ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินวิกฤตไฟฟ้าในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่านี่เป็นการหาเรื่อง ข่มขู่ เพื่อขูดรีดประชาชนแบบซึ่งหน้า เพราะเพียงแค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่
เรื่องนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล “เสี่ยเพ้ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาปล่อยข่าว สร้างเรื่องให้ใหญ่โต แบบเวอร์เกินจริง เพื่อจุดประสงค์ใดอยู่เบื้องหลังสังคมอาจคาดเดาได้ไม่ยากเพราะเสี่ยเพ้ง ขุนพลเพื่อไทย ผู้ใกล้ชิดนายใหญ่แห่งดูไบ เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวขนาดไหนใครเขาก็รู้
เหตุผลที่ยกขึ้นมาสมอ้างว่าจะเกิดวิกฤตไฟฟ้านั้น เป็นการให้ความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับประชาชนเกินเหตุ โดยเหตุผลที่เสี่ยเพ้งอ้างว่าจะเกิดปัญหาใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสองเรื่องสำคัญ คือ
หนึ่ง ปัญหาท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ขาด เนื่องจากถูกสมอเรือซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2555 ทำให้ส่งก๊าซไม่ได้ และก๊าซฯ ขาดหายไปจากระบบ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
และ สอง และแท่นขุดเจาะที่ประเทศพม่ามีการทรุดตัวลงทำให้ต้องปิดเพื่อซ่อมแซม ทำให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบรวม 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ จากพม่า ที่มีกำลังการผลิตรวม 6,000 เมกะวัตต์
ข้ออ้างเรื่องแรกที่ว่ามีปัญหาท่อก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียนั้น แหล่งข่าวในปตท. บอกว่า กรณีที่ท่อส่งของแหล่งก๊าซพัฒนาร่วมไทยมาเลเซียรั่วจากเรือทิ้งสมอทำให้ต้องหยุดซ่อมท่อดังกล่าวตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2555 - 3 กุมภาพันธ์ 2556 รวมระยะเวลา 42 วัน ทำให้ก๊าซฯ หายไปเฉลี่ย 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น ขณะนี้ได้มีการจ่ายก๊าซฯ เป็นปกติแล้ว
ย้ำอีกครั้งว่า ขณะนี้ ปตท.จ่ายก๊าซฯ ได้เป็นปกติแล้ว คำถามคือ แล้วทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะยังนำเรื่องนี้มาข่มขวัญประชาชนอีก แถมยังมีการตอบกระทู้ในสภาว่า ท่อส่งก๊าซฯ ไทย-มาเลย์ ยังมีปัญหาอยู่
ส่วนเรื่องการปิดซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซฯ ของพม่าที่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 6 แห่งนั้น ถึงแม้จะเป็นการปิดซ่อมจริงแต่ก็มีข้อน่าสงสัยอยู่หลายเรื่อง
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังพาดหัวข่าวของ นสพ.แนวหน้า 27 มีนาคม 2555 ว่า "พลังงาน สั่งรับมือ "พม่า" หยุดส่งก๊าซ เล็งดึงก๊าซอ่าวไทย-เจดีเอมาเสริม พร้อมรณรงค์ปิดไฟช่วงบ่าย 10 เม.ย " และสำนักข่าวไทย 22 มีนาคม 2555 รายงานว่า " สำรองไฟฟ้าลดเหลือร้อยละ 5 ช่วงก๊าซพม่าหยุดส่ง 8-17 เม.ย."
มาถึงปีนี้ก็มาแนวเดิม แถมหนักกว่าคือ นอกจากพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซเพื่อซ่อมแท่นขุดเจาะ ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ ก็ยังมาเสียหายจากอุบัติเหตุการทิ้งสมอเรือ ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบรวมแล้ว 1,370 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ลุยสำรองน้ำมันเตา-ดีเซล 10 ล้านลิตร
นอกจากนั้น ยังมีเชื้อเพลิงอีกชนิดที่ยังกั๊กอยู่ ไม่ประกาศออกมา ก็คือ LNG เพราะมีการตกลงซื้อLNG จากการ์ต้า ถ้าดีมานด์น้อย คนสั่งซื้อจะเข้าเนื้อหรือเปล่า? เลยต้อง สร้าง "story" วิกฤตการณ์ก๊าซขาดแคลน จะได้มีเหตุผลในการใช้เชื้อเพลิงราคาแพง นี่เป็นวิธีล้วงกระเป๋าประชาชนแบบเนียนๆ อีกแล้ว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวในปตท. ที่แพลมออกมาว่า มีการเตรียมแผนใช้แอลเอ็นจีเพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว
ส.ว.กรุงเทพฯ เห็นว่า ประเด็น "พม่า" หยุดส่งก๊าซบ่อยอาจทำให้คนไทยคิดไปได้ว่า รัฐบาลทหารพม่ามีปัญหา ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการพึ่งพาก๊าซพม่า แต่เมื่อไปดูผู้ถือหุ้นในสัมปทานขุดเจาะก๊าซพม่า พบว่า แหล่งเยตากุน ผู้ถือหุ้นในสัมปทานขุดเจาะ ประกอบด้วย
