xs
xsm
sm
md
lg

"โอบามา" ไฟเขียวอนุญาตเข้าลงทุนน้ำมัน และก๊าซในพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวในแถลงฉบับหนึ่งว่า พม่ามีความคืบหน้าในการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตย และเขาต้องการที่จะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวให้คืบหน้าต่อไป โดยสหรัฐกำลังผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ที่จะอนุญาตให้บริษัทของประเทศเข้าดำเนินธุรกิจในพม่า รวมทั้งในส่วนของน้ำมันและก๊าซ. --  AFP PHOTO/Saul Loeb. </font></b>
.

เอเอฟพี - สหรัฐฯ ไฟเขียวให้บริษัทของประเทศเข้าลงทุนในพม่า รวมทั้งในภาคส่วนน้ำมัน และก๊าซ ในการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่เป็นข้อโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางครั้งล่าสุด

ไม่กี่ชั่วโมงหลังการเดินทางถึงพม่าของทูตสหรัฐฯ คนแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศท่าทีล่าสุดในการตอบสนองต่อการปฏิรูปประเทศของพม่า

“วันนี้ สหรัฐฯ กำลังผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ที่จะอนุญาตให้บริษัทของประเทศเข้าดำเนินธุรกิจในพม่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง นานงอองซานซูจี และประชาชนชาวพม่า ยังคงก้าวหน้าไปตามแนวทางสู่การเป็นประชาธิปไตย และรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเมือง” โอบามากล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง

บริษัทของสหรัฐฯ กดดันฝ่ายบริหารของโอบามาให้ยุติข้อจำกัดต่างๆ ในด้านการลงทุน ด้วยเกรงว่า พวกเขาจะเสียโอกาสต่อคู่แข่งจากยุโรป และเอเชียที่เข้าถึงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพแห่งนี้แล้ว

แต่ความเคลื่อนไหวของโอบามากลับไม่สอดคล้องกับนางอองซานซูจี ที่เคยกล่าวเตือนบริษัทต่างชาติว่า ไม่ควรเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับรัฐวิสาหกิจน้ำมัน และก๊าซพม่า หรือ MOGE โดยซูจีกล่าวในระหว่างการตระเวนเยือนประเทศในยุโรปว่า MOGE จำเป็นต้องมีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เช่น หลักความโปร่งใสด้านการเงินการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ภายใต้กฎระเบียบใหม่ บริษัทของสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจร่วมกับ MOGE แต่ต้องแจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศภายใน 60 วัน

บริษัทของสหรัฐฯ ทุกบริษัท ที่เข้าลงทุนในมูลค่ามากกว่า 500,000 ดอลลาร์ ในพม่า จะต้องยื่นรายงานต่อกระทรวงต่างประเทศทุกปี เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน และสภาพแวดล้อมการทำงาน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงห้ามลงทุนในบริษัทที่กระทรวงกลาโหม หรือกลุ่มติดอาวุธเป็นเจ้าของ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นข้อความที่ชัดเจนต่อรัฐบาลพม่า และเจ้าหน้าที่ทหารที่ยังคงมีส่วนในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กระทำการทุจริต จะไม่ได้รับประโยชน์จากรางวัลต่อการปฏิรูป และโอบามายังมีคำสั่งคว่ำบาตรต่อคณะกรรมการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของพม่า เนื่องจากข้อตกลงในปี 2551 กับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับการพัฒนาขีปนาวุธ

ทั้งนี้รัฐสภาพม่ากำลังพิจารณากฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ และมาตรการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ขณะที่นายเดเร็ค มิทเชลล์ เดินทางถึงพม่าวานนี้ ในฐานะทูตสหรัฐฯประจำพม่าคนแรก นับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531

การประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของโอบามามีขึ้น ขณะนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงกัมพูชาเพื่อร่วมประชุมกับชาติสมาชิกอาเซียน ส่วนเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ อีก 2 คน คือ นายโรเบิร์ต ฮอร์แมตส์ และนายฟรานซิสโก ซานเชซ จะเดินทางไปยังพม่าในสุดสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น