสินค้า SMEs มาจำหน่ายใน 7-catalog และในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นแล้ว ซีพีออลล์ยังมีช่องทางใหม่ คือ E-commerce ผ่านเว็บไซต์ Shopat7.comเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ SMEs มียอดขายสูงขึ้น สามารถส่งไปขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งตลาด AEC ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของ SMEs ที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ตลาดโลก” ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุ

ปัจจุบัน CP Allมีคู่ค้าที่เป็น SMEs กว่า 40% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 60% ภายในปี 2556 นอกจากนี้ในการพัฒนาคู่ค้าหรือซัปพลายเออร์ เซเว่นแคตตาล็อกได้ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) มอบทุนการศึกษาให้แก่คู่ค้าของเซเว่นแคตตาล็อกเรียนหลักสูตร MBA in Retail Business Management (วิชาเอกการจัดการธุรกิจค้าปลีก) และ MBA in Logistics Management (วิชาเอกการจัดการโลจิสติกส์) เพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรให้ซัปพลายเออร์อีกด้วย

ความพยายามของ CP All ในการสร้างพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ยังประกอบด้วยโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ และประกวดสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Award ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวในด้านหนึ่งก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีคุณภาพ มาแข่งขันในระดับประเทศไทย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ เมื่อผ่านการคัดกรองจนได้รางวัลชนะเลิศแล้ว CP All ก็จะนำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายใน 7-catalog ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 7,000 สาขา เว็บไซต์ Shopat7.comเพื่อขยายผลไปขายในตลาด AEC ซึ่ง CP All เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของ SMEs รายเล็ก ที่จะพัฒนาเป็นขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในที่สุด

“ปี 2558 จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งSMEsต้องปรับตัว เพราะฐานการตลาดจะใหญ่ เป็นโอกาสในการขยายตลาดข้ามแดนทั้งในรูปแบบการขยายฐานการผลิตและช่องทางการค้าออนไลน์เมื่อยุคการค้าไร้พรมแดน การเคลื่อนย้ายทุน โนว์ฮาวการจัดการต่างๆ ผู้คนที่เข้าออกได้อย่างเสรี อำนาจการซื้อก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นSMEsต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายAECด้วยการขายสินค้าที่เหมาะสม มีความแตกต่างและตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละตลาดของ AEC” อำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นแคตตาล็อก ระบุ

บทบาทของ 7-catalog จึงเป็นมากกว่าสื่อสำหรับการกระจายสินค้าของ CP All หากแต่ยังเป็นมาตรวัดความเป็นไปได้ที่จะทำให้สินค้าหลากหลายชนิด “เกิดหรือล้มหาย” ไปจากตลาด โดยมี CP All และเครือข่ายของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นผู้ประเมินไปโดยปริยาย

“เซเว่นแคตตาล็อกยังคงมุ่งเน้นสนับสนุนสินค้าของคนไทย โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเมื่อนำสินค้าของธุรกิจ SMEs มาจำหน่ายร่วมกับสินค้าต่างๆ จากแหล่งที่มาที่หลากหลาย ทำให้เซเว่นแคตตาล็อกมีส่วนผสมของสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี” อำพา ยงพิศาลภพ ย้ำ

ขณะที่ทางรอดของ SMEs ถูกประเมินว่าจะดำเนินไปได้จากการแสวงหาพันธมิตรและความสามารถในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางขึ้น

แต่ในมิติเบื้องต้นว่าด้วยเรื่องค่าแรง 300 บาทที่หลายคนกังวลว่าจะกระทบกับ SMEs โดยเฉพาะในส่วนที่ทำให้ต้นทุนของ SMEs เพิ่มขึ้นนั้น กลับได้รับการประเมินว่าจะส่งผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เพราะเมื่อผ่านไประยะหนึ่งอำนาจการซื้อจะเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาด SMEsใหญ่ขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs จะมีกำลังใจที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วสุดท้าย SMEs ไทยจะสามารถก้าวไปจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาด AEC หรือทั่วโลกได้ไม่ยาก

แต่จะเป็นอย่างที่ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวอยู่เสมอว่า “ในความมืดจะมีความสว่าง” หรือไม่ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยคงจะได้พิสูจน์ในระยะเวลาอันใกล้นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น