1) Petronas Carigari Myanmar ( Hong Kong) 40.91%
2) เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ ก๊าซเอ็นเตอร์ไพรส์ 20.45%
3) ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ( ปตท.สผ.อ.) 19.32%
ส่วนแหล่งยาดานา ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย
1) โททาล อี แอนด์ พี เมียนมาร์ 31.24%
2) ยูโนแคลเมียนมาร์ ออฟชอร์ (UMOL) 28.26%
3) ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 25.5%
4) เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอนเตอร์ไพร์ซ ( MOGE) 15%
สรุปคือเมื่อพูดถึง "พม่า" ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลทหารพม่า หรือประเทศพม่า แต่เป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มี "ปตท." ถือหุ้นอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นการกำหนดเวลาหยุดส่งก๊าซเพราะซ่อมแท่นขุดเจาะ จึงสามารถวางแผนได้ เพราะ ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ได้สัมปทานขุดเจาะในพม่า และยังเป็นผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซให้กฟผ.ในการผลิตไฟฟ้าเพียงผู้เดียว นอกเหนือจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งระบบที่ใช้ในประเทศอีกด้วย
ดังนั้น หากปริมาณก๊าซขาดหายไปจากระบบจนเกิดวิกฤตกับไฟฟ้า ปตท.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาทดแทนโดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่ให้กฟผ.หรือประชาชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ปตท.จะใช้ LNG มาแทนก๊าซธรรมชาติก็ได้ แต่จะให้กฟผ.และประชาชนจ่ายเพิ่มไม่ได้ ถ้ารมต.พลังงาน บังคับปตท.เช่นนี้ได้ พม่าจะปิดซ่อมแท่นขุดเจาะเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่ปตท.ต้องไปแก้ปัญหาเอง
นอกจากนั้น การออกมาให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีพลังงาน น่าจะมีนัยแฝงอีกประการหนึ่ง ก็คือ ควรยินยอมให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินเพิ่มขึ้นแต่โดยดี แม้ว่ายังกระมิดกระเมี้ยนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ เพราะเหตุการณ์ฟูกูชิม่าที่ญี่ปุ่นยังหลอนคนไทยจนต้องพับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปก่อน
ดูได้จากคำให้สัมภาษณ์ของรมต.พลังงาน ที่ว่า "เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่คนไทยต้องพึงสังวรณ์ เพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมาก และกำลังจะหมดไป ขณะเดียวกันก็มีคนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สัมปทานก๊าซก็ไม่ให้ต่อ จึงถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจอนาคตประเทศร่วมกัน ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ในเร็วๆ นี้ยังไม่มีโครงการ และโอกาสได้ใช้ เพราะการศึกษาของไทยในเรื่องนิวเคลียร์ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น"
ประเด็นที่รัฐมนตรีพูดว่า มีการต่อต้านไม่ให้ต่อสัมปทานนั้น ความจริงประเด็นที่คนต่อต้านคือ ผลตอบแทนจากสัมปทานปิโตรเลียมของไทยต่ำเกินไป และกระทรวงพลังงานไม่ยอมแก้ไขกฎหมายในการปรับปรุงส่วนแบ่งให้เป็นธรรมมากกว่า และประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรต้องซื้อก๊าซและน้ำมันในราคาตลาดโลก ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศ ถ้ามีการขุดปิโตรเลียมในประเทศโดยได้ผลตอบแทนต่ำ ส่วนประชาชนใช้ในราคาตลาดโลก ก็สู้ให้นำเข้าจริงเสียทั้งหมด และเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป
หากสิ่งที่รัฐมนตรีได้กล่าวว่า "ถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจอนาคตประเทศร่วมกัน" เป็นคำกล่าวด้วยความจริงใจ ก็ควรเปิดให้มีการรับฟังข้อเสนอจากประชาชนว่าด้วยการกำหนดนโยบายด้านพลังงานอย่างจริงจัง นอกจากนี้เรื่องนิวเคลียร์ที่รัฐมนตรีกล่าวว่า ยังมีการศึกษาที่ไม่เพียงพอนั้น หมายถึงยังมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาอยู่ใช่หรือไม่ ?
