.
เอเอฟพี - สหรัฐฯ ได้ออกเรียกร้องพม่าในวันจันทร์ 16 ก.ค.นี้ให้รับประกันความโปร่งใส และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ขณะที่บริษัทของสหรัฐฯ เดินทางเยือนเพื่อสำรวจธุรกิจในประเทศที่ได้รับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ 2 นาย ร่วมเดินทางไปพร้อมกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำ 38 แห่ง เมื่อสุดสัปดาห์ ไม่กี่วันหลังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศระงับคว่ำบาตรการลงทุน รวมทั้งในภาคส่วนน้ำมัน และก๊าซ
คำแถลงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นายโรเบิร์ต ฮอร์แมตส์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายธุรกิจ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมทั้งแสดงความสนับสนุนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในพม่า โดยนายฮอร์แมตส์ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลพม่า เพื่อพัฒนาความโปร่งใส และความพยายามในการต่อสู้กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งในรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัทน้ำมัน และก๊าซพม่า (MOGE)
ฮอร์แมตส์ กล่าวว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับพม่าขึ้นอยู่กับการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิแรงงาน การคุ้มครองสิทธิชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ และการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่
ด้านสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ และนักสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนการเข้าถึงพม่าของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของโอบามาที่อนุญาตให้บริษัทของสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนกับ MOGE ได้ ด้วยเกรงว่า วิสาหกิจของพม่ารายนี้ อาจขัดขวางกระบวนการปฏิรูป ขณะที่นางซูจี ได้กล่าวเตือนต่อต้านชาติตะวันตกที่จะลงทุนร่วมกับ MOGE จนกว่าจะยินยอมปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใส
ฮอร์แมตส์ เรียกร้องให้พม่าลงนามในความริเริ่มทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันมีความโปร่งใส (EITI) ที่เป็นมาตรการพื้นฐานสำหรับความโปร่งใสในอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซที่ประกาศขึ้นครั้งแรกเมื่อทศวรรษก่อน โดยนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งนายโจนาส โมเบิร์ก หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ EITI มีกำหนดจะเดินทางเยือนพม่าในช่วงสัปดาห์นี้ หลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าแสดงความสนใจในมาตรฐานดังกล่าว
.
.
บริษัทน้ำมันเชฟรอน โคโนโคฟิลลิปส์ และเอ็กซอนโมบิล ได้เข้าร่วมคณะเดินทางเยือนพม่าในครั้งนี้ พร้อมกับบริษัทในภาคส่วนอื่นๆ เช่น บริษัทเดลล์ เฟ็ดเอ็กซ์ กูเกิล พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล และไทม์วอเนอร์
บริษัท เจนเนอรัล อิเล็กทริค ได้ประกาศแผนที่จะลงทุนในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์กับโรงพยาบาลของพม่า 2 แห่ง หลังบริษัทโคคา-โคลา ระบุเมื่อเดือนก่อนว่า จะกลับเข้ามาลงทุนในพม่าอีกครั้ง
นายแอนโธนี เนลสัน จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ที่เป็นผู้จัดการการเดินทางครั้งนี้กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่เดินทางเยือนพม่าเพื่อสำรวจโอกาสการลงทุนในอนาคต ขณะที่ผูู้นำพม่ากำลังพัฒนากฎหมายเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
“จุดมุ่งหมายของเราคือ ต้องการที่จะเห็นพวกเขาได้ใช้เวลา และปรึกษากับผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม มากกว่าที่จะเร่งรีบเข้ามาลงทุนในพม่า และเราคิดว่า พวกเขาเข้าใจถึงเหตุผลนี้” เนลสันกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้โต้แย้งว่าข้อจำกัดการลงทุนกระทบแต่บริษัทของสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทจากชาติเอเชียเข้าลงทุนในพม่าล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ต่างประกาศยุติ และระงับมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อพม่า.