ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่ามีความน่าสนใจและสะท้อนภาพการแข่งขันในธุรกิจที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและทวีความหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปทุกขณะ
การประกาศแผนการลงทุนของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่จะใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในการสร้าง Shopping District เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่และสร้างจุดขายครั้งใหม่ ท่ามกลางการเปิดแนวรุกของคู่แข่งขันหลักจากเครือเซ็นทรัลที่ดำเนินต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ยุทธศาสตร์การขยายตัวของเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเครือเซ็นทรัลเป็นกรณีเปรียบเทียบที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก เพราะในขณะที่เครือเซ็นทรัลโดย เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN และเซ็นทรัลรีเทลคอร์ป CRC จะดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการขึงตรึงพื้นที่ในเขตย่านที่มีศักยภาพสูงในทุกทิศทางของเมือง ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า พระราม 2 พระราม 3 แจ้งวัฒนะ รามอินทรา รัตนาธิเบศร์ รังสิต พระราม 9 รวมถึงกระจายตัวสู่หัวเมืองต่างจังหวัดอย่างกว้างขวาง
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งจากเดิมเคยถูกปรามาสว่าเป็น “ห้างท้องถิ่นหัวเมือง” กลับพยายามเน้นภาพลักษณ์การเป็นผู้ประกอบการศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ หลังจากประสบความสำเร็จในการเบียดแทรกเข้ามาลงทุนในย่านสุขุมวิทด้วย ดิ เอ็มโพเรียม และตอกย้ำด้วยการร่วมลงทุนในสยามพารากอนในเวลาต่อมา
ก่อนที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับการขยายการลงทุนใหม่ๆ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป จะห่างหายไปจากหน้าสื่อหลัก ท่ามกลางความพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและการเสริมสร้างพันธมิตรธุรกิจ ก่อนที่จะเปิดแผนการลงทุนครั้งใหม่เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน
พัฒนาการทางความคิดของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่สะท้อนออกมาตามแผนการลงทุนครั้งใหม่นี้ ในความเป็นจริงแล้วไม่แตกต่างจากรูปแบบของเดอะมอลล์ ที่เคยได้ดำเนินการมาแล้วเมื่อครั้งที่รุกเข้าสู่พื้นที่ย่านรามคำแหง เมื่อกว่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา หากแต่ครั้งนี้เดิมพันของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ดูจะสูงกว่าอดีตมาก
และเมื่อเดิมพันสูงขึ้น ผู้ลงทุนย่อมมุ่งหมายผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนว่าการสร้าง shopping district ในย่านสุขุมวิท ตามแผนการลงทุนนี้ จะดำเนินไปท่ามกลางความเชื่อที่ว่าจะสามารถปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในวงการค้าปลีกไทย และสามารถสร้างย่านการค้าที่โดดเด่นระดับไฮเอนด์ ที่เปรียบเทียบเป็น Omotesando หรือ Roppongiของกรุงโตเกียวกันเลยทีเดียว
การประกาศแผนการลงทุนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ครั้งใหม่นี้ ในด้านหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อการเกิดขึ้นของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2557 ซึ่งจะทำให้ตลอดเส้นทางจากแยกปทุมวัน-ราชประสงค์-เพลินจิต-ชิดลม และสุขุมวิท กลายเป็นย่านการค้าในตลาดระดับกลาง-บนใจกลางเมืองที่จะมีพลวัตและศักยภาพสูงอย่างยิ่ง
แต่แนวรบในสมรภูมิธุรกิจค้าปลีกไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องราวของศูนย์การค้าและผู้ประกอบการในย่านการค้านี้เท่านั้น เพราะในขณะเดียวกัน สมรภูมิร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เป็นอีกหนึ่งสังเวียนที่มีการสัประยุทธ์กันอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน
การประกาศปรับทิศทางของท็อปส์เดลี่ให้กลายเป็นแฟมิลี่มาร์ท เป็นความพยายามล่าสุดของเครือเซ็นทรัล ที่จะขยายพื้นที่ของแฟมิลี่มาร์ทให้สามารถต่อกรกับทั้ง 7-11 ของ CP Allซึ่งเป็นผู้นำตลาดร้านสะดวกซื้อและการยึดพื้นที่เพื่อป้องกันการเบียดแทรกเข้ามาของ Lawson-108 จากเครือสหพัฒน์ ที่กำลังเร่งขยายฐานเช่นกัน
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าเครือเซ็นทรัลจะต้องเผชิญกับแรงบีบอัดจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ จากทุกทิศทาง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเครือเซ็นทรัลเป็นผู้ประกอบการที่มีระนาบสำหรับการแข่งขันในทุกเซกเมนต์ของธุรกิจค้าปลีกครบวงจรที่สุดในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ CP All ได้ดำเนินกลยุทธ์ในการรุกเข้ายึดทำเลในการเปิดสาขาด้วยการลงนามเป็นพันธมิตรกับ LPN ดีเวลลอปเมนต์ ในการบริหารพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ ของ LPN ซึ่งจะทำให้ 7-11 สามารถยึดครองทำเลขยายสาขาคอนโดมิเนียมลุมพินีทุกแห่ง และปิดช่องทางที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะเบียดชิงพื้นที่เข้ามา
กลยุทธ์ดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงการขยายสาขาที่บุกเข้าสู่ทำเลใหม่และทำเลเก่าที่มีศักยภาพของคู่แข่ง แต่ยังขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ควบคู่กับโมเดลธุรกิจค้าปลีกใหม่ ที่กำลังขยายตัวของกลุ่มเครือซีพีอีกด้วย
ตัวเลขที่น่าสนใจในสมรภูมิร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย ก็คือมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีจำนวนร้านสะดวกซื้อทั้งสิ้นประมาณ 12,044 สาขา ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นสาขาของผู้ประกอบการ 5 รายใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่ เซเว่น- อีเลฟเว่น จำนวน6,822 สาขา ตามด้วย “โลตัสเอ็กซ์เพรส” 1,059 สาขา 108ช็อปของสหพัฒน์ ซึ่งเตรียมแปลงร่างเป็น “108ลอว์สัน” มีจำนวน 929 สาขา แฟมิลี่มาร์ท 765 สาขาและเฟรชมาร์ท 755 สาขา
และยังมีคู่แข่งที่มีทั้งเงินทุนและพุ่งเป้าต้องการเข้ามาแบ่งเค้กเกือบสิบราย ไม่ว่าจะเป็นมินิบิ๊กซี จิ๊ฟฟี่ หรือท็อปส์เดลี่ ซึ่งที่ผ่านมามีร้านสะดวกซื้อบางค่ายต้องยกธงขาวยอมทิ้งสังเวียนนี้ไป ทั้งที่เปิดสาขามากถึง 1,159 สาขาเช่นในกรณีของ “วีช็อป” หลังจากไม่สามารถสู้สงครามการแข่งขันทุกหนักหน่วงนี้ไหวและหยุดดำเนินกิจการไปเมื่อปี 2554
การแข่งขันช่วงเวลานับจากนี้จนถึงสิ้นสุดรอบปี 2556 และต่อเนื่องไปสู่อนาคตข้างหน้าของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกแต่ละราย จึงเต็มเปี่ยมด้วยสีสันและกลยุทธ์ที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย เพราะผู้ประกอบการทุกรายต่างต้องแสวงหาโอกาส ช่วงชิงพื้นที่ และระดมสรรพกำลังความสามารถในการสร้างจุดขายและความแตกต่างโดดเด่น สำหรับการดึงดูดกำลังซื้อที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอย่างจำกัด จากผลของภาวะเศรษฐกิจขาลงในระยะถัดไปจากนี้
ข้อเท็จจริงในโลกทุนนิยม ที่ส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะแบบบริโภคนิยมอย่างหนักหน่วงนี้ นอกจากจะฉายภาพการแข่งขันที่รุนแรง ภายใต้ความคิดที่ว่าการแข่งขันย่อมทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นนั้น บางครั้งบางทีเมื่อถึงที่สุดแห่งบทสรุปแล้ว ผู้บริโภคแต่ละรายอาจมีสภาพเป็นเพียง เหยื่อที่ติดกับดักและไม่สามารถดิ้นหลุดออกไปได้เท่านั้น