โดยก่อนหน้านี้ มีการจัดสรรงบศึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปแล้วกว่า 1,800 ล้านบาท
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ก็ออกมาฟัดเสี่ยเพ้ง ในทำนองเดียวกันว่า กรณีที่ รมว.พลังงานระบุว่า ในวันที่ 4 เมษายนนี้ ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตพลังงานไฟฟ้านั้น เวอร์เกินไป เพราะรัฐบาลรู้แผนหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซ ซึ่งเป็นเรื่องปกติประจำอยู่แล้ว
เรื่องที่เกิดขึ้นคราวนี้ จึงสงสัยว่าเป็นการสร้างเรื่องความไม่มั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี 6 โรง มีโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซฯ ที่เตรียมก่อสร้างตั้งแต่ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง ที่ชาวบ้านคัดค้านอยู่ในตอนนี้ แต่กลับมาเป็นการโยนบาปให้กับเอ็นจีโอ ใช่หรือไม่
อย่าลืมว่า ตอนที่นายพงษ์ศักดิ์ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมอบนโยบายให้กฟผ. นั้น นายพงษ์ศักดิ์ ได้สั่งให้กฟผ.ไปศึกษาการลดต้นทุนไฟฟ้าในอนาคต โดยใช้เชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ เช่น ถ่านหิน การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้ามีการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซฯ สูงมากถึง 70%
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่า กฟผ. ก็เออออห่อหมกกับรัฐมนตรีพลังงานว่า เป็นแนวคิดที่ถูกต้องควรกระจายเชื้อเพลิงจากก๊าซฯ เป็นถ่านหิน และพลังน้ำ โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 - 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (PDP 2010ปรับปรุงครั้งที่ 3) จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อยู่ในแผนประมาณ 4,400 เมกะวัตต์
แต่นายสุทัศน์ ไม่ได้บอกว่า ตามแผน PDP 2010ปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานด้านพลังงาน และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้น ได้ยัดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯ เพิ่มเข้าไป 5,400 เมกะวัตต์ จากการปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดไว้เพียง 18,400 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 25,451 เมกะวัตต์ ในการปรับปรุงครั้งที่ 3
และเป็นโครงการที่ เสี่ยเพ้ง พูดชัดเจนว่า จะมีการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี กำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ในปลายปีนี้ ทั้งๆ ที่ตามแผนฯ แล้ว โรงไฟฟ้าไอพีพี มีกำหนดจะเข้าระบบโรงแรกในอีก 9 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564)
งานนี้ถึงบอกว่า แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ สร้างเรื่องความไม่มั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าก็เพื่อเปิดประมูลโรงไฟฟ้ารอบใหม่ และใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ เหมือนเดิม ทั้งๆ ที่พากันบอกว่า การผลิตไฟฟ้าพึ่งพาก๊าซฯมากเกินไปแล้ว สุดท้ายผู้ที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือ ปตท. ซึ่งจะได้ป้อนก๊าซฯให้โรงไฟฟ้าไอพีพี อีก 5,400 เมกะวัตต์
ส่วนก๊าซฯ จากพม่าที่จะขาดในช่วง 9 วันที่ปิดซ่อมแท่นขุดเจาะ ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้า 6,000 เมกะวัตต์ ปัญหานี้บรรดานักกำหนดนโยบายพลังงาน มีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วว่า ภาระนี้จะต้องถูกผลักไปให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับเหมือนเคย
นายพงษ์ศักดิ์ บอกว่า ในช่วงพม่าปิดซ่อมแท่นขุดเจาะ ได้สั่งให้สำรองน้ำมันเตาและดีเซลเพิ่มขึ้น โดยกฟผ. ต้องปรับโรงไฟฟ้าบางแห่งมาใช้น้ำมันเตารวม 86 ล้านลิตร และดีเซล 47 ล้านลิตรรวม 133 ล้านลิตร ซึ่งจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft รวม 2.20 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์)ได้นำไปคิดในค่าไฟรอบ มกราคม - เมษายน 2556 แล้ว 1.70 สตางค์ต่อหน่วย จึงเหลือที่จะต้องนำไปรวมกับรอบหน้า (พฤษภาคม - สิงหาคม 2556) 0.48 สตางค์ต่อหน่วย
เรียกว่าเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรส่วนที่จะเพิ่มขึ้นล่วงหน้าแล้ว และไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบหรือลดภาระให้กับประชาชนแม้แต่น้อย
ขณะที่การแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานในอนาคตที่จะเกิดขึ้นโดยการหันไปพึ่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเอกชนมีความพร้อมในการลงทุน กลับถูกสกัดจากกระทรวงพลังงานที่สร้างกำแพงกั้น สร้างเงื่อนไขในเรื่องใบอนุญาตจนเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตามแผน PDP 2010ปรับปรุงครั้งที่ 3 กำหนดเป้าหมายไว้สวยหรูถึง 9,516 เมกะวัตต์ จากการปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่กำหนดไว้ 4,433 เมกะวัตต์
คำข่มขู่จะเกิดวิกฤตไฟฟ้าเห็นได้ชัดว่า เพื่อให้ประชาชนที่จะถูกขูดรีดค่าไฟปิดปากเงียบไม่กล้าโวยวาย และก้มหน้ารับกับการวางแผนพลังงานไฟฟ้าที่พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้นเกินจริงไม่สิ้นสุด และยังพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซฯ สร้างผลกำไรให้ ปตท. อยู่เหมือนเดิมนั่นเอง