รอยเตอร์ - บริษัทเจนเนอรัล อิเลคทริค (จีอี) บรรลุข้อตกลงด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์กับโรงพยาบาล 2 แห่งในพม่า เมื่อวันเสาร์ (14 ก.ค.) และกลายเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ แห่งแรกที่เริ่มทำธุรกิจในพม่าอีกครั้ง นับตั้งแต่สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรในสัปดาห์นี้
บริษัทสหรัฐฯ จำนวนมากไม่ต้องการที่จะเสียเวลาอีกต่อไป หลังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศออกใบอนุญาตทั่วไปเมื่อวันพุธ (11 ก.ค.) สำหรับการลงทุน และบริการทางการเงินในพม่า โดยบริษัทจีอีนับเป็นรายแรกที่ทำข้อตกลงผ่านตัวแทนท้องถิ่นของบริษัทที่จะจัดส่งเครื่องเอกซเรย์สำหรับโรคหัวใจ และโรคเฉพาะทางให้แก่โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง ในพม่า
ข้อตกลงประกาศเมื่อวันเสาร์ (14 ก.ค.) ระหว่างการเยือนพม่าของกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐฯ 70 คน จาก 37 บริษัท ที่นักลงทุนต่างหวังจะเข้าลงทุนในทุกภาคส่วน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน และบริการทางการเงิน ไปจนถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ น้ำมัน และก๊าซ ด้วยความวิตกว่าจะถูกทิ้งท้ายตามหลังบริษัทจากเอเชีย
แม้ว่าบริษัทจีอีทำข้อตกลงผ่านบริษัทหุ้นส่วนท้องถิ่น คือ บริษัทซีไลอ้อน ด้วยมูลค่าเพียง 2 ล้านดอลลาร์ แต่บริษัทมีแผนที่ยิ่งใหญ่สำหรับพม่า ตามที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และจัดการปัญหาขาดแคลนพลังงาน
รัฐบาลกึ่งพลเรือนอายุ 15 เดือนของพม่า กำลังสำรวจหนทางในการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ แต่ประเทศที่ตกอยู่ภายในการปกครองของทหารนานถึง 49 ปี และมาตรการคว่ำบาตร ทำให้บริษัทของสหรัฐฯ ถูกทิ้งให้อยู่รอบนอก มีเพียงเชฟรอน และบริษัทแคทเทอร์พิลลาร์ ที่เข้าดำเนินกิจการในพม่าก่อนมาตรการคว่ำบาตรจะถูกกำหนดขึ้น
ใบอนุญาตที่ออกให้แก่บริษัทของสหรัฐฯ ครอบคลุมข้อกำหนดการให้บริการทางการเงิน และจำเป็นต้องรายงาน และเปิดเผยรายละเอียดเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในประเทศที่อื้อฉาวเรื่องทุจริต
หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลพม่า และเป็นความวิตกกังวลของนักลงทุนหลายราย คือ ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า พม่ามีระบบโครงข่ายไฟฟ้าล้าสมัย และร้อยละ 75 ของประชากรทั้งหมด 60 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้พม่าจะมีเขื่อนไฟฟ้าแต่ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
นายสจ๊วต ดีน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทจีอี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า จีอีพยายามเจรจาทำข้อตกลงในการจัดหากังหันปั่นไฟพลังก๊าซขนาด 25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่องให้แก่พม่า หลังรัฐบาลให้คำมั่นต่อประชาชนตอบสนองการประท้วงในหลายเมืองเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และยังต้องการที่จะยกระดับเทคโนโลยีเก่าของจีอีที่ขายให้แก่พม่าก่อนมาตรการคว่ำบาตรจะถูกกำหนดขึ้น
“เรายังคงเจรจาต่อรองในเรื่องนี้ การหารือยังคงดำเนินอยู่ แต่ไม่เหมือนกับอุปกรณ์รักษาสุขภาพ มันซับซ้อนกว่า คุณต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า และจำเป็นต้องใช้ก๊าซ ทั้งสองฝ่ายทำงานกันอย่างหนัก ฝ่ายพม่าเต็มไปด้วยข้อเสนอที่ถูกหยิบยื่นให้ แต่คนที่เข้าใจวิธีการเจรจาต่อรองข้อเสนอด้านพลังงานนั้นมีจำกัด” ดีนกล่าว
นอกจากด้านพลังงานแล้ว ผู้ผลิตกังหันผลิตไฟฟ้า และเครื่องยนต์ไอพ่นยักษ์ใหญ่ของโลกรายนี้ยังมองหาโอกาสการทำธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบินในพม่า ขณะที่พม่ากำลังเตรียมการที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่นอกนครย่างกุ้ง ซึ่งดีนกล่าวว่า สหรัฐฯ สนใจในโครงการยกระดับทางรถไฟ และรถไฟของพม่า แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีของจีอี แต่บริษัทอาจจะสามารถจัดหาอุปกรณ์ส่งสัญญาณได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีสำนักงานในนครย่างกุ้ง แต่วางแผนที่จะดำเนินการในสิ้นปีนี้.