ดูเหมือนว่าโครงการ “โชวห่วย โชว์สวย” จะเป็นอีกหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงที่ “นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พยายามชูเป็นพระเอก ด้วยเป้าหมายต้องการช่วยเหลือผู้ค้าปลีกค้าส่งของไทย หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ร้านโชวห่วย” ให้แข่งขันและอยู่รอดได้ ท่ามกลางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยักษ์ใหญ่ที่ขยายสาขาปูพรมแทบทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ แม้จะมีเจตนาที่ดี แต่ในทางปฏิบัติและความเป็นจริง ยังเป็นที่สงสัยว่า จะเกิดประโยชน์แก่โชวห่วยไทยได้จริงมากน้อยเพียงใด หรือสุดท้ายจะกลายเป็นเพียงแค่โครงการสีสันที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แล้วก็ค่อยๆ จางหายไป เมื่อหมดงบประมาณ ดังนั้น ทีมงานหน้า “SMEsผู้จัดการออนไลน์” ได้ลงพื้นที่เพื่อดูถึงร้าน “โชวห่วย โชว์สวย” ต้นแบบ เพื่อหาคำตอบว่า โครงการนี้จะมีส่วนช่วยค้าปลีกไทยได้อย่างไร?
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการนี้ วัตถุประสงค์หลักไม่ได้ต้องการให้โชว์ห่วยไปแข่งขันกับธุรกิจ Modern Trade หรือร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ แต่ต้องการให้ผู้ประกอบการร้านโชวห่วยแข่งขันกับตัวเอง ด้วยการลุกขึ้นมาปรับปรุงธุรกิจของตัวเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพียงพอที่จะอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดได้
สำหรับแนวทางดำเนินงานได้แก่
1)สร้างเสริมความรู้การบริหารธุรกิจ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการโชวห่วยสมัครร่วมโครงการเพื่อจะได้รับการอบรมความรู้ที่จำเป็น เช่น การจัดหน้าร้าน การจัดเรียงสินค้า ระบบทำบัญชี และการตลาด เป็นต้น
2)ปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้สวย สะอาด และสบาย ซึ่งจะมีทั้งวิธีที่เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยเหลือแนะนำปรับร้านจากพื้นที่เดิม ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ หรือจะปรับปรุงร้านครั้งใหญ่ โดยกรมฯ จะมีโมเดลร้านต้นแบบให้ 2-3 แบบ ตัวอย่างเช่น ขนาดร้าน 4x6 เมตร ลงทุนประมาณ 41,000 บาท ขนาดร้าน 6x8 เมตร ลงทุนประมาณ 55,000 บาท เป็นต้น
3)ในกรณีต้องการเงินทุนสำหรับนำไปปรับปรุงร้าน จะสนับสนุนให้ได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
4)ประสานกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ให้ส่งสินค้าราคาถูกมากระจายให้แก่ร้านค้าที่เข้าโครงการ ซึ่งเวลานี้ มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่เข้าร่วมประมาณ 14 ราย โดยราคาสินค้าเฉลี่ยจะถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 10-15%
5)เสริมบริการเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้า และช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ได้มีบริการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ซึ่งคิดอัตราค่าบริการเหมือนร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง คือ 10 บาท แต่ร้านค้าจะได้ส่วนแบ่งจากการให้บริการบิลละ 7 บาท ซึ่งสูงกว่าอัตราที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าดังจะได้บิลละ 5 บาท อีกตัวอย่าง ประสานการประปา ให้มาตั้งตู้หยอดน้ำที่ให้บริการ 5 ลิตรเพียง 1 บาท เป็นต้น
นายณัฐวุฒิ เผยว่า ขณะนี้ มีร้านโชวห่วยค้าส่งที่เข้าโครงการนี้เป็นร้านต้นแบบประมาณ 70 ร้าน ซึ่งตั้งเป้าว่า ร้านโชวห่วยค้าส่ง 1 ร้านจะมีร้านโชวห่วยค้าปลีกในเครือข่ายประมาณ 200 ร้าน โดยให้ร้านโชวห่วยค้าส่งต้นแบบ เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้ให้แก่ร้านโชวห่วยค้าปลีกในเครือข่ายของตัวเอง โดยเบื้องต้นวางเป้าหมายให้มีร้านโชวห่วยเข้าร่วมในโครงการ ประมาณ 10,000 ราย
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ (นับถึงสิ้นเดือนเม.ย.56) มีร้านโชวห่วยค้าปลีกที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 500 ราย เป้าที่จะไปถึงหมื่นราย จึงยากเอาการ....
หลังจากฟังท่านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์กล่าวมาแล้ว ต่อมา “SMEsผู้จัดการออนไลน์” ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับ “นายสมชาย พรรัตนเจริญ” ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งนายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีก และยังเป็นเจ้าของร้าน “ส.สรรพกิจ” ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านโชวห่วยค้าส่งต้นแบบในโครงการ “โชวห่วย โชว์สวย” ด้วย
นายสมชาย เผยว่า ปัจจุบัน มีร้านโชวห่วยอยู่ทั่วประเทศกว่า 6 แสนราย และหากนับรวมในรูปแบบค้าปลีกบรรทุกท้ายรถกระบะหรือมอเตอร์ไซด์ รวมแล้วน่าจะนับล้านราย ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ถือว่ามีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ตัวของผู้ประกอบการเอง ต้องให้ความสำคัญในการปรับตัว เพื่อไม่ตกกระแส สิ่งสำคัญร้านโชวห่วยต้องสร้างเอกลักษณ์ และสินค้าที่แตกต่าง ซึ่งธุรกิจ Modern Trade หรือร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ไม่สามารถจะทำตามได้
“ข้อได้เปรียบของร้านโชวห่วย คือ อารมณ์ความรู้สึกและความผูกพันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจะใกล้ชิดมากกว่ารายใหญ่ เพราะรายใหญ่หัวใจเขาอยู่ที่ส่วนกลาง การคิดหรือตัดสินใจใดๆ ก็ตาม มันถูกสั่งมาจากตรงกลาง ในขณะที่โชวห่วยรายย่อยหัวใจอยู่ที่ท้องถิ่น ดังนั้น เราสามารถปรับรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะกับท้องถิ่นของเรา หรือลูกค้าของเราให้เหมาะกับท้องถิ่นได้ใกล้ชิดมากกว่า” นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีก กล่าว และเสริมต่อว่า
ก่อนหน้านี้ Modern Trade หรือร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ อาจได้เปรียบเรื่องราคาสินค้าที่ถูกกว่า แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปรียบดังกล่าวแทบจะหมดไปแล้ว เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีต้นทุนที่สูงขึ้น จากทั้งค่าบริหารจัดต่างๆ ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ราคาสินค้าก็สูง แต่ผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะบริการที่ดีและสะดวก ดังนั้น โชวห่วยรายย่อยต้องปรับตัวด้านบริการเพื่อเอาชนะใจลูกค้าให้ได้เช่นกัน
นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีก และเจ้าของร้าน “ส.สรรพกิจ” เสริมอีกว่า ข้อดีอีกประการของโครงการนี้ คือ ทางสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีก จะได้เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการโชวห่วยไทย นำปัญหาไปสะท้อนแก่กระทรวงพาณิชย์ได้ชัดเจน และใกล้ชิดยิ่งขึ้น เปรียบเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างหน่วยภาครัฐกับเอกชน
ด้านนายธัญญา ทิพยทยารัตน์ เจ้าของร้าน “บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์” อีกหนึ่งร้านโชวห่วยค้าส่งต้นแบบในโครงการ “โชวห่วย โชว์สวย” กล่าวว่า ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีโครงการส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกไทยมายาวนานแล้ว ก่อนจะถูกนำมาต่อยอดเป็นโครงการ “โชวห่วย โชว์สวย” โดยร้าน “บิ๊กซ้งฯ” เข้าร่วมพัฒนาร้านกับทางกรมฯ มาตั้งแต่ปี 2552 ได้รับการพัฒนาทั้งการวางระบบค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงอบรมความรู้ต่างๆ
เจ้าของร้านบิ๊กซ้ง ระบุว่า สำหรับโครงการ “โชวห่วย โชว์สวย” นับเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการโชวห่วยได้เข้ามาเสริมความรู้และศักยภาพในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโชวห่วยมีอยู่จำนวนมาก ภาครัฐจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด ผู้ประกอบการเองต้องพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันให้อยู่รอดได้
ขณะที่หนึ่งในผู้ประกอบการโชวห่วยรายย่อยที่มาเข้าร่วมโครงการ ได้เผยว่า สนใจร่วมโครงการนี้ เพราะต้องการจะเพิ่มความสามารถของธุรกิจตัวเอง และอยากได้สิทธิพิเศษต่างๆ ที่โครงการฯจะมีให้ โดยที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมฯ ได้แนะนำและชวนไปอบรมสัมมนาต่างๆ ส่วนอนาคตการจะลงทุนเพื่อปรับปรุงร้านใหม่หรือไม่นั้น ต้องขอดูความคุ้มค่าอีกครั้งหนึ่ง